"บ้านเจดีย์" ชุมชนต้นแบบลดละเลิกเหล้า


นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติชุมชนที่จะนำไปสู่ “ชุมชนปลอดเหล้า” ได้

 

เมืองน่าน หลายๆ คนอาจคุ้นชินกับความเป็นเมืองสงบงาม ที่มีเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม และโอบล้อมด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย แต่จากการสำรวจของสำนักโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุขในปี ๒๕๔๗ กลับพบว่า จังหวัดน่านมีการดื่มสุราเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ ทำให้ประชาคมคนเมืองน่านได้ลุกขึ้นมาขับเคลื่อนในการลดละเลิกเหล้าอย่างต่อเนื่อง

วัดหนองแดง อ.เชียงกลาง

เช่นเดียวกับบ้านเจดีย์ ๑, ๒ หมู่ ๓ และหมู่ ๑๐ อยู่ในเขตตัวอำเภอเชียงกลาง เป็นบ้านพี่บ้านน้องที่แต่เดิมเป็นบ้านเดียว แต่ด้วยประชากรที่มีจำนวนมากขึ้นจึงได้มีการแยกการปกครองออกไปเป็น ๒ หมู่บ้าน แต่ก็ยังคงเป็นศรัทธาเดียวกัน เป็นหมู่บ้านที่โดยรวมมีความเข้มแข็ง

แต่หากวิเคราะห์ปัญหาทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องการดื่มเหล้าแล้ว จะพบว่าชาวบ้านเจดีย์ก็มีสภาพที่แตกต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่มีการดื่มเหล้ากันมาก ไม่เว้นแม้แต่งานบุญ ในบ้าน ในวัด ในสถานที่ราชการ ภาพของการเลี้ยงเหล้าในงานศพ ในงานบุญที่วัด การตั้งวงกินเหล้าในงานกีฬา ในกลุ่มผู้ใหญ่ทั้งหลาย ที่แต่เดิมมักเป็นกลุ่มพ่อบ้าน และเริ่มขยายไปยังกลุ่มแม่บ้าน ที่มักกินและเต้นในงานเลี้ยงต่างๆ ส่วนกลุ่มเยาวชนก็มักจะตั้งวงดื่มกันในที่สาธารณะต่างๆ นับวันเริ่มกลายเป็นภาพชาชินของคนในชุมชนที่มักเห็นพ่อแม่ตั้งวงกินกัน ลูกก็ตั้งอีกวง และการเห็นเยาวชนกินเหล้าในที่สาธารณะต่างๆ เริ่มมากขึ้นๆ และเริ่มเห็นผลกระทบที่ตามมา เช่น ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาครอบครัว เป็นต้น

(เหล้าในที่นี่เป็นคำรวมๆ ที่ใช้แทนเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด)

แรงบันดาลใจ

งานศพที่แม้จะเป็นงานเศร้าโศกเสียใจ แต่ก็มีการเลี้ยงเหล้าให้กับแขกที่มาร่วมงาน และการมีการเล่นพนันงานศพ ด้วยเหตุผลที่ว่าคนที่มาร่มเฝ้าศพในแต่ละคืนนั้นไม่รู้จะทำอะไร ก็มีการกินเหล้าเล่นการพนัน แก้เหงา กลายเป็นวิถีปฏิบัติที่ฝังรากลึกมานาน แม้วันที่นำศพไปเผาที่ป่าสุสานกลับมาก็มีการเลี้ยงเหล้าข้าวปลาอาหารเป็นการขอบคุณแขก ทำให้เจ้าภาพต้องเสียเงินไปกับค่าเหล้าในงานศพไม่น้อยเลย

แล้วเหตุการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิดก็เกิดขึ้นกับชุมชนบ้านเจดีย์ เมื่อราวปี ๒๕๔๗ ในงานศพงานหนึ่งที่มีการจัดเลี้ยงเหล้าข้าวปลาอาหารตามปกติเฉกเช่นกับงานศพอื่นที่มีก่อนหน้านี้ ปรากฏว่าคนที่มาร่วมงานศพได้ดื่มเหล้าจนเมาแล้วขับรถมอเตอร์ไซด์ไปตกลำเหมืองเสียชีวิต ทำให้คนในชุมชนเสียใจมาก และรู้สึกอับอายที่มีการเลี้ยงเหล้าในงานศพจนทำให้คนมาร่วมงานศพต้องมาเสียชีวิตไปเพราะดื่มเหล้าในงานศพ และคิดว่าเป็นการสิ้นเปลืองเงินทองโดยไม่จำเป็น

เริ่มต้นหมู่บ้านลดเหล้า

จากจุดนี้เองได้นำไปสู่การจัดประชาคมหมู่บ้านโดยเชิญตัวแทนทุกหลังคาเรือนมาพูดคุยหาทางออกร่วมกัน เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก และได้ข้อตกลงพ้องต้องกันในที่ประชุมร่วมกันว่าจะ งดเหล้าในงานศพ โดยมีมาตรการของหมู่บ้านว่า ห้ามไม่ให้มีการเลี้ยงเหล้าในงานระหว่างที่ตั้งศพไว้ที่บ้าน ผู้ใดฝ่าฝืนปรับ ๕๐๐ บาท นำเงินเข้าหมู่บ้าน ในระยะแรกยังไม่ได้ห้ามเลี้ยงขอบคุณแขกที่มาช่วยงานในช่วงหลังจากเผาศพแล้ว แต่ก็ให้เลี้ยงเล็กน้อยพอเป็นพิธี นับตั้งแต่นั้นมางานศพปลอดเหล้าจึงได้เป็นวัตรปฏิบัติของชาวบ้านเจดีย์สืบมา (ปัจจุบันจะมีเหล้าเฉพาะเป็นของเซ่นไหว้ตามพิธีกรรมเท่านั้น ไม่มีการเลี้ยงทั้งระหว่างตั้งศพและหลังเผาศพแล้ว)

และในปี ๒๕๔๙ เจ้าห้าที่สาธารณสุขอำเภอเชียงกลาง ได้ริเริ่มโครงการลดละเลิกเหล้าในชุมชน ได้เชิญแกนนำหมู่บ้านต่างๆ มาร่วมเวทีเสวนา เพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาการดื่มเหล้า และร่วมกันหาแนวทางการลดละเลิกการดื่มเหล้าในชุมชน ทั้งนี้ได้เชิญชวนหมู่บ้านที่สนใจเข้าร่วมโครงการ ปรากฏว่ามีหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ ๒๓ หมู่บ้าน ในจำนวนนี้มีหมู่บ้านเจดีย์ ๑, ๒ รวมอยู่ด้วย

ในปี ๒๕๕๐ ทีมวิจัยโรงพยาบาลเชียงกลางได้ทำวิจัยเรื่องแนวทางการลดการดื่มสุราในกลุ่มเยาวชน และเครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุขอำเภอเชียงกลางได้จัดงบประมาณสนับสนุนให้แก่หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการลดละเลิกเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์จำนวน ๒๓ หมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ หมู่บ้านละ ๕,๐๐๐ บาท

บ้านเจดีย์ ๑, ๒ จึงได้เริ่มดำเนินการ รณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา ปรากฏว่ามีคนเข้าร่วมโครงการ ๒๐๐ คน มีคนที่สามารถเลิกเหล้าช่วงเข้าพรรษาได้จำนวน ๕๐ คน ได้มีการมอบเกียรติบัตรให้เพื่อแสดงความชื่นชมทุกคน

งดเหล้าในวันพระ ด้วยที่ชาวบ้านเจดีย์ส่วนใหญ่เป็นพุทธศาสนิกชน แกนนำได้แนวคิดมาจากโฆษณาที่ว่า วันอาทิตย์วันครอบครัว เป็นโฆษณาที่ดี น่าจะนำมาปรับใช้กับการรณรงค์งดเหล้า จึงคิดว่าพุทธศาสนิกชนน่าจะงดเหล้าในวันพระ อย่างน้อยก็ได้งด ๑ วันต่อสัปดาห์ เป็นการรักษาศีล ๕ ด้วย จึงได้นำงบประมาณที่ได้ ๕,๐๐๐ บาท จัดทำป้ายว่า ครอบครัวนี้งดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในวันพระ โดยมีวัตถุประสงค์อยากให้งดเหล้าทั้งครอบครัว ในวันประชุมประจำหมู่บ้านจึงได้ชักชวนคนในหมู่บ้านว่าครอบครัวใดจะเข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าทุกวันพระขอให้มารับป้ายไปติดที่หน้าบ้าน ไม่มีการบังคับ ปรากฏว่ามีมีคนมารับป้ายไปจำนวน ๑๓๘ หลังคาเรือน จากทั้งหมด ๑๘๒ หลังคาเรือน แต่เมื่อดำเนินไประยะหนึ่งปรากฏว่าคนที่รับป้ายไปยังมีการดื่มเหล้าในวันพระ แกนนำจึงจัดทำแบบฟอร์มตรวจสอบให้แก่อสม.ออกตรวจตราทุกวันพระ ปรากฏว่าอสม.เกรงใจไม่กรอกข้อมูลตามความเป็นจริงบ้าง บ้างก็ไปดื่มเสียเองบ้าง แกนนำจึงได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีใหม่ ด้วยรับสมัครเยาวชนมาเป็นอสม.จัดอบรมและให้เยาวชนอสม.ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านเสียงตามสายก่อนวันพระ จัดทำปฏิทินวันพระแจกให้แต่ละหลังคาเรือน และออกตรวจสอบแต่ละหลังคาเรือน แล้วมีการสร้างแรงจูงใจให้แต่ละหมวดบ้านว่าหมวดบ้านสามารถงดเหล้าวันพระได้มากก็จะมีรางวัลให้ โดยแบ่งเป็นไตรมาส โดยได้ดำเนินการในช่วงแรกๆ นอกจากนี้แกนนำชุมชนยังได้เข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือกับร้านค้าในหมู่บ้านให้งดขายเหลาในวันพระเช่นกัน

ในปี ๒๕๕๑ เครือข่ายหน่วยบริการสาธารณสุขอำเภอเชียงกลาง ไดจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลการดำเนินงานหมู่บ้านลดละเลิกเหล้า มีการนำเสนอผลการดำเนินงานของแต่ละหมู่บ้านที่เข้าร่วมโครงการ ปรากฏว่าหมู่บ้านเจดีย์หมู่ที่ ๓ ได้รับรางวัลชนะเลิศได้เงินรางวัล ๘,๐๐๐ บาท หมู่บ้านเจดีย์หมู่ที่ ๑๐ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศได้เงินรางวัล ๕,๐๐๐ บาท ในขณะที่หมู่บ้านอื่นๆ ได้หมู่บ้านละ ๒,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นกองทุนขับเคลื่อนการลดละเลิกเหล้าในชุมชนต่อเนื่อง ด้วยคำรณรงค์ว่า อยากกินรินเอา อยากเมารินเอง  เพื่อให้เกียรติแก่ผู้วายชนม์ โปรดงดดื่มเหล้าในงานศพ

นอกจากนี้ยังได้ขยายไปยังการงดเหล้าในงานกีฬาของชุมชน โดยห้ามมิให้มีการขายและดื่มเหล้าในงานกีฬาของชุมชน และมีการกำหนดมาตรการห้ามกินเหล้าเสียงดังเกิน ๔ ทุ่ม มีโทษปรับ ๕๐๐ บาท ที่สำคัญงานวันกำนันผู้ใหญ่บ้านในปี ๒๕๕๒ อำเภอเชียงกลางได้จัดงานที่ปลอดเหล้า ๑๐๐ % นับเป็นตัวอย่างของแกนนำที่เอาจริงในการช่วยกันลดเหล้า

ดอกผลแห่งการขับเคลื่อนหมู่บ้านปลอดเหล้า

หลังจากดำเนินการมาต่อเนื่องผลที่เกิดขึ้นที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านเจดีย์คือ ตอนนี้ได้กลายเป็นวัฒนธรรมที่ปฏิบัติร่วมกันว่าทุกวันพระจะงดดื่มเหล้า งดขายเหล้า คนที่จะดื่มกินในวันพระก็รู้สึกละอายต่อเด็กและคนอื่นๆ ภาพของการตั้งวงดื่มเหล้าในชุมชนและที่สาธารณะที่เคยเห็นจนชาชินในอดีตเริ่มลดน้อยหายไป อุบัติเหตุที่เกิดจากการเมาแล้วขับก็ลดลงมาก แต่ได้ภาพแห่งความสุขความเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวของคนในครอบครัวและคนในชุมชนกลับคืนมา

มีตัวอย่างของ ๒ ครอบครัวที่เป็นผลพวงของการขับเคลื่อนลดละเลิกเหล้าในชุมชน

ครอบครัวแรก สามีภรรยามักจะทะเลาะกันเป็นประจำ เรียกว่าชาวบ้านเอือมระอาเต็มทน ผู้ใหญ่บ้านต้องมานั่งไกล่เกลี่ยให้อยู่บ่อยๆ ปัจจุบันสามารถเลิกเหล้าได้เด็ดขาด สามารถทำมาหากินเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างมีความสุข

ครอบครัวที่สอง ก็มีสภาพไมต่างครอบครัวแรก ได้ปฏิญาณตนงดเหล้าเพื่อถวายพ่อหลวง จนสามารถเลิกเหล้าได้ถึงปัจจุบันนี้ กลับมาเป็นครอบครัวที่ชื่นมื่นมีความสุข

ผลของการทำงานอย่างต่อเนื่องและจริงจังทำให้เป็นที่รับรู้กันไปหลายพื้นที่ รวมทั้งการได้มีโอกาสไปนำเสนอผลการดำเนินงานของหมู่บ้านในเวทีเครือข่ายชุมชนลดละเลิกเหล้าในระดับจังหวัด ทำให้มีหมู่บ้านและองค์กรต่างๆ เข้ามาศึกษาดูงาน อาทิเช่น รพ.สองแคว และแกนนำชุมชนอ.สองแคว, ชมรมพยาบาลโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย, สถานีโทรทัศน์ช่อง ๑๑ กรมประชาสัมพันธ์มาถ่ายทำวิดีทัศน์ออกเผยแพร่ และทำให้อสม.นันทพร คงศรีศักดิ์ ได้รับการคัดเลือกเป็นอสม.ดีเด่นระดับจังหวัดในสาขาป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

ปัจจัยเงื่อนแห่งความสำเร็จ

สิ่งที่ชุมชนบ้านเจดีย์ได้ดำเนินการมา มิได้สำเร็จได้ภายในชั่วพริบตา แต่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ ลองผิดลองถูก และมุ่งมั่นและจริงจังของแกนนำและคนชุมชน มีปัจจัยเงื่อนไขแห่งความสำเร็จที่สำคัญได้แก่

๑. การมีทีมแกนนำชุมชนที่เข้มแข็ง ชุมชนให้ความร่วมมือดี

๒. มีการทำสัญลักษณ์เพื่อประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เช่น ป้ายเตือนงดการดื่มเหล้าทุกวันพระ, การประชาสัมพันธ์ผ่านเสียงตามสายและการประชุมของหมู่บ้าน

๓. มีเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างต่อเนื่องทั้งภายในชุมชน ภายในอำเภอ และจังหวัด

๔. บุคลากรสาธารณสุขให้การสนับสนุนเต็มที่และต่อเนื่อง

๕. มีการสร้างจูงใจให้แก่คนทำดี เช่น การให้รางวัล, การให้เกียรติบัตร เป็นต้น

๖. ผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ

๗. สื่อโฆษณาทางโทรทัศน์ไดมีส่วนหนุนเสริมกระแสการรณรงค์ เช่น งดเหล้าเข้าพรรษา เป็นต้น

อย่างไรก็ตามหนทางของชุมชนลดละเลิกเหล้าก็มิได้โรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ ในช่วงแรกๆ ของการขับเคลื่อนก็มีบางคนที่เป็นส่วนน้อยไม่ให้ความร่วมมือและไปชักชวนคนอื่นไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรม แกนนำก็ต้องอาศัยความมุ่งมั่นสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น แต่สิ่งที่แกนนำคาดหวังอยากให้เกิดแต่ยังไม่สามารถทำได้คือการลดเหล้าในช่วงลงแขกหลังเลิกงานการเกษตร โดยเฉพาะช่วงเก็บเกี่ยวข้าวที่ใช้เวลาประมาณ ๒๐ วัน จะมีการเลี้ยงเหล้าทุกวัน สิ่งเหล่านี้นับว่าเป็นความท้าทายยิ่งของคนในชุมชน

บทเรียนที่ได้รับ

จากการขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้ามาอย่างจริงและต่อเนื่อง ทำให้แกนนำและคนในชุมชนเรียนรู้ประสบการณ์และได้บทเรียนหลายประการ ที่สำคัญได้แก่

๑. ความสำเร็จของการพัฒนาหมู่บ้านนั้นต้องเกิดมาจากชุมชน ที่คิดเอง ทำเอง มิใช่การสั่งการจากภาครัฐ

๒. กิจกรรมต้องทำต่อเนื่องหลายปีเพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนวิถีและพฤติกรรมของชุมชนจนสามารถสร้างเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่ไม่เหล้าได้

๓. การเปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนเข้าร่วมกิจกรรม ทำให้เด็กและเยาวชนเกิดคุณค่าในตนเอง รู้จักรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว และชุมชน

บทเรียนของการขับเคลื่อนชุมชนลดละเลิกเหล้าในบ้านเจดีย์ ๑, ๒ เป็นตัวอย่างของชุมชนที่มิปล่อยให้วิถีทางและวิถีปฏิบัติที่เอาน้ำเมามาทำลายความเป็นเด็ก เยาวชน ครอบครัวและชุมชน ทั้งด้านความรัก ความสามัคคี และเศรษฐกิจของชุมชน แต่หากเอาบทเรียนที่ทำให้คนในชุมชนต้องมาเสียใจ เสียเงิน และเสียหน้า เพราะการเมา มาเป็นบทเรียน ลุกขึ้นปฏิวัติวิถีการกินดื่มเหล้าของคนในชุมชนทิ่คิดว่าเป็นเรื่องปกติ มาเป็นการลดละเลิกในงานประเพณีต่างๆ หลายงาน แม้ว่ายังปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีการดื่มเหล้าอยู่ แต่การดื่มก็น้อยลง และมีการงดการดื่มอย่างเข้มงวดในวาระต่างๆ นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติชุมชนที่จะนำไปสู่ ชุมชนปลอดเหล้า ได้

............................................................

บันทึกเรื่องราวจากเวทีถอดบทเรียนชุมชนต้นแบบลดละเลิกเหล้าสายเหนือ

วันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ ณ ห้องประชุมโรงพยาบาลเชียงกลาง

ขอขอบคุณ

คุณจินตนา แสงจันทร์ พยาบาลวิชาชีพ รพ.เชียงกลาง

แกนนำชุมชนบ้านเจดีย์ ๑, ๒

และเรื่องราวดีดีจากเวที

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 288760เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

น่าเอาเป็นตัวอย่างค่ะ ส่งไปให้น้องๆที่เวียงสา ดูเป็นตัวอย่าง

การทำงานถ้าทำแบบลวก ผลงานออกมาเร็วแต่ไม่ยั่งยืน

สุดยอด วันหลังอยากเข้าไปสังเกตการณ์จังค่ะ

สุดยอดเลยค่ะ ทำงานแบบกัดไม่ปล่อย ที่ถืมตองก็มีการทำอย่างต่อเนื่องปัญหาจะลดหรือไม่อาจจะยังไม่มีคำคอบ แต่มีคำตอบคือได้ทำ ทำแบบทุกฝ่ายมีส่วนร่วม

"คนที่หลึก" ก็ต้องอดทน มีคนที่ดีมีมากกว่า"คนหลึก "เอา"คนหลึก"มาปรับเป็นสุดยอดการทำงาน คงไม่สำเร็จในวันเดียว เดือนเดียว หรือปีเดียว พระพุทธเจ้าตรัสไว้ตั้ง2500 กว่าปีแล้ว ก็ยังมี "คนหลึก"อยู่เลย และก็มีเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย

มาเป็นกำลังใจให้กันค่ะ ที่เชียงกลางมีเรื่องดีๆมีมาก และมีคนงามอย่างจินตนาอยู่ด้วย

ภาพที่คนทำงานอย่างเราอยากเห็นคือ งานที่OPD. ER ward ลดลงจากโรคที่เราป้องกันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคที่มาจากเหล้า งานที่ท้าทายจริงนะค่ะ

คนทำสิ่งดีดีต้องให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท