เครือข่าย KM ลดเสี่ยง NCD (12) สกลนคร


เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ผู้เขียนได้มีโอกาสติดตาม พี่กัณหา เกียรติสุต ไปร่วมจัดการเรียนรู้ ในการประชุมเชิงปฏิบัติการการพัฒนาชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการใช้ แผนที่ผลลัพธ์ (Outcome Mapping: OM) ณ โรงแรมอิมพีเรียล จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมความร่วมมือระหว่าง สำนักโรคไม่ติดต่อ กับ สสจ. สกลนคร ภายใต้ โครงการ KM NCD Network” โดยมี คุณปนัดดา ทรัพย์แสนยากร (คุณนุ้ย) เป็นแกนนำประสานงานและอำนวยความสะดวกต่างๆ ในการจัดประชุมฯ จากฝ่าย สสจ.สกลนคร

 

การประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วม จำนวน 46 คน จากหน่วยงานสาธารณสุขต่างๆ ในจังหวัดสกลนคร ได้แก่ PCU สถานีอนามัย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลต่างๆ

 

หลังกล่าวเปิดการประชุม โดย รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสกลนคร แล้ว พญ. ฉายศรี สุพรศิลป์ชัย ผู้ทรงคุณวุฒิฯ กรมควบคุมโรค ในฐานะแกนนำการดำเนินงาน โครงการ KM NCD Network” ให้ผู้เข้าร่วมประชุมดู slide ที่เป็นภาพคนหลายๆ คนกำลังช่วยกันขับเคลื่อนช้างศึก แล้วกล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า

                  

เรากำลังจะนำ ช้างศึก ไปรบกับสิ่งที่เรียกว่า ภัยเงียบ ซึ่งก็คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ทั้งเรื่องเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ความพิการ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็ง หรืออะไรต่างๆ แต่ที่เราจะรุกเป็นเรื่องแรกๆ คือ โรคหัวใจหลอดเลือดและเบาหวาน เราจะต้องช่วยกันเคลื่อนช้างให้ได้ ไม่ใช่ตาบอดคลำช้าง

 

วันนี้เรามาช่วยกันคิดว่า เราอยากเห็นอะไร เราจะไปไหน เพื่อนำช้างศึกของเราไปให้ถูกทางแล้วช่วยกันขับเคลื่อน ใครอยู่ตรงไหนก็จะต้องช่วยกันรบกับปัญหา ถ้าช้างไปถึง ชุมชน สิ่งที่เราฝันคืออะไร ที่เราบอกว่า ชุมชนลดเสี่ยง ลดโรค ในความหมายที่เราฝันคือ ชุมชนที่โรคภัยลดน้อยลง ที่เป็นอยู่ก็ต้องไม่รุนแรง แต่จะไปถึงตรงนั้นได้ก็ต้องรู้ว่าเหตุคืออะไร ทำอย่างไรถึงจะลด

 

สิ่งที่ทางส่วนกลางได้พยายามศึกษา พบว่า ชุมชน ครอบครัว จะลดโอกาสเสี่ยง  ลดปัจจัยเสี่ยง ลดโรค และภาระโรคเรื้อรังได้ โดยเฉพาะกรณีเบาหวาน ความดันฯ ชุมชนจะต้องรับรู้ สนใจ เรียนรู้ ประเมิน จัดการ เฉียบพลับ พร้อมรับ คือ ชุมชนต้องมีความสามารถเหล่านี้เกิดขึ้น ที่นี้เราจะมาช่วยกันอย่างไรให้เกิดความสามารถเหล่านี้เพื่อลดเสี่ยง ลดโรค ตรงนี้คือสิ่งสำคัญ

 

งานที่เราทำอยู่ทุกวันนี้คือ งานทางคลีนิก รักษาคนไข้ที่เดินเข้ามาหาเรา ขณะเดียวกันคนไข้เหล่านี้ไม่ได้อยู่กับเราตลอด แต่ต้องกลับไปอยู่กับสิ่งแวดล้อมในชีวิต ครอบครัว ชุมชนของเขา ซึ่งเราไม่สามารถติดตามไปดูแลอย่างใกล้ชิดได้ เราจึงต้องสร้างพลังให้กับคนในชุมชน นี่คือประเด็นใหญ่ของปัญหาโรคเรื้อรัง ถ้าอยากลด ไม่ให้เกิดใหม่ ไม่ให้เพิ่มขึ้น เราต้องเคลื่อนให้ชุมชนรับรู้เรื่องนี้ และลดเสี่ยงโดยชุมชนเอง

 

ปัจจุบันคนไทยเราอยู่ใน "ความปกติที่เสี่ยง" เปิดโทรทัศน์ก็เจอแล้ว มีความเสี่ยงมานำเสนอให้ถึงบ้าน เป็นสิ่งที่เจอะเจอได้ทุกวัน เพราะฉะนั้น เราจะต้องมีสติ รู้ทัน จัดการได้ เช่น อาหารประเภทฟาสต์ฟู๊ด ถ้าอยากกินก็กินได้บ้าง แต่กินอย่างไรถึงจะไม่เสี่ยง อันนี้ก็เป็นจุดซึ่งพวกเราที่มีหน้าที่อยู่ตามจุดต่างๆ จะต้องไปเสริมพลังให้ชุมชน ซึ่งเขาก็มีหน้าที่ที่จะต้องดูแล จัดการตนเองด้วย ทำอย่างไรเราถึงจะไปเสริมให้เขารับรู้ สนใจ เรียนรู้ ประเมิน จัดการ เฉียบพลัน พร้อมรับได้ เพราะในอนาคตเราไม่อยากให้เกิดการนำระบบ EMS มาใช้กับเรื่อง heart attack / stroke สิ่งที่เราจะต้องพัฒนาก็คือ ระบบบริการ ตอนนี้พวกเราอยู่ตรงที่เราดูแล "กลุ่มเสี่ยงสูง" กับ "กลุ่มทุติยภูมิ" ถามว่าลดโรคเบาหวานได้หรือไม่ ได้บ้าง แต่ไม่เพียงพอ ต้องทำสิ่งที่เรียกว่า วงจรแห่งการเพิ่มคุณภาพ ซึ่งเราต้องรู้ว่าชุมชนเราอยู่ตรงไหน สนใจปัญหานี้แล้วหรือยัง ถ้าไม่สนใจ เราต้องทำอะไรให้เขาสนใจ  หรือเรามีปัญหาหรือยัง ปัญหาที่เรามีอยู่เพียงพอที่ต้องให้ชุมชนสนใจแล้วหรือยัง 

 

เรื่อง "การพัฒนาคุณภาพต่อเนื่อง" เราต้องรู้ว่าเราอยู่ตรงไหน เราต้องไปไหน เพื่อให้เกิดอะไร จะต้องมีการติดตาม ประเมิน ต้องเฝ้าระวังปัญหาและความเสี่ยง ต้องสร้างนโยบายของชุมชน มาตรการทางสังคม ต้องจัดการความรู้ที่จะไปลดปัญหา สื่อสารกับชุมชน แลกเปลี่ยนกับชุมชน สังเกต ติดตาม และออกแบบกิจกรรมร่วมกับชุมชน เรื่องนี้จะเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่มีใครเก่ง เราจะเป็นช้างศึก เราจะไม่เป็นตาบอดคลำช้าง วันนี้เราต้องฝันร่วมกันและมองว่าเราจะไปถึงมันได้อย่างไร

 

หลังจาก คุณหมอฉายศรีฯ กล่าวนำสู่การประชุมจบลง เราให้ผู้เข้าร่วมประชุมเขียนความคาดหวัง แล้วขอตัวแทนนำเสนอให้กลุ่มฟังประมาณ 3-4 ท่าน ที่เหลือรวบรวมติดบอร์ดไว้ท้ายห้องประชุม ซึ่งส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมคาดหวังว่า มาเพราะต้องการความรู้ความเข้าใจเรื่อง OM เพื่อนำไปปรับใช้กับการดำเนินงานในพื้นที่

 

ต่อจากนั้น ตามด้วยกิจกรรม เรื่องเล่าความสำเร็จ (Success Story Telling -SST) : การทำงานลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อในชุมชน ของจังหวัดสกลนคร โดยแบ่งเป็น 6 กลุ่ม กลุ่มละประมาณ 7-8 คน ผลัดกันเล่า ช่วยกันสะกัดจนได้ "ปัจจัยความสำเร็จ" ของการดำเนินงานลดเสี่ยง ลดโรคในชุมชน ของเครือข่ายงาน NCD สกลนคร ดังนี้

 

-         เจ้าหน้าที่มีจิตสำนึกในงาน ใจสู้ ทำงานอย่างมีความสุข

-         ชุมชนมีส่วนร่วม ชุมชนตระหนัก ให้ความสำคัญ

o       ประชาชนยอมรับปัญหาของตนเอง ตระหนัก ใส่ใจ ยอมรับปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

o       เสริมพลัง ถ่ายโอนงานให้ชุมชนช่วยกันทำ

o       สร้างเครือข่ายคนทำงานในชุมชน มีภาคีเครือข่ายที่เข้มแข็ง ได้แก่ ผู้นำชุมชน ชมรมต่างๆ อบต. อสม. โรงเรียน ครู

o       ผู้นำชุมชนมีส่วนร่วม

o       มีคนต้นแบบในชุมชน

o       เจ้าหน้าที่ติดตาม ร่วมดำเนินงาน สนับสนุนด้านวิชาการ

-        มีการส่งข้อมูลกลับสู่ชุมชนทั้งภาพรวมและรายบุคคล มีการพยากรณ์แนวโน้มความเสี่ยง

-   มีระบบข้อมูลสถานการณ์ในพื้นที่ ฐานข้อมูลประชากร สถานะสุขภาพที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเป็นปัจจุบัน

-         มีการดำเนินกิจกรรมอย่างจริงจัง จัดกิจกรรมพิเศษต่างๆ เพื่อเสริมสร้างความตระหนัก เช่น

o       คู่รัก คู่ลด

o       ครอบครัวสัมพันธ์

-         เปิดโอกาสในการเข้าถึงบริการ

o       มีช่องทางบริการพิเศษ

-         มีการวางแผนที่ดีและดูแลกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

-         มีงบประมาณและทรัพยากรสนับสนุนเพียงพอ

-         มีตัวชี้วัดความสำเร็จอย่างชัดเจน

 

ผู้เขียนมีโอกาสร่วมนั่งฟังในกลุ่มที่เล่าเรื่องการจัดกิจกรรมพิเศษ คู่รัก คู่ลด และ ครอบครัวสัมพันธ์ จดจำรายละเอียดได้เล็กๆ น้อยๆ ว่า กิจกรรม คู่รัก คู่ลด คือ ถ้าสามีหรือภรรยา เป็นเบาหวาน/ความดันฯ แล้วมาตรวจหรือรับการรักษาที่สถานพยาบาล เจ้าหน้าที่จะแนะนำให้ชวนคู่ของตนเองมารับการตรวจคัดกรองด้วย ส่วนกิจกรรม ครอบครัวสัมพันธ์ ก็คล้ายๆ กัน คือ แนะนำให้ผู้ป่วยชวนคนในครอบครัวมารับการตรวจคัดกรองด้วย นอกจากนี้ สมาชิกในกลุ่มนี้เล่าด้วยว่า เราต้องเปิดโอกาสในการเข้าถึงบริการ และพร้อมอยู่เสมอที่จะให้บริการตรวจคัดกรองกับชาวบ้าน เช่น เวลาที่ลงชุมชนแม้ว่าจะไปด้วยกิจกรรมอื่น แต่ถ้ามีคนมาขอให้ช่วยตรวจวัดความดันฯ เราก็ต้องพร้อมจะให้บริการได้ทุกที่ ไม่ใช่บอกว่าให้เขาต้องมารับบริการที่สถานพยาบาล... 

 

ก่อนพักรับประทานอาหารกลางวัน เรามีเวลาประมาณ 20 นาที ให้ภาพรวมเกี่ยวกับแนวคิดและการประยุกต์ใช้ OM กลับเข้ามาในช่วงบ่ายก็นำเข้าสู่ช่วงของการเรียนรู้และฝึกปฏิบัติเขียนแผนการดำเนินงานพัฒนาชุมชนลดเสี่ยง ลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังของจังหวัดสกลนคร ด้วย แผนที่ผลลัพธ์ซึ่งวันนี้ต้องบอกว่าส่วนใหญ่แล้วผู้เข้าร่วมประชุมช่วยกันศึกษาเรียนรู้ภายในกลุ่มจากเอกสารและตัวอย่างที่เราเตรียมไปให้ โดย พี่กัณหา และผู้เขียนแยกย้ายกันไปสังเกตการณ์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมในแต่ละกลุ่ม ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง แต่ละกลุ่มก็ส่งตัวแทนออกมานำเสนอแผนงานที่ช่วยกันเขียน (ดูที่นี่)

 

ด้วยระยะเพียง 1 วัน หรือประมาณ 6 ชั่วโมงที่เรามีอยู่ กิจกรรมต่างๆ ของวันนี้ จึงเป็นไปอย่างรวบรัด ประมาณ 4 โมงเย็น เป็นอันว่าเสร็จสิ้นทุกกิจกรรมเท่าที่ทำได้ภายในระยะเวลาที่มีอยู่ พี่กัณหา สรุปก่อนที่ทุกคนจะแยกย้ายกันไปในวันนี้ ด้วยกิจกรรมสุดท้ายคือ ให้ผู้เข้าร่วมประชุมเลื่อนเก้าอี้มานั่งล้อมเป็นวงกลมวงใหญ่ ให้ทุกคนนั่งสะโพกชิดกัน ประสานมือต่อเนื่องกันไป แล้วมีกติกาว่า จากข้อความที่ พี่กัณหา จะสรุป ถ้าได้ยินเลข 1 ให้ทุกคนนั่ง 2 ให้ทุกคนยืน 3 เลื่อนไปทางขวา 1 เก้าอี้ 4 เลื่อนไปทางซ้าย 1 เก้าอี้ 5 ปรบมือ 1 ครั้ง และ 6 ปรบมือ 2 ครั้ง ข้อความที่ พี่กัณหา สรุปสุดท้าย คือ

 

วันนี้เครือข่าย NCD สกลนคร ซึ่งเป็นเครือข่ายหนึ่งในภาคอีสาน เรียนรู้เรื่องคำ 2 คำ คือ O + M เมื่อเช้า 2 โมงครึ่ง มีคนมาเพียง 3 คน แล้วก็เพิ่มเป็น 4 เป็น 5 เป็น 7 ผู้ร่วมเป็นวิทยากรมี  2 คน เอ็ย ! 3 คน รวมทั้ง คุณนุ้ย

 

OM มี 2 ส่วนใหญ่ๆ และมีขั้นตอนย่อยๆ อีกหลายขั้นตอน ขั้นตอนที่ 1 เป็นการสร้างวิสัยทัศน์ ขั้นตอนที่ 2 เป็นการทำพันธกิจ ขั้นตอนที่ 3 เป็นการกำหนด OC ขั้นตอนที่ 4 คือการกำหนด PM ไปเรื่อยๆ จนถึง 7 ขั้นตอน เราแบ่งกลุ่มเป็น 6 กลุ่ม โดยนับ 1 ถึง 4 ต่อด้วย 5 และ 6

 

ล่วงเวลา 2 โมงเย็น งานเราเกือบเสร็จ สับสนกันบ้าง 3 โมงต่อมา เรานำเสนอ เริ่มจากกลุ่ม 1 กลุ่ม 6 กลุ่ม 2 กลุ่ม 5 กลุ่ม 3 และ กลุ่ม 4 โดยให้นำเสนอ 3 ถึง 5 นาที

 

อาจารย์ฉายศรีฯ ให้เราดูช้าง อยากให้เดินไปทั้งตัว ถ้าเราพร้อมกันอย่างนี้ ก็เหมือนช้างทั้งตัว จะนับ 1 นับ 2 นับ 3 นับ 4 นับ 5 นับ 6 เราก็ไม่กลัว

 

ผู้เขียนรู้สึกชื่นชมกับความร่วมมือและความตั้งใจของผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนอย่างยิ่ง เพราะถึงแม้ว่าจะไม่มีเวลาเรียนรู้และทำความเข้าใจกับ OM อย่างลึกซึ้ง ยังมีความสับสน ยังมีจุดที่ไม่เข้าใจแจ่มแจ้งอยู่บ้าง แต่การเรียนรู้ด้วยหลักสูตรเร่งรัดของวันนี้ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

 

ปลาทูแม่กลอง

29 กรกฎาคม 2552

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 281399เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009 23:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 14:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท