เก็บมาเล่าจากเวทีเสวนา “คุณเอื้อ” ณ บ้านผู้หว่าน 5) คุณเอื้อยอดนักสู้


โอกาสที่จะอนุญาตให้คนผละจากงานมานั่งคุยกัน โดยเฉพาะยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย

คุณสมใจ เนียมหอม (คุณอ้อย) เป็นหนึ่งในทีมผู้ดูแลชุมชนนักปฏิบัติ (CoP) ของฝ่ายการพยาบาล รพ.ศิริราช  ซึ่งขณะนี้ มีจำนวน 13 ชุมชน ในการเสวนาครั้งนี้ถือได้ว่า เธอเป็นดาวเด่นทีเดียว เพราะ เธอเป็นคุณเอื้อระดับกลาง ที่ต้องฟันฝ่าความยากลำบากในการขับเคลื่อน CoP ผ่านผู้บริหารระดับที่สูงกว่า (หลายระดับ)  นอกจากนี้ เธอยังเป็นคุณอำนวย และคุณกิจในชุมชนอีกด้วย เรียกว่าเป็นทุกบทบาท

คุณอ้อย เล่าถึงที่มาของการเกิด CoP ว่า หลังจากจบโครงการนำร่องการจัดการความรู้ในศิริราช ทางทีมก็คิดกันว่าจะทำอะไรต่อ ก็ประเมินว่า ตอนโครงการนำร่องดูจะเน้น IT ค่อนข้างมาก ซึ่งยังเป็นช่องทางที่เข้าถึงไม่ง่ายนัก คิดว่าการพบปะกัน พูดคุยกันแบบ face to face เหมาะกว่า จึงตกลงใช้ CoP ในการขับเคลื่อน KM ของฝ่ายการฯ  เริ่มด้วยกำหนดทีมงานกลาง (core team) กว่าจะลงตัว ก็มีการเปลี่ยนตัวไป 2-3 รอบเพื่อให้ได้คนที่ต้องการ จากนั้นก็กำหนดหัวเรื่องของ CoP ที่อยากให้เกิด ประกาศรับสมัครสมาชิก และจัดอบรม core team ของ CoP

การอบรม ก็เป็นการอบรมสั้นๆ เพียง 3 ชม.แล้วก็ให้ CoP ลุยเอง สมาชิกก็บ่นอุบว่าอบรมแค่นี้ จะทำได้อย่างไร แต่คุณอ้อยก็เน้นย้ำความสำคัญของการลงมือปฏิบัติจริง

แต่ละ CoP มีสมาชิกราว 30-40 คน ส่วน core team ของแต่ละชุมชนประกอบด้วย facilitator 2-4 คน (ที่ต้องกำหนดมากว่า 1 เพราะจะได้แทนกันได้ เนื่องจากลักษณะการทำงานเป็นกะ), note taker (ที่ศิริราชเรียกว่า historian) 2-6 คน, IT admin (เอาข้อมูลของกลุ่มไปลง web) และ เจ้าภาพ (เจ้าของประเด็น เจ้าของเรื่อง)  คิดว่าลักษณะการจัด core team ที่มีการกำหนดบทบาทต่างๆ และ มีจำนวนคนมากกว่าหนึ่ง เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ CoP ของศิริราช ประสบความสำเร็จ

อีกประเด็นที่น่าเรียนรู้มากๆ คือการบริหารจัดการ CoP  ในแต่ละ CoP จะมีการ ลปรร.แบบ F2F เดือนละ 1-2 ครั้ง, ส่วน core team จากแต่ละ CoP มาลปรร.กันทุก 2-3 เดือน แล้วก็มีการประชุมใหญ่ (เข้าใจว่าเหมือนการนำเสนอผลงานของ CoP ต่างๆ) ปีละ 1-2 ครั้ง

เรื่องหนึ่งที่คุณอ้อยบอกว่า ต้องออกแรงฟันฝ่ามาก คือ เวลา”  หมายถึงเวลาที่จะอนุญาติให้พยาบาลออกมา ลปรร.กัน (ตรงนี้ทำเอาผู้เขียนงง ว่าทำไมถึงออกมาไม่ได้?) เธอบอกว่า ที่ศิริราช งานเยอะมาก และคนก็ที่มีจำกัด โอกาสที่จะอนุญาตให้คนผละจากงานมานั่งคุยกัน โดยเฉพาะยังไม่แน่ใจว่าจะเกิดประโยชน์จริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องง่าย คุณอ้อยและทีม ต้องเอาโครงการไปเสนอผู้บริหาร จนได้มา 1 ชม. คือ เที่ยงครึ่งถึงบ่ายครึ่ง เรียกว่าพบกันครึ่งทาง  หลังจากนั้น เมื่อดำเนินงานมาระยะหนึ่ง เกิดผลงานขึ้น ผู้บริหารก็เห็นประโยชน์ จึงได้เวลามาเพิ่มเป็น 2 ชม.

ในขณะที่คุณอ้อยเล่าให้ฟัง ทั้งน้ำเสียง สีหน้า และแววตา ทำให้ผู้เขียนสัมผัสได้ถึงอารมณ์ความรู้สึกที่เธอต้องฟันฝ่า และอารมณ์แห่งความภูมิใจที่มี ณ วันนี้

ขอบคุณคุณอ้อยสำหรับบทเรียนที่มีคุณค่า และขอเป็นกำลังใจด้วยหนึ่งคน

 

หมายเลขบันทึก: 28349เขียนเมื่อ 14 พฤษภาคม 2006 10:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาเล่าค่ะเพราะเป็นประโยชน์มากสำหรับคนไม่ได้ฟัง   จะนำไปใช้ที่บำราศต่อไปค่ะ
  • ขอบคุณอาจารย์มากครับที่นำมาเล่าให้ฟังเหมือนได้ไปด้วยเลยครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท