นางสาว ปวีณา
นางสาว ปวีณา นางสาว ปวีณา กุลามาหมัด

สภาพมลายูถิ่นปัตตานี


เล่าสู่กันฟัง

           จากการศึกษาชุมชนในขั้นตอนของการเตรียมพื้นที่วิจัย ซึ่งทีมวิจัยได้ติดต่อประสานงานกับตัวแทนชุมชน การลงพื้นที่เพื่อสร้างความไว้วางใจต่อทีมวิจัย การสำรวจหน่วยเสียงในชุมชน ทั้งในรูปแบบของการสัมภาษณ์และสนทนากลุ่มขนาดเล็ก และในขั้นตอนของการจัดทำเวทีประชาคมเพื่อแนะนำโครงการวิจัยต่อชุมชน ทีมวิจัยได้ทำการศึกษาสภาพของภาษามลายูปาตานีในพื้นที่วิจัยไปพร้อมกับกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งได้ผลการศึกษา ดังนี้  1)  หากพิจารณาการใช้ภาษาในชุมชนพบว่า ชุมชนใช้ภาษามลายูปาตานีในการสื่อสารในชีวิตประจำวัน การใช้ภาษามลายูปาตานีของบุคคลภายนอกชุมชนทำให้เกิดความไว้วางใจในการติดต่อสื่อสารกับคนในชุมชน แต่ถึงแม้ว่า ภาษามลายูปาตานีจะเป็นภาษาหลักในการสื่อสารในชุมชน แต่พบว่า สมาชิกในชุมชนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีลงมา สามารถใช้ภาษาไทยในการติดต่อสื่อสารและสนทนากับบุคคลภายนอกได้เป็นอย่างดี ซึ่งแสดงให้เห็นถึงบทบาทของภาษามลายูปาตานีที่ลดลง และบทบาทของภาษาไทยที่เพิ่มขึ้น ในฐานะของภาษาทางการสำหรับการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกชุมชน โดยเฉพาะที่มาจากพื้นที่นอกจังหวัดชายแดนภาคใต้
 จากการสนทนาระหว่างทีมวิจัยกับสมาชิกในชุมชนที่มีความแตกต่างทั้งอายุและการศึกษาพบว่า สมาชิกชุมชนที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีลงมามีทักษะในการใช้ภาษาไทยในการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนที่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้อย่างเป็นธรรมชาติ มีเพียงผู้สูงอายุในชุมชนเท่านั้นที่ไม่สามารถสื่อสารด้วยภาษาไทยได้ แต่บางส่วนสามารถฟังภาษาไทยเข้าใจเพียงแต่ไม่สามารถพูดด้วยภาษาไทยได้เท่านั้น
 2)  จากการสำรวจพื้นที่ชุมชน พบว่า ในชุมชนมีการใช้อักษรยาวีอย่างแพร่หลาย ทั้งในรูปแบบของเอกสารต่างๆ หรือป้ายบอกทางหรือสถานที่ที่ทำขึ้นโดยสมาชิกในชุมชนที่ยังคงเขียนด้วยอักษรยาวี นอกจากนี้พบว่า สมาชิกในชุมชนที่ได้รับการศึกษาทางศาสนาจะสามารถอ่านข้อความที่เขียนด้วยอักษรยาวีได้เป็นอย่างดี ยกเว้นในกลุ่มวัยกลางคนลงมาที่อาจจะอ่านและเขียนไม่คล่องเเคล่วเท่าที่ควร
 ทั้งนี้ อาจจะเนื่องจากตำราเรียนในโรงเรียนตาดีกายังคงเป็นภาษามลายูอักษรยาวี ทำให้สมาชิกในชุมชนยังคงได้เรียนและสืบทอดกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีบางชุมชน เช่นชุมชนโสร่งที่ในอดีตใช้อักษรรูมีในการเขียนภาษามลายู ซึ่งอีหม่ามมัสยิดบ้านโสร่งได้เล่าว่า เนื่องจากชุมชนบ้านโสร่งมีแกนนำชุมชนในอดีตเป็นผู้ที่อพยพจากเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย จึงเขียนภาษามลายูด้วยอักษรรูมีในชุมชนในอดีตจึงมีการเรียนการสอนด้วยอักษรรูมี
ถึงแม้ทุกชุมชนจะจัดให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูด้วยอักษรยาวี แต่อาจมีความสำเร็จแตกต่างกัน ทั้งนี้จากการสังเกตพบว่า ในกลุ่มวัยกลางคนบางส่วนลืมเลือนการอ่านการเขียนภาษามลายูด้วยอักษรยาวีไปบ้าง เนื่องจากมีโอกาสการนำไปใช้น้อยลง
 3)  จากการศึกษาพบว่า เนื่องจากอิทธิพลของภาษาอื่น เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ มีบทบาทเพิ่มขึ้นในชุมชนโสร่ง ทำให้คำศัพท์เฉพาะที่ใช้ในการเรียกชื่อสิ่งต่างๆ ในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ที่ไม่รู้จักคำศัพท์เดิมของชุมชน จึงใช้คำศัพท์ใหม่ที่อาจจะมาจากภาษามลายูปาตานีจากพื้นที่อื่นหรือศัพท์ภาษาไทยมาแทนที่คำศัพท์เดิมของชุมชน ซึ่งจากการสนทนากลุ่มย่อยเพื่อตรวจสอบหน่วยเสียงในชุมชน พบว่า มีหลายคำศัพท์ที่ผู้อาวุโสในชุมชนเรียกไม่เหมือนกับคนที่มีอายุ 40 ปีลงมา อีกทั้งยังพบว่ามีบางคำศัพท์ที่สำเนียงเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเมื่อได้พูดคุยในการสนทนากลุ่มย่อยครั้งนี้ ทีมวิจัยได้รับคำขอบคุณจากผู้อาวุโสในชุมชน เนื่องจากช่วยให้มีการพูดคุยในเรื่องภาษาของชุมชนซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาอัตลักษณ์ของชุมชน และทำให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาของชุมชนเพื่อดำรงไว้ซึ่งความภาคภูมิใจของคนในชุมชน
 4)  จากการสำรวจชุมชนพบว่า ในชุมชนมีสถานศึกษาศาสนาหลายแห่ง และสถานศึกษาเหล่านั้นยังคงใช้ตำราต่างๆ ที่เขียนด้วยอักษรยาวี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของอักษรยาวีที่มีในชุมชน ซึ่งจากความสำคัญของอักษรยาวีดังกล่าว ทำให้ในการนำเสนอโครงการวิจัยต่อชุมชนในแรกๆ มีหลายฝ่ายให้ข้อกังวลว่า การสร้างระบบใหม่อาจส่งผลกระทบต่อระบบอักษรยาวีมาตรฐาน จึงได้รับข้อเสนอแนะจากสมาชิกในชุมชนว่า ระบบเขียนที่จะพัฒนาตามโครงการนี้จะต้องไม่ไปแก้ไขหลักการอ่านในหลักการเขียนอักษรยาวีในภาษามลายูมาตรฐานเดิม แต่ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เห็นว่ามีความจำเป็นต้องมีการพัฒนาระบบเขียนสำหรับหน่วยเสียงที่มีในชุมชนซึ่งระบบเขียนอักษรยาวีเดิมไม่สามารถเขียนได้
 5)  จากการสนทนากับแกนนำชุมชนในหลายครั้ง พบว่า อักษรยาวียังมีบทบาทสำคัญต่อชุมชน เช่น ในการอ่านคุตบะฮฺ (การแสดงปาฐกถาธรรมในวันศุกร์) ที่เขียนเป็นภาษามลายูด้วยอักษรยาวี แต่ปัจจุบันความเข้าใจในสิ่งที่อ่านมีน้อยลง เนื่องจากศัพท์ใหม่ๆ ที่ปรากฏในหนังสือ
คุตบะฮฺนั้นเป็นศัพท์ที่ใช้ในประเทศมาเลเซีย ในขณะที่คำศัพท์เหล่านั้นไม่มีการใช้ในพื้นที่ ทำให้เวลาอ่าน จึงเป็นการอ่านแบบเดาคำศัพท์และคนฟังคุตบะฮฺจากการอ่านดังกล่าว ก็ยิ่งไม่เข้าใจมากขึ้น ทำให้ความสนใจและคุณค่าที่ได้จากการฟังคุตบะฮฺน้อยลง ทั้งนี้ เป็นปัญหาจากการที่ภาษาในพื้นที่ไม่มีการเพิ่มพูนคำศัพท์และใช้คำยืมจากภาษาไทย ในขณะที่โลกมลายูอื่นๆ มีการบัญญัติศัพท์ใหม่และใช้คำยืมจากภาษาอังกฤษ จากสภาพดังกล่าว คอเต็บของมัสยิดบ้านโสร่งจึงสนับสนุนการพัฒนาระบบเขียนภาษามลายูปาตานีด้วยอักษรยาวี เนื่องจากท่านเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ปัญหาการอ่านคุตบะฮฺได้ เนื่องจากสามารถถ่ายทอดภาษาของท้องถิ่นได้อย่างตรงกับความเป็นจริง แต่ทั้งนี้ จำเป็นต้องมีการอบรมและสอนการอ่านการเขียนในระบบเขียนดังกล่าว

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาเราเอง
หมายเลขบันทึก: 288608เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ได้ความรู้ดีค่ะ เกี่ยวกับมลายู

ได้ความรู้ดีนะ

ขอบคุณมาก

สำหรับความรู้คับ

ขอบคุณสำหรับเนื้อหา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท