5x6 การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย


5x6 การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

5x6 การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย[1]

 วันนี้ “คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล)”ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพและองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทยนั้นต้องเผชิญกับความเดือดร้อนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่มาร้องขอความช่วยเหลือปัญหาสถานะและสิทธิบุคคลเป็นจำนวนเกือบ 2,000 คน ในขณะที่คนทำงานประจำคลินิกฯมีอยู่เพียง  4 คน ด้วยเหตุนี้จึงทำให้คณะทำงานต้องกลับมานั่งคิดเพื่อหาวิธีการจัดการปัญหาดังกล่าวที่เป็นระบบและยั่งยืน จนในท้ายที่สุดก็มีข้อสรุปถึงวิธีการจัดการปัญหาที่ยั่งยืน คือ การทำให้เจ้าของปัญหามีองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง หากเจ้าของปัญหามีความรู้ในการแก้ไขปัญหา ความรู้นี้ก็น่าจะแผ่กระจายไปสู่ครอบครัวและเพื่อนบ้านใกล้เคียงที่มีสภาพปัญหาที่เหมือนกัน ตัวอย่างที่ใกล้เคียงกับผู้เขียนมาก เช่น กรณีของคุณบุญ พงษ์มา คุณณัฐวุฒิ แก้วธรรม คุณสุ ดวงใจ คุณลืนหอม สายฟ้า บุคคลที่เอ่ยนามมาทั้งสี่คนนี้เป็นทนายความตีนเปล่าประจำคลินิกฯ และทั้งสี่คนก็มีความพิเศษที่เหมือนกันกล่าวคือเป็นอดีตคนไร้สัญชาติที่นอกจากจะนำองค์ความรู้มาใช้แก้ไขปัญหาของตนเองแล้ว ยังนำองค์ความรู้มาช่วยเหลือคนไร้สัญชาติคนอื่นๆ ด้วย

จากแนวความคิดนี้เองที่เป็นตัวจุดประกายจนทำให้เกิดกระบวนการสร้างองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลในรูปของการสร้างคู่มือและห้องเรียนด้านสถานะบุคคลขึ้น โดยมีรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นบุคคลหลักในการวางกรอบแนวคิดดังกล่าว [2] และในท้ายที่สุดเราก็ได้สูตรที่เรียกว่า 5x6 การจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย และได้เอาสูตรดังกล่าวนี้มาทดลองใช้ในการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่มาร้องขอความช่วยเหลือที่คลินิกฯทั้งในรูปของการสร้างคู่มือและห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่แม่อาย จังหวัดเชียงใหม่

สูตร 5x6 เกิดจากความพิถีพิถันของคนทำงานเพื่อให้การจัดการปัญหาสถานะบุคคลครอบคลุมคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีข้อเท็จจริงแตกต่างกันอันนำมาสู่สถานะบุคคลตามกฎหมายไทยที่แตกต่างกัน สูตร 5x6หมายถึงอะไร?นั้น ผู้เขียนขอสรุปอย่างง่ายๆ คือ 5มาจากการจำแนกประชากรที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคลโดยใช้กฎหมายทะเบียนราษฎรไทยเป็นกฎหมายหลักในการจำแนกกลุ่มคนดังกล่าว โดยเราสามารถจำแนกบุคคลที่มีปัญหาด้านสถานะบุคคลออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ 1 เป็นบุคคลที่มีไม่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลย หรืออาจจะเรียกว่าคนไร้รัฐก็ได้ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในห้องเรียนที่เปิดสอนในพื้นที่อำเภอแม่อายนั้น พบว่า บุคคลในกลุ่มนี้มีทั้งคนที่มีข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเป็นคนสัญชาติไทยแต่ตกหล่นจากทะเบียนราษฎร ซึ่งวิธีการแก้ไขปัญหา คือ พาไปเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรในสถานะคนสัญชาติไทย และคนที่มีข้อเท็จจจริงว่าป็นคนต่างด้าวก็ดำเนินการให้เขาหรือเธอถูกบันทึกชื่อในทะเบียนราษฎรเพื่อบ่งบอกถึงความมีตัวตนในประเทศไทยและดำเนินการกำหนดสถานะบุคคลต่อไป  กลุ่มที่ 2 เป็นบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย (มีเลขประจำตัว 13 หลัก) ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีสัญชาติไทย แต่ถูกบันทึกในทะเบียนราษฎรไทยว่าเป็นคนต่างด้าว บุคคลกลุ่มนี้มีข้อเท็จจริงที่ฟังได้ชัดว่าเป็นคนไทย ทางแก้ไขปัญหา คือ ไม่ต้องให้สัญชาติไทยเพราะว่ามีสัญชาติไทยตามกฎหมายอยู่แล้ว แต่ต้องดำเนินการแก้ไขทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องเท่านั้น กลุ่มที่ 3 เป็นบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย (มีเลขประจำตัว 13 หลัก) เกิดในประเทศไทย แต่เกิดจากบิดามารดาต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทย บุคคลกลุ่มนี้แม้เกิดในประเทศไทย แต่ก็ไม่มีสัญชาติไทยเนื่องจากเกิดจากบิดามารดาต่างด้าวที่เกิดนอกประเทศไทยซึ่งเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแบบไม่ถาวร (ยกเว้นบุคคลที่มีสัญชาติไทยตามมาตรา 23 แห่งพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉ.4) พ.ศ.2551) การแก้ไขปัญหา คือ พวกเขาอาจร้องขอสัญชาติไทยได้หากมีมติคณะรัฐมนตรีเปิดรับคำร้อง แต่ในระหว่างนี้พวกเขาต้องไปยื่นขอเอกสารที่ควรได้รับ เช่น หนังสือรับรองการเกิด บัตรประจำตัวผู้ไม่มีสัญชาติไทย ทะเบียนบ้าน (ทร.13)  (ในกรณีที่ยังไม่มีเอกสารเหล่านี้) กลุ่มที่ 4  เป็นบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย (มีเลขประจำตัว 13 หลัก) แต่เกิดนอกประเทศไทย บุคคลกลุ่มนี้ไม่มีสัญชาติไทยในขณะที่เกิดจึงถือว่าเป็นคนต่างด้าวในประเทศไทย แต่อาจได้รับการพัฒนาสถานะบุคคลเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองไทยโดยชอบด้วยกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรได้หากมีมติคณะรัฐมนตรีรับคำร้องขอ รวมทั้งอาจพัฒนาสถานะบุคคลเป็นคนสัญชาติไทยต่อไปได้ กลุ่มที่ 5 เป็นบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรไทย (มีเลขประจำตัว 13 หลัก) และเป็นแรงงานต่างด้าว  โดยหลักบุคคลกลุ่มนี้ไม่มีสัญชาติไทย นอกจากนั้นยังมีจุดเกาะเกี่ยวเข้มข้นกับประเทศต้นทาง และตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในห้องเรียนพบว่าบางคนอาจมีบัตรประจำตัวของประเทศต้นทาง ในขณะที่บางคนมีข้อเท็จจริงอาจพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางได้

เมื่อเราสามารถจำแนกคนไร้รัฐไร้สัญชาติได้เป็น 5 กลุ่มดังกล่าวแล้ว องค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลนั้นมีอยู่  6 เรื่อง ดังนั้น ไม่ว่าเจ้าของปัญหาจะมีข้อเท็จจริงตกอยู่ภายใต้กลุ่มใดก็ตาม การจัดการปัญหาสถานะบุคคลนั้นก็จะประกอบไปด้วย 6 เรื่อง นั่นก็หมายความว่าเจ้าของปัญหาจะต้องเรียนองค์ความรู้ 6 เรื่อง อันได้แก่ เรื่องที่ 1 การสำรวจข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหา คือ การค้นหาข้อเท็จจริงของตนเองและข้อเท็จจริงของชุมชนเพื่อนำมากำหนดสถานะบุคคล เรื่องที่ 2 การให้ข้อกฎหมายและนโยบายที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับเจ้าของปัญหา  คือ กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถานะบุคคลของตนเอง เรื่องที่ 3 การได้สถานะบุคคลของเจ้าของปัญหา คือ วิธีการยื่นคำร้องขอพัฒนาสถานะบุคคลที่ถูกต้อง เรื่องที่ 4 การเสียสถานะบุคคลของเจ้าของปัญหา  เรื่องที่ 5 การกลับคืนสถานะบุคคลของเจ้าของปัญหา และ เรื่องที่ 6 การใช้กระบวนการยุติธรรม

วันนี้ “คลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล)” ได้นำสูตร 5x6 มาใช้สร้างหลักสูตรการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศ และได้นำหลักสูตรดังกล่าวมาสร้างห้องเรียนและคู่มือการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลของคนไร้รัฐไร้สัญชาติในพื้นที่แม่อาย โดยห้องเรียนและคู่มือนั้นก็จะมีทั้งหมด 5 ห้องเรียน/คู่มือ ในขณะที่องค์ความรู้ที่ใช้ในการจัดการปัญหาสถานะบุคคลนั้นเราได้นำมาใช้ 3 เรื่อง คือ เรื่องที่ 1  การสำรวจข้อเท็จจริงของเจ้าของปัญหา  เรื่องที่ 2 การให้ข้อกฎหมายและนโยบายที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาให้กับเจ้าของปัญหา  เรื่องที่ 3 การได้สถานะบุคคลของเจ้าของปัญหา และในปีนี้เรากำลังจะพัฒนาองค์ความรู้ในการจัดการปัญหาในเรื่องที่ 4-6 เพื่อให้องค์ความรู้ในการจัดการปัญหาดังกล่าวสมบูรณ์โดยมีนักเรียนในห้องเรียนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลเป็นคนต้นเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ดังกล่าว

 

 -----------------------



[1] วรรณทนี  รุ่งเรืองสภากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และผู้จัดการโครงการต่อยอดคลินิกกฎหมายชาวบ้าน (ด้านสถานะและสิทธิบุคคล) อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่.

[2] สูตร “ 5x6” ถูกพัฒนาเรื่อยมาในรูปของห้องเรียนด้านสถานะบุคคล ซึ่งจัดขึ้นทั้งในพื้นที่แม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่แม่จัน จังหวัดเชียงรายโดยแฝงไว้ในรูปของกิจกรรมหนึ่งของงานวันเด็กไร้สัญชาติตั้งแต่พ.ศ.2550พ.ศ.2551.

 

หมายเลขบันทึก: 287051เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2009 06:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 มิถุนายน 2012 01:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

แวะมาอ่านบันทึกดี ๆ ค่ะ

ขอบคุณสำหรับข้อมูลค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท