ห้ามเด็กเล่นเกมเกินสามชั่วโมงต่อวัน


อุตสาหกรรมเกมแค่ในประเทศ มีมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท และทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติก็คาดการณ์ว่า จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมเฉลี่ย สูงถึงกว่า 20% ทีเดียว

เรื่องของเกมเป็นที่ถกเถียงกันมานานหลายปีแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย มีข่าวเชิงลบเกี่ยวกับเกมมากมาย ทั้งเกมรุนแรงที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุของการก่ออาชญากรรม เกมการพนัน หรือเกมสารพัดที่ส่งผลกระทบต่อสังคม

เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้รับข่าวคราวเกี่ยวกับการออกกฎกระทรวงห้ามเด็กเล่นเกมเกินสามชั่วโมงต่อวัน

ในความคิดของผมเอง การออกกฎนี้แทบจะไม่มีความหมายในการปฏิบัติจริง อีกทั้งยังไม่ได้รับการยอมรับจาก

1. คนทำเกม
2. ผู้ประกอบการเกม
3. เด็กเล่นเกม

เกมเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงกว่าเพลงและภาพยนตร์ มูลค่าอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกในปี 2549 จำนวน 780,000 ล้านบาท และภายในปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมเกมทั่วโลกจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว หรือประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมากทีเดียว

ในมุมมองที่ผมเป็นคนทำเกม และคนเล่นเกม ก็มองว่า กฎนี้อาจทำให้อุตสาหกรรมเกมในประเทศไม่เติบโตเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเกมส์ออนไลน์ที่ผู้เล่นต้องเสียเงินซื้อ Air Time หรือบัตรเติมเงินต่างๆ รายได้ส่วนนี้อาจจะลดลงมาก การแข่งขันในตลาดจะเกิดความไม่เป็นธรรม คือเกมที่ไม่เก็บ Air Time แต่ขาย Item จะมีผู้เล่นเพิ่มขึ้นแน่นอน จากการออกกฎนี้ คนทำเกมก็มีงานน้อยลงด้วย เพราะการพัฒนาเกมทุกๆเกม สิ่งที่สำคัญคือชั่วโมงการเล่นของเกม หากมีการจำกัดไว้ที่ 3 ชั่วโมง ระบบการเล่นก็จะต้องลดน้อยลงแน่นอน ด้วยเหตุที่มีข้อจำกัดในการสร้าง อีกทั้งกฎนี้จะกระทบเกมวางแผนแนว Turn Base มาก รวมไปถึง อาจกระทบเกม RTS และเกม MMO อีกหลายเกม

ในตอนนี้ อุตสาหกรรมเกมแค่ในประเทศ มีมูลค่าประมาณ 15,000 ล้านบาท และทางสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติก็คาดการณ์ว่า จะเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมเกมเฉลี่ย สูงถึงกว่า 20% ทีเดียว

อีกประเด็นที่ผมอยากเสนอก็คือ กฎกระทรวงนี้มีข้อที่ทำให้ผมสงสัย เมื่อย้อนไปอ่าน พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พุทธศักราช  ๒๕๕๐ มาตรา ๗-๑๐

มาตรา ๗ ผู้ใดเข้าถึงโดยมิชอบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีมาตรการป้องกันการเข้าถึงโดยเฉพาะและมาตรการนั้นมิได้มีไว้สำหรับตน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๘ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อดักรับไว้ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นที่อยู่ระหว่างการส่งในระบบคอมพิวเตอร์ และข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นมิได้มีไว้เพื่อประโยชน์สาธารณะหรือเพื่อให้บุคคล ทั่วไปใช้ประโยชน์ได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๙ ผู้ใดทำให้เสียหาย ทำลาย แก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มเติมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นโดยมิชอบ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา ๑๐ ผู้ใดกระทำด้วยประการใดโดยมิชอบ เพื่อให้การทำงานของระบบคอมพิวเตอร์ของผู้อื่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กลไกของการควบคุมเวลา จะมีการดักรับข้อมูลส่วนที่เป็นเวลาเล่นจากเครื่องของผู้เล่น โดยการจะดักรับนั้นเป็นการฝ่าฝืนมาตรการป้องกันการเข้าถึง หรือเหล่า Firewall ของผู้เล่น มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขข้อมูลจากเกมในคอมพิวเตอร์ของผู้เล่น และหากเกินโควต้าเวลาดังกล่าว ก็จะเปิดชุดคำสั่งหยุดเกมให้ทำงาน โดยจะเป็นการทำให้คอมพิวเตอร์ของผู้เล่นถูกระงับ ชะลอ ขัดขวาง หรือรบกวนจนไม่สามารถทำงานตามปกติได้ (เกมคือการทำงานของคอมพิวเตอร์อย่างหนึ่ง) โดยจะต้องขอให้ผู้เชียวชาญทาง กม. มาช่วยไขปัญหาส่วนนี้ด้วยนะครับ

พีรพัทธ์ นันนารารัตน์
เครือข่ายเยาวชนเพื่อพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ไทย
http://www.thaiopengames.org/

หมายเลขบันทึก: 281224เขียนเมื่อ 29 กรกฎาคม 2009 14:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท