กลุ่มคนในอำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราด : ที่ตั้งขึ้นเพื่อตัวของเขาเอง


อยู่เขมรเขาด่าว่าเราเป็นไทย กลับมาไทยเขาก็หาว่าเป็นเขมร เป็นคนเหลือเดนหมดแผ่นดินอาศัย

"อ่าวไทยในอดีตอันรุ่งเรือง

สองเมืองก่อกำเนิดมาร่วมกัน

ฝั่งขวาคือประจวบคีรีขันธ์

ซ้ายนั้นคือประจันต์คีรีเขตร์

 เกาะกงตัดขาดได้ตราดคืน

ชีวิตขมขื่นใต้การกดขี่

ทุกข์ทนทรมาณยาวนานร้อยปี

หมดสิ้นศักดิ์ศรีเสรีสิ้นไป

เราเสียสัญชาติตัดขาดแผ่นดิน

สูญเสียหมดสิ้นแผ่นดินแยกย่อย

ถูกพรากจากกันสัมพันธ์ขาดลอย

เลือดเข้มเต็มร้อยรอคอยกลับคืน

กรรมนี้ใครก่อเราพอจำได้

อยู่เขมรเขาด่าว่าเราเป็นไทย

กลับมาไทยเขาก็หาว่าเป็นเขมร

เป็นคนเหลือเดนหมดแผ่นดินอาศัย...[1]

 

 

           การที่ได้ลงพื้นที่อำเภอคลองใหญ่จังหวัดตราดที่ผ่านมาได้เห็นว่าปัญหาหนึ่งที่สำคัญ เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชาวบ้านคนเชื้อชาติไทยเกาะกงนั้นยังคงประสบปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคลอยู่นั้น ก็คือการที่ชาวบ้านยังคงไม่รู้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับตนเองและไม่ทราบว่ามีข้อกฎหมายใหม่เรื่องอะไรที่เกิดขึ้นเพื่อมาลองรับสิทธิสถานะบุคคลของตนเอง อีกทั้งยังมีการละเลยซึ่งสิทธิของตนเองในการพัฒนาสถานะบุคคลของตนเอง ซึ่งถือว่าเป็นปัญหาที่สำคัญมาก ซึ่งกระบวนการแก้ไขปัญหาเริ่มต้นนั้นก็คือการตั้งกลุ่มชาวบ้านขึ้นมาเพื่อให้ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในชุมชนตัวเอง

       ด้วยเหตุนี้จึงได้มีการพูดคุยและอธิบายถึงวัตถุประสงค์ร่วมกันที่จะร่วมกันสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ชาวบ้านทุกคนในวันที่ ๓๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๒ ที่ผ่านมา และการตั้งกลุ่มชาวบ้านกระบวนการก็ได้เริ่มต้นขึ้น

ชื่อกลุ่มที่เรียกว่า "กลุ่มไร้รัฐพลัดถิ่นไทยเกาะกง" แล้วมันมีความหมายอย่างไร ? หรือทำไมต้องชื่อนี้ ?

ทำไมต้องชื่อนี้ ตอบก็คือเป็นชื่อกลุ่มที่เข้ากับตัวชาวบ้านทุกคน ที่ประสบปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคล และเป็นชื่อที่ได้รับการโหวตมติเป็นเอกฉันท์ว่าต้องการชื่อนี้

ในตัววัตถุประสงค์ในการตั้งกลุ่มไร้รัฐพลัดถิ่นไทยเกาะกงขึ้นมานั้น

๑.เพื่อสร้างความเข้มแข็งขึ้นในชุมชน

๒.เพื่อพัฒนาองค์ความมรู้ด้านกฎหมายสัญชาติ,กฎหมายการทะเบียนราษฎร,กฎหมายคนเข้าเมือง,กฎหมายการทำงานของคนต่างด้าว ให้ชาวบ้านเข้าใจพอสังเขป

๓.เพื่อให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมกับภาครัฐในการพัฒนาสถานะบุคคลของตนเองให้ถูกต้องตามกฎหมาย

๔.เพื่อร่วมกันผลักดัน พ.ร.บ.คืนชาติ

นี่ก็คือวัตถุประสงค์คร่าวๆในการตั้งกลุ่มไร้รัฐพลัดถิ่นไทยเกาะกงขึ้นมา

          กลุ่มนี้เป็นคนไร้รัฐหรือ ? คำตอบคือแม้จะไม่ใช่ความจริงทั้งหมดว่าคนกลุ่มนี้ไร้รัฐในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงก็ตาม แต่จกบทกลอนข้างบนเราจะพบได้ว่าแม้ทุกวันนี้พวกเขาจะถูกทางหน่วยงานภาครัฐสำรวจและจัดทำทะเบียนประวัติไว้แล้วก็ตาม แต่ในความรู้สึกภายในของเขาทุกคนแล้วนั้นเขายังคิดว่าพวกเขายังไม่มีรัฐไหนที่ยอมรับในการมีตัวตนของพวกเขาอย่างแท้จริง และทั้งนี้ก็ยังมีที่เป็นคนไร้รัฐในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ด้วยเหตุนี้คำว่าไร้รัฐจึงสามารถสะท้อนถึงตัวตนของพวกเขาได้ เป็นอย่างดี

          คำว่า “พลัดถิ่น” มีความหมายดังนี้ คือการที่บุคคลนั้นได้พลัดพรากจากถิ่นฐานเดิมที่ตนเองเคยอาศัยอยู่ แต่อาจจะมีความหมายที่ว่าบุคคลนั้นได้ถูกพลัดพรากซึ่งของบางอย่างที่ตนเองรักและหวงแหน มานานแสนนาน ซึ่งในกรณีนี้ก็เทียบได้จากการที่บุคคลเชื้อชาติไทยเกาะกงได้สูญเสียสัญชาติไทยไปเพราะการเสียอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดนเกาะกงที่เป็นของไทยให้แก่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงปี พ.ศ.๒๔๔๗ เพราะพวกเขานั้นเป็นคนสัญชาติไทยตามหลักมูลนิติธรรมประเพณี แต่บรรพบุรุษของพวกเขาก็ได้เสียสัญชาติไทยไปเพราะการเสียดินแดน ด้วยเหตุนี้คำว่า “พลัดถิ่น” จึงมีความหมายต่อกลุ่มนี้เป็นอย่างยิ่ง (อาจจะใช้คำว่า “ถิ่นพลัด”ก็ได้)

  คำว่า “ไทยเกาะกง” นั้นมีขึ้นเพื่อชี้ให้เห็นถึงความมีตัวตนของกลุ่ม ที่ว่าตนเองนั้นเป็นคนเชื้อชาติไทยเกาะกง อีกทั้งยังเน้นย้ำในจิตรสำนึกว่าตนเองเป็นคนเชื้อชาติไทย ที่อาจจะเกิดและอาศัยอยู่ที่ เกาะกง มานับแต่บรรพบุรุษของเขาแล้ว หรือแม้บางคนที่ได้มาเกิดและอาศัยอยู่ในประเทศไทยแต่มีบิดามารดาเป็นคนเชื้อชาติไทยเกาะกงที่ยังคงประสบปัญหาด้านสิทธิสถานะบุคคล ด้วยเหตุนี้คำว่า “ไทยเกาะกง” จึงเป็นคำที่บ่งบอกถึงตัวตนและจิตวิญญาณของกลุ่มได้เป็นอย่างดี

         

รูปในการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในอำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ห้วงวันที่ ๒๓ มิถุนายน ถึงวันที่ ๕ กรกฎาคม   พ.ศ.๒๕๕๒

 

            และเมื่อได้นำเอาคำทุกคำมาร้อยเรียงต่อรวมกันเป็น กลุ่มไร้รัฐพลัดถิ่นไทยเกาะกง ก็มีความหมายที่ว่า เป็นกลุ่มที่เกิดขึ้นเพราะการรวมตัวกันของคนเชื้อชาติไทยเกาะกง โดยมีเป้าหมายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันเพื่อช่วยเหลือทั้งตัวเองและเพื่อนในกลุ่มให้ได้รับสถานะบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมายไทย และเพื่อเป็นแรงผลักดันส่วนหนึ่งให้เกิด พระราชบัญญัติคืนชาติ

 



[1] ไม่ปรากฏชื่อผู้แต่ง นายประเสริฐ ศิริ อดีตกำนันตำบลหาดเล็ก ได้คัดลอกบทกลอนนี้ มาจากชาวไทยเกาะกง ผู้อพยพหลบหนีภัยสงครามเข้ามาตั้งแต่ ประมาณปี พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่อเขมรแดงเข้ายึดเกาะกง ,ปัจจันตคีรีเขตร

         

หมายเลขบันทึก: 287983เขียนเมื่อ 16 สิงหาคม 2009 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท