Healing Environment


สิ่งแวดล้อมช่วยในการเยียวยา

Healing  Environment

"คนไข้ไม่ได้ทำ  Ultrasound เลยตั้งแต่ท้องมา   ฝากท้องตั้งแต่  12  สัปดาห์แล้ว  ทำไม  สอ.ไม่ส่งเข้ามานะ" "ทำไมได้ตรวจเลือดครั้งเดียว" "หัวนมบอดทำไมไม่แก้กันตั้งแต่  ANC" "น้ำหนักน้อยจะมาว่าที่ห้องคลอดไม่ได้นะต้องเริ่มที่  ANC โน่นแหละ" ฯลฯ

"ทำไมต้องตรวจปัสสาวะคนไข้ทุกครั้ง" "แผ่นตรวจปัสสาวะหมดจะเบิกทีต้องรอตอนเบิกยาประจำเดือน" " ไม่ทราบว่าคนท้องต้องตรวจเบาหวานด้วยนี่คะ" "เคยส่งคนไข้มาไม่เห็นว่าได้ทำอะไรเลยไม่ได้ส่งมาอีก" ฯลฯ

"ถ้าเป็นเด็กในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลตามได้หมดค่ะ  ถ้ามีพัฒนาการผิดปกติจะส่งพบแพทย์ประเมินแล้วก็ส่งต่อเลยค่ะ  ถ้านอกเขตรับผิดชอบพื้นที่ดูเอง"" ไม่ทราบระบบการดูแลของสอ.เท่าไหร่ค่ะ" "นมแม่  6 เดือนตามได้แต่ในพื้นที่นอกเขตอยู่ที่ สอ. ค่ะ"

            ในระบบการดูแลสุขภาพโรงพยาบาลชุมชน   สถานีอนามัยจะเป็นเครือข่ายให้กับโรงพยาบาลอำเภอ  โรงพยาบาลอำเภอจะเป็นเครือข่ายโรงพยาบาลจังหวัดโดยมีการแบ่งระดับการรักษาตามศักยภาพตามที่พื้นที่จะสามารถดูแลได้   โดยต้องมีการเชื่อมโยงและประสานงานกันอย่างมีระบบ  แต่จากการที่ได้มีโอกาสได้ไปเรียนรู้ระบบงานอนามัยแม่และเด็กมาช่วงหนึ่ง   ซึ่งจะว่าไปแล้วถือว่าตนเองโชคดีมากที่ได้ปฏิบัติทั้ง  3  จุดบริการทำให้ได้ข้อมูลพื้นฐานอยู่บ้าง  โดยเริ่มที่งานห้องคลอดต่อมาไปที่งานอนามัยแม่และเด็กกลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชน   ซึ่งได้ดูแลหญิงตั้งครรภ์และเด็กวัย  0-5  ปี ทำให้รับทราบข้อมูลมาทุกส่วนเมื่อได้นำข้อมูลทั้งหมดมามองดูภาพรวมแล้วพบว่ามีการแยกส่วนของงานค่อนข้างชัดเจนโดนเริ่มแยกตั้งแต่สถานที่บริการ  ระบบบริการ  และระบบการติดตาม  ไม่มีจุดหลักในการเชื่อมต่อภายในโรงพยาบาลที่ชัดเจนอาจด้วยปัจจัยหลายอย่างที่เข้ามาเกี่ยวข้องตั้งแต่อาคารสถานที่จำกัด    บุคลากรที่ไม่เพียงพอ   ทักษะความรู้ของเจ้าหน้าที่และอื่นๆที่ยังมองไม่เห็น     จึงได้นำข้อมูลเหล่านี้ปรึกษากับทีมคุณภาพของโรงพยาบาลเพื่อวางแผนการจัดการระบบ      

                  เด็กเล็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึง  5  ปีและหญิงตั้งครรภ์เฉพาะหมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลรับบริการที่อาคารบริการแม่และเด็กซึ่งเป็นอาคารชั้นเดียวขนาด  4x6  เมตร   ปรับมาจากเรือนพักญาติเดิม    อายุของอาคารจะอ่อนกว่าอายุของโรงพยาบาลสักเล็กน้อยก็ประมาณ  30  ปีกว่าๆ    

                                       

สถานที่นั่งรอของญาติในวันรับบริการก็จะเป็นใต้ต้นไม้  ศาลาข้าง  ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลและใกล้พอจะเรียกชื่อได้ยิน  ถ้าวันฝนตกก็จะเป็นใต้โรงจอดรถหรืออาคารข้างๆ 

   วันที่มีคลีนิคส่งเสริมสุขภาพเด็กดีก็จะนั่งอัดกันให้ได้มากที่สุดถ้ามาสายก็ต้องหาพื้นที่ด้านล่างอยู่ไปก่อนถ้าใครเสร็จต้องรีบออกมาจากพื้นที่เพื่อแบ่งให้ผู้รับบริการคนอื่นต่อไปพร้อมกันนั้นก็จะมีเสียงเรียกเป็นระยะว่าระวังรถนะสำหรับเจ้าตัวเล็กที่พอวิ่งได้แล้วเนื่องจากว่าบ้านน้อยจะตรงทางโค้งของถนนที่จะวิ่งขึ้นสู่ตึกบริการของโรงพยาบาล   

 

 

                  เมื่อมีงานกลุ่มเวชปฏิบัติครอบครัวและชุมชนขึ้นทีมผู้บริหารมองว่างานน่าจะต้องอยู่รวมพื้นที่เดียวกันเพื่อความสะดวกต่อการประสานงานและปฏิบัติงาน   อาคารส่งเสริมสุขภาพแต่เดิมเป็นห้องโถงว่างสำหรับการทำกิจกรรมเช่นคลินิกพิเศษ  ออกกำลังกายและมีส่วนงานบริการกายภาพบำบัด  ได้ปรับปรุงโครงสร้างภายในให้มีบริการงานตรวจรักษาสำหรับพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาล   และส่วนบริการคลินิกส่งเสริมสุขภาพเด็กดีซึ่ง   จุดนี้เองได้จัดมุมให้กับเด็กๆ   มีเบาะที่สีสันสวยงามและหลากหลายและนุ่มพอที่จะทำให้เด็กเดินวิ่งได้อย่างปลอดภัยและกว้างพอให้ผู้ปกครองและเด็กๆได้ทำกิจกรรมร่วมกัน  ทุกคนสามารถอยู่ในพื้นที่ดียวกันได้  

 

 เมื่อสถานที่มีความพร้อมกิจกรรมการส่งเสริมพัฒนาการเด็กจึงทำได้มากขึ้น  ผู้ปกครองสามารถชั่งน้ำหนักวัดส่วนสูงบุตรได้ด้วยตนเองและยังแบ่งปันให้กับเพื่อนที่มารับบริการรายใหม่ช่วยสอนและแนะนำ

ได้อย่างถูกต้องโดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่  

  เข้ากลุ่มส่งเสริมการเล่านิทานให้ลูกฟัง   แนะนำการใช้สมุดสีชมพูเพื่อเฝ้าระวังพัฒนาการเด็กด้วยผู้ปกครองเอง   ด้วยสิ่งแวดล้อมที่สะดวกและสบายไม่ต้องรีบร้อนเหมือนเมื่อก่อนส่งผลให้ผู้ปกครองมีความสุขและยินดีที่จะได้รับข้อมูลเหล่านี้เพราะนั่นหมายถึงพัฒนาการที่ดีของลูกน้อยนั่นเอง

 

 

       

                    งานฝากครรภ์ในโรงพยาบาลจะให้บริการเฉพาะหญิงตั้งครรภ์ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลเท่านั้นแต่สำหรับหญิงตั้งครรภ์ของสถานีอนามัยเครือข่ายถูกส่งต่อเข้ารับบริการในจุดบริการผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล      ซึ่งการบริการที่ได้รับจะได้รับบริการตรวจเลือดและ  Ultrasound  ที่บางครั้งไม่ได้ครบทุกรายเนื่องจากภาระงานของจำนวนผู้ป่วยที่รอรับบริการ  150 – 200   คนต่อวันอยู่แล้วเมื่อมีกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เข้ามารับบริการเพิ่มก็ต้องรออยู่ในระบบตามลำดับบริการแม้จะมีสรีระร่างกายที่ค่อนข้างอึดอัดในการนั่งนานๆก็ต้องอยู่ในภาวะจำยอม  นอกจากนั้นแล้วเมื่อหญิงตั้งครรภ์มีภาวะเสี่ยงที่ต้องได้รับการคัดกรองเพิ่มเติมจากการให้บริการพื้นฐาน เช่น  ธาลัสซีเมีย  ดาวน์ซินโดรม   เบาหวานขณะตั้งครรภ์  ครรภ์เป็นพิษ  โลหิตจาง  น้ำหนักไม่ขึ้น  ผ่าตัดคลอด  ติดเชื้อ ฯลฯ  และอีกหลากหลายปัญหาที่เป็นความเสี่ยง  ซึ่งไม่ได้มีจุดบริการที่รับผิดชอบโดยตรงที่จะช่วยป้องกันปัญหาและแก้ไขก่อนการคลอด    แต่จะไปพบปัญหาเมื่อหญิงตั้งครรภ์เหล่านั้นมาโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บครรภ์คลอดและพบปัญหาเหล่านั้น   สร้างความตกใจและความเสี่ยงต่อแม่และเด็กในครรภ์รวมไปถึงเจ้าหน้าที่ห้องลอด  แพทย์    และโรงพยาบาลจังหวัดที่ต้องเตรียมกับกับสถานการณ์ฉุกเฉินเหล่านี้เป็นระยะๆ      โรงพยาบาลจึงได้ตั้งหน่วยบริการฝากครรภ์ในโรงพยาบาลขึ้นสำหรับการบริการหญิงตั้งครรภ์ทั้งระดับอำเภอ    โดยแยกระบบบริการจาก  OPD   มาทั้งหมดและเพิ่มระบบการคัดกรองความเสี่ยง   ดูแลหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเสี่ยงสูง     และมีระบบจัดการภาวะเสี่ยงก่อนการเจ็บครรภ์คลอดที่เหมาะสม    ประสานงานและเชื่อมต่อข้อมูลไปยังระบบบริการเฉพาะด้านตามเครือข่ายที่กำหนดเตรียมความพร้อมให้กับมารดาและครอบครัวตั้งแต่ระยะตั้งครรภ์ในการดูแลสุขภาพตนเองและทารกในครรภ์  เตรียมตัวก่อนคลอด  การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่      ในระยะแรกการบริการยังจัดให้   บ้านน้อยหลังเดิมและมีงานกายภาพบำบัดใช้พื้นที่ร่วมกัน 

 

     ถ้าเดินอาคารผ่านอาจเห็นผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยที่ใช้ไม้คำยันนั่งปะปนอยู่กับหญิงตั้งครรภ์บ้างและมีคำร้องขอจากหญิงตั้งครรภ์ถึงความร้อน  ความแคบ  และความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกิดขึ้น    

 ทีมผู้บริหารจึงได้ต่อเติมอาคารบริการใกล้ๆกับห้องคลอดและวางแผนให้ระบบริการงานห้องคลอดและงานบริการฝากครรภ์รวมอยู่ด้วยกันภายใต้ชื่อหน่วยบริการสูติกรรมแยกพื้นที่ออกเป็นห้องบริการฝากครรภ์      ห้องรอคลอด     ห้องคลอด    ห้องหลังคลอด    มีการจัดสิ่งแวดล้อมในงานบริการที่ส่งเสริมความสะดวกสบายต่อผู้รับบริการ  

   และให้เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานฝากครรภ์และงานห้องคลอดเป็นทีมเดียวกันเพื่อเกิดความต่อเนื่องในการดูแลหญิงตั้งครรภ์และครอบครัว    ทราบข้อมูลพื้นฐานและภาวะเสี่ยง   วางแผนแก้ปัญหาก่อนที่หญิงตั้งครรภ์จะเข้ามาคลอด   สร้างความไว้วางใจให้กับหญิงตั้งครรภ์และครอบครัวเนื่องจากได้พบกับเจ้าหน้าที่มาตั้งแต่ตั้งครรภ์ดังนั้นการให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวขณะรอคลอด   ขณะคลอด  และหลังคลอด  รวมถึงการติดตามนมแม่  6  เดือนก็เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ง่ายขึ้น  เจ้าหน้าที่ก็รู้จักผู้รับบริการ  ผู้รับบริการก็รู้จักเจ้าหน้าที่   ความมั่นใจในความปลอดภัยและระบบการดูแลที่ชัดเจน   หลังการเปิดบริการได้ประมาณสองอาทิตย์  มีกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ที่เคยมารับบริการที่อาคารบ้านน้อยมารับบริการที่อาคารใหม่บอกว่าอยู่สบายอย่างนี้รอทั้งวันก็ไม่ว่า   บางคนนั่งรอจนหลับไป  และมีบางคนบอกว่าเห็นสถานที่แล้วรู้สึกมั่นใจที่จะมาใช้บริการ       

     เมื่อระบบงานอนามัยแม่และเด็กในโรงพยาบาลมีความพร้อมของสถานที่   สิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการปฏิบัติงาน  ระบบการทำงานที่ชัดเจน    สิ่งเป็นความท้าทายต่อไปคือการจัดระบบบริการที่ต่อเนื่องเข้าสู่ชุมชน   สถานีอนามัยเครือข่าย    อสม.  ภาคีเครือข่าย   ชมรมสายใยรักแห่งครอบครัว  

 

 

                     ซึ่งในระยะเริ่มต้นนี้การสร้างต้นแบบเป็นแนวคิดหนึ่งของโรงพยาบาลและได้เลือกชุมชนในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลสร้าง   แม่ต้นแบบขึ้น   มีการประชาสัมพันธ์โครงการสร้างแม่ต้นแบบผ่านทางอสม. และกลุ่มแม่นมในชุมชนในการค้นหาหญิงตั้งครรภ์ที่มีความสมัครใจที่จะเป็นแม่ต้นแบบ   โรงพยาบาลจะเข้าไปให้การดูแลทั้งในโรงพยาบาลและที่บ้าน   ดูแลสุขภาพของมารดาและทารกในครรภ์ให้แข็งแรง  ส่งเสริมพัฒนาการและเริ่มบูรณาการงานแพทย์แผนไทยเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การเลือกรับประทานพืชสมุนไพรพื้นบ้านที่จะช่วยสร้างเม็ดเลือดแดงเพิ่มเติมจากอาหารพื้นฐานคือ  เนื้อ  นม  ไข่   สมาธิบำบัด  ออกกำลังกายแบบโยคะเพื่อยืดขยายเชิงกรานให้พร้อมสำหรับการคลอด  เตรียมเต้านม  หัวนม    ฝึกการนวดลดความเจ็บปวดขณะที่รอคลอดโดยใช้ทักษะการนวดในงานแพทย์แผนไทยที่ถูกต้องโดยเน้นการปฏิบัติจากสามี หรือญาติที่สามารถให้การดูแลได้ตลอดระยะเวลาที่รอคลอดด้วยการที่มองเห็นว่าในภาวะที่หญิงตั้งครรภ์เผชิญกับความเจ็บปวดอยู่นั้นถ้ามีบุคคลที่รักหรือบุคคลที่แม่มีความไว้วางใจอยู่ใกล้ชิดและคอยดูแลจะช่วยบรรเทาความเจ็บปวดและพร้อมสำหรับการคลอดมากขึ้น  ถ้าแม่มีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจแล้วเราเชื่อว่าแม่และเด็กจะสามารถผ่านการคลอดมาได้อย่างปลอดภัย

 

            หลังกำเนิดชีวิตน้อยๆในโรงพยาบาลแล้วและถึงเวลาที่แม่และลูกกลับเข้าบ้าน  พบกับครอบครัว  ปู่ย่า  ตายาย  ป้าน้าอาที่รอคอยสมาชิกใหม่  ประสบการณ์การเลี้ยงดูเด็กเล็กที่ถ่ายทอดกันมารุ่นต่อรุ่นจนกระทั่งถึงปัจจุบันก็ยังคงมีการใช้อยู่ซึ่งนับว่าไม่ใช่เรื่องผิดเพียงแต่เราน่าจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ดั้งเดิม     หลักการทางการแพทย์แผนปัจจุบันและหลักการแพทย์แผนไทยมาผสมผสานและจัดรูปแบบที่สามารถเป็นที่ยอมรับได้ของผู้เฒ่าผู้แก่และคนรุ่นปัจจุบันเกิดเป็นการดูแลหญิงหลังคลอดแบบแพทย์แผนไทย  ( เข้าอู่อยู่ไฟสปาไทยบ้านเฮา )  อาหารหลังคลอดกลุ่มพืชสมุนไพรพื้นบ้าน   ส่งเสริมใช้สมุนไพรที่ช่วยการหลั่งของน้ำนมให้เร็วขึ้น  การนวด  อบ  ประคบ   การจัดสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องหลังคลอดที่บ้าน   รวมไปถึงการสอนนวดกระตุ้นพัฒนาการเด็กหลังคลอด   แม่นมในชุมชนและ  อสม. เป็นภาคีที่ดีในการช่วยดูแลกลุ่มแม่ต้นแบบเหล่านี้ได้ง่ายเนื่องจากอยู่ในชุมชนเดียวกันดังนั้นจึงได้ส่งเสริมให้ปลูกพืชสมุนไพรที่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตสมุนที่ใช้หลังคลอดและโรงพยาบาลจะรับซื้อสมุนไพรเหล่านั้น    การที่กลุ่ม  อสม. แม่นมในชุมชนมีความรู้ที่ถูกต้องในการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และอาหารที่ถูกต้องหลังคลอดรวมไปถึงสมุนไพรหลังคลอดที่ถูกต้องจะเป็นการช่วยส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวได้อย่างน้อย  6  เดือน   เมื่อเด็กได้รับนมแม่อย่างเต็มที่และมีคุณภาพพัฒนาการที่ดีจะต้องตามมาและได้รับการส่งเสริมที่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่   คำแนะนำในการสังเกตพัฒนาการ  การส่งเสริมพัฒนาการโดยการเล่านิทานให้ลูกฟัง   งดดูโทรทัศน์ในเด็กอายุไม่ถึง  2  ปี  อาหารเสริมตามวัยโดยเน้นที่พืชผักและแหล่งโปรตีนที่ครอบครัวสามารถผลิตได้เองและต้องปลอดสารพิษ 

 

            ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ในโครงการนี้ใช้ระยะเวลาที่ยาวนานและไม่อาจคาดเดาได้ว่าเด็กๆจะเป็นเช่นไรในอนาคตแต่มีสิ่งหนึ่งที่พวกเราจะสามารถให้ความมั่นใจได้ว่าเราทุกคนทำเพื่อแม่และลูกๆของพวกเขาด้วยความตั้งใจที่จะทำให้พวกเขาปลอดภัย   มีครอบครัวที่สมบูรณ์และมีความสุขเด็กๆได้เติบโตมามีความสมบูรณ์ทั้งร่างกายจิตใจ   โดยที่เราใช้หัวใจของความเป็นแม่ในการทำงานและยังจะต้องมีเส้นทางเดินอีกยาวไกล

 พัชรินทร์    sha-song  งานสูติกรรม

 

หมายเลขบันทึก: 288541เขียนเมื่อ 18 สิงหาคม 2009 01:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ได้มีโอกาสร่วมงานกับน้องอ้อม ได้เห็นถึงความตั้งใจ ความปิติในแววตาของน้องที่งานสูติกรรมสำเร็จไปครึ่งทางแล้ว เป็นกำลังใจให้สำหรับก้าวต่อไปกับชมรมสายใยรักแห่งครอบครัวในชุมชนที่แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาอีกยาวนานแต่ก็ไม่ไกลเกินเอื้อมหากเรายังมีความมุ่งมั่นที่จะทำ/พี่ต๊ะ

สวัสดีค่ะ

เป็นกำลังใจให้พี่อ้อมนะคะ

ฝันไกล...ไปถึง(แน่นอน)ค่ะ

คิดถึงนะคะ...น้องอัจ...

ขอบคุณค่ะ พีต๊ะ และขอขอบคุณสำหรับคำแนะนำที่ช่วยให้อ้อมเดินทางมาได้ และจะพยามทำต่อไปให้ได้ค่ะ / พัชรินทร์

ยินดีด้วย..กับระบบที่ครบวงจร ของงานสูติกรรม บ้านใหม่เค้าสวยดีนะ ..เป็นกำลังใจให้นะตัวเอง../ pee juey

ขอบคุณค่ะน้องอัจ อยู่ไกลกันแต่ได้ใกล้ชิดจาก blog นี่แหละ คิดถึงเช่นเดียวกันค่ะ

ชื่นชมค่ะ   เก่งจัง

  

     

อี่แม่ขอเป็นกำลังใจให้ และยินดีให้ความช่วยเหลือทีมงานสูติกรรม โดยเฉพาะน้องนุด  น้องอ้อมหารือได้ตลอด 24 ชั่วโมงจ๊ะ /อี่แม่ไพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท