สุรชาติ ถึกสถิตย์
นาย สุรชาติ สุรชาติ ถึกสถิตย์ ถึกสถิตย์

"ภาวะผู้นำ" สามารถล้าสมัยได้ และไม่ได้มีมาแต่กำเนิด


"ภาวะผู้นำ" สามารถล้าสมัยได้ และไม่ได้มีมาแต่กำเนิด

"ภาวะผู้นำ" สามารถล้าสมัยได้ และไม่ได้มีมาแต่กำเนิด

"ภาวะผู้นำ" สามารถล้าสมัยได้ และไม่ได้มีมาแต่กำเนิด

หากมีใครสักคนมาพูดกับผมว่า คนนั้น คนนี้ เกิดมาเพื่อเป็น "ผู้นำ" หรือมี "ภาวะผู้นำ" มาตั้งแต่เกิด ผมคนหนึ่งละที่จะขอค้านแบบหัวชนฝา เพราะในความเป็นจริงแล้ว เรื่องของการเป็นผู้นำ หรือ ภาวะผู้นำ ที่เกิดขึ้นในตัวของบุคคลๆ คนหนึ่ง ไม่ใช่เป็นเรื่องที่จะสามารถเกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติได้เลย การที่คนๆ หนึ่งจะเป็นผู้นำได้นั้น จะต้องเกิดจากการฝึกฝน การเรียนรู้เลียนแบบ ทั้งจากประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อมที่สะสมมาในห้องเรียน นอกห้องเรียน ฯลฯ

และยิ่งไปกว่านั้น ผู้นำนั้นก็ยังต้องตระหนักอยู่เสมอว่า ภาวะผู้นำ วุฒิความสามารถ ตลอดจนมุมมองของผู้นำนั้นยังเป็นสิ่งที่สามารถล้าสมัยได้ ไม่มีผู้นำคนไหนที่จะสามารถนำได้ทุกเวลาทุกสถานการณ์ เพราะความต้องการภาวะผู้นำของแต่ละสถานการณ์ย่อมจะแตกต่างกัน ภาวะผู้นำที่นำได้ดีในสถานการณ์หนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ผลในอีกหลายๆ สถานการณ์

ฉะนั้น การที่ผู้นำคนหนึ่งๆ จะรักษาภาวะความเป็นผู้นำของตนเองได้ในระยะยาวนั้น ก็จะต้องได้รับการอบรมฝึกฝนประเมิน จำลองตนเองในสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมต่างๆ รวมถึงสามารถปรับตัวและแนวคิดให้เข้ากับปัจจัยภายนอก ภายใน ที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที และที่สำคัญที่สุดคือ จะต้องยอมรับและรู้จักตนเองว่าสถานการณ์บางอย่างตนเองไม่มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเข้าไปเป็นผู้นำได้

ในแง่ของการบริหารทรัพยากรบุคคลแล้ว ผู้นำก็คือผู้ที่จะต้องพยายามทำให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจและมุ่งมั่นต่ออุดมการณ์องค์กร รวมถึงเป้าหมายทางธุรกิจขององค์กรเป็นสำคัญ ทั้งนี้และทั้งนั้น ผู้นำจะต้องทำให้ผู้ตามทุกคนมีความรู้สึกรับผิดชอบ แสดงความเป็นเจ้าของและร่วมหาทางแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับงานที่ตนควบคุมดูแลอยู่

นอกจากนี้ ผู้นำยังจะต้องสร้างแรงจูงใจในรูปแบบที่เหมาะสมกับคนในองค์กรแต่ละคน และโค้ชให้คนเหล่านั้นสามารถดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้นอยู่เสมอ

สิ่งที่ผู้นำจะขาดเสียมิได้ คือ "ผู้ตาม" ดังนั้นจึงมีประเด็นที่ท้าทายสำหรับผู้นำแต่ละคนว่า ทำอย่างไรจึงจะมีผู้ตามได้ รวมไปถึงว่า ความรู้สึก ความมุ่งมั่น ตลอดจนการอุทอศให้ของผู้ตามนั้น หรืออีกนัยหนึ่งผู้นำจะมีความสามารถในการสร้างอิทธิพลและแรงดลใจกับผู้ตามได้ในลักษณะใดได้บ้างและมากน้อยเพียงใด

มีประเด็นหยิบยกขึ้นมาเปรียบเปรยกันเล่นๆ ในเรื่องความสามารถของผู้นำและความรู้สึกของผู้ตามว่า เมื่อผู้นำสั่ง "กระโดด" ผู้ตามบางคนอาจจะถามกลับว่า "กระโดดทำไม?" หรือบางคนก็อาจถามว่า "จะให้กระโดดสูงเท่าไร?" ซึ่งคำถามที่สองนั้นแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่น การทุ่มเท และการอุทิศให้ของผู้ตามในระดับที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด

คุณลักษณะของผู้นำที่สร้างความรู้สึกต่อผู้ตามในระดับที่แตกต่างกันนี้เกิดจากภาวะผู้นำภายในตัวของผู้นำเอง ซึ่งเป็นคุณลักษณะเฉพาะที่ทำให้ผู้นำแต่ละคนมีความแตกต่างกัน และจำเป็นที่จะต้องมีการวิเคราะห์และพัฒนาให้เกิดภาวะผู้นำที่สามารถชักจูงผู้ตามให้ทำงานอย่างสมัครใจ ทุ่มเท และมีความสุขในการทำงานประจำวัน ตลอดจนสร้างความเป็นปึกแผ่นในหมู่ผู้ตาม เพื่อร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับองค์กร

ดังนั้น การพัฒนา ผู้นำจึงจำต้องเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ผู้นำแต่ละคนเพื่อหาความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผู้นำต้องการแสดงออกต่อผู้ตาม กับความรู้สึกที่ผู้ตามรับรู้ได้ ซึ่งในบางกรณีอาจแตกต่างกันได้จากหน้ามือเป็นหลังมือ นั่นหมายความว่า ผู้นำนั้นมี "ภาวะผู้นำ" อยู่ในระดับต่ำ

บุคคลที่จะเป็นผู้นำได้นั้นจำเป็นต้องรู้จัก คุณลักษณะพื้นฐานต่างๆ ของตนเอง อันได้แก่ Motivate หรือแรงจูงใจ Values หรือสิ่งที่ผู้นำเห็นว่าสำคัญและแสดงออกบ่อยครั้ง Managerial Style หรือสไตล์การบริหาร Climate หรือบรรยากาศการทำงาน ซึ่งได้แก่ความรู้สึกของผู้ตามที่ตนเองได้สร้างขึ้นต่อผู้ตามในหน่วยงานที่ควบคุมดูแลอยู่

การพัฒนาผู้นำ จึงได้แก่ การที่ทำให้ผู้นำได้รู้จักตนเองอยู่เสมอ และพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนคุณลักษณะต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้ และจะต้องสามารถรับรู้ได้ว่าการแสดงออกในสถานการณ์ต่างๆนั้น เป็นการแสดงออกจากคุณลักษณะพื้นฐานของตน หรือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องฝืนทำเพื่อประโยชน์ขององค์กร

เช่น ผู้นำ ที่โดยธรรมชาติแล้วเป็นคนที่รักพวกพ้อง ก็มักจะคำนึงถึงความสุขของพนักงานมากกว่าผลงาน ซึ่งในบางกรณีอาจจำเป็นที่จะต้องฝืนความรู้สึกเมื่อถึงเวลาที่จะต้องสนทนาเกี่ยวกับผลงานที่ไม่ได้มาตรฐานกับพนักงานซึ่งอาจจะมีความใกล้ชิดกัน ทำให้ผู้นำนั้นอาจเกิดความเครียดขึ้นได้ เนื่องจากการฝืนทำในสิ่งที่ขัดกับความรู้สึกของตน หรือในอีกหลายกรณีที่ผู้นำจะต้องสร้างอิทธิพลโน้มน้าวจิตใจพนักงานให้ทำตาม แต่โดยธรรมชาติแล้ว ผู้นำนั้นเป็นคนที่ไม่ชอบต่อล้อต่อเถียงก็อาจจะเกิดความเครียดได้เช่นกัน และความเครียดที่เกิดขึ้นนี้มักส่งผลที่ลบต่อประสิทธิภาพในการทำงาน

คุณสมบัติสำคัญที่ผู้นำจะต้องมีอย่างหนึ่งคือ ทักษะในการฟัง โดยที่การฟังนั้นนอกจากจะเป็นการจับใจความของผู้พูดแล้ว ยังจะต้องสามารถวิเคราะห์ถึงความรู้สึกนึกคิดในเบื้องลึก ตลอดจนสิ่งที่ผู้พูดมีความกังวลอยู่ และพฤติกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นเนื่องจากเรื่องราวต่างๆ นั้น ผู้นำมักจะต้องฟังมากกว่าพูด เพื่อที่จะสามารถเอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และเมื่อมาถึงตรงนี้ ผมก็จะขอเกริ่นถึงความแตกต่างระหว่าง "ผู้นำ" กับ "วีรบุรุษ" ว่า สิ่งที่แตกต่างกันก็คือ วีรบุรุษ ไม่จำเป็นต้องมีทักษะในการฟัง และไม่จำเป็นต้องเอาใจเขามาใส่ใจเราก็ย่อมได้

นอกจากนี้ผู้นำยังจะต้องมีทักษะในการที่จะสนับสนุนช่วยเหลือให้กลุ่มคนบรรลุเป้าประสงค์โดยจะต้องสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านทรัพยากร (Facilitator) ผู้ให้กำลังใจและสร้างแรงจูงใจ (Cheerleader) รวมถึงผู้ประสานสัมพันธ์ (Coordinator) นั่นหมายถึง การเป็นผู้นำนั้นจะต้องเน้นไปยัง คน กลุ่มคน ที่จะต้องเล่นบทผู้ตามในแต่ละสถานการณ์และช่วงเวลา ไม่ใช่ที่ตัวงานหรือระบบที่ตนเองต้องรับผิดชอบ

เมื่อพูดถึงเรื่องภาวะผู้นำ ผมมักจะระลึกถึงประโยคคุ้นหูหนึ่งที่พูดว่า "สถานการณ์สร้างผู้นำ" ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในสังคมไทยอยู่เสมอในทุกๆ องค์กร ทั้งรัฐ เอกชน รวมถึงภาคการเมือง แต่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงอีกมุมของประโยค "สถานการณ์สร้างผู้นำ" ว่าผู้นำได้มาจากสถานการณ์นั้นๆ สามารถที่จะหมดวาระลงได้เช่นกัน เมื่อสถานการณ์นั้นจบสิ้นลง

******************************************************************

โดย ดร. ชัชวลิต สรวารี - วันอังคารที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2550

หมายเลขบันทึก: 282099เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 13:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 มิถุนายน 2012 15:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อะไรก็ตามถ้าไม่พัฒนาก็ล้าสมัยทั้งนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท