ทศานุภาพของการจัดการความรู้ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช


อานุภาพทั้งสิบ ของการจัดการความรู้

ขออนุญาติคัดลอกมาไว้ในบล็อกอีกบทความเกี่ยวกับการจัดการความรู้

ทศานุภาพของการจัดการความรู้

ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช

การจัดการความรู้มี อานุภาพทั้งสิบหรือ พลังทั้งสิบที่คนทั่วไปไม่ตระหนัก และไม่มีทักษะในการใช้พลังเหล่านี้ กล่าวให้รุนแรง เรามืดบอดต่อพลังเหล่านี้ เป็นความมืดบอด (อวิชชา) อันเนื่องจากเราเคยชินกับ ความรู้ ในรูปแบบของ ปัญญาของผู้รู้เราไม่เอาใจใส่ หรือไม่ให้ความสําคัญ ต่อปัญญาของผู้ปฏิบัติพลังที่ยิ่งใหญ่สิบประการที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการจัดการความรู้ คือเป็นทั้งพลังสําหรับนํามาใช้ในการดําเนินการจัดการความรู้ และเป็นพลังที่เกิดจาการจัดการความรู้ ได้แก่

1.       พลังปัญญาของผู้ปฏิบัติ ผู้ที่ผ่านการประชุมปฏิบัติการเพื่อทําความรู้จักการจัดการความรู้ จะเริ่มเห็นคุณค่าของ ความรู้ที่มีอยู่ในผู้ทํางานหรือผู้ปฏิบัติ” (Tacit Knowledge) ผู้ที่ดําเนินการจัดการความรู้จนมีประสบการณ์หรือความชํานาญ จะซาบซึ้งในพลังของความรู้ที่มีอยู่ในผู้ปฏิบัติ ความรู้เหล่านี้ไม่สามารถเสนอออกมาเป็นคําพูดได้ทั้งหมด ยิ่งเสนอออกมาเป็นลายลักษณ์อักษร ยิ่งออกมาได้น้อย แต่เมื่อใดก็ตามที่ถึงคราวปฏิบัติ ผู้มีความรู้เหล่านี้จะกระทําได้โดยไม่ต้องใช้ความพยายาม คือทําได้โดยไม่ต้องใช้จิตสํานึก พลังปัญญาของผู้ปฏิบัติเหล่านี้ หากเสริมด้วยความรู้เชิงทฤษฎี (Explicit Knowledge) ซึ่งมีอํานาจอธิบายสูง ก็จะยิ่งทําให้ พลังปัญญาของผู้ปฏิบัติได้รับการยกระดับขึ้นไปอีก เป็นการยกระดับความรู้ขึ้นภายในตัวผู้ปฏิบัติเอง ยิ่งถ้าผู้ปฏิบัติหลายๆ คน ได้ร่วมกันตีความความรู้เชิงทฤษฎีดังกล่าวบนฐานของประสบการณ์ในการทํางาน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ความรู้ความเข้าใจและความหมายต่อการปฏิบัติงาน การยกระดับความรู้ก็จะยิ่งมากขึ้น ขอย้ำว่าการยกระดับความรู้เน้นที่การยกระดับภายในตัวผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่ในกระดาษ หรือในตัวนักทฤษฎี
           สังคม ชุมชน หรือองค์กร ที่เห็นคุณค่า และรู้จักนําพลังปัญญาที่มีอยู่ในผู้ปฏิบัติมาสร้างคุณค่าและมูลค่า จะเคารพและให้เกียรติผู้ปฏิบัติงานทุกระดับ เป็นพื้นฐานของสังคมสมานฉันท์ และเป็นพื้นฐานของภราดรภาพ สังคมใด ชุมชนใด หรือองค์กรใดสร้างสรรค์บรรยากาศเช่นนี้ได้ จะเกิดพลังชุมชนที่ยิ่งใหญ่ นี่คือพลานุภาพของการจัดการความรู้

2.       พลังทุนปัญญาที่มีอยู่ในองค์กร ในชุมชน หรือในสังคม นี่คือทรัพย์สมบัติที่ซ่อนเร้นที่ถ้าเราไม่นึกถึง ไม่เห็นคุณค่า ก็เหมือนไม่มี ทุนปัญญาเหล่านี้มีอยู่ในคน อยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างคน หรืออยู่ในวัฒนธรรมประเพณี หรือวิธีปฏิบัติงาน ความรู้แฝงเหล่านี้ หากมองจากมุมหนึ่ง จากเป้าหมายหนึ่ง อาจถือได้ว่าเป็นความรู้ที่ไม่เหมาะสม ล้าหลัง หรือก่อปัญหา แต่ถ้ารู้จักนํามาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งอย่างเหมาะสม รู้จักใช้ผสมผสานกับความรู้อื่น ก็อาจเกิดผลที่ยิ่งใหญ่
        จะเห็นว่า ความรู้เป็นสิ่งที่เป็นกลาง อาจก่อประโยชน์ก็ได้ ก่อโทษก็ได้ การจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ หรือวิธีการ นําความรู้ไปทําให้เกิดประโยชน์ ในกรณีนี้คือการนํา ความรู้แฝงไปใช้ให้เกิดคุณค่าและมูลค่า วิธีนํา ความรู้แฝงมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่เกิดโทษ ทําได้โดยการมองที่ความสําเร็จ หรือผลงานเยี่ยม ที่ผูกพันอยู่กับความรู้หรือวิธีปฏิบัตินั้นๆ ดําเนินการค้นหาและนําเอาทุนปัญญาเหล่านี้ มาตีความ และประยุกต์ใช้ ยิ่งดําเนินการค้นหาและนํามาใช้ ก็จะยิ่งพบทุนปัญญาที่ไม่คาดฝันแฝงเร้นอยู่ในองค์กร ชุมชน หรือสังคม มากมาย อยู่ในสภาพที่ ยิ่งใช้ยิ่งค้นพบเพิ่มขึ้นนี่คือพลานุภาพของ ทุนปัญญา

3.       พลังของความสําเร็จ ความชื่นชมยินดี ในความสําเร็จ หรือผลงานเยี่ยม มีความรู้ฝังอยู่ ที่เรียกว่า ความรู้ฝังลึกหรือ ความรู้แฝง” (Tacit Knowledge) หรือความรู้ของผู้ปฏิบัติ นั่นเอง การจัดการความรู้เน้นที่การเสาะหา (capture) ความรู้ที่ต้องการ หรือเหมาะสม เพื่อการบรรลุเป้าหมาย มาประยุกต์ใช้ ความรู้ที่ต้องการดังกล่าวมีอยู่ใน ๒ ที่ คือมีอยู่ภายในองค์กร (ชุมชน) เอง กับ มีอยู่นอกองค์กร (ชุมชน) วิธีค้นหา ทําโดย หาความสําเร็จ หรือผลงานเยี่ยม ที่มีอยู่ภายในองค์กร และภายนอกองค์กร แล้วใช้ พลังของความชื่นชมยินดี พลังของการเห็นคุณค่า ดําเนินการดูดซับ (สู่คน) และบันทึกขุมความรู้” (Knowledge Assets) (สู่กระดาษ) จากความสําเร็จหรือผลงานเยี่ยมเหล่านั้น
           กระบวนการจัดการความรู้ เพื่อดูดซับความรู้จากความสําเร็จหรือผลงานเยี่ยมสู่คนและสู่กระดาษ มิได้ก่อผล เฉพาะด้านการดูดซับและบันทึกความรู้เท่านั้น แต่จะก่อผลที่มีคุณค่ายิ่งอีกอย่างน้อย ๕ ประการ ได้แก่

o        การยกระดับความรู้ ในกระบวนการดังกล่าว กลุ่มบุคคลผู้ร่วมกันสร้างผลงานที่เป็นความสําเร็จ หรือผลงานเยี่ยม จะเกิดความรู้ความเข้าใจวิธีการปฏิบัติงานของตน เพิ่มขึ้น และความรู้ที่มีการดูดซับสู่คน หรือบันทึกลงกระดาษบางส่วนก็จะเป็นความรู้ที่ยกระดับขึ้นจากเดิมด้วย

o        มิตรภาพ ภราดรภาพ ความเคารพนับถือระหว่างกัน ในหมู่ผู้เข้าร่วมกระบวนการ อันจะนําไปสู่การเป็นพันธมิตร หรือเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ต่อเนื่องยาวนาน

o        ความรู้สึกมั่นใจตนเอง เห็นคุณค่าของตนเอง และคุณค่าของการทํางานร่วมกัน ของกลุ่มผู้มีความสําเร็จหรือผลงานเด่น อันจะนําไปสู่ความมั่นใจที่จะทดลองหรือสร้างสรรค์วิธีทํางานใหม่ๆ ต่อไปอีก

o        ความอ่อนน้อมถ่อมตน เห็นข้อจํากัดของตน เห็นคุณค่าของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทั้งในกลุ่มผู้มีผลงานเด่น และในกลุ่มผู้ขอเรียนรู้ อันเนื่องมาจากประสบการณ์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้นั้น จะทําให้ผู้เข้าร่วมเกิดความรู้สึกเช่นนี้เองโดยไม่ต้องมีคนบอก

o        บรรยากาศเชิงบวก เชิงชื่นชมยินดี เชิงเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน เชิงรักนับถือ ภายในองค์กร (ชุมชน) จะเพิ่มขึ้น

พลานุภาพที่แท้จริง ไม่ใช้พลังที่จํากัดอยู่ที่ผลของการกระทําชิ้นใดชิ้นหนึ่ง แล้วจบอยู่ตรงนั้น แต่เป็นพลังที่ มีชีวิตคือส่งผลต่อเนื่องได้ ก่อแรงกระเพื่อมไปไกลๆ แบบ ไร้สายได้ และที่สําคัญ ก่อตัวเป็นผลที่ยิ่งใหญ่ได้ด้วยตนเอง (self-organization)

4.       พลังของเรื่องเล่า (Storytelling) การเล่าเรื่องราวแห่งความสําเร็จก่อความรู้สึกเชิงบวก มีความหวัง, ลบหรือลดความท้อแท้สิ้นหวัง วิธีการจัดการความรู้โดยนําเอาความสําเร็จตามเป้าหมายที่กําหนดมาเล่า มีวิธีการเล่าที่ถูกต้อง มีการสร้างบรรยากาศเชิงชื่นชมยินดี มีการซักถามด้วยความอยากรู้และเห็นคุณค่า จะทําให้มี ความรู้ฝังลึก” (Tacit Knowledge) หลั่งไหลออกมามากและมีคุณภาพสูงอย่างไม่คิดว่าจะมีถึงขนาดนั้น ยิ่งมีการจดบันทึก ขุมความรู้และช่วยกันตีความหรือทบทวน ขุมความรู้ก็จะเกิดการยกระดับความรู้ขึ้นโดยอัตโนมัติ
           เรื่องเล่าคือเครื่องมือเชื่อมต่อความรู้ที่ได้สร้างสมไว้ในอดีต ทั้งที่สร้างอย่างรู้ตัว และไม่รู้ตัว สู่ปัจจุบัน เป็นเครื่องมือ หรือสื่อ หรือร่างทรงให้ ความรู้แฝงได้ปรากฏตัว ทําให้เราสามารถ ดูด จับ” (capture) ความรู้เหล่านี้ได้ เรื่องเล่ามีพลานุภาพในการเป็น รูปธรรมให้เราค้นหานามธรรมได้

5.       พลังของการเล่าเรื่องสู่ cyber space (blog) นี่คือพลานุภาพที่เกิดจาการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นสะพานเชื่อมความรู้ เป็นเครื่องมือของการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ หรือความรู้ที่ได้จากการปฏิบัติ เดิมเราเข้าใจว่าจดหมายอีเล็กทรอนิกส์ (อี-เมล์) เว็บไซต์ กระดานสนทนา และโปรแกรมสําเร็จรูปสําหรับการสื่อสารภายในองค์กร จะเป็นเครื่องมือหลัก แต่ปัจจุบันพบว่า blog หรือ weblog น่าจะเป็นเครื่องมือสําหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่าน พื้นที่เสมือนที่ทรงพลังที่สุด ที่สําคัญคือใช้ฟรี มีค่าใช้จ่ายเพียงค่าเข้าอินเทอร์เน็ตเท่านั้น ผู้ให้บริการ บล็อก ที่เขียนโปรแกรมโดยคนไทย คือ www.gotoknow.org และผมเขียนบล็อกทุกวันที่ http://thaikm.gotoknow.org GotoKnow จะเป็นเครื่องมือสร้างชุมชนนักจัดการความรู้ขึ้นในประเทศไทย
           ผมจะเขียนบทความนําเสนอวิธีใช้บล็อกในการจัดการระบบจัดการความรู้ขององค์กร หรือของ เครือข่าย แยกเป็นอีกบทความหนึ่ง

6.       พลังของการจดบันทึก หัวใจนักปราชญ์ที่สอนกันมาแต่โบราณ คือ สุ จิ ปุ ลิ แต่คนไทยโดยทั่วไปหย่อนด้านลิ ลิขิต คือไม่ค่อยจดบันทึก ไม่ได้ใช้พลังของการจดบันทึก การจดบันทึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งการบันทึกความรู้สึก หรือความคิด จากการผ่านประสบการณ์ต่างๆ เป็นการบันทึก ความรู้ฝังลึก ยิ่งบันทึก ความคิดจะยิ่งแตกฉาน ยิ่งคิดเก่งยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าคิดแล้วนําไปทดลองปฏิบัติ แล้วบันทึกประสบการณ์จากการปฏิบัตินั้น ก็จะเกิดการสร้างความรู้ หมุนเวียนเรื่อยไป ไม่รู้จบ
           การจดบันทึกส่วนตัวในลักษณะของอนุทิน (ไดอารี่) หรืออาจจดการทํางานในลักษณะที่เรียกว่า log book มีประโยชน์ดังกล่าวแล้ว แต่ถ้าบันทึกและเปิดเผยต่อสาธารณะ ในลักษณะของการเขียน บล็อก ก็จะทําให้เกิดการต่อยอดความรู้ กว้างขวางยิ่งขึ้น หรืออาจเปิดเผยเป็นการภายในองค์กร เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ภายในองค์กร ก็จะเป็นช่องทางหนึ่งของการจัดการความรู้

7.       พลังทวีคูณ (synergy) ในการดําเนินการจัดการความรู้ ต้องมีทักษะในการสร้างพลังทวีคูณ (synergy) ขึ้นจากสิ่งที่เป็นเสมือนคู่ขัดแย้ง หรือขั้วตรงกันข้าม เช่น ความรู้ภายใน ความรู้ภายนอก (องค์กร / ชุมชน), ความรู้ชัดแจ้ง ความรู้ฝังลึก, ความรู้เชิงวัฒนธรรม เชิงความเชื่อ ความรู้เชิงวิทยาศาสตร์ เชิงวิชาการ, ความรู้เชิงภูมิปัญญาท้องถิ่น ความรู้เชิงปัญญาสากล, ความรู้จุลภาค เกี่ยวกับงานที่หน้างาน ความรู้เชิงมหภาค เกี่ยวกับระบบงานขององค์กร, ความรู้เพื่อประโยชน์ขององค์กร ความรู้เพื่อประโยชน์ของพนักงาน เป็นต้น การนําเอาความรู้ที่เป็นเสมือนขั้วตรงกันข้ามมาตีความ และทดลองปฏิบัติร่วมกัน โดยยึดเป้าหมายขององค์กร หรือชุมชนเป็นหลัก ทําไปหลายๆ รอบ จะนําไปสู่การค้นพบความรู้ที่ ก้าวข้าม” (transcend) ความเป็นขั้วตรงกันข้ามนั้น เกิดความรู้ที่ยิ่งใหญ่ และผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ โดยที่ความเป็นขั้วตรงกันข้ามตามธรรมชาติของมันก็ยังคงอยู่ แต่มี จิตสํานึกใหม่” (new consciousness) เกิดขึ้นในหมู่ผู้ร่วมปฏิบัติและร่วมรับผลที่มาจากพลังทวีคูณนั้น
           จะเห็นว่า พลานุภาพของการจัดการความรู้ส่วนใหญ่เป็นพลานุภาพที่เราละเลย แต่มีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาด หรือเหนือธรรมชาติแต่อย่างใด

8.       พลังของการสกัดความรู้จากการปฏิบัติ ความสําเร็จ แล้วนําไปปฏิบัติต่อ เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ ตามปกติ เรามองผลสําเร็จหรือผลงานในลักษณะของการมองชั้นเดียว แต่การจัดการความรู้เน้นการมองเชิงซ้อน มองหลายมิติ หลายมุม มองเห็นความซับซ้อน เห็นความสัมพันธ์ เห็นความสัมพันธ์กระบวนระบบ (Systems Thinking) ดังนั้นเราจึงมองจากความสําเร็จทะลุไปที่ความรู้ที่ซ่อนอยู่ในขั้นตอนของการสร้างความสําเร็จนั้น เราจึงแสาะหา ความสําเร็จเล็กๆ แต่ยิ่งใหญ่ที่มีอยู่มากมายภายในองค์กร (ชุมชน) ของเรา และในองค์กร (ชุมชน) อื่น เอามาดูดซับความรู้สู่คน และสกัดความรู้สู่กระดาษ เน้นที่ความรู้ฝังลึก (Tacit Knowledge) สําหรับนําไปใช้งานและสกัดความรู้จากประสบการณ์การปฏิบัติงาน เป็นวัฏจักรไม่รู้จบ เน้นที่ วัฏจักรไม่รู้จบ

9.       พลังของการจัดการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ มองในมุมหนึ่งเป็นกิจกรรมที่ทุกคนทําอยู่ในชีวิตประจําวัน เป็นเรื่องไม่ยาก มองอีกมุมหนึ่ง เป็นเรื่องที่เราไม่คุ้นเคย ในการทําอย่างเป็นระบบ และมีเป้าหมาย เพื่อการพัฒนางาน พัฒนาองค์กร และพัฒนาพนักงาน ดังนั้นจําเป็นต้องมีการจัดการการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ คือไม่ใช่ปล่อยให้ดําเนินไปตามยถากรรม แต่มีผู้รับผิดชอบ หรือ กลุ่มผู้รับผิดชอบ และมี ยุทธศาสตร์ ในการดําเนินการอย่างเป็นระบบ และเป็นขั้นตอน
           ย้ำว่า ในการดําเนินการจัดการความรู้ในองค์กร (ชุมชน สังคม) ต้องมีการจัดการอย่างเป็นระบบ และมียุทธศาสตร์ในการดําเนินการ พลานุภาพของการจัดการ

10.   พลังของ การรวมตัวกันเองของความรู้ชิ้นส่วนเล็กๆ เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ (self-organization) อันเป็นผลของความเป็นอิสระ ประเด็นที่ต้องการเน้นในที่นี้ คือ ความเป็นอิสระ เพื่อเปิดโอกาสให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมชิ้นเล็กชิ้นน้อย อย่างมากมายเหลือคณาภายใต้เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ (Common Purpose / Shared Vision) ร่วมกัน แล้วให้ความเป็นอิสระที่ชิ้นส่วนเหล่านั้นจะประกอบกันเอง และก่อผลที่ยิ่งใหญ่
     
โปรดอย่ามองการรวมตัวกันของความรู้เล็กๆ เป็นความรู้ที่ยิ่งใหญ่ในทํานองเดียวกันกับชิ้นส่วนรถยนต์ประกอบกันเป็นรถยนต์ การรวมตัวกันของความรู้มีความซับซ้อนกว่านั้นมาก หากเปรียบความรู้ชิ้นเล็กๆ เหมือนชิ้นส่วนรถยนต์ การรวมตัวกันของชิ้นส่วนจะได้รถยนต์นับล้านแบบ แล้วแต่กาละเทศะของการใช้ความรู้นั้น
     
ทศานุภาพของการจัดการความรู้ เป็นทั้งเหตุและผล คือปัจจัย ๑๐ ประการนี้ จะนําไปสู่การจัดการความรู้ที่บรรลุผลสําเร็จยิ่งใหญ่ และในขณะเดียวกัน ถ้ามีการดําเนินการจัดการความรู้อย่างถูกต้อง จริงจัง ปัจจัยทั้ง ๑๐ ประการนี้จะยิ่งงอกงามและงดงาม

คำสำคัญ (Tags): #พลังทวีคูณ
หมายเลขบันทึก: 283109เขียนเมื่อ 4 สิงหาคม 2009 19:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 พฤษภาคม 2012 12:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมค่อยๆอ่านอย่างตั้งใจจนจบครับอย่างสมบูรณ์ นับเป็นคุณูปการด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ขอบคุณนะครับกับการนำมาลปรรที่นี่.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท