พยาบาลกับการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา


คุณภาพของคน คือ คุณภาพของชาติ
จากการสำรวจของสภาการพยาบาลแห่งประเทศไทยเมื่อ 2549 พบว่าพยาบาลร้อยละ 20 ที่มีการศึกษาต่อในระดับปริญญาโท และร้อยละ 5 ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอก ซึ่งนับว่าน้อยมากสำหรับประชากรพยาบาลจำนวน 120,000 คนทั่วประเทศ
หากมองว่างานการพยาบาลเป็นการทำงานในระดับวิชาชีพ (Professional) ที่จะปฏิบัติงานได้ก็ต่อเมื่อได้รับหนังสือรับรองความรู้ความสามารถ การศึกษาในระดับที่สูงกว่าปริญญาตรียิ่งมีความสำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพและตนเองอย่างยิ่ง ในต่างประเทศมีการจัดระดับของอาชีพที่มีความเหมาะสมที่จะเรียกตนเองว่า "วิชาชีพ" ว่าจะต้องเป็นงานที่มีการผลิตผลงานวิชาการหรือใช้องค์ความรู้ในการพัฒนางานร้อยละ 50-75 ของลักษณะงานทั้งหมด
พยาบาลก็ต้องหันมาดูว่าตนเองได้พัฒนาความรู้ทางวิชาการเพียงพอที่จะเรียกตนเองว่า "วิชาชีพ" หรือไม่  หากพิจารณาโดยปราศจากอคติแล้วจะพบว่าพยาบาลประจำการส่วนใหญ่มักพึงพอใจที่จะปฏิบัติงานประจำ (routine) ส่วนใหญ่ก็สามารถปฏิบัติงานได้อย่างดีและมีประสิทธิ  แง่ดีก็คือเป็นการพัฒนาทักษะด้าน Tacit knowledge   ข้อจำกัดคือการสร้างงานด้วยวิชาการที่ก้าวหน้าอาจทำได้ไม่ดีพอ  สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือโลกของวิชาการได้ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว  มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆมาสนับสนุนให้งานเพิ่มประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  หากพยาบาลยังย่ำอยู่กับที่  ก็คงมีแต่ "ทรง กับ ทรุด" ไปตามกาลเวลา
การศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นจึงมีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาวิชาชีพของพยาบาล  อย่ามัวรังเกียจคนที่จบ ป.โท หรือ ป.เอก อยู่เลย  เมื่อตนเองมีการพัฒนาย่อมส่งผลดีต่อการพัฒนาปฏิบัติการพยาบาลให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น  ปัจจุบันจะเห็นว่างานพยาบาลขับเคลื่อนพัฒนาตามวิชาชีพแพทย์มากกว่าที่จะพัฒนาด้วยศาสตร์ของตนเอง  ทำให้บทบาททางสังคมของพยาบาลไม่ชัดเจน  จนดูเหมือนว่าเป็นวิชาชีพที่แฝงอยู่กับวิชาชีพแพทย์มากเกินไป
มีผู้บริหารพยาบาลบางคนกล่าวว่า "พยาบาลน่ะ จบแค่ปริญญาตรีก็เพียงพอแล้ว เรียนสูงๆมาทำไม  เราเน้นบริการคนไข้" ผู้ป่วยมีสิทธิที่จะได้รับการดูแลจากพยาบาลทุกระดับการศึกษา  อย่าตัดสินใจแทนผู้ป่วยเลย  ถามว่า  หากผู้ป่วยได้รับบริการจากพยาบาลที่มีความรู้ที่ลึกซึ้ง  ทันสมัย  และมีวิสัยทัศน์ก้าวไกล  จะไม่เป็นผลดีต่อผู้รับบริการหรอกหรือ  คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นสิ่งที่พยาบาลจะได้รับการสั่งสอนอบรมจากการศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษา 
มีคำกล่าวว่า "ผู้ที่มีความรู้คู่การปฏิบัติที่ดี ควรเป็นผู้ที่ได้อยู่ใกล้ชิดประชาชน"    
จึงขอวิงวอนเพื่อนพยาบาลทั่วประเทศ  ให้ปรับมุมมองเกี่ยวกับการศึกษาต่อเสียใหม่  การใช้เวลา 1-2 ปี เพื่อพัฒนาความรู้ของตน  ไม่ทำให้เสียเวลาหรือเสียค่าใช้จ่ายมากมายอย่างที่กังวล  แม้การเรียนจะยากลำบากบ้าง  แต่ผลของมันหวานชื่นเสมอ  การศึกษาถือเป็นคุณูปการต่อตัวเราเอง  ต่อวิชาชีพพยาบาล  และส่งผลดีต่อผู้ป่วยที่เราดูแล  ทั้งหมดทั้งมวลก็เพื่อพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น 
หมายเลขบันทึก: 282002เขียนเมื่อ 1 สิงหาคม 2009 09:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:21 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท