กระบวนการผลิตน้ำบูดู


ข้าวยำกับน้ำบูดู

การพัฒนากระบวนการผลิตน้ำบูดูสู่ตลาดโลก

ปิติ   กาลธิยานันท์

 

                วิถีชีวิตของคนไทยในพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ใกล้ที่ริมฝั่งทะเล และพื้นที่ใกล้เคียงจะมีอาชีพ    การทำประมง  ซึ่งสามารถนำปลาที่เหลือจากการจำหน่ายและการบริโภคในครัวเรือนไปทำเป็นผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ  เช่น ปลาแห้ง น้ำบูดู 

                น้ำบูดู    เป็นอาหารพื้นเมืองของชาวทะเลปักษ์ใต้และเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ดั้งเดิมและใช้เป็นวิธีการแปรรูปอาหาร คือ ปลาทะเลที่เหลือจากการจำหน่ายหรือการบริโภคให้สามารถเก็บไว้บริโภคได้เป็นเวลานาน  น้ำบูดูมีลักษณะคล้ายน้ำปลา แต่น้ำข้นกว่าน้ำปลา สมบัติที่แตกต่างจากน้ำปลา คือ น้ำบูดูบางชนิดจะมีเนื้อของปลาที่ยังย่อยสลายไม่หมดผสมอยู่ด้วยแต่น้ำบูดูบางชนิดก็จะนำไปผ่านความร้อนและกรองส่วนที่เป็นเนื้อปลาออก  ทำให้ผลิตภัณฑ์มีลักษณะเป็นน้ำสีน้ำตาลเข้มและข้นเล็กน้อย  นอกจากนี้ยังมีการปรุงรสโดยการเติมส่วนผสมอื่น เช่น น้ำตาลทำให้น้ำบูดูมีรสหวาน  กรรมวิธีการผลิตน้ำบูดูจะใช้ปลาทะเลขนาดเล็ก เช่น ปลาไส้ตัน  ปลากะตัก  นำมาหมักกับเกลือ  ต่อมามีการค้นพบว่าการใช้ปลากะตักทำน้ำบูดูนั้นจะทำให้ได้น้ำบูดูที่มีรสชาติดีกว่าปลาชนิดอื่น ๆ  

                น้ำบูดูมีคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ได้แก่ โปรตีน  ไขมัน  คาร์โบโฮเดรต  และวิตามิน รวมทั่งแร่ธาตุอื่น ๆ  เช่น แคลเซียม  ฟอสฟอรัส และเหล็ก น้ำบูดู เป็นผลิตภัณฑ์ปลาหมักของคนใต้คล้ายกับ ปลาร้า ของคนอีสานซึ่งต่างกันตรงวัตถุดิบที่ใช้  แต่เหมือนกันที่คุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นจากอดีตถึงปัจจุบัน  

                คำว่าบูดูนั้นไม่มีหลักฐานอ้างอิงที่ชัดเจนว่ามาจากไหน  แต่จากการค้นคว้าข้อมูลจากหลายแหล่งอาจสรุปได้ดังนี้

                1. คำว่า บูดูอาจมาจากบูด เพราะในการทำบูดูต้องมีการหมักปลา ซึ่งมีลักษณะเน่าเละ  คล้ายของบูด ซึ่งต่อมาอาจจะออกเสียงเพี้ยนเป็น บูดู

                2. บูดู อาจมาจากคำว่า บูบู๊  ซึ่งเป็นอุปกรณ์จับปลาตัวใหญ่ เรียกว่า ปลาฆอ  ซึ่งเมื่อนำมาหมักกับเกลือจะได้ปลาหมักที่มีลักษณะคล้ายกับปลาร้าของชาวอีสาน แต่การหมักปลาฆอนั้นจะบริโภคเฉพาะเนื้อปลาเท่านั้น  ไม่นำน้ำที่ได้จากการหมักมาบริโภค  ซึ่งต่อมามีวิวัฒนาการเปลี่ยนปลาที่ใช้หมักเป็นปลากะตัก  และออกเสียงเป็นบูดู

                3. บูดู เป็นคำที่มาจากภาษามลายูหรือภาษายาวี  แต่ไม่ทราบความหมายที่แน่ชัด จากการศึกษาวิจัยของคุณสุภา วัชรสุขุม เรื่อง คำยืมภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานี ภาษาไทยถิ่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้  ได้รายงานว่า บูดูเป็นคำที่ยืมมาจากภาษามลายู หรือ ภาษายาวี ตามเกณฑ์ที่ 1 คือ เป็นคำที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน ในภาษามลายูท้องถิ่นปัตตานีและเป็นคำที่มีใช้ในภาษาไทยทั่วไป หรือไม่ใช่ศัพท์เฉพาะถิ่นของภาษาไทยทั่วไป

                4. บูดู เป็นคำที่มาจากภาษาอินโดนีเซีย แปลว่า ปลาหมักดอง  เนื่องมาจากชาวอินโดนีเซียถูกศัตรูตีเมืองแตก (เมืองยาวอ)  และได้แล่นเรือไปมาเรื่อย ๆ ระหว่างทางได้จับปลาเล็ก ๆ หมักดองในไหเก็บไว้กินนาน ๆ  หลังจากนั้นชาวอินโดนีเซียได้ขึ้นฝั่งที่ตำบลปะเสยะวอ  อำเภอสายบุรี  จังหวัดปัตตานี  จึงได้นำวิธีการหมักปลาเล็ก ๆ มาสู่ชุมชนปะเสยะวอ

 การผลิตน้ำบูดูสามารถทำได้ดังนี้

                1. เริ่มด้วยการนำปลาทะเลสดมาล้างให้สะอาด  อาจจะใช้ปลาชนิดใดก็ได้แต่ส่วนใหญ่ใช้ปลากะตักจึงจะให้น้ำบูดูที่มีกลิ่นหอมและรสชาติดี 

                2. นำปลามาคลุกเคล้ากับเกลือให้เข้ากันโดยใช้อัตราส่วนปลากะตักต่อเกลือ 2 หรือ 3 ต่อเกลือ 1 ส่วนโดยน้ำหนัก

                3. หลังจากคลุกปลากะตักกับเกลือให้เข้ากันได้ที่ดีแล้ว ก็จะนำไปใส่ในภาชนะปิด เช่น ไห โอ่งดินหรือบ่อซิเมนต์ ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า  บ่อบูดู มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร สูง 1 เมตร โดยการนำส่วนผสมใส่ในภาชนะดังกล่าวให้แน่น และโรยเกลือปิดส่วนบน หลังจากนั้นใช้วัสดุเช่น ไม้ไผ่สาน  กดทับกันไม่ให้ปลาลอย  และปิดปากภาชนะที่ใส่ให้แน่นในระหว่างการหมักต้องไม่ปล่อยให้อากาศเข้าไปในภาชนะที่ใช้หมักหรือให้อากาศเข้าไปได้น้อยที่สุด โดยจะเว้นปริมาตรบางส่วนในภาชนะไว้  เพื่อให้แก๊สที่เกิดจากการหมักสามารถดันฝาปิดบ่อน้ำบูดูออกมาได้

                4. จากนั้นนำมาตากแดดและปล่อยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยกระบวนการหมักตามธรรมชาติจากปฏิกิริยาทางเคมี  และเอนไซม์ชนิดต่าง ๆ ได้แก่  น้ำย่อยจากตัวปลา และกิจกรรมจากจุลินทรีย์ที่ถูกคัดเลือกโดยเกลือและสภาพการหมักที่เกิดขึ้นเริ่มจากการทำงานของเอนไซม์ที่อยู่ในตัวปลาเริ่มทำงานในการย่อยสลายในขณะที่จุลินทรีย์เริ่มแรกมีจำนวนมาก  ซึ่งมีแหล่งมาจากธรรมชาติ  เช่น จากตัวปลา และเกลือเป็นต้น เกลือจะเป็นตัวคัดเลือกให้เหลือแต่เฉพาะจุลินทรีย์ที่สามารถทนต่อเกลือเข้มข้นสูงได้ เช่น จุลินทรีย์ในกลุ่ม halophilic ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของบูดู และอาจมีจุลินทรีย์ที่สามารถสร้างสปอร์หลงเหลืออยู่ทำให้ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ ระยะเวลาในการหมักจะใช้เวลาประมาณ 8-12 เดือน โดยในช่วงระหว่างการหมักจะไม่มีการเปิดบ่อบูดูเลย  และจะต้องพยายามไม่ให้น้ำเข้าไปในบ่อเมื่อเวลาฝนตก เพราะจะทำให้บูดูมีสีดำ และมีกลิ่นเหม็น

5. เมื่อครบกำหนดเวลาผู้ผลิตจะเปิดบ่อบูดูซึ่งจะมีน้ำบูดูและเนื้อบูดูปะปนกันอยู่ในบ่อบูดูแล้วทำการแยก น้ำบูดูส่วนใสออกจากน้ำบูดูส่วนที่ขุ่น  น้ำบูดูส่วนใสเรียกว่าน้ำบูดูใส  ส่วนน้ำ บูดูที่มีเนื้อบูดูที่เหลือปะปนอยู่ในบ่อจะนำไปผลิตเป็นน้ำบูดูข้น

6. การบรรจุน้ำบูดูใส่ขวดนั้นจะใส่ขวดสองขนาดคือ ขวดกลมและขวดแบน โดยการนำน้ำบูดูใส่ขวดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว  ปิดฝาให้สนิท  ปิดฉลากและส่งจำหน่ายต่อไป

จากข้อมูลการวิจัยของอาจารย์อโนชา ขจัดภัย และ คณะ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เรื่อง การวิเคราะห์หาปริมาณสารอาหารในบูดูโดยทดลองหมักบูดูและเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์ พบว่า ยิ่งหมักบูดูนานขึ้นเท่าไหร่ ปริมาณสารอาหารโปรตีนก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น  โดยหลังจาก 10 วันแรกที่หมักพบว่ามีปริมาณโปรตีนในน้ำบูดูเฉลี่ยร้อยละ 6  และเมื่อทิ้งไว้นาน 150 วัน พบปริมาณสารอาหารโปรตีนเพิ่มเป็นสองเท่าตัวคือ ร้อยละ 12  นอกจากนี้ ยังพบสารอาหารอื่นๆ  เช่น คาร์โบไฮเดรต ไขมัน และแคลเซียมจากก้างปลาด้วย  นอกจากนี้                การศึกษาวิจัยของ  รศ.ดร.วัฒนา  ณ สงขลา และอาจารย์สุมาลิกา เปี่ยมมงคล พบว่า การหมักบูดูระยะสั้น สามารถทำได้โดยการใช้ปลาบดละเอียดจะทำให้การหมักบูดูร่นระยะเวลาจาก 8-12 เดือน เหลือเพียง  4  เดือนเท่านั้น  และพบว่าภาชนะที่เหมาะสมยังมีผลให้สามารถร่นระยะเวลาในการหมักบูดูได้เช่นกัน  โดยหมักในถังซีเมนต์ทำให้เกิดลักษณะบูดูได้เร็วที่สุด คือเนื้อปลาจะเริ่มย่อยสลาย    และมีกลิ่นบูดูในสัปดาห์ที่ 4 รองลงมาคือโอ่งเคลือบ ท้ายสุดคือ โอ่งดินเผาแต่จะมีปัญหาปริมาณน้ำบูดูจะน้อยลงเพราะน้ำระเหยจากโอ่งดินเผาได้เร็ว  สำหรับการปรับปรุงความสะอาดในการหมักบูดูนั้น  รศ.ดร.วัฒนา  ณ สงขลา และอาจารย์สุมาลิกา เปี่ยมมงคล ได้ศึกษาวิธีการหมักบูดูจากปลาที่ล้างและไม่ได้ล้าง พบว่าการล้างปลาก่อนหมักเพียงครั้งเดียวจะได้บูดูที่มีสีสวย สะอาดและย่อยสลายได้เร็วกว่าการล้างหลายครั้ง ส่วนการหมักโดยไม่ได้ล้างปลาถึงแม้จะทำให้เกิดลักษณะบูดูได้เร็วที่สุด แต่ไม่สะอาดเพราะมีเศษไม้และเปลือกหอยเจือปนอยู่ นอกจากนี้                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                              ยังสามารถแปรรูปบูดูดิบให้เป็นบูดูสำเร็จรูป ได้แก่ บูดูทรงเครื่อง  และบูดูหลน  ซึ่งเป็นที่ยอมรับของตลาดในปัจจุบัน

กรมวิทยาศาสตร์บริการได้เล็งเห็นว่าบูดูเป็นอาหารหมักที่อุดมไปด้วยคุณค่าสารอาหารโปรตีนจากการศึกษาค้นคว้างานวิจัยต่าง ๆ  ประกอบกับกรมวิทยาศาสตร์บริการได้ดำเนินการถ่ายทอดเทคโนโลยีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สู่ชุมชนและผู้สนใจทั่วไป เพื่อเพิ่มมูลค่าให้ผลิตภัณฑ์และใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า ซึ่งน้ำบูดูเป็นผลิตภัณฑ์อาหารชนิดหนึ่งที่ได้จากการใช้หลักการถนอมอาหารในการพัฒนาผลิตภัณฑ์  การผลิตน้ำบูดูเป็นการสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวปักษ์ใต้มาจนถึงปัจจุบัน เราจึงควรสร้างความตระหนักให้กับกลุ่มผู้ผลิตน้ำ บูดูให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและเป็นการเพิ่มรายได้แก่ผู้ผลิตถ้าสามารถผลิตน้ำบูดูขายในท้องถิ่นและสามารถพัฒนาศักยภาพการผลิตของกลุ่มตนเองให้สามารถที่ส่งออกได้ แถมยังเป็นการอนุรักษ์การทำน้ำบูดูดั้งเดิมไว้ให้เป็นอาชีพแก่ลูกหลานสืบต่อไป เช่น  กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านพระพุทธ ตำบลเทพา อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นกลุ่มแม่บ้านที่เข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารโดยการแปรรูปเพื่อส่งเสริมการส่งออกภายใต้โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์  ปี 2547 โดยที่กรมวิทยาศาสตร์บริการได้ให้คำปรึกษาแนะนำในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ  เช่น  กะปิ  และน้ำบูดู  ให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน  ได้แก่  GMP และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน  ทำให้ในปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ  คือ  กะปิ และน้ำบูดูปรุงรสได้รับการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน  และกลุ่มฯได้รับคัดเลือกเป็นกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติในปี  2551  ด้วย  ทำให้ผลิตภัณฑ์สินค้าของกลุ่มได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคมากขึ้น  ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางของการตลาดและเป็นแนวทางในการผลิต   น้ำบูดูสู่ตลาดโลกได้ในอนาคต

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมประมง.  คู่มือการทำอาหารจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ.  กรุงเทพฯ.  : โรงพิมพ์นิยมกิจ,

2500,  หน้า 13 14.

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม.  ศูนย์บริการข้อมูลอุตสาหกรรมชนบท.  รายงานสถานการณ์

                อุตสาหกรรม  ผลิตภัณฑ์จากเนื้อ ปลา และผลิตภัณฑ์ทะเล.  รายงานโดย  นฤดม 

                บุญ-หลง.  กรุงเทพฯ  : กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม,  [2533],  หน้า 117-118.

เทคนิคใหม่เพื่อพัฒนาคุณภาพน้ำบูดู.  วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน,  เมษายน,  2537,  ปีที่ 6, 

                ฉบับที่ 93,  หน้า 23.

น้ำบูดูภูมิปัญญาท้องถิ่นอาหารแปรรูปจากปลาทะเล.  มิติชุมชน,  ฉบับที่ 21,  2550,  หน้า 96- 99.

ปราณี  ฤทธาภิรมย์.  บูดูแท่งสำเร็จรูป.  รูสมิแล  วารสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยา

                เขตปัตตานี,  พฤษภาคมสิงหาคม,  2536,  ปีที่ 15,  ฉบับที่ 2,  หน้า 5456.

สิริพร  ปาลกะวงศ์   อยุธยา.  แม่บ้านงานเกษตร.  วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน, มกราคม,  2551, 

                ปีที่ 20,  ฉบับที่ 423,  หน้า 38.

สุภา  วัชรสุขุม.  ร็องเง็ง  นาฏศิลป์พื้นเมืองภาคใต้.  กรุงเทพฯ.  : [ม.ป.ท.],  2530.  109 หน้า.

อ๊อดน้อย  ลูกบางปลาสร้อย. เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ตอนบูดู.  วารสารวิทยาศาสตร์ มข.,  มกราคม-

                 มีนาคม,  2539,  ปีที่ 24,  ฉบับที่ 1,  หน้า 48 - 52.

อัสวิน  ภัคฆวรรณ.  ผลิตภัณฑ์น่าชิม.  วารสารเทคโนโลยีชาวบ้าน,  กรกฎาคม,  2551,  ปีที่20,   

                ฉบับที่ 435,  หน้า 65.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #ข้าวยำ#บูดู
หมายเลขบันทึก: 285769เขียนเมื่อ 10 สิงหาคม 2009 14:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท