ต่างมุมมอง HiPPS กับการพัฒนาราชการไทย


มันไม่สำคัญหรอกที่เราจะต้องมีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถอย่างเป็นเลิศ...แต่เราต้องการผู้บริหารของหน่วยงานราชการที่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรในการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

ทศพนธ์ นรทัศน์

ชมรม ICT for All

 

            เห็นข่าว ก.พ. ปั้น CEO ด้วย HiPPSในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ คอลัมน์ HR& Management ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2552 แล้ว ก็อดไม่ได้ที่จะมองอีกมุม ในข่าวบอกว่าสำนักงาน ก.พ. กำลังเดินเครื่องนำหลัก Talent  Management ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในองค์กรธุรกิจ มาใช้ในระบบราชการ โดยในภาครัฐนั้น สำนักงาน ก.พ. ได้ดำเนินโครงการ HiPPS หรือ High Performance and Potential System เป็นระบบที่สำนักงาน ก.พ. พัฒนาขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มีส่วนราชการเข้าร่วมระบบ 80 ส่วนราชการ จำนวน 229 คน ทั่วประเทศ เพื่อสร้างความพร้อมให้กับข้าราชการผู้มีศักยภาพสูงอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง

            โดยข้าราชการที่เข้าร่วมโครงการ HiPPS จะได้รับโอกาสในการพัฒนาความรู้ความสามารถ และสมรรถนะเชิงบูรณาการที่เน้นการลงมือปฏิบัติจริง ผสมผสานกับกลไกการพัฒนาอื่นๆ เช่น การหมุนเวียนงาน การสอนงาน การฝึกอบรม และทุนระยะสั้น รวมทั้งการเชื่อมต่อกับกระบวนการพัฒนาข้าราชการระดับกลางและระดับสูง ส่งผลให้สามารถเติบโตเป็นผู้บริหารผู้นำทางความคิดและวิชาการที่มีคุณภาพ

            แม้ดูเหมือนจะเป็นหลักการที่ดีที่จะพัฒนาระบบราชการและบุคลากรภาครัฐให้มีขีดสมรรถนะในการทำงานอย่างฉับไวและคุณภาพเช่นเดียวกับภาคเอกชน  แต่ในอีกมุมหนึ่งก็คงยากที่จะประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ได้จัดให้มีโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ เพื่อที่จะพัฒนาและเตรียมบุคคลเหล่านั้นไปนั่งเป็นผู้บริหารในส่วนราชการต่างๆ ในอนาคต

            จากประสบการณ์และมุมมองผู้เขียน เห็นว่าโครงการเหล่านี้ อาจสร้างความรู้สึกไม่เป็นธรรม หรือกีดกัน หรือการแบ่งแยก (Discrimination) ข้าราชการอีกจำนวนมากที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ HiPPS หรือโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ (นปร.) (http://www.igpthai.org) ในการขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูง (แม้ว่าในความเป็นจริงจะยังไม่มีบทบัญญัติใดที่รับรองว่าข้าราชการที่ผ่านโครงการดังกล่าว จะได้ขึ้นเป็นผู้บริหารของส่วนราชการ) และในความเป็นจริงของระบบราชการไทยก็มีปัจจัยมากมายในการที่ใครสักคนจะขึ้นสู่ตำแหน่งระดับสูงได้ คงมิใช่เพียงความรู้ ความสามารถที่เป็นเลิศเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นที่รับรู้กันว่าระบบอุปถัมภ์ได้ฝังรากลึกในระบบราชการไทยมายาวนาน หรือที่พูดเป็นภาษาปาก ค่าของคนอยู่ที่คนของใคร

            อีกประเด็นก็คือ การที่เรามีข้าราชการรุ่นใหม่ที่เป็นคนเก่งในระบบราชการเพียงไม่กี่คน ในขณะที่ข้าราชการส่วนใหญ่ยังมีความคิดในการทำงานแบบเดิมๆ สุดท้ายพอคนรุ่นใหม่เหล่านั้นเข้าไปทำงานด้วย ถ้าไม่ถูกกลืน ก็คงอยู่ไม่ได้เพราะความอึดอัดและขาดเสรีภาพในการที่จะคิดจะทำสิ่งใหม่ๆ ตามทฤษฎีที่เรียนมาเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือขององค์การ ยิ่งมาเจอผู้บริหารประเภทหัวโบราณ ที่อะไรๆ ก็ต้องขออนุมัติผ่านขั้นตอนเยอะแยะเหมือนในระบบราชการแบบเดิมแล้ว สุดท้ายก็คิดว่า อยู่เฉยๆ ดีกว่า รอสั่งค่อยทำเข้าทำนองว่า ทำไม่ผิด ดีกว่าทำถูก

            ผู้นำองค์กรของส่วนราชการเป็นสิ่งสำคัญ อย่างที่ ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ ได้กล่าวไว้ว่า ผู้บริหารที่คนนึกถึงก็คือ คนที่มีภาวะความเป็นผู้นำ สามารถวางแผนบริหารงานได้ กล้าในการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ มอบหมายงานโดยรู้จักใช้ทีมงาน ท้าทายทีมงานให้ทำงานไปถึงเป้าหมาย ใช้หลักการบริหารจัดการสมัยใหม่ในการบริหารงาน ฯลฯถ้าผู้บริหารของส่วนราชการมีคุณสมบัติเหล่านี้ การพัฒนาส่วนราชการก็คงเดินหน้าไปอย่างสัมฤทธิ์ผลและเกิดประโยชน์สุขแก่ประชาชน อย่างเช่นที่เขียนไว้ในอย่างสวยหรู่ในหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี แต่ในความเป็นจริงเราก็ยังมีผู้บริหารส่วนราชการที่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน มากกว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน

            อีกแง่มุมหนึ่ง ที่จะทำให้โครงการ HiPPS หรือโครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ ไม่ประสบความสำเร็จ ก็คือระบบราชการของเรามีวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่ดูจะสอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย นั้นก็คือการให้ความสำคัญกับความอาวุโส การเอาข้าราชการที่มีความสามารถแต่อาวุโสน้อยขึ้นมาเป็นผู้บริหาร จึงเป็นคำถามว่าจะทำให้ขวัญกำลังใจของข้าราชการที่ปฏิบัติราชการมานานลดน้อยลงหรือไม่ ทำไมเราไม่รักษาวัฒนธรรมการเติบโตแบบรุ่นต่อรุ่น (Generation to Generation) สร้างวัฒนธรรมการทำงานที่ให้ข้าราชการผู้น้อยเคารพในประสบการณ์ของผู้ใหญ่ และนำความรู้ที่ตนมีสนับสนุนการทำงานของท่านเหล่านั้นเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จ เมื่อถึงเวลาที่ท่านเหล่านั้นเกษียณไปเราก็สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารได้อย่างสง่างาม และเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย

            แม้ว่าในปัจจุบันสังคมไทยและสังคมโลกกำลังชื่นชมกับผู้บริหารที่มีอายุน้อย แต่ผู้เขียนก็เห็นว่าการเติบโตแบบรุ่นต่อรุ่น โดยคำนึงถึงหลักอาวุโสและความรู้ความสามารถนั้น เป็นแบบแผนอันดีงามในวัฒนธรรมของราชการไทย มันไม่สำคัญหรอกที่เราจะต้องมีผู้บริหารที่มีความรู้ความสามารถอย่างเป็นเลิศ...แต่เราต้องการผู้บริหารของหน่วยงานราชการที่มุ่งขับเคลื่อนองค์กรในการทำงานเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง มิใช่เพียงคำพูด หรือข้อความที่เขียนไว้ในกระดาษ มิใช่เป็นข้าราชการที่คอยรับใช้นักการเมือง หรือทำงานเอาใจนาย เพราะมุ่งหวังลาภ ยศ ตำแหน่ง  โดยไม่สนใจหลักคุณธรรม จริยธรรม ศักดิ์ศรีข้าราชการ และที่สำคัญสูงสุดคือประชาชนและประเทศชาติจะได้ประโยชน์อะไร<

หมายเลขบันทึก: 288991เขียนเมื่อ 19 สิงหาคม 2009 11:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท