ที่มาของสาขาวิชาเวชสารสนเทศ


ก่อนจะคุยเกี่ยวกับเรื่องทางเวชสารสนเทศ เรามาทำความรู้จักกับสาขาที่น่าสนใจอันนี้กันก่อนดีกว่าครับ

หลายท่านอาจจะพอทราบแล้วว่าเวชสารสนเทศเกี่ยวข้องกับงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศทางการแพทย์ ที่เราเรียกกันว่าเวชสารสนเทศนั้น มาจากคำภาษาอังกฤษซึ่งสมัยก่อนเรียกสาขานี้ว่า medical informatics (จึงเป็นที่มาของ เวช + สารสนเทศ) และเป็นสาขาที่มีพัฒนาการมาเป็นลำดับตั้งแต่ยุคที่เริ่มมีการคิดค้นคอมพิวเตอร์ขึ้นในช่วง 1950 (สมัยนั้นยังเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่เท่าห้องอยู่) และเมื่อมีการริเริ่มนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานทางการแพทย์ จึงเกิดเป็นสาขา "คอมพิวเตอร์ทางการแพทย์" (medical computing) ซึ่งมีพัฒนาการคู่ขนานกับสาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (computer science) มาเป็นลำดับ

เมื่อมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานในองค์กรเพื่อใช้บริหารจัดการข้อมูลมากขึ้น จึงเกิดสาขาวิชาที่เรียกว่าสารสนเทศศาสตร์ (information science) หรือ เทคโนโลยีสารสนเทศ (information technology) ขึ้น ซึ่งเน้นมุมมองทางธุรกิจในการบริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศและการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร

ในขณะเดียวกัน ในวงการแพทย์และสาธารณสุข ก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการวัดและการวิเคราะห์ข้อมูลทางชีววิทยาและข้อมูลทางการแพทย์ขึ้น เกิดเป็นสาขาที่เรียกว่า ชีวมาตร (biometry) และชีวสถิติ (biostatistics) ซึ่งสังเกตว่าสองสาขานี้ เน้นที่ตัวข้อมูล มากกว่าเทคโนโลยี เทคโนโลยีเป็นเพียงตัวช่วยเท่านั้น

เมื่อเวลาผ่านไป สาขาวิชาต่างๆ เหล่านี้ก็มีพัฒนาการมาเป็นลำดับ สาขาวิชา computer science เริ่มเติบโตขึ้นมาก และแตกกิ่งก้านออกไปเป็นสาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ (computer engineering), วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (software engineering) และสาขาเฉพาะทางอื่นๆ อีกมากมาย แต่สาขาวิชาเหล่านี้จะเน้นหนักที่ตัวฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของคอมพิวเตอร์เอง ตั้งแต่การออกแบบและการทำงานของอุปกรณ์ต่างๆ (machine architecture and organization) ไปจนถึงการเขียนโปรแกรม (programming) และการคิดค้นเทคนิคใหม่ๆ มาใช้ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลหรือช่วยการทำงานของมนุษย์ในชีวิตประจำวัน อย่างที่พบในสาขา data mining และ artificial intelligence เป็นต้น

เช่นเดียวกัน สาขา information science ก็มีพัฒนาการขึ้นเรื่อยๆ เมื่อบริษัทและหน่วยงานต่างๆ นำคอมพิวเตอร์มาใช้งานในองค์กรมากขึ้น สาขา information science แม้จะมี overlap กับสาขา computer science อยู่มาก และก็เน้นทางเทคนิคอยู่บ้าง แต่ก็จะเน้นที่การประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์ในองค์กร การบริหารจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร และความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์ในองค์กร มากกว่าที่จะลงลึกเทคนิคจริงๆ จังๆ อย่าง computer science

ในทางการแพทย์และสาธารณสุข มีการตื่นตัวในการนำคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานมากขึ้น และเริ่มตระหนักว่าแนวคิดหรือมุมมองของสาขา information science ที่เน้นบริบทของการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้งานในธุรกิจ ไม่สามารถนำมาใช้ในบริบทของการแพทย์และสาธารณสุขได้ดีนัก ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความซับซ้อนของระบบสุขภาพ (health system) และระบบบริการสุขภาพ (health service system) ซึ่งแตกต่างอย่างมากจากอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ มุมมองของ information science จะเน้นที่ผลประโยชน์ทางธุรกิจ ในขณะที่ในวงการแพทย์และสาธารณสุข เป้าหมายของเราจะเน้นที่ผลลัพธ์ต่อคนไข้และสังคมมาก่อน และประโยชน์ต่อองค์กรเป็นเรื่องรอง จึงเป็นที่มาของสาขา medical informatics ที่แยกตัวออกมา และเริ่มมีการรวมตัวและพัฒนาสาขาวิชาให้เป็นรูปเป็นร่างในช่วงปลายทศวรรษ 1980 และต้นทศวรรษ 1990

ในปัจจุบัน ในต่างประเทศ มีการเรียกชื่อสาขาวิชานี้หลากหลายออกไป บางคนก็ยังเรียก medical informatics ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าคำว่า medical จะเน้นที่การแพทย์มากเกินไป ทั้งๆ ที่สาขาวิชานี้เกี่ยวข้องกับหลากหลายวิชาชีพ ทั้งทางคลินิก ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล และทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (basic science) ซึ่งในต่างประเทศจะเรียกรวมๆ กันว่าชีวการแพทย์ (biomedicine) จึงเป็นที่มาของคำว่า biomedical informatics และเป็นคำที่นิยมใช้กันในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม บางแห่งก็มองว่า คำว่า biomedical informatics ทำให้สายตาของเราสั้นกว่าที่ควรจะเป็น เราอาจลืมเป้าหมายสูงสุดของสาขานี้ คือการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้เพื่อให้เกิดสุขภาวะ (health) ของประชาชนและสังคม ผู้รู้บางท่านจึงสนับสนุนให้ใช้คำว่า health informatics แทน และก็เป็นคำที่นิยมใช้พอสมควรเช่นเดียวกัน

ในขณะนี้ ยังไม่มีบทสรุปว่าคำใดจะได้รับชัยชนะ จึงมีการใช้คำหลายคำที่คล้ายคลึงกัน แล้วแต่ความชอบของผู้ใช้ บ่อยครั้งก็จะพบผู้ที่ใช้รวมๆ กันเป็น biomedical and health informatics

ในเมืองไทย พวกเรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า medical informatics แต่คำนี้ เป็นคำที่ผู้รู้ในวงการพยายามหลีกเลี่ยง เพราะสร้างความสับสนว่าหมายถึงเฉพาะงานทางคลินิก หรือนับรวมงานทาง basic science และ public health ไปด้วย อย่างไรก็ดี สมาคมวิชาชีพต่างๆ ตั้งแต่ American Medical Informatics Association (AMIA), International Medical Informatics Association (IMIA) และ Thai Medical Informatics Association (TMI) ของไทยเรา ก็ยังคงใช้คำว่า medical informatics อยู่ (แม้ AMIA จะยอมรับว่าคำนี้สร้างความสับสน และพยายามจะใช้คำว่า biomedical and health informatics แทน เมื่อใช้เรียกชื่อสาขา ไม่ใช่ชื่อสมาคม [1]) และวารสารทางวิชาการชื่อดังของสาขานี้ ทั้ง Journal of the American Medical Informatics Association (JAMIA) และ International Journal of Medical Informatics (IJMI) ก็ยังคงใช้คำนี้อยู่ จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าเราจะมีพัฒนาการของชื่อสาขาวิชาไปอย่างไรบ้าง

สำหรับในเมืองไทย พวกเรามักจะคุ้นเคยกับคำว่า เวชสารสนเทศ ซึ่งแปลตรงตัวจากคำว่า medical informatics แต่ก็มีบางท่านใช้คำอื่น เช่น สารสนเทศศาสตร์ชีวเวชและสาธารณสุข (biomedical and public health informatics) แทน [2] ในความเห็นส่วนตัว ผมคิดว่าเราควรจะยังคงใช้คำว่า "เวชสารสนเทศ" อยู่ เพื่อให้ท่านที่คุ้นเคยกับคำเก่าเข้าใจ แต่ควรพยายามหลีกเลี่ยงการแปลเป็นภาษาอังกฤษอย่างตรงตัวว่า medical informatics ซึ่งเป็นคำที่ผู้รู้ในต่างประเทศพยายามหลีกเลี่ยง และอาจแปลเป็น biomedical หรือ health informatics แทนครับ

หรือหากประสงค์จะใช้ให้ตรงกับรากศัพท์ที่เป็นที่นิยมในต่างประเทศ ก็อาจใช้เป็น ชีวเวชสารสนเทศ (biomedical informatics) แทน (แม้ว่าในไทยเราจะไม่ค่อยคุ้นเคยกับคำว่า ชีวเวช หรือ ชีวการแพทย์ เท่าไรนัก) หรืออาจจะใช้ว่า สารสนเทศทางสุขภาพ (health informatics) แทน สำหรับภาษาไทยของคำหลังนั้น ส่วนตัวผมคิดว่าเราไม่ควรใช้คำว่า สารสนเทศศาสตร์ เพราะอาจเข้าใจผิดว่าเป็น information science ได้ครับ น่าจะคงคำว่า สารสนเทศ เหมือนที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตรงกับรากศัพท์ informatics มากกว่าด้วย

แน่นอนว่าเรื่องคำศัพท์นี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผม และยังไม่เป็นที่สรุปลงตัวของพวกเราในวงการ ผมยินดีเปิดเวทีให้แลกเปลี่ยนความเห็นกันครับ

คราวนี้ อธิบายที่มาที่ไปของสาขานี้ และคำต่างๆ ที่ใช้เรียกสาขานี้ (ซึ่งอาจสร้างความสับสนมากขึ้นกว่าเดิม) แล้ว คราวต่อไปจะอธิบายว่างานในสาขานี้เกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง มีสาขาย่อยอะไรบ้าง และเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับสาขาวิชาอื่นๆ อย่างไรบ้างครับ

 

References

1. http://www.amia.org/files/shared/What_is_Informatics__Fact_Sheet_03_24_09_0.pdf

2. http://www.biophics.org/

หมายเลขบันทึก: 286618เขียนเมื่อ 12 สิงหาคม 2009 22:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 20:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้าจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ความรู้ใหม่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท