หนึ่งทางเลือกกับที่มาของสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


เจตนารมณ์ของการก่อตั้งสภาที่ปรึกษาฯ จะมุ่งให้เป็น “สภาของประชาชน” ไม่ได้เป็นสภาของรัฐ เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน และการระดมความคิดเห็นจากคนทั่วประเทศ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนรัฐ แต่มีลักษณะเป็นเพียงการให้คำปรึกษา โดยยึดโยงกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน

ทศพนธ์ นรทัศน์

[email protected]

 

 

            ท่ามกลางความไม่ลงตัวของการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 3 ซึ่งจะมาแทนสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ชุดที่ 2 ที่หมดวาระลงเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2551 (แต่ปัจจุบัน กรกฎาคม 2552 ก็ยังคงปฏิบัติหน้าที่รักษาการจนกว่าสมาชิกซึ่งได้รับการเลือกขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่) แต่เนื่องจากบุคคลผู้มีสิทธิคัดเลือกกันเองเพื่อเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ 3 ได้ยื่นฟ้องเกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ครั้งนี้ต่อศาลปกครองกลาง จำนวน 3 คดี และเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2552 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งให้คณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ระงับการเสนอชื่อบุคคลผู้ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ชุดที่ 3 เฉพาะกลุ่มการผลิตด้านการเกษตร และกลุ่มการผลิตด้านการบริการ และให้สำนักงานสภาที่ปรึกษาฯ ระงับการส่งรายชื่อบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ดังกล่าว ไปยังนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการให้ประกาศรายชื่อสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในราชกิจจานุเบกษา ไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าคดีจะถึงที่สุด หรือจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น

          สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เกิดขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2540 ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน พ.ศ. 2540 หมวด 5 มาตรา 89 บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ให้รัฐจัดให้มีสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีในปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจและสังคมและให้ความเห็นเกี่ยวกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รวมทั้งแผนอื่นใดที่กฎหมายกำหนดให้เสนอแผนต่อสภาที่ปรึกษาฯ ก่อนพิจารณาประกาศใช้พระราชบัญญัติสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2543 ได้บัญญัติให้สภาที่ปรึกษาฯ ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 99 คน ซึ่งได้รับเลือกจากบุคคลที่เป็นตัวแทนของกลุ่มในภาคเศรษฐกิจ (การผลิตด้านการเกษตร, การผลิตด้านการอุตสาหกรรม, การผลิตด้านการบริการ) และกลุ่มในภาคสังคม (การพัฒนาชุมชน, การสาธารณสุข, การศึกษา ศิลปวัฒนธรรมและศาสนา, การพัฒนาและสงเคราะห์คนพิการ, การพัฒนาเด็กเยาวชน สตรีและผู้สูงอายุ, การพัฒนาแรงงาน, การคุ้มครองผู้บริโภค) ฐานทรัพยากร (ฐานทรัพยากร เช่น ที่ดิน ป่าไม้ แหล่งน้ำ ลุ่มน้ำ ทะเล อากาศ หรือความหลากหลายทางชีวภาพ, การพัฒนาระบบการเกษตร, การพัฒนาระบบการอุตสาหกรรม, การพัฒนาระบบการบริการ) และผู้ทรงคุณวุฒิ

แม้ว่าเจตนารมณ์ของการก่อตั้งสภาที่ปรึกษาฯ จะมุ่งให้เป็น สภาของประชาชน ไม่ได้เป็นสภาของรัฐ เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน และการระดมความคิดเห็นจากคนทั่วประเทศ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจแทนรัฐ แต่มีลักษณะเป็นเพียงการให้คำปรึกษา โดยยึดโยงกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อให้สามารถทำหน้าที่และติดตามการดำเนินงานตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างต่อเนื่อง และเป็นองค์กรที่ไม่ก่อให้เกิดการแสวงหาอำนาจ หรือตำแหน่งหน้าที่โดยมีสมาชิกมาจากผู้แทนกลุ่มอาชีพ แต่ดูเหมือนว่าสภาที่ปรึกษาฯ ในวันนี้กำลังจะห่างไกลเจตนารมณ์ของการก่อตั้งออกไปทุกขณะ เพราะ ตัวแทนกลุ่มอาชีพที่เข้ามาเป็นสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ไม่ได้เป็นตัวแทนที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการของกลุ่มอาชีพอย่างแท้จริง และไม่เป็นที่ยอมรับ เกิดปัญหาการแบ่งกลุ่มภายในแต่ละกลุ่มอาชีพ ท้ายที่สุดผู้แทนที่เข้ามาก็เป็นกลุ่มผลประโยชน์เสียมากกว่า?

หลายฝ่ายจึงช่วยกันขบคิดเพื่อหาทางออกในการได้มาซึ่งสมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ ที่จะเป็นสภาของประชาชนอย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์การก่อตั้ง ผู้เขียนจึงอยากเสนออีกหนึ่งทางเลือก นั้นก็คือ การให้สมาชิกสภาที่ปรึกษาฯ มาจากประธาน/นายกของสภาวิชาชีพ/อาชีพต่างๆ ทั้งในภาคเศรษฐกิจ ภาคสังคม ฐานทรัพยากรและผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ สภาเกษตรกร (ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น) สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาการศึกษา คุรุสภา แพทยสภา สภาทนายความ สภาวิจัยแห่งชาติ สภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาพัฒนาการเมือง ฯลฯ ทั้งนี้ หากกลุ่มอาชีพ หรือวิชาชีพใดยังไม่มีสภา หรือองค์กรที่เด่นชัดก็ให้มีกระบวนการเลือกกันเองที่เป็นไปอย่างสุจริต โปร่งใส เพื่อให้ได้ผู้แทนของกลุ่มวิชาชีพ/อาชีพนั้นอย่างแท้จริง

          นอกจากนี้ กระบวนการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ภาคประชาชนในการที่จะลุกขึ้นมามีส่วนร่วมปฏิรูปสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็เป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะหากภาคประชาชนไม่ลุกขึ้นมาปกป้องและกำหนดทิศทางของสภาอันเป็นของภาคประชาชนแห่งนี้เสียแล้ว สักวันหนึ่งสภาแห่งนี้ก็จะกลายเป็นสภาเพื่อต่อรองผลประโยชน์ของบุคคลหรือกลุ่มบุคคล จนสายเกินกว่าที่แก้ไขได้ และเจตนารมณ์ในการเปิดโอกาสให้ประชาชนทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการประเทศโดยคำนึงถึงความโปร่งใสและความยุติธรรมเป็นสำคัญ ย่อมจะล่มสลายโดยสิ้นเชิง.

หมายเลขบันทึก: 288994เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท