นางมลิวัลย์ ภิญโญอนันตพงษ์


เศรษฐกิจพอเพียง

แบบบันทึก เรื่องเล่าเร้าพลัง

 

เจ้าของเรื่องเล่า   นางมลิวัลย์   ภิญโญอนันตพงษ์    โรงเรียนชุมชนวัดหนองโนใต้    สพท.สระบุรี เขต 1

 

 

รายละเอียดเรื่องเล่า

 

เรื่อง   รวมพลังค้นหาขุมทรัพย์ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

 

                  การเรียนการสอนในปัจจุบันจะเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลางโดยฝึกให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง  

การเรียนการสอนวิชาเกษตรก็เช่นเดียวกัน   ฝึกโดยได้ลงมือปฏิบัติจริง   ครูสอนโดยให้นักเรียนเลือกเข้ากลุ่มกันเองและเลือกว่ากลุ่มของตนเองจะเลือกปลูกผักอะไรโดยไม่ซ้ำกับกลุ่มอื่น   ผักที่ปลูก   เช่น   คะน้า   กวางตุ้ง   ผักบุ้ง   ต้นหอม   ผักชี   ตะไคร้   กระเพาะ   โหรพา   พริก   เป็นต้น   พอถึงชั่วโมงเกษตรครูก็จะให้นักเรียนลงแปลงผักเพื่อขุดดินปลูกผัก   ดูแลรดน้ำพรวนดินแปลงผักของตน   แต่ปรากฏว่าพอถึงชั่วโมงเกษตรทีไรนักเรียนหายทุกที   จะมีเพียงไม่ถึงครึ่งห้องเท่านั้นที่สนใจและตั้งใจดูแลแปลงผักของตนเอง    จากการสังเกตและพูดคุยกับนักเรียนจึงได้ทราบว่านักเรียนส่วนมากไม่ชอบขุดดินปลูกผักเพราะว่าตากแดดร้อน   เจ็บมือ   กลัวมือเปื้อน   เล็บดำ   และเหนื่อย  

                  ในปีต่อมาครูก็ปรับเปลี่ยนจากการปลูกพืชมาเป็นการเพาะเห็ดนางฟ้าในโรงเรือนเพราะนักเรียนจะได้ไม่ต้องขุดดิน   สาเหตุที่เลือกการเพาะเห็ดนางฟ้าก็เพราะว่าเดิมทีชุมชนรอบโรงเรียนมีชื่อเสียงในการเพาะเห็ดฟาง   แต่เห็ดฟางดูแลยากต้องทำเตาอบไอน้ำเพื่อใช้ อบโรงเรือนด้วย   ยุ่งยากต่อการปฏิบัติครูจึงเลือกที่จะมาสอนการเพาะเห็ดนางฟ้าเพราะดูแลง่ายไม่ยุ่งยากแค่รดน้ำให้ความชื้นในโรงเรือนไม่ร้อน   อากาศถ่ายเทได้สะดวก   โรคและแมลงไม่ค่อยมีมารบกวน   แต่ก็เป็นปัญหาของครูอีกที่ว่าครูไม่มีความรู้ในเรื่องการเพาะเห็ดนางฟ้าเลย   ดังนั้นครูจึงทำการสืบค้นหาผู้รู้   ก็ได้ค้นพบครูภูมิปัญญาชาวบ้านและติดต่อให้เข้ามาช่วยสอนและแนะนำวิธีการเพาะเห็ดนางฟ้า    ครูก็ศึกษาค้นคว้าหาความรู้เกี่ยวกับการเพาะเห็ดจากหนังสือต่างๆ   จากอินเตอร์เน็ต   จากการซักถามครูภูมิปัญญาชาวบ้าน   ครูได้นำความรู้ต่างๆมาสอนนักเรียนต่อ   การเรียนการสอนเราช่วยกันคิดช่วยกันทำ   ครูและนักเรียนลงมือปฏิบัติจริงโดยเริ่มตั้งแต่ขุดหลุมฝังเสาทำโรงเพาะเห็ด   วัสดุอุปกรณ์ เช่น   ไม้แปรก็นำเอาเศษไม้เก่ามาต่อกัน   เสาเก่า   กระเบื้องเก่า   วัสดุอุปกรณ์ต่างๆเราก็หาจากของเก่าหลังโรงเรียนที่ไม่ได้ใช้แล้วนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์   ครู  นักเรียนทุกคนในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2  และครูภูมิปัญญาชาวบ้านด้วยเราร่วมมือร่วมใจช่วยกันทำโรงเรือน   จากการสังเกตของครูปรากฏว่านักเรียนมีความกระตือรือร้นในการช่วยกันทำงานทุกคน   นักเรียนชายจะช่วยกันขุดหลุมฝังเสา   นักเรียนหญิงก็จะช่วยกันยกหามไม้แปร   ยกกระเบื้องจากหลังโรงเรียนมามุงหลังคา   นักเรียนจะเรียนอย่างมีความสุข   สนุกสนานในขณะที่ทำงานนักเรียนอาจจะลืมไปว่ากำลังเรียนอยู่ก็ได้   ครูก็พลอยสนุกและมีความสุขไปกับเด็กด้วย   เมื่อทำโรงเรือนเสร็จเราก็นำก้อนเชื้อเห็ดเข้าโรงเรือนแล้วดูแลรดน้ำเห็ด   เห็ดออกดอกนักเรียนก็ตื่นเต้นและรู้สึก

 

 

ภูมิใจในผลงานของตนที่ได้ปฏิบัติ   เห็ดออกดอกก็เก็บดอกเห็ดมาปรุงอาหารเข้าโครงการอาหารกลางวันบางครั้งเห็ดออกดอกมากครูก็ฝึกให้นักเรียนเป็นแม่ค้าขายเห็ด   เป้าหมายลูกค้าของเราคือครู  นักเรียน  และผู้ปกครอง   โดยเดินขายให้กับครูในโรงเรียน   ขายให้กับนักเรียนในโรงเรียน     ขายให้ผู้ปกครองที่มารับนักเรียนหลังเลิกเรียน   ครั้งแรกที่ให้นักเรียนเดินขายเห็ดนักเรียนจะเกี่ยงกันเดินขายเพราะว่าเขินอายขายของ

ไม่เป็น   ครูก็จะหาอาสาสมัครและคัดเลือกนักเรียนที่พูดเก่งสาม สี่ คน   เดินเป็นเพื่อนกันไปขายเห็ด   บางครั้งมีเห็ด 2  ถุงก็จะพากันไปขายสาม  สี่ คน   ครูก็ให้กำลังใจ   พูดชมเชย   และพูดโน้มน้าวให้นักเรียนเกิดความกล้าและไม่เขินอายในการเดินขายเห็ด   ครูสอนเรื่องตราชั่ง   เรื่องการบวก   ลบ   คูณ   หาร   การทอนเงิน   แล้วสอนให้ลงบัญชีรายรับ รายจ่าย   คำนวณหาต้นทุน   กำไร   ในช่วงเห็ดออกดอกมากๆก็เป็นปัญหาอีก   พวกเราต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไรกันดี   ในที่สุดก็คิดได้ว่าเราจะนำเห็ดมาแปรรูป   ครูให้นักเรียนไปศึกษาค้นคว้าวิธีการแปรรูปเห็ดเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ   แล้วให้แต่ละกลุ่มเลือกทำ   เช่น   เห็ดสวรรค์   น้ำพริกนรก   น้ำพริกเผา   แหนมเห็ด  โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มออกมาอธิบายขั้นตอนการทำแล้วครูช่วยสรุปให้   แล้วให้นักเรียนลงมือปฏิบัติเป็นกลุ่มๆละอย่าง   เมื่อทำเสร็จก็จะให้นักเรียนชิมผลงานในกลุ่มของตนเองและนำผลผลิตของตนเองมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนต่างกลุ่ม   แต่ละกลุ่มแบ่งผลผลิตของตนเพื่อนำกลับบ้านไปให้ผู้ปกครองชิม

ที่บ้าน   ในขณะฝึกปฏิบัติการครูก็พูดคุยกับนักเรียนไปด้วยและสังเกตพฤติกรรมการทำงานของแต่ละกลุ่ม   ว่ามีการวางแผนงานก่อนลงมือปฏิบัติงานหรือไม่   มีการแบ่งงานกันทำหรือไม่   สมาชิกภายในกลุ่มรู้จักเสียสละเพื่อส่วนรวม   มีน้ำใจกับเพื่อน      รู้จักแบ่งปันกันไหม   มีความรับผิดชอบ   รักษาความสะอาด   ทำงานเรียบร้อย          

                  การเรียนการสอนที่ฝึกให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง     ครูผู้สอนก็ร่วมลงมือปฏิบัติไปกับนักเรียนด้วย   ร่วมกันคิดร่วมกันแก้ปัญหา   เหนื่อยด้วยกัน   มีความสุขสนุกสนานด้วยกัน   ได้พูดคุยหยอกล้อกันในขณะที่ทำงาน   /  ขณะฝึกปฏิบัติ   นักเรียนก็จะรู้จักเกรงใจครู   ครูเป็นกันเองกับนักเรียน   นักเรียนจะเกิดความรู้สึกสนิทสนมกับครู   ในที่สุดนักเรียนก็จะเกิดความไว้วางใจ   ยอมรับความรู้และเรียนด้วยความเต็มใจ   สมัครใจ   สนใจ   และตั้งใจเรียน   นักเรียนสามารถนำเอาความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน   นำไปเป็นอาชีพเสริมหารายได้ช่วยครอบครัวของตน   และนำไปประกอบอาชีพได้ในอนาคต

 

            

 

                     

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 286865เขียนเมื่อ 13 สิงหาคม 2009 16:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 12:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

อ่านแล้วน่าสนใจดีนะค่ะ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

น่านำไปใช้จังเลยนะค่ะ

อ่านเเล้วเข้าใจดีค่ะคุณครู

ทำให้หนูได้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

หนูขอขอบคูณคุณครูนะค่ะที่ให้ความรู้เเก่หนู

หนูยังรักเเละคิดถึงคุณครูนะค่ะ

เเล้วหนูจะเช็คทางข้อมูลโรงเรียนบ่อยๆค่ะ

รักคุณคครูนะค่ะ

ฝากความคิดถึงให้กับท่านอาจารย์ทุกคนนะค่ะ

หวังว่าท่านอาจารย์คงต้องรับน้องใหม่มาเรียนกันอีกเยอะ

ปีนี้ช่วงเปิดเทอมก็ขอให้คุณครูรักเด็กมากๆนะค่ะ

อย่าดุอย่างที่ครูเคยดุหนูนะค่ะ

เเล้วถ้าหนูมีโอกาสได้กลับไปหนูจะกลับไปเยี่ยมค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท