ที่มา..โรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข


เมื่อพินิจพิจารณาดูดีๆ ผมพบว่า ทั้งสามประเด็นนี้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เพราะมันคือการนำแนวคิด "องค์รวม (Holism)" มาใช้ในการเรียนรู้ ในการทำงาน และในการดูแลผู้ป่วยและชุมชน มันคือการนำแนวคิด "องค์รวม" มาเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ ระหว่างผู้ร่วมงาน และระหว่างหมอกับประชาชนนั่นเอง

แจ้งเกิดโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข
หลายคนคงอยากถามว่าแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขนี้เกิดมาอย่างไร  ก็ขอตอบว่าเรื่องมันเกิดขึ้นประมาณ 5 ปีที่แล้ว จากวันที่ สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) เชิญชวนให้คณะทันตแพทยศาสตร์ทั้ง 8 แห่งในประเทศไทยมาหารือร่วมกันกับสสส. โดยโจทย์ของสสส. นั้นคือการที่จะช่วยกันอย่างไร ที่จะทำให้บัณฑิตทันตแพทย์มีความตระหนักและมีทักษะในงานสร้างเสริมสุขภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่  เนื่องจากเห็นว่าสถาบันผู้ผลิตทันตแพทย์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการหล่อหลอมทันตแพทย์รุ่นใหม่ของสังคม  อย่างไรก็ตาม เราไม่ได้เข้าใจโจทย์ชัดเช่นนี้ในตอนนั้นหรอกครับ เราใช้เวลาอยู่กว่า 1 ปีในการทำความเข้าใจกับโจทย์  ซึ่งคงเป็นเพราะธรรมชาติของวิชาชีพเราเองที่เน้นการสอนให้บัณฑิตทันตแพทย์เก่งเรื่องทักษะการรักษา  โดยหวังให้บัณฑิตของเราสามารถออกไปปฏิบัติงานได้ทันทีหลังสำเร็จการศึกษา  สามารถทำหัตถการต่างๆ เช่น อุดฟัน  ถอนฟัน  ผ่าฟัน  ใส่ฟัน ให้แก่ผู้ป่วยได้อย่างครอบคลุม  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนทันตแพทย์มาช้านาน  ดังนั้น คำว่า "สร้างเสริมสุขภาพ" จึงถูกจำกัดอยู่แต่เพียงงานด้านทันตสาธารณสุขหรืองานทันตกรรมชุมชนเท่านั้น 

จาก "สร้างเสริมสุขภาพ" เป็น "สร้างสุข"
แม้ว่าในช่วงปีแรกที่เรายังไปได้ช้า  แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เราได้สั่งสมทุนทางสังคมบางอย่างให้กับโรงเรียนทันตแพทย์  เราได้รู้จักกลุ่มคนที่สนใจการสร้างเสริมสุขภาพ เราได้ฝากคำว่า "สร้างเสริมสุขภาพ" ไว้กับที่ประชุมของคณบดี หรือองค์กรผู้บริหารคณะทันตแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (อ.บ.ท.ท.)  นอกจากนี้โรงเรียนทันตแพทย์ทุกแห่งยังได้มีโอกาสแสดงศักยภาพของตนในการสร้างสรรค์โครงการต่างๆ ด้านการสร้างเสริมสุขภาพ


ต่อมาเมื่อเราค้นพบจากการเรียนรู้ร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ โดยเฉพาะเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน  เครือข่ายพยาบาลชุมชน ว่าความสำเร็จของแผนงานเหล่านี้อยู่ที่เขาสามารถระบุ "ปัญหา" ของเขาได้ชัดเจน  ดังนั้นเมื่อหวนกลับมามองตัวเองก็เลยต้องถามกันอีกทีว่า "ปัญหาเชิงสุขภาพ" ของแผนงานของเรานั้นคืออะไรกันแน่


เราได้คำตอบจากโรงเรียนทันตแพทย์ทุกแห่งเป็นเสียงเดียวกันว่าปัญหาของเขาคือ "ความเครียด" โดยเฉพาะของนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์   ก็เลยเกิดแนวคิดที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นระบบ และเกิดการรณรงค์ "โรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุข" ขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา  เริ่มต้นจาก "โครงการสำรวจสภาวะสุข ทุกข์ของนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์" ซึ่งทำให้เราพบว่าการแก้ไขปัญหาความเครียดในนิสิตนักศึกษาให้สำเร็จหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกี่ยวข้องกับอาจารย์ และบุคลากรรอบข้างของเขา  และเชื่อว่ากลยุทธ์ที่จะนำมาแก้ปัญหาในเรื่องความเครียดนี้จะส่งผลให้เกิดความตระหนักในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพไปทีละน้อย  ซึ่งผลการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้สะท้อนถึงความสำเร็จในเรื่องนี้ในระดับหนึ่ง แต่ยังคงมีสิ่งที่ดำเนินการต่อเนื่องต่อไปอีก

จากปัญหา "ความเครียด" สู่แนวคิด "สุขภาพองค์รวม"
ในช่วงปีสุดท้ายของการดำเนินการของแผนงานฯ ในระยะที่หนึ่ง (พ.ศ. 2550) ในขณะที่เรากำลังทบทวนกลยุทธ์และคิดหาแนวทางเพื่อรุกแนวคิดสร้างเสริมสุขภาพไปสู่ภาคคลินิก เพื่อเปลี่ยนแปลงความคิดที่ว่า งานสร้างเสริมสุขภาพเป็นงานของอาจารย์ภาควิชาทันตกรรมชุมชนเท่านั้น  ประธานแผนงานคือ ท่านผู้หญิงเพ็ชรา เตชะกัมพุชในขณะนั้น ก็ได้น้อมนำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตอนหนึ่งว่า

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ทรงสอนว่าเวลาออกหน่วยฯ อย่าดูแต่เรื่องฟันอย่างเดียว  ให้ดูเรื่องอื่นๆ ด้วย  เช่น  สังเกต  ขาเจ็บ  ตาบวม  เจ็บคอ  ฯลฯ  เพราะทันตแพทย์ก็เป็นแพทย์เหมือนกัน  เรียนมาเหมือนกัน  ถ้ารักษาได้ก็ควรให้การรักษา  ถ้ารักษาไม่ได้ควรให้คำแนะนำส่งต่อไปรักษา  ราษฎรจะได้รับการดูแลแต่เนิ่นๆ และต้องซักถามทุกข์สุข  เรื่องการทำมาหากิน  ถนนหนทาง  น้ำท่า  เพราะถ้าน้ำไม่มีจะให้แปรงฟันวันละ 2 ครั้งได้อย่างไร  ถนนไม่ดีจะให้มาพบหมอปีละ  2 ครั้งได้อย่างไร" 

พระราชดำรัสนี้จึงเป็นเสมือนแสงสว่างส่องทางให้แผนงานเห็นว่า ทันตแพทย์ไม่ว่าจะเป็นสาขาวิชาใดๆ น่าจะสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างเสริมสุขภาพได้  โดยผ่านการมองแบบ Holistic care คือไม่รักษาเฉพาะกายอย่างเดียวต้องดูถึง  จิต  สังคม  เศรษฐกิจ  สิ่งแวดล้อม  และจิตวิญญาณ  คำว่า "สุขภาพองค์รวม" จึงเกิดขึ้นและถูกใช้เป็นแนวทางการรณรงค์ของแผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขในเวลาต่อมา  สืบเนื่องมาจนถึงการทำงานของแผนงานฯ ในระยะที่สอง (2551-2554) ด้วย  เราเชื่อว่าคำๆ นี้แม้จะเป็นคำที่ใหญ่แต่ทันตแพทย์ทุกคนเข้าใจได้ง่ายกว่าคำว่า "สร้างเสริมสุขภาพ" และมองเห็นลู่ทางการนำไปปฏิบัติได้ดีกว่า

ความเชื่อมโยงอย่างน่ามหัศจรรย์
แผนงานโรงเรียนทันตแพทย์สร้างสุขระยะที่สอง จึงร่วมกันกำหนดเป้าหมายว่าเราจะสร้างและสนับสนุนเครือข่ายที่จะช่วยกันทำให้เกิด
1. การเรียนรู้ที่อย่างมีความสุข
2. การทำงานอย่างมีความสุข
3. การประยุกต์แนวคิดสุขภาพองค์รวมมาใช้ในการเรียนการสอนและบริการ
ทั้งนี้เพราะเราเชื่อว่าปัญหา "ความเครียด" ยังคงต้องทำต่อ แต่ต้องแก้ไขทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นกลไกของนิสิตนักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร  บวกกับการสานต่อแนวคิด "สุขภาพองค์รวม" จากแผนงานฯ ระยะที่หนึ่ง

เมื่อพินิจพิจารณาดูดีๆ  ผมพบว่า ทั้งสามประเด็นนี้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด เพราะมันคือการนำแนวคิด "องค์รวม (Holism)" มาใช้ในการเรียนรู้ ในการทำงาน และในการดูแลผู้ป่วยและชุมชน  มันคือการนำแนวคิด "องค์รวม" มาเป็นหัวใจของความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์  ระหว่างผู้ร่วมงาน และระหว่างหมอกับประชาชนนั่นเอง 


และหากองค์รวมหมายถึง กาย จิต สังคม และปัญญาแล้ว  ประเด็นทั้งสามย่อมนำไปสู่เป้าหมายแห่งการสร้างเสริมสุขภาพในองค์กรได้ และในที่สุดจะเป็นเสมือนเบ้าหล่อหลอมทัศนคติของบัณฑิตทันตแพทย์ของเราให้คุ้นเคยและให้ความสำคัญกับบรรยากาศการสร้างเสริมสุขภาพในการทำงานต่อไปในอนาคต

จากใจ
ผศ. ดร. จรินทร์  ปภังกรกิจ
ผู้จัดการแผนงานฯ

หมายเลขบันทึก: 282338เขียนเมื่อ 2 สิงหาคม 2009 11:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

  • พอทันตแพทย์มีความสุข คนไข้ก็ยิ้มสวย คุณหมอก็ยิ้มแฉ่ง 
  • อย่าลืมแปรงฟันอย่างมีความสุขด้วยนะค๊าบบบ
  • รออ่านเรื่องต่อๆไปอยู่นะครับ 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท