CEO Thinking


สถานการณ์ OTOP จะร่วงหรืออยู่รอด

 

คุยกันพาเพลิน

สวัสดีครับท่านผู้อ่านวันจันทร์ ที่ 17 สิงหาคม นี้คงเป็นวันที่ประชาชชาวไทยต้องเจ็บช้ำน้ำใจอีกครั้งหนึ่ง เพราะเราจะยอมให้คนผิดถวายฏีกาโดยมุ่งหวังเอาจำนวนคนมาทำให้เบื้องบนต้องหนักพระราชหฤทัย วันนี้เราคงต้องช่วยกันคิดให้หนักว่าเราจะยอมหรือไม่

ส่วนตัวผู้เขียนเองนั้นไม่เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง ผู้เขียนไม่เคยเห็นคนผิดแล้วไม่ยอมรับผิด คิดเผาบ้านเผาเมืองเช่นนี้มาก่อน สงสารประเทศไทยเสียจริง

คุยกันพาเพลินครั้งนี้อาจดูหนักไปเสียบ้างแต่ก็คงต้องพูดหนักขึ้นบ้างเพราะหนักใจต่อสถานการณ์บ้านเมืองมาก ๆ วันนี้เรายอมให้ ทรชน 3 คน

 ( ว จ ณ ) ขอสบถคำไม่ไพเราะใส่หน่อยก็แล้วกัน คือ 3คนที่เป็นหมาขี้เรื้อนทางการเมือง ออกมาทำให้บ้านเมืองวุ่นวายหรือ 

เอาละ ๆ เรามาคุยเรื่องสบาย ๆ ดีกว่านะครับ ผู้เขียนมีโอกาสร่วมงานเปิดตัว โครงการปันนาเพลส ที่ถนนนิมมานเหมินทร์ เป็นโครงการที่ดีแห่งหนึ่งเพราะมีร้านค้าอย่างครบครัน อย่างไรก็ดีก็อยากชวนท่านผู้อ่านถ้าว่าง ๆ ก็ไปเดินเล่นแถวนั้นก็แล้วกันนะครับ  

 


 

 

OTOP  อยู่รอดหรือดับร่วง ทางออกแห่งวิกฤต

 

เมื่อประมาณกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้รับเชิญให้เข้าร่วมประกวดเขียนแผนธุรกิจ OTOP โดยโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่าง One to Call กับ นิตยสาร Brand Age และเมื่อเข้ารับฟังรายละเอียดของโครงการที่กล่าวถึงสินค้า OTOP ผู้เขียนจึงเกิดคำถามต่าง ๆ มากมายตามมา

พอพูดถึง OTOP คิดว่าหลายคนคงคิดถึง แชมพูสมุนไพร ไวน์ ข้าวเกรียบ หรืออะไรที่เหมือน ๆ หรือซ้ำ ๆ กันบ้าง แต่ดูเหมือนจะเป็นการคิดเชิงลบไปเสีย เพราะคิดในเชิงลบจึงทำให้ผู้เขียนต้องตั้งคำถามกับตัวเองต่อสถานการณ์ของสินค้า OTOP ว่าจะไปรอดหรือไม่ แล้วถ้าไปรอด อะไรคือปัจจัยแห่งความสำเร็จ

โครงการ OTOP หรือ ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ เป็นการนำเอาแนวคิดมาจากจังหวัด Oita (โออิตะ) ประเทศญี่ปุ่น โดยการริเริ่มของ Mr.Morihiko Hiramasu ผู้ว่าราชการจังหวัดโออิตะ ซึ่งลักษณะของกิจกรรมจะเป็นการให้ผู้คนในแต่ละหมู่บ้าน ผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแล้วนำมาจำหน่าย สำหรับประเทศไทยมีการนำร่องในสามจังหวัดก่อน คือ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย และจังหวัดสงขลา จากนั้นจึงขยายจนครอบคลุมทั่วประเทศ โดยขณะนี้มีกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดูแล 

 

หากกล่าวถึง OTOP ในทางธุรกิจสามารถแบ่งออกเป็น ๓ ลักษณะคือ การเป็นเจ้าของในลักษณะกลุ่มประชาชน หรือเรียกว่าธุรกิจชุมชน  การเป็นเจ้าของคนเดียว และท้ายสุดคือการจดทะเบียนเป็นธุรกิจขนาดเล็กหรือขนาดกลาง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจแบบไหน คงต้องคิดให้หนักว่าจะทำอย่างไรให้ตนเองอยู่รอด

ที่กล่าวว่าจะไปรอดหรือไม่รอดนั้นเพราะจากข้อมูลและการประมวลเหตุการณ์ต่าง ๆ พบว่า ภาวะการแข่งขันในกลุ่มธุรกิจประเภท OTOP จะมีการแข่งขันที่รุนแรงเนื่องจากสามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย จึงเป็นการง่ายที่ใครต่อใครจะก้าวเข้ามาทำสินค้า OTOP นอกจากนี้เรื่องของคุณภาพการผลิตในประเด็นเรื่องวัตถุดิบ อาจสร้างปัญหาได้เนื่องจากราคาวัตถุดิบจะมีมูลค่าที่สูงขึ้นตามปัจจัยราคาน้ำมัน หรือด้านเทคโนโลยีการผลิตที่สามารถก้าวตามทันกันมากขึ้น อีกทั้งยังมีเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ปัจจัยสุดท้ายนี้ย่อมเป็นปัญหาต่อกลุ่ม OTOP ที่เป็นเจ้าของกิจการ กับผู้จดทะเบียนเป็น SMEs เพราะตอนนี้ธนาคารค่อนข้างมีมาตรการที่รัดกุมในการปล่อยกู้ คงต้องเหนื่อยกันเป็นการใหญ่

ที่นำเสนอมานั้นเป็นการประเมินสถานการณ์ที่ทำให้ฉุดคิดขึ้นมาว่า หากสถานการณ์ยังเป็นเช่นนี้แล้วจะไปรอดอย่างไร แต่ถึงกระนั้นในวิกฤตย่อมมีโอกาส การจะทำให้สินค้า OTOP อยู่รอดได้นั้น ในงานวิจัยเรื่องยุทธศาสตร์เชิงแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs กล่าวถึงทางรอดไว้ว่า ควรใช้ยุทธศาสตร์เจ้าเฉพาะ (Niche Strategy)  โดยเลือกกลุ่มการตลาดที่มีศักยภาพและเหมาะสมกับผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้การสร้างนวัตกรรม (Innovation Strategy)  หมายถึงการคิดค้นหาสิ่งที่แปลกใหม่และเป็นการค้นพบกลุ่มแรก ๆ ซึ่งจุดนี้หากกลุ่มผลิตภัณฑ์ไหนสามารถมีนวัตกรรม ย่อมทำให้ตัวผลิตภัณฑ์นั้นมีความน่าสนใจ ผู้เขียนเองได้มีโอกาสพบปะกลุ่มผู้ประกอบการ OTOP หลายราย มีกรณีศึกษาที่น่าสนใจคือ การผลิตสบู่จากสมุนไพรสกัดแท้ ซึ่งมีการสกัดเอาสรรพคุณของสมุนไพรมาโดยใช้กระบวนการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งแตกต่างจากสบู่สมุนไพรเจ้าอื่น ๆ ที่จะใช้สารผสมมาผลิตสบู่ จึงทำให้สบู่สมุนไพรดังกล่าวมีกลิ่นของสมุนไพรและมีคุณประโยชน์  ยิ่งไปกว่านั้น ยังปัจจัยเรื่องกลยุทธ์เครือข่าย (Network Strategy) จุดนี้ถือเป็นปัญหามากสำหรับเมืองไทย ที่มักคิดว่าถ้าจับมือกันแล้วจะเกิดการรั่วไหลของข้อมูลทางธุรกิจ แต่นั่นเป็นแนวคิดที่ผิดมหันต์เพราะการสร้างเครือข่ายจะเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางธุรกิจมากกว่า 

นอกจากปัจจัยกลยุทธ์ดังกล่าวข้างต้น มีข้อมูลที่น่าสนใจจากงานวิจัยเรื่องการวิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจชุมชน ภายใต้โครงการ ๑ ตำบล ๑ ผลิตภัณฑ์ OTOP พบว่ากลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP ที่ประสบความสำเร็จและไปรอดได้นั้น มีจุดแข็งจากการมีผู้นำองค์กรที่มีศักยภาพและมีความทุ่มเท ซึ่งสอดคล้องกับงานเขียนของ “จิม คอลลินส์” เรื่อง Good to Great ซึ่งพบว่าองค์กรที่ประสบความสำเร็จจนกลายเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ มีปัจจัยสำคัญมาจากการได้ผู้นำที่มีความมุ่งมั่นและมั่นคงต่อเป้าหมาย ดังนั้นปัจจัยแห่งความสำเร็จประการแรกของ OTOP คงหนีไม่พ้นการมีผู้นำที่ดี ที่ทุ่มเทอย่างแท้จริง ในสภาวะเช่นนี้ผู้นำองค์กรของสินค้า OTOP ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหนก็ตาม ต้องมีความเข้มแข็ง ไม่ละลดต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤต ต้องไม่มัวนั่งซึมเศร้า หรือพูดสั้น ๆ ว่า ‘เสียอะไรเสียไปแต่อย่าให้ใจเสีย รักษาใจไว้ให้ดี เพื่อให้ใจเข้มแข็งพร้อมนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จให้ได้’ 

จากการวิเคราะห์ข้างต้นคงพอสำหรับตอบคำถามที่ค้างคาใจของผู้เขียนที่ตั้งกับตัวเองในตอนแรกว่า มีปัจจัยใดที่จะทำให้สินค้า OTOP ไปรอดหรือไม่ อย่างไรก็ดีคงต้องให้กำลังใจทุกท่านที่ทำ OTOP อย่าเพิ่งย่อท้อ ผู้เขียนคิดว่าย่อมมีเส้นทางและหนทางเดินสำหรับคนที่ไม่ยอมแพ้ต่อวิกฤตและปัญหา  


อาทิตย์นี้คงพอเท่านี้ก่อนพบกันใหม่อาทิตย์หน้า 


 

หมายเลขบันทึก: 288149เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2009 21:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 19:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท