ชีวิตที่ถูกจำกัดของธีรชาติ


ชีวิตที่ถูกจำกัดของธีรชาติ

ภาพของเด็ก ๆ ที่พากันวิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนานภายใต้สายฝนที่กำลังโปรยปรายลงมาในพื้นที่ชนบทอย่างนี้ คงหาดูได้ง่ายในช่วงหน้าฝน แต่สำหรับเด็กชายธีรชาติหรือน้องตี๋ เด็กผู้ชายอายุ 6 ปี คงเป็นเรื่องที่ไกลตัวอย่างมาก เนื่องจากโรคหอบหืดที่เป็นโรคประจำตัวของน้องตี๋ตั้งแต่เกิด น้องตี๋มักจะมีอาการหอบเหนื่อยจนต้องมาพ่นยาขยายหลอดลม ที่โรงพยาบาลบ่อยครั้งและครั้งนี้ก็เช่นกัน  เสียงพยาบาลรับ Admit บอกเล่าอาการผู้ป่วยให้ทีมงานฟัง

             “Admit เด็กผู้ชาย อายุ 6ปี มาด้วยไข้ ไอ มีเสมหะเหนื่อย หอบ พ่นยา Ventolin 0.5 ml มา 2 ครั้ง Lung ยังไม่ Clear มีไข้  กินยา Para มาแล้วตอน 16.45 น. On O2 mask c bag ไว้ on hep lock แล้ว ให้ลงเตียง 12 เอา mask c bag  O2 sat และเครื่องพ่นยามาด้วย ฉันเป็นคนไปรับน้องตี๋ลงเตียง และสอบถามอาการพบว่าการนอนโรงพยาบาลครั้งนี้  เป็นการ Re-Admit  เนื่องจากหลังจำหน่ายครั้งที่แล้ว อาการของน้องตี๋ทุเลามารดาจึงให้ไปโรงเรียนและเล่นตากฝนถูกละอองฝนในช่วงพักกลางวัน ประกอบกับในชั้นเรียนเพื่อนป่วยเป็นไข้หวัดหลายคน น้องตี๋เองเริ่มมีอาการเหนื่อยหอบแต่พอทนได้ ติ๊กซึ่งเป็นมารดาให้รับประทานยาที่มีอยู่ 2 วัน อาการไม่ดี ตัวร้อนมากขึ้น และเหนื่อยหอบมาก จึงพามารักษาตัวที่โรงพยาบาลบ้านลาด พ่นยาอาการทุเลาแต่ปอดไม่โล่ง  พยาบาลที่ห้องฉุกเฉินแนะนำการนอนโรงพยาบาล  พ่นยาแต่ติ๊กปฏิเสธ เนื่องจากเป็นห่วงบ้านได้ยากลับไปรับประทานและนัดพ่นยาอีก   4    ชั่วโมง

            ได้พาลูกมาพ่นยาตามที่พยาบาลนัดหรือเปล่าจ๊ะ      ฉันถามติ๊กด้วยความห่วงใย                                                                                                                                            

            ไม่ได้พามาหรอก เพราะว่าฉันมีรถเครื่อง ลมก็แรง และลูกเองก็ไม่ได้หอบมาก ฉันกลัวว่าพาลูกมาแล้วลูกจะหอบมากขึ้น  แต่หลังจากครบนัด 1 ชั่วโมง ลูกก็หอบมากขึ้น ฉันกลัว ก็เลยพาลูกขี่รถเครื่อง ออกมาหาหมอนี่แหล่ะ แต่ก็เจอฝนตกกลางทางลูกก็เลยแย่ใหญ่เลย รู้อย่างนี้ฉันพามาก่อนก็ดี ไม่ต้องตากฝนด้วยซิติ๊กพูดสีหน้ากังวล  สลับกับเสียงลูกร้องครวญหาแม่ตลอด

             ไม่เป็นไรนะ ตอนนี้อยู่ในโรงพยาบาลแล้ว มียา มีหมอ มีพยาบาล มีเครื่องมืออยู่พร้อมที่จะช่วยน้องตี๋อยู่แล้ว แต่ตอนนี้เครื่องมือของหมอที่ติดตัวลูก อาจจะมากหน่อยอย่าตกใจ และน้องตี๋ก็นอนอยู่ใกล้ๆ พยาบาลนี่เอง  ฉันพูดพร้อมแตะที่ต้นแขนติ๊กเบา ๆ  ติ๊กพยักหน้ารับ สีหน้ายังไม่คลายกังวล

                ฉันหันไปให้ O2   monitor O2 sat  ให้น้องตี๋ และตรวจดู hep lock check V/S และซักประวัติรายละเอียดอื่น ๆ ต่อ ช่วงนี้ติ๊กสีหน้าคลายกังวลบ้างแล้ว หลังจากซักประวัติและเฝ้าดูอาการของน้องตี๋มีอาการดีขึ้น ฉันจึงขอตัวมาปฏิบัติการพยาบาลอื่น ๆ และจากการทบทวนประวัติการรักษาของน้องตี๋  พบว่ามีประวัติมาพ่นยาที่ ER เดือนละ6-8 ครั้ง Re- Admit ปี 2551 3 ครั้ง ปี 2552 1 ครั้ง สาเหตุที่พบคือ มารดาไม่เห็นความสำคัญของการพ่นยาตามนัด และน้องตี๋ชอบเล่นตากฝน เมื่อมีไข้ ไอ เหนื่อย ติ๊กผู้เป็นมารดาให้รับประทานยาก่อน เมื่อเริ่มหายใจเหนื่อยหอบจึงพามาโรงพยาบาล

                ในวันที่2 ของการรักษา อาการน้องตี๋ยังมีเหนื่อยหอบอยู่บ้าง มีไข้ต่ำ ๆ ติ๊กสีหน้าสดชื่นขึ้น ฉันจึงได้เข้าไปพูดคุย

              ตอนนี้ทราบหรือยังว่าลูกเป็นอะไรจึงหอบมาฉันถามติ๊ก

            ก็เมื่อวานพยาบาลอีกคนบอกว่า ลูกเป็นหลอดลมอักเสบ แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก ฉันตกใจมากไม่เคยเห็นมาก่อน ติ๊กตอบสีหน้าคลายกังวลมากขึ้น

            แล้วติ๊กคิดว่าลูกหอบมากขึ้นได้อย่างไรจ๊ะ  ฉันถามต่อ

            ก็ถ้าฉันพาลูกมาพ่นยาก่อน ก็คงไม่หอบมากและก็ไม่โดนฝนด้วย แต่ส่วนใหญ่ฉันไม่ได้กังวลเรื่องฝนอยู่แล้ว เพราะคิดว่าไม่เป็นไร เปียกมาก็เช็ดตัวให้แห้งก็พอติ๊กตอบด้วยความมั่นใจ

            แล้วทราบมั้ยจ๊ะ  ว่าถ้าปล่อยให้ลูกหอบมา ลูกอาจจะแย่ก็ได้ฉันถามรุกต่อ

            ถ้าหอบมากจนนอนโรงพยาบาล ก็เสียเวลาเรียน ไปเที่ยวที่อากาศเย็นไม่ได้ ต้องดูแลตลอดเวลาไปทำนาก็ยังกังวลว่าตอนนี้ลูกเป็นอย่างไรบ้าง เขายังเด็กมาก สั่งสอนอะไรก็ไม่เชื่อติ๊กตอบแล้วเงียบไป 

                นอกจากนั้นนะ   ถ้าติ๊กปล่อยให้ลูกหอบบ่อย ๆ ร่างกายจะได้รับออกซิเจนน้อย สมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยเหมือนกัน อาจทำให้ การเรียนรู้ช้าลงกว่าเด็กวัยเดียวกันก็ได้นะจ๊ะฉันบอก

มองหน้าติ๊กพร้อมกับแตะที่ลำตัวน้องตี๋เบาๆ

            จริงเหรอจ๊ะ ฉันได้ยินแต่หมอกับพยาบาล บอกแต่ว่าลูกหลอดลมตีบ ทำให้ลมเข้าปอดได้ยาก เพราะเสมหะมันจุกหลอดลมลูกก็จะหอบขาดออกซิเจน แต่ไม่รู้ว่าลูกจะมีการเรียนรู้ช้าลง  ติ๊กอุทานสีหน้าตกใจ

            ฉันอธิบาย เรื่องโรคหอบหืดซ้ำและให้ติ๊กถามเป็นระยะ ๆ ทบทวนการดูแลน้องตี๋ให้ติ๊กฟังขณะพูดคุยก็มีพ่อและยายของน้องตี๋ซึ่งทำภารกิจเสร็จแล้วจึงมาดูแลลูกและหลาน ทำให้ได้พูดคุยกันในครอบครัว  ฉันพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ติ๊กและครอบครัวตั้งใจฟังข้อมูล ที่ฉันได้ให้ในวันนี้ ตอบคำถามแทรกมาเป็นระยะ จากที่สังเกตเห็นฉันมั่นใจได้เลยว่าครอบครัวนี้สามารถดูแลน้องตี๋ซึ่งเป็นที่รักของทุกคนได้อย่างแน่นอน จึงขอตัวไปปฏิบัติกิจกรรมการพยาบาลอื่นๆต่อ น้องตี๋ Admit 3 วัน อาการทุเลา แพทย์จำหน่ายให้กลับบ้านได้และนัด F/U 1 สัปดาห์

                ในวันที่ 3 หลังจำหน่าย ด้วยความห่วงใยฉันได้ไปเยี่ยมน้องตี๋ที่โรงเรียน  พบว่าน้องตี๋กำลังนั่งเล่นกับเด็กอีกคนอยู่ใต้อาคารโรงเรียนซึ่งถูกละอองฝน

              น้องตี๋มานั่งเล่นตรงนี้ถูกฝนหรือเปล่าครับ โดนฝนแล้วเดี๋ยวหอบต้องนอนโรงพยาบาล พ่นยาอีกนะครับ  ฉันบอกและจับศีรษะน้องตี๋เบาๆ ด้วยความเอ็นดู

                น้องตี๋ไม่พูดอะไร เงยหน้ามองข้างบนแล้วก็ชวนเพื่อนเก็บของเข้าไปเล่นในห้อง ฉันเลยเข้าไปหาคุณครูและแนะนำตัว บอกจุดประสงค์ของการมาในครั้งนี้ คุณครูเข้าใจและยินดีให้ความร่วมมือที่จะดูแลน้องตี๋ไม่ให้เล่นถูกฝนหรือเปิดพัดลมส่องตัว และพยายามแยกให้เด็กที่ป่วยอยู่ร่วมกันน้อยที่สุด พูดคุยกันต่ออีกสักพักฉันจึงขอตัวลากลับและเลยไปเยี่ยมที่บ้านต่อ พบติ๊กทำงานบ้านอยู่   สอบถามความเป็นอยู่  อาการ การปฏิบัติตน รวมถึงการดูแลน้องตี๋ 

         ไม่ดื้อ  เชื่อฟังหนูดี  พอฝนทำท่าตั้งเค้าเขาก็รีบวิ่งเข้าบ้านแล้ว เวลานอนกลางคืน ก็ไม่เปิดพัดลมส่องตัว  หนูกลัวเขาร้อน ขยับพัดลมเข้าใกล้ตัวเขา  เขาขยับออก บอกว่ากลัวหอบ   ติ๊กพูดไปหัวเราะไปด้วย     ฉันพลอยยิ้มหัวเราะไปกับติ๊กด้วย

            ในการมาครั้งนั้นฉันสังเกตเห็นสภาพบ้านจัดได้เป็นระเบียบและสะอาดดี ไม่มีฝุ่นละอองที่จะทำให้อาการของน้องตี๋กำเริบ จากการสอบถามทราบว่ายายของน้องตี๋จะดูแลปัดกวาดบ้านให้สะอาดเสมอ เพื่อไม่ให้มีฝุ่นละอองที่จะทำให้อาการหอบของหลานกำเริบได้ ฉันดีใจที่ครอบครัวช่วยกันดูแลน้องตี๋ได้ดี   พูดคุยกับติ๊กอยู่พักใหญ่จึงขอตัวลากลับ

                และจากการติดตามประวัติการรักษาจากนั้น น้องตี๋พ่นยาห่างขึ้นเป็นสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมารับวัคซีนไข้หวัดใหญ่  ติ๊กพามาตรวจทุกครั้งที่หมอนัดมาติดตามอาการ  น้องตี๋ปฏิบัติตัวได้ถูกต้อง  ครอบครัวมีส่วนร่วมดูแล  จนน้องตี๋ไม่กลับมานอนโรงพยาบาลด้วยโรคหอบหืดอีกเลย

              การดูแลผู้ป่วยด้วยความใส่ใจ  ห่วงใย  พยายามหาสาเหตุของปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยต้องมานอนโรงพยาบาล   นำมาวางแผนการจำหน่ายโดยให้ครอบครัวมีส่วนร่วม  ทำให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ถูกต้อง  สามารถใช้ชีวิตตามวิถีชีวิตของตนเองอย่างมีความสุขในสังคม

หมายเลขบันทึก: 284203เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2009 13:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:30 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท