จะแสวงหาความร่วมมือในชุมชนได้อย่างไร


เรียนรู้วิถีธรรมโดยธรรม

          ความจำเป็นในการปฏิรูประบบสุขภาพพูดถึงกันมานานในแง่ที่ว่าลงทุนไปมากแต่ได้ผลไม่คุ้มค่า ถึงเวลาที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง ก่อนที่จะพบกับคำกล่าวที่ว่า “สายไปเสียแล้ว”ประชาชนในเขตชนบทและเขตเมืองยังมีความแตกต่างในการเข้าถึงบริการสาธารณะอันเป็นปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตที่ไม่ทั่วถึง ไม่เท่าเทียมกัน และยังขาดความเป็นธรรมอยู่มาก การพึ่งพาตนเองจึงเป็นกระบวนการปรับตัวให้อยู่รอดของสรรพสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายปรับตัวได้ดี มีความอดทน อดกลั้น หนักแน่น เสียสละ และมีความสามัคคีปรองดองของผู้คนในชุมชน มีผู้นำที่ดีก็มีโอกาสนำความเจริญก้าวหน้าและความผาสุขมาสู่สมาชิกในชุมชนได้มาก แต่ในทางกลับกันหากได้ผู้นำที่อ่อนแอยิ่งทำให้ความทุกข์เพิ่มพูน ความทุกข์ของผู้คน เป็นเสมือนหนึ่งเชื้อเพลิงที่คอยเติมให้เป็นพลังขับเคลื่อนเร่งร้าว เตือนสติตนเองอยู่เสมอว่าภาระกิจยังไม่หมดสิ้นทราบใดที่ความทุกข์ของผู้คนอันเนื่องมาจากการเกิดแก่ เจ็บ ตาย ยังคงอยู่คู่กับมนุษย์ และถ้าหากประชาชนยังคาดหวังว่าจะช่วยปลดทุกข์ให้กับเขาได้ ตราบใดที่ยังไม่สิ้นลมหายใจ มีเรี่ยวแรงกำลังวังชา พลังความคิดและสติปัญญาก็จะมุ่งมั่นต่อไป โดยยึดหลักการที่ว่า จงเรียนรู้ “วิถีธรรมโดยทำ” จะรู้ว่าประชาชนมีความทุกข์ ความเดือดร้อน ไม่สบายกายสบายใจอย่างไร ทำไมเขาถึงไม่ทำอย่างที่เราอยากเห็นอยากให้เป็น ทำไมปล่อยให้ความเจ็บป่วยเป็นมากรุนแรงอย่างนี้ก่อนที่จะมาโรงพยาบาล ทำไมถึงมาดึกดื่นป่านนี้ พ่อแม่ญาติพี่น้องหายไปใหนทำไมไม่มีใครช่วยดูแล เราจะรู้สิ่งเหล่านี้ได้ก็ต่อเมื่อเราอยากเรียนรู้และอยากทำไม่ใช่เพราะถูกบังคับให้ทำ และไม่ใช่ทำเพราะคิดแต่เพียงว่าทำตามหน้าที่ ความทุกข์ของคนในชนบทไม่เพียงพอสำหรับการคิดเพียงแต่ทำเท่าที่มีหน้าที่ต้องทำ จักต้องทำเกินกว่าหน้าที่ ที่จะต้องมีจิตสำนึกให้ได้ว่าเป็นสิ่งที่ต้องทำ ควรทำและน่าจะทำปัญหาของประชาชนจึงจะได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที คำแก้ตัวที่เรามักจะได้ยินได้ฟังเสมอ “เงินไม่มี คนไม่พอ ก็ขอให้รอไปก่อน” ควรจะหมดไปได้แล้วสำหรับยุคสมัยนี้ จะต้องสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ไม่ยึดติดกับอำนาจรัฐนิยมแต่จะต้องปลุกกระแสชุมชนเข้มแข็งขึ้นมาให้ได้ เปลี่ยนวิธีคิดจากการเป็นผู้ปฏิบัติ มาเป็นผู้คอยกระตุ้นและให้การสนับสนุน เน้นเป้าหมายมากกว่ากระบวนการ ประสานในแนวราบมากกว่าแนวดิ่ง เรียนรู้วิธีการพึ่งพิงตนเองอย่างพอเพียง หลีกเลี่ยงเทคโนโลยี่ที่ไม่เหมาะสม ความล้มเหลวให้ถือเป็นครู อย่าอยู่เพื่อกินแต่ต้องกินเพื่ออยู่ การเรียนรู้ไม่ได้มีแต่ในตำราจากครูอาจารย์ ภูมิปัญญาชาวบ้านคือหนทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
        ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างเรียนรู้จากการทำงาน ทำไปคิดไป คิดไปทำไปก็ไม่ได้เป็นเรื่องเสียหาย แต่ระลึกเสมอว่าจะต้องคิดก่อนทำ ทำก่อนพูด ทำไม่ได้แล้วอย่าพูดและต้องไม่พูดเกินกว่าที่ได้กระทำ การทำงานยากกว่าการเรียน การเรียนนั้นเรียนตามหลักสูตรที่ระบุขอบเขตเนื้อหาวัตถุประสงค์ไว้ชัดเจน ตามที่อาจารย์กำหนดไว้ แต่การทำงานไม่มีสูตรสำเร็จตายตัวจำจะต้องใช้ความคิดริเริ่มผสมผสานกับการแสวงหาความร่วมมือจากผู้อื่น ใช้จังหวะและโอกาสที่เหมาะสม ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มาก ต้องกล้าคิด กล้าทำและกล้านำเสนอด้วยความมั่นใจ การแสวงหาความร่วมมือจากชุมชนไม่ใช่เรื่องยากหากถือหลักการดังต่อไปนี้
1.หลักปรัชญาแห่งความเอื้ออาทร คือ การให้ความสนใจ เอาใจใส่ มีน้ำใจ ทั้งต่อผู้ร่วมงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยอันเป็นบทบาทโดยตรงในฐานะที่เป็นแพทย์ความเชื่อมั่นต่อแพทย์มิได้ขึ้นอยู่กับความรู้ความสามารถในวิชาชีพแต่เพียงอย่างเดียวที่สำคัญยิ่งกว่าคือการแสดงออกให้เห็นถึงความเอื้ออาทร รับรู้ได้ถึงความทุกข์ของผู้ป่วยตลอดจนผู้คนรอบข้าง เข้าใจ เห็นอกเห็นใจ และตั้งใจที่จะแก้ปัญหาให้ด้วยความกระตือรือร้น เสมือนหนึ่งเป็นญาติของตน อย่าคิดว่าผู้ป่วยต้องการอย่างที่เราต้องการแต่จะต้องรับรู้ให้ได้ว่าสิ่งที่เขาต้องการที่แท้จริงคืออะไร อย่าถือแต่เพียงว่า “จงปฏิบัติต่อเขา เหมือนที่เขาปฏิบัติต่อเรา” แต่จะต้องคิดในอีกทางหนึ่งว่า “จงปฏิบัติต่อเขา เหมือนที่เขาอยากให้เราปฏิบัติ”
2.รู้จุดอ่อนของกลุ่มเป้าหมาย คือการรู้ว่ากลุ่มคนใดบ้างในชุมชนที่จะดึงเข้ามาเป็นแนวร่วมในการทำงาน และเข้าหากลุ่มเป้าหมายให้ถูก ถูกเรื่อง ถูกกาละเทศะเช่นกลุ่มข้าราชการประจำตั้งแต่นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ครู ตำรวจ ฝ่ายการเมืองทั้งนักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และภาคประชาชนต่างๆเช่นกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข ผู้สูงอายุ กลุ่มแม่บ้าน พระภิกษุ ผู้นำศาสนา ประชาคมต่างๆ จุดอ่อนของคนเหล่านี้คืออยากมีเกียรติ เกียรติไม่อาจหาซื้อได้ด้วยเงินตรา มีอำนาจวาสนายศฐาบรรดาศักดิ์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นผู้ทรงเกียรติ เพราะเกียรติเป็นสิ่งที่คนอื่นมอบให้ การให้เกียรติต่อกันเป็นสิ่งที่ดีและสะท้อนถึงมิตรภาพและคุณงามความดีของบุคคลนั้น ถ้าหากรู้จักให้เกียรติผู้อื่นท่านก็จะได้รับการสนองตอบด้วยความเป็นผู้มีเกียรติเช่นกัน ในทางตรงกันข้ามหากท่านแสดงออกให้เกิดความรู้สึกไม่ให้เกียรติดูถูกเหยียดหยามท่านก็จะถูกกล่าวหาว่าเป็นคนไร้เกียรติเช่นกัน
3.ทำให้เห็นว่าโรงพยาบาลเป็นของทุกคน มีผู้บริหารเป็นจำนวนไม่น้อยเมื่ออยู่ในองค์กรเป็นเวลานานความผูกพันธ์ก็จะเกิดขึ้นนานเข้าก็จะกลายเป็นความหลงที่คิดว่าโรงพยาบาลเป็นของตนแต่ผู้เดียว ไม่เคยคิดว่าจะทำให้โรงพยาบาลเป็นของประชาชนบางครั้งหลงผิดคิดไปว่าเป็นเจ้าของไปเสียทุกอย่างใครจะมาขอใช้ก็ไม่ได้ หากจะให้ประชาชนยอมรับและเข้ามาให้การสนับสนุน จำจะต้องเปลื่ยนความคิดเสียใหม่ว่าเราเป็นเพียงผู้ได้รับมอบหมายภาระกิจให้ทำหน้าที่ดูแล พัฒนา กระจายทรัพยากรให้เอื้อประโยชน์ต่อประชาชนโดยทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม และต้องตระหนักว่าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นของหลวง ไม่ใช่ของหวงแต่มีหน้าที่ต้องห่วงว่าจะใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนอย่างสูงสุดได้อย่างไร
4.แสดงตนเป็นแบบอย่าง การทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีของผู้นำองค์กรมิใช่เพียงแค่เป็นการสร้างกฏกติกามารยาทโดยไม่ต้องมีกฏเกณฑ์ใดๆ แต่เท่ากับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นน่าเชื่อถือให้กับองค์กร อย่ามองหาแบบอย่างจากคนที่มีตำแหน่งสูง การศึกษาดี มีอำนาจ มีความสามารถ มีเงินตรา แต่เบี้องหลังเลวร้ายใช้อำนาจเป็นใหญ่ เห็นแก่ตัว มั่วในกามมีภรรยาน้อย คอยแต่จ้องจับผิด ทุจริตคิดมิชอบแบ่งพรรคแบ่งพวก แต่จงมองหาคนที่มีลักษณะชีวิตที่ดี จุดเริ่มต้นของความร่วมมือคือการมีความเชื่อมั่นศรัทธาในตัวของผู้นำ เช่นหากต้องการรณรงค์ให้ประชาชนเลิกสูบบุหรี่หมอและเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลก็ต้องเลิกสูบเสียก่อน หากจะรณรงค์ประชาชนสวมหมวกกันน็อคเจ้าหน้า ที่ของรัฐ ก็ต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่างก่อน รัฐบาลมีนโยบายปราบปราบคอร์รัปชั่นก็ต้องบริหารงานให้โปร่งใส ไม่กระทำการใดๆให้เป็นที่เคลือบแคลงสงสัยว่าไม่สุจริต จะส่งเสริมการออกกำลังกายผู้นำต้องทำเป็นแบบอย่าง จะขอความร่วมมือรับบริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลก็ต้องแสดงให้เห็นว่าจะจัดการกับเงินที่ได้รับมาอย่างไรและใช้ตามวัตถุประสงค์จริงหรือไม่ การเป็นแบบอย่างที่ดีรู้ว่าต้องปฏิบัติอย่างไรแต่ไม่ปฏิบัติก็ไม่มีประโยชน์
5.เปิดช่องทางเข้ามาร่วมมือ โดยธรรมชาติของคนต้องการมีสังคมและพร้อมที่จะเข้าร่วมเพื่อประโยชน์ของตนเองและส่วนรวม แต่ที่มีความรู้สึกได้ถึงความลำบากในการพัฒนาองค์กรของรัฐเพราะติดที่กฏเกณฑ์และเงื่อนไขที่สร้างความยุ่งยากที่จะเข้ามามีส่วนร่วมของประชาชน เราเห็นตัวอย่างของการสร้างวัดวาอารามที่ไม่มีเงินสนับสนุนจากทางราชการอาศัยการบริจาคทั้งกำลังกาย ทรัพย์จากประชาชนค่อยๆสร้างค่อยๆพัฒนา ก็มีโอกาสเจริญได้ โรงพยาบาลก็เช่นเดียวกันหากสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้ามาร่วมมือได้โดยง่าย ก็แทบจะไม่ต้องหวังพึ่งงบประมาณแต่เพียงอย่างเดียว นโยบายสุขภาพถ้วนหน้า 30 บาทรักษาทุกโรค ทำให้ผู้บริหารหลายคนเป็นกังวลใจว่าโรงพยาบาลจะอยู่ไม่ได้ แต่หากเปลี่ยนความคิดในเชิงบริหารเสียใหม่โดยให้ประชาชนทราบความจริงที่เป็นอยู่และเปิดโอกาสให้เขาเข้ามาร่วมมือคงไม่มีใครที่อยากให้โรงพยาบาลที่ใกล้บ้านตนเองต้องเจ๊งไปเพราะคนส่วนใหญ่อยากมีบริการสาธารณะที่จำเป็นพื้นฐานใกล้บ้านทั้งนั้น เว้นแต่เพียงว่าไม่อาจยอมรับแนวคิดกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วม และปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยในการปฏิรูปปรับปรุงประสิทธิภาพในการบริหาร ลดต้นทุน แต่ทำให้ได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือมากกว่า
6.ไม่ถือความคิดตนเองเป็นใหญ่ ผู้บริหารในทุกระดับส่วนใหญ่จะเก่งในเรื่องการบริหารเงิน บริหารคน บริหารเวลา แต่จะมีสักกี่คนที่จะมีความสามารถในการบริหารตนเองโดยเฉพาะการบริหารจัดการกับความคิดของตน ความคิดที่ผ่านเข้ามาในโสตประสาทของคนเราในแต่ละวันมีมากมาย มีคนตั้งข้อสังเกตุว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นความคิดในแง่ลบ ปฏิเสธ ต่อต้าน ขัดแย้ง หากใครก็ตามที่สามารถมีวินัยในการจัดระบบความคิดของตนเอง ให้รู้จักคิดและนำความคิดในเชิงบวกหรือเชิงสร้างสรรค์ รับฟังความคิดเห็นคนรอบข้าง หัดเป็นผู้ฟังที่ดี ใช้เหตุผลในการตัดสินใจ ก็จะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อตนเองและองค์กร ก่อให้เกิดความร่วมมือตามมา และท่านก็จะมีโอกาสได้เห็นได้ยินได้ฟังคนที่ กล้าคิดสิ่งแรก กล้าทำสิ่งแปลกและกล้าเริ่มสิ่งใหม่ คนที่ถือความคิดตนเองเป็นใหญ่หารู้ไม่ว่าบางครั้งขาดซึ่งโอกาสที่จะได้รับการพัฒนา และความคิดดีๆที่มีโอกาสเป็นไปได้กลับเป็นไปไม่ได้เพราะไม่มีคนให้ความร่วมมือ
7.เข้าใจความคาดหวังของประชาชน ถ้าตั้งคำถามกับผู้ป่วยที่เข้ามาในโรงพยาบาลเพื่อขอความช่วยเหลือว่าคาดหวังอะไร คำตอบที่ได้รับคงจะหนีไม่พ้น สิ่งเหล่านี้คืออยากหาย ไม่ตายและกลับบ้านด้วยความสบายใจ นั่นแสดงให้เห็นว่านอกจากจะแสวงหาการได้รับการเยียวยารักษาโดยผู้เชี่ยวชาญทางด้านสุขภาพแล้ว อยากจะได้รับความพึงพอใจกลับไปด้วย ถึงแม้นว่าหมอรักษาโรคทางกายจนหายแต่ไม่ได้รับความพึงพอใจในกระบวนการบริการทางการแพทย์แล้วความทุกข์ก็ย่อมเกิดขึ้นได้ ในทางกลับกันแม้ว่าไม่สามารถจะรักษาชีวิตไว้ได้แต่ได้รับความพึงพอใจก็เป็นที่ยอมรับต่อการให้บริการ การเข้าใจความคาดหวังของประชาชนจะนำมาซึ่งความร่วมมือทั้งในด้านกระบวนการการรักษาพยาบาลและการพัฒนาโรงพยาบาล การสามารถตอบสนองความต้องการและความคาดหวังของประชาชนได้มากเท่าไรก็เป็นลู่ทางที่จะได้รับความร่วมมือมากยิ่งขึ้นเป็นเงาตามตัว
8.ทำตัวให้เป็นคนสุดท้ายในการสยบปัญหา ทุกวันนี้มีเรื่องราวฟ้องร้อง ร้องเรียน ร้องทุกข์ปรากฏออกมาทางสื่อมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความเชื่อที่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริบาลสุขภาพกับผู้ป่วยมีช่องว่างที่ห่างกันมากขึ้น ประเภทยาขอ หมอวานมีน้อยลง ยิ่งนำเอาระบบเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขมาใช้เป็นตัวนำในการปฏิรูประบบสุขภาพ ยิ่งทำให้คาดเดาได้ว่าโอกาสที่จะเกิดกรณีพิพาทระหว่างหมอกับผู้ป่วยก็จะมีมากขึ้น ใครผิดใครถูกก็เอามาตัดสินกันทางสื่อมวลชน ตามหน้าหนังสือพิมพ์ จะโทษประชาชนก็ไม่ถูกต้อง เพราะเขามีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม สอบสวนทีไรมักจะช่วยเหลือพวกเดียวกันเองทุกครั้งไป ความจริงปัญหาเหล่านี้ไม่ควรจะเกิดปรากฏตามสื่อถ้า หากผู้บริหารโรงพยาบาล เข้าใจความรู้สึกของผู้สูญเสีย และพยายามแบกรับ หรือแบ่งความทุกข์ออกมาจากผู้สูญเสียบ้าง ต้องทำตนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนที่มาเกี่ยวข้องด้วยให้ได้ แล้วเขาจะมีความรู้สึกว่าหากมีเรื่องเดือดร้อนใดๆก็จะมาหาเราอีกเป็นคนแรกและคนสุดท้าย ในทางกลับกันหากทำตนไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ เป็นธรรมชาติของคนที่จะแสวงหาที่พึ่งใหม่ เมื่อนั้นเรื่องง่ายกลับกลายเป็นเรื่องยากมารู้สึกตัวอีกครั้งก็เข้าทำนอง สายไปเสียแล้ว การทำตนให้เป็นที่พึ่งในยามทุกข์ของคน เป็นหนทางในการแสวงหาความร่วมมืออีกรูปแบบหนึ่ง
            ที่นำมากล่าวอ้างข้างต้นเป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของประสบการณ์ชีวิตที่เก็บเกี่ยวมาได้จากการปฏิบัติจริง และทำให้เห็นว่าไม่มีสิ่งใดที่ยุ่งยากในการทำงานหากได้รับความร่วมมือจากคนหมู่มาก ในขณะเดียวกันคนที่ไม่ให้ความร่วมมือก็หาใช่ว่าจะไม่ให้ความร่วมมือตลอดไป ขึ้นอยู่กับว่าเราได้แสดงให้เห็นว่าเขาจะได้ประโยชน์อะไร ส่วนรวมจะได้อะไร และที่สำคัญไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของใครคนใดคนหนึ่ง กล่าวโดยสรุปถ้าใจเราเชื่อมั่นและศรัทธาในตนเอง ผู้ร่วมงาน ประชาชน ว่าสามารถทำการใดๆให้สำเร็จลงได้ ต่อให้ต้องย้ายภูเขาถมทะเลในที่สุดก็สำเร็จจนได้ แต่ถ้าใจเราคิดว่าทำไม่ได้แม้จะง่ายแค่พลิกฝ่ามือ ก็จะไม่มีวันที่จะได้พบกับความสำเร็จ
            และใคร่ขอหยิบยกพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยรามคำแหง วันที่ 12 มีนาคม 2524 ความตอนหนึ่งว่า....จะพูดถึงวิธีการปฏิบัติงานโดยแยบคายต่อไป ข้อแรก จะต้องสร้างศรัทธาให้มีขึ้นมาก่อน เพราะศรัทธาหรือความเชื่อมั่นในประโยชน์ของงานนั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติ คือทำให้มีการปฏิบัติด้วยใจในทันที แม้ก่อนที่จะลงมือกระทำดังนั้นไม่ว่าจะกระทำการใดๆจึงต้องสร้างศรัทธาขึ้นก่อน และการสร้างศรัทธานั้น จำเป็นต้องทำให้ถูกต้องด้วย ศรัทธาที่พึงประสงค์จะต้องไม่เกิดจากความเชื่อง่าย ใจอ่อนปราศจากเหตุผล หากจะต้องเกิดขึ้นจากความเพ่งพินิจ พิจารณา ใคร่ครวญแล้ว ด้วยความคิดจิตใจที่หนักแน่นสมบูรณ์ด้วยเหตุผล จนเห็นถ่องแท้ถึงคุณค่าและประโยชน์อันแท้จริงในผลของการปฏิบัติที่บังเกิดตามมาศรัทธาลักษณะนี้ เมื่อบังเกิดขึ้นแล้ว ย่อมน้อมนำฉันทะ ความพอใจ ความกระตือรือร้น ความพากเพียรขวนขวาย ตลอดจนความฉลาดริเริ่มให้เกิดขึ้นเกื้อกูลกันอย่างพร้อมเพรียง แล้วสนับสนุนส่งเสริมให้การปฏิบัติงานดำเนินก้าวหน้าไปโดยราบรื่นจนสัมฤทธ์ผล...
ข้อคิดส่งท้าย “ จงเริ่มต้นสร้างงาน อย่าคิดสร้างปัญหา
จงอุทิศเวลา อย่าคอยแต่เบียดบัง
จงฟังความเห็นผู้ร่วมงาน อย่าดื้อด้านแต่ใจตัว
จงกลัวความขัดแย้ง อย่าเสแสร้งทำดี
จงมีความอดทน อย่าโทษโน่นโทษนี่
จงเร่งสร้างความดี อย่าหลีกหนีปัญหา
จงเชื่อมั่นในศรัทธา อย่าไร้จรรยาบรรณ
จงกล้าฝันไปให้ไกล อย่างมงายอยู่กับที่
จงปกป้องคนดี อย่าคิดหนีกรีฑา
จงถือเหตุผลและปัญญา อย่าใช้อวิชาเป็นใหญ่
จงมีวิสัยทัศน์กว้างไกล อย่าเป็นคนไร้อุดมการณ์”

นายแพทย์อารักษ์ วงศ์วรชาติ

2/08/2552

หมายเลขบันทึก: 282398เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2009 15:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 18:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เป็นบทความที่ดี และให้คติสอนใจมากๆ ครับพี่

ขอบคุณครับ ลองปฏิบัติตามแนวทางนี้ได้ผลครับ

ผมก็เชื่อว่าได้ผล ผมสนใจข้อ8.อยากทราบว่าที่พูดมา ทำได้หรือเปล่าเท่านั้น ที่สุดก็สมาชิกพรรคชาติหน้า พูดได้ คิดได้แต่ไม่เคยทำได้ จากประสบการณ์การเป็นจิตอาสาของโรงพยาบาล ได้พบได้เห็นและประสบกับมากับตนเอง ไปเป็นจิตอาสา ไม่มีเงินเดือนหรือค่าตอบแทนใดๆเลย เพราะมีจิตใจอันดีงามที่อยากจะช่วยคนป่วย แต่ก็โดนกลั่นแกล้งจากพยาบาลที่ควบคุมจิตอาสา สร้างเรื่องใส่ร้าย ทั้งที่ไม่ได้กระทำ หลายคนที่โดนส่วนใหญ่หายเงียบ ออกไปเลย แต่ผมเลื่อกที่จะร้องเรียนขอความเป็นธรรมจากผู้อำนวยการ โดยทำเป็นหนังสือร้องเรียน เรื่องกลับไปไม่ถึง ผอ. ถึงแต่หัวหน้าฝ่ายการพยาบาล เก็บดองไว้12วัน ระหว่างนี้ เรื่องถึงหูผู้ถูกร้องเรียน พยาบาลที่ถูกร้องเรียนไปด่าว่า ผมที่แผนกที่ผมช่วยงาน ชักชวนให้ จนท.เข้าข้างตน ร่วมใส่ร้ายผม ผมอยากถามท่านว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เหตุใด หัวหน้าฝ่ายการพยาบาลไม่เรียกสอบ ปล่อยเวลาให้เนินนาน แล้วนำเรื่องไปบอกผู้ถูกร้องเรียน จนไปทำลายหลักฐานในที่สุด แล้วอย่างนี้ประชาชนจะไปร้องเรียนหาความเป็นธรรมได้จากที่ไหน ในเมื่อพวกคุณปกป้องพวกเดียวกันแบบนี้ ที่จัดศุนย์ร้องเรียนขึ้นมาเพื่อปกปิดความผิดพวกพ้อง สร้างภาพหลอกประชาชน พอร้องเรยบไปก็เรียกมาไกล่เกลี่ยบ้าง เก็บเรื่องเงียบบ้าง ผมไม่รู้จะไปร้องเรียนกับหน่วยงานใด ได้แต่ทำใจ บอกตัวเองว่าเรามันโง่เองที่มาเป็นจิตอาสา ให้เขาหลอกใช้งาน ความดีความชอบตกอยู่กับเขา ไม่ชอบเราก็ทำกับเราอย่างเลวทราม นี่หรือพยาบาล นางฟ้าชุดขาว เลวเยี่ยงสัตว์นรก ทำตัวอย่างกับเป็นเจ้าของโรงพยาบาล ประชาชนมาขอความเมตตา มาขอส่วนบุญ ใส่หน้ากากหลอกประชาชนไปวันๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท