สุรา สุรา ใครคิดว่าไม่สำคัญ


การดื่มสุราไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเสพติดและเกิดปัญหาเฉพาะผู้ดื่มเอง แต่ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น ครอบครัว ชุมชน และสังคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม

สรุปการเรียนรู้ครั้งที่ 11 Economic Impacts of Alcohol Consumption
     การดื่มสุราไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดการเสพติดและเกิดปัญหาเฉพาะผู้ดื่มเอง แต่ยังทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้อื่น ครอบครัว ชุมชน และสังคมทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ทั้งในเรื่องปัญหาสุขภาพและโรคที่เกิดจากพิษของสุรา(องค์การอนามัยโลก ระบุว่าสุราเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ มากถึง 60 โรค เช่น มะเร็งตับ โรคหัวใจ ซึ่งนอกจากสุขภาพกายแล้ว ยังมีปัญหาสุขภาพจิต ผู้ดื่มสุราเรื้อรังจะมีความเครียดได้ ร้อยละ 51 และมีอาการซึมเศร้าซึ่งอยู่ในเกณฑ์รุนแรงถึงร้อยละ 48 นอกจากนี้ยังพบว่า วัยรุ่นที่มีพ่อเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังนั้นมีปัญหาสุขาภาพจิตมากกว่าเด็กทั่วไปถึง 11.5 เท่า) การดื่มสุราเป็นสาเหตุให้เกิดอุบัติเหตุ(ข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา พบว่า การดื่มสุราเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุถึง ร้อยละ 40 ในช่วงปกติ และเพิ่มสูงถึง ร้อยละ 60 ในช่วงเทศกาล) ก่อให้เกิดความรุนแรง(การดื่มเครื่องดื่มสุราทำให้มีโอกาสเกิดความรุนแรงในครอบครัว 4 เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับครอบครัวที่ไม่ดื่ม) ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้สูญเสียปีสุขภาวะ คือตายหรือพิการก่อนถึงวัยอันควร และทำให้เกิดค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้การบริโภคสุรายังก่อให้เกิดผลกระทบที่สำคัญทางเศรษฐกิจคือ การสูญเสียผลผลิต(Productivity loss) ทั้งนี้การศึกษาจำนวนมากทั่วโลกต่างระบุตรงกันว่า สุราเป็นสาเหตุที่สำคัญของการสูญเสียผลผลิตจากการเสียชีวิตก่อนถึงวัยอันควร การว่างงาน การหยุดงานหรือสูญเสียประสิทธิภาพในขณะทำงาน การดื่มสุรายังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ค่าใช้จ่ายในกระบวนการยุติธรรมต่ออาชญากรรมที่เกิดจากปัญหาสุรา ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุต่างๆ รวมทั้งยังก่อให้เกิด ความเจ็บป่วย ความเศร้าโศก และความทุกข์ทรมาน ต่างๆ ซึ่งหากนำมาตีค่าเป็นตัวเงินจะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นจำนวนมาก
     จากผลกระทบของการดื่มสุราที่ระบุมาข้างต้น องค์การอนามัยโลกได้แบ่งประเภทของต้นทุน เพื่อใช้เป็นแนวทางในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ที่สังคมต้องแบกรับจากการบริโภคสุรา เป็น 2 ชนิดได้แก่ ต้นทุนที่จับต้องได้(Tangible cost) และต้นทุนที่จับต้องไม่ได้(Intangible cost) ต้นทุนที่จับต้องได้ประกอบด้วย 1)ต้นทุนทางสุขภาพและสวัสดิการ ได้แก่ ต้นทุนจากการรักษาการติดสุรา ต้นทุนของการรักษาโรคหรือปัญหาสุขภาพรวมถึงการบาดเจ็บจากการบริโภคสุรา และต้นทุนในการป้องกันตลอดจนการวิจัยทางด้านสุขภาพและสวัสดิการ 2)ต้นทุนจากการสูญเสียผลผลิต ซึ่งประกอบด้วย ต้นทุนที่เกิดจากการสูญเสียผลผลิตจากการตายก่อนถึงวัยอันควร และ ต้นทุนจากการสูญเสียผลิตจากการว่างงานและการขาดประสิทธิภาพในการทำงาน 3)ต้นทุนจากการบังคับใช้กฎหมายและการฟ้องร้องคดีความ และ 4)ต้นทุนอื่นๆ เช่น ทรัพย์สินเสียหายจากอุบัติเหตุ สำหรับต้นทุนที่จับต้องไม่ได้นั้นรวมถึง ต้นทุนที่เกิดจากความเจ็บปวด ความเศร้าโศก และความทุกข์ทรมาน
     ในหลายประเทศทั่วโลกต่างมีความพยายามที่จะประมาณมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมที่สูญเสียไปจากการบริโภคสุรา เพื่อให้ประชาชนในสังคมตระหนักถึงขนาดความรุนแรงของผลกระทบจากการบริโภคสุราอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารในการเลือกใช้มาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบและปัญหาจากการดื่มสุรา “เมื่อสุรามีปัญหาและผลกระทบมากมายอย่างนี้แล้วท่านยังจะดื่มและส่งเสริมการดื่มสุราอีกหรือ” 
     สรุปเรื่องราวครั้งนี้ผ่านการถ่ายทอดจากท่านอาจารย์ ผศ.สุชาดา ภัยหลีกลี้

หมายเลขบันทึก: 288768เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 14:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท