นี่แหละ...วิทยากรยุคใหม่ ที่ HR สมัยใหม่ต้องการ


นี่แหละ...วิทยากรยุคใหม่ ที่ HR สมัยใหม่ต้องการ

นี่แหละ...วิทยากรยุคใหม่ ที่ HR สมัยใหม่ต้องการ

    
 

ผมได้รับการติดต่อจาก ผู้บริหารระดับสูงด้าน HR ขององค์กรสมัยใหม่แห่งหนึ่งให้ออกแบบหลักสูตรฝึกอบรม "วิทยากรยุคใหม่" ให้กับผู้จัดการฝ่ายต่างๆ ขององค์กร จำนวน 10 ท่าน โดยวัตถุประสงค์หลักก็คือ ต้องการสร้าง ผู้จัดการเหล่านี้ให้เป็นวิทยากรภายใน (in-house trainer) ทำหน้าที่ฝึกอบรมพนักงานและลูกค้าของบริษัท

ผู้บริหารที่ติดต่อผมมานี้เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ ไฟแรง อายุ 35 ปี จบ MBA จากต่างประเทศ มีประสบการณ์ทำงานด้าน HR กับองค์กรไทยและต่างประเทศมากว่า 10 ปี ท่านบอกกับผมว่า ไม่ต้องการสร้างวิทยากรแบบเดิมๆ ที่ชอบสอนแบบเน้นการบรรยาย นำเสนอด้วย พาวเวอร์พอยต์ ไปทีละสไลด์ ไล่ตามเอกสารประกอบการบรรยาย ผู้เรียนหรือ ผู้เข้าอบรมก็นั่งฟังกันไปเรื่อยๆ เหนื่อยก็หลับ รอเวลาว่าเมื่อไรจะถึงเวลาเลิกการอบรมสัมมนาเสียที

หลังจากนั้นผมได้นัดพบและพูดคุยกับ ผู้บริหารท่านนี้พร้อมกับคำถามมากมาย รวมทั้งคำถามที่จะขาดไม่ได้ก็คือ "วิทยากรยุคใหม่... ที่ HR สมัยใหม่ต้องการเป็นแบบไหนเหรอ ?" แล้วผมก็ได้คำตอบเกี่ยวกับวิทยากรยุคใหม่มาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟัง ซึ่งผมสรุปได้ 7 ข้อ ดังนี้ครับ

1.
วิทยากรยุคใหม่ควรเข้าใจว่าผู้เรียนหรือผู้เข้าอบรมคือคนที่รู้ดีที่สุดในงานของเขา และผู้เรียนก็คือผู้ที่นำความรู้ไปปรับปรุงพัฒนางานหรือแก้ไขปัญหาด้วยตัวของเขาเอง ไม่ใช่วิทยากร เพราะฉะนั้นวิทยากรยุคใหม่ไม่ควรยัดเยียดความรู้ อัดเนื้อหาวิชาการที่วิทยากรเตรียมมา (อย่างมากมาย) ให้ผู้เรียนฟัง แต่วิทยากรควรเป็นคนที่มาสร้างบรรยากาศให้ผู้เข้าอบรมอยากเรียนรู้ หน้าที่ของวิทยากรคือดึงความรู้ และประสบการณ์ของผู้เรียนออกมาให้มากที่สุด วิทยากรควรเป็นผู้แนะนำและให้แนวทางเบื้องต้นเท่านั้น หลังจากนั้นผู้เรียนจะเป็นคนต่อยอด สร้างความรู้ และคิดหาแนวทางการแก้ไขด้วยตนเอง โดยการได้ทดลองทำและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากการลงมือปฏิบัติจริง

2.
วิทยากรยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องแจกเอกสารประกอบการบรรยายที่เต็มไปด้วยทฤษฎีต่างๆ (ที่ไปลอกของคนอื่นมา) แต่ควรมอบหมายให้ผู้เรียนอ่านสิ่งที่ ผู้เรียนสนใจและเกี่ยวข้องกับหลักสูตรมาล่วงหน้า ค้นคว้าหาความรู้มาเองล่วงหน้า เตรียมเอกสารมาเอง ตั้งคำถามมาล่วงหน้าเพื่อถามวิทยากร อยากรู้อะไรก็เตรียมตัวมา ค้นคว้ามา และพร้อมจะแลกเปลี่ยนซักถามกับวิทยากรในวันฝึกอบรม

3.
การฝึกอบรมไม่จำเป็นต้องอยู่ในห้องฝึกอบรมทุกวัน หรือทุกหลักสูตร บางหลักสูตรบางวันก็ควรเปลี่ยนบรรยากาศหรือปรับสภาพสิ่งแวดล้อมให้ดูไม่เป็นทางการจนเกินไป เพราะธรรมชาติการเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ได้เป็นทางการ การเรียนรู้ของมนุษย์ไม่ได้เกิดจากการบังคับ

ไม่ได้เกิดในห้องสี่เหลี่ยมเสมอไป การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ในโรงภาพยนตร์ ในขณะชมคอนเสิร์ต ในระหว่างทำกิจกรรมร่วมกัน ในร้านสุกี้ ใต้ต้นไม้ ในทุ่งนา ป่าเขา ในอุทยานแห่งชาติ ริมทะเล ในวัด ในป่าช้า ขณะเล่นกีฬา ในห้างตลาดสด และที่สถานที่ต่างๆ อีกมากมาย

4.
วิทยากรยุคใหม่ควรเข้าใจเรื่อง action learning คือการให้ผู้เรียนได้ลงมือทำจนพบความรู้ด้วยตนเอง นักวิชาการเรียกว่า "การเรียนรู้เชิงประจักษ์" ยกตัวอย่าง การเรียนรู้เทคนิคการร้องเพลงของคุณพลพล (ศิลปินแกรมมี่) ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ไว้ในนิตยสารแรงบันดาลใจว่า "...ผมเองไม่เคยเรียนร้องเพลง ไม่เคยรู้ทฤษฎี เกี่ยวกับการร้องเพลงเลย ทุกอย่างล้วนเป็นการฝึกหัดจากตัวเองทั้งนั้น... และเมื่อได้มอบหมายให้ทำหน้าที่เป็นคนเทสต์เสียงนักร้องใหม่ ผมก็เลยสร้างรูปแบบการฝึกร้องเพลงขึ้นมา ใหม่..." นี่แหละครับ action learning

5.
ในกรณีที่เป็นการฝึกอบรมในห้อง (classroom training) วิทยากรยุคใหม่ควรจัดเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือค้นหาข้อมูลความรู้ในขณะที่ฝึกอบรม เช่น มี google ให้ค้นคว้าได้ทันที เว็บไซต์และเว็บบล็อกที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตรที่ฝึกอบรม วิธีการนี้สามารถประยุกต์ใช้ได้กับการฝึกอบรมนอกห้อง โดยการมอบหมายให้ผู้เรียนไปสืบค้น หาข้อมูลความรู้ในแหล่งที่วิทยากรแนะนำให้อ่านมาล่วงหน้า หรือมอบหมายให้ไปอ่านหนังสือมาก่อน แนวทางการจัดเตรียมอุปกรณ์หรือเครื่องมือในการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองนั้น เป็นการฝึกให้ ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการที่จะเรียนรู้ (learn how to learn)

6.
วิทยากรยุคใหม่ควรสร้างบรรยากาศให้ผู้เรียนอยากเรียน อยากรู้ อยากแลกเปลี่ยน เช่น

-
ทำตัวเป็นกันเอง ไม่เก๊กเก่ง ไม่เก๊กฉลาด จนทำให้ผู้เข้าอบรมเกร็ง ไม่กล้าพูดด้วย ความเป็นกันเองสร้างได้ เช่น การเรียกชื่อเล่นผู้เรียน พูดคุยเรื่องทั่วไป เล่าเรื่องความผิดพลาดหรือความล้มเหลวของตัวเองให้ผู้เรียนฟังบ้าง

-
การแต่งตัวของวิทยากร อาจจะต้องถอดสูท ถอดเนกไทไว้กับบ้าน แต่งตัวธรรมดาๆ เป็นพวกเดียวกับผู้เรียน ไม่ใช่แต่งตัวหรูหรา เหมือนเดินออกมาจากแมกาซีนแฟชั่น กลายเป็นวิทยากรไฮโซฯมาสอนคนโลโซ

-
วิทยากรยุคใหม่ควรลดการใช้ศัพท์วิชาการและคำภาษาต่างประเทศลงบ้าง เพราะคำเทคนิคเฉพาะ หรือภาษาอังกฤษ อาจทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่เข้าถึง ไม่เข้าใจ และไม่อยากเรียนรู้ไปเลยก็ได้

-
เป็นผู้ที่พร้อมจะเรียนรู้ร่วมกัน เป็นทั้งผู้ให้และผู้รับ เช่น ยืนบ้าง นั่งบ้าง เดินเข้าไปหาผู้เข้าอบรมบ้าง ไม่ใช่นั่งอยู่บนเวที หรือยืนอยู่ที่โพเดียมตลอดหลักสูตร ถ้า ผู้เรียนนั่งบนเก้าอี้วิทยากรก็นั่งบนเก้าอี้ (ระดับเดียวกัน) ถ้าผู้เรียนนั่งกับพื้น วิทยากรก็นั่งกับพื้นได้ (ไม่แปลกครับ)

-
วิทยากรสามารถแสดงความรู้สึกได้ เหมือนมนุษย์ทั่วไป เช่น ดีใจ เสียใจ ผิดหวัง เสียดาย ก็แสดงความรู้สึกออกมาได้ หรือสื่อสารให้ผู้เรียนรับรู้ ไม่ใช่มัวแต่เก๊ก เก็บความรู้สึกไว้ วิทยากรไม่กล้าหัวเราะเสียงดัง ไม่กล้าน้ำตาซึม ในห้องอบรม เพราะกลัวเสียฟอร์ม เสียมาดวิทยากร ที่จริงแล้ววิทยากรควรมีอารมณ์ร่วมไปพร้อมๆ กับ ผู้เรียน

7.
เทคนิคการฝึกอบรมต่างๆ ของวิทยากรยุคใหม่

-
ใช้การบรรยาย (lecture) ให้น้อยลง วิทยากรมาสร้างบรรยากาศให้ผู้ใหญ่เกิดการเรียนรู้ (adult learning) ด้วยตัวเขาเอง ไม่ได้มาสร้างบรรยากาศให้คนนอนหลับ

-
หลีกเลี่ยงการสอบ pre-test และ post-test เพราะการทดสอบแบบนี้ไม่ได้พิสูจน์ว่าคนที่ได้คะแนนดีจะเป็นคนที่มีทักษะดีหรือทัศนคติดี คนที่ทำคะแนนแบบทดสอบได้ดี แต่นิสัยเสียและพฤติกรรมการทำงานเลว ผลงานไม่ดีก็มีเยอะ

-
เน้นการฝึกปฏิบัติให้ผู้เรียนได้มีโอกาสลงมือทำด้วยตนเองมากที่สุด วิธีนี้ผู้เรียนจะเป็นผู้วางแผน ลงมือทำและเห็นผลลัพธ์ด้วยตนเอง วิทยากรและผู้เข้าอบรมท่านอื่นๆ จะช่วยกันเป็นคนให้ feedback และข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์

-
ชมภาพยนตร์ (ดีๆ) ที่สร้างจากเรื่องจริง หรือเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับรางวัลจากสถาบันที่เชื่อถือได้ แต่ไม่ใช่ว่ามาเปิดหนังให้ดูกัน 2 ชั่วโมงนะครับ วิทยากรควรจะมอบหมายเป็นการบ้านให้ผู้เรียนดูมาก่อนการฝึกอบรม จะได้ไม่กินเวลาในห้องอบรม ควรใช้เวลาในห้องอบรมเปิดเป็นเวทีสนทนา หรือล้อมวงแลกเปลี่ยนความรู้ ตลอดจนบทเรียนที่ได้จากภาพยนตร์ที่ชมมา และการนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน

-
เกมการเรียนรู้ (ที่สนุกและมีสาระความรู้) เดี๋ยวนี้มีเกมที่ใช้ในการฝึกอบรมขายใน website มากมาย หรือจะสร้างและพัฒนาเกมขึ้นมาใหม่ก็ได้ บางเกมก็หาซื้อจากศูนย์หนังสือตามมหาวิทยาลัย หรือจากงานสัปดาห์หนังสือก็ได้ครับ

-
กรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง รวมที่ข่าวสารต่างๆ ที่ได้จากหนังสือพิมพ์ นิตยสาร ข่าวทีวี เว็บไซต์ เว็บบล็อก รูปภาพ และคลิปวิดีโอ สิ่งเหล่านี้เร้าความสนใจของผู้เรียนได้เป็นอย่างดี

-
วีซีดี หรือดีวีดี เพลง ดนตรี คอนเสิร์ต เทคนิคนี้น่าจะเหมาะกับการฝึกอบรมกลุ่มคนรุ่นใหม่ (Gen X และ Gen Y) ที่ชอบ เอดูเทนเมนต์

-
วิธีอื่นๆ เช่น แนะนำผู้เรียนให้ไปเข้าชมรม สมาคมต่างๆ ใช้เครือข่าย (networking) ต่างๆ ให้ผู้เรียนแสดงละคร หรือกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่ผู้เรียนได้ลงมือทำอะไรบางอย่าง และสะท้อนออกมาว่าเขาได้เรียนรู้อะไรที่เป็นประโยชน์กับตัวเองบ้าง โดยวิทยากรต้องเป็นนักฟังที่ดี ปล่อยให้ผู้เรียนแต่ละคนสะท้อนความคิดและความรู้สึกออกมา โดยไม่ขัดคอ ไม่ขัดจังหวะ

ท่านผู้อ่านคงมองเห็นภาพของวิทยากรยุคใหม่ที่ HR ยุคใหม่ต้องการได้ชัดเจนขึ้น แต่จะนำวิทยากรยุคใหม่ไปฝึกอบรมคนในองค์กรของท่านหรือไม่ ก็ดูให้ดีว่าคนในองค์กรของท่าน (ผู้บริหารและพนักงาน) เป็นคนยุคใหม่ที่พร้อมจะเรียนรู้จากวิทยากรยุคใหม่หรือไม่ ถ้าคำตอบคือ "ไม่" ก็อย่าดันทุรัง เดี๋ยวจะเสียเวลา เสียงบประมาณเปล่าๆ แต่ถ้าคำตอบคือ "ใช่" องค์กรที่ท่านทำงานอยู่เป็นองค์กรสมัยใหม่ ผู้บริหารและพนักงานก็เป็นคนที่มีความคิดและวิธีการทำงานสมัยใหม่ วิทยากรยุคใหม่ก็น่าจะเหมาะนะครับ

 

ที่มา :www.matichon.co.th

หมายเลขบันทึก: 283130เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท