วิธีคิดการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ ด้วย “จตุรพิ”


พินิจ / พิเคราะห์ / พิจารณา / พิสูจน์

จากบันทึกที่แล้วผมได้กล่าวถึงวิธีคิดการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ ด้วย จตุรพิ ไว้คร่าวๆแล้ว และได้ติดค้างไว้ มาในบันทึกนี้ผมก็จะนำเสนอถึงรายละเอียดตามสัญญาดังต่อไปดังนี้

 

ความหมายและการนำไปใช้งานของคำแต่ละคำใน จตุรพิ นี้ มีรายละเอียดดังนี้

พินิจ

คำว่า พินิจหมายถึง การมอง ในที่นี้เราจะต้องเก็บข้อมูลมาให้อย่างละเอียดที่สุด ทั้งนี้ต้องมองด้วยสมองข้างซ้ายให้มากมองด้วยความเป็นจริง ไม่ใช่มองด้วยการตีความหรือจินตนาการภาพรวม เช่น การที่เราเห็นหลอดไฟนีออนสว่างจริงแล้วไม่ได้สว่างซะทีเดียวหรอก แต่มันเกิดจากการติด-ดับ ด้วยความถี่ 50 ครั้ง/วินาที (50 Hz) เราจึงมองเห็นว่ามันสว่างนั่นเอง ข้อมูลนั้นต้องเปิดเผย ทันสมัย เกี่ยวโยงกัน ข้อมูลที่เป็นตัวเลข (Numeric) จะต้องมีการนับ หรือวัดได้อย่างชัดเจน ข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลข (Non-numeric) จะแบ่งออกเป็นข้อมูลด้านภาพ และภาษา ดังนั้นการเก็บข้อมูลทางภาษาต้องเป็นภาษาเขียนที่ชัดเจนอ่านแล้วเข้าใจ ส่วนข้อมูลด้านภาพต้องเป็นข้อมูลที่เห็นแล้วสามารถแยกแยะได้อย่างชัดเจน ซึ่งจะกล่าวต่อไปในเรื่องของการพิเคราะห์อีกครั้ง ซึ่งการเก็บข้อมูลนิดที่ไม่เป็นตัวเลข (Non-numeric) นี้จะต้องใช้หลัก 3 จริง คือ สถานที่จริง ของจริง (วัตถุพยาน) และสภาพความเป็นจริง (ประจักษ์พยาน)

พิเคราะห์

คำว่า พิเคราะห์ก็คือวิเคราะห์นั่นเองหมายถึง การแยกแยะ หลังจากที่ได้ข้อมูลที่เก็บมาตามหลักของพินิจแล้ว ให้นำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ เพื่อดูผลต่าง คือ ต้องแยกแยะให้ละเอียดที่ให้เห็นความแตกต่างให้มากที่สุด เพราะยิ่งมีละเอียดมาก ก็สามารถแยกความแตกต่างได้มากทำให้ผลที่ออกมามีขอบเขตชัดเจน (แคบ)

การที่จะได้ทำให้สามารถวิเคราะห์ได้ดีต้องนำข้อมูลนั้นมาแยกแยะตามหลัก  5W 2 H  คือ

n    What : เกิดอะไรขึ้น

n    Where : เกิดขึ้นที่ไหน

n    When : เกิดขึ้นเมื่อไหร่

n    Who : มีใครเกี่ยวข้องบ้าง

n    How : เกิดขึ้นอย่างไร

n    How Many : เกิดขึ้นกี่ครั้ง

n    Why : ทำไมถึงเกิดขึ้น

สำหรับข้อมูลที่ไม่เป็นตัวเลข (Non-numeric) จะมีเครื่องมือที่จะช่วยทำให้การวิเคราะห์มีความชัดเจนได้ดีคือ ตารางบันทึกและวิเคราะห์ข้อมูล (Check Sheet) ที่แยกแยะตามหลักของ 5W 2 H  ส่วนข้อมูลที่เป็นตัวเลข (Numeric) ควรจะใช้กราฟต่างๆ เช่น Histogram หรือ Control Chart เป็นต้นเพื่อดูความผันแปรของของข้อมูลที่สามารถแยกแยะในเชิงสถิติได้

 พิจารณา

คำว่า พิจารณามาจากคำว่าวิจารณญาณหรือวิจารณ์นั่นเอง หมายถึง การนำข้อมูลที่ได้รับวิเคราะห์เสร็จเรียบร้อยแล้วมาหาสาเหตุของปัญหาซึ่งต้องใช้ศักยภาพของสมอง คิด พิจารณาไตร่ตรองด้วยสติอย่างรอบคอบ ตามหลักของโยนิโสมนสิการ (คิดถูกวิธี/คิดเป็นลำดับขั้นตอน/คิดอย่างมีเหตุผลและคิดอย่างเป็นกุศล)

การใช้สมองพิจารณาเราต้องใช้สมองทั้ง 3 ส่วนในการคิดพิจารณาให้ถึงรากเหง้าของสาเหตุอย่างถ่องแท้ สมองทั้ง 3 ส่วนนี้ประกอบไปด้วย

1.      สมองซีกซ้าย : IQ เป็นความคิดในแนวลึก  (ตัวหนังสือ/ภาษา/ตัวเลข/การคำนวณ/ขั้นตอน/การวิเคราะห์/เหตุผล/ความจริงการพิสูจน์/การจัดหมวดหมู่/การจำลำดับความสำคัญ)

2.      สมองซีกขวา :EQ เป็นความคิดในแนวกว้าง (ภาษากาย/รูปทรงรูปแบบ/จินตนาการ/ดนตรี/ศิลปะ/การสังเคราะห์/การเชื่อมโยง/การมองภาพใหญ่/ลางสังหรณ์/อารมณ์ ความรู้สึก)

การใช้สมองทั้งสองด้านเพื่อการพิจารณานี้เรียกกว่าการพิจารณาโดยใช้ ปัญญาญาณนั่นเอง

3.      สมองส่วนกลาง (ลิมบิค) และก้านสมอง (สัญชาตญาณ) : สมองส่วนกลาง (ลิมบิค) เป็นความคิดที่มาจากความรู้สึกตามธรรมชาติของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น ความรัก โลภ โกรธ หลง นั่นเอง ส่วนก้านสมอง (สัญชาตญาณ) เป็นความคิดที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิดเพื่อความอยู่รอดของตัวเองและเผ่าพันธุ์ เช่น หิวต้องกิน ง่วงต้องนอน ขับถ่าย เพื่อความอยู่รอดของตัวเอง สืบพันธุ์เพื่อดำรงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์

หลักการพิจารณาต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นองค์ประกอบดังนี้

-          ใช้โยนิโสมนสิการ สติ วิจารณญาณ ไตร่ตรอง อย่างรอบคอบโดยแยบคาย

-          เน้นที่การพิจารณาผล

-          พิจารณาความผันแปร ความแตกต่าง

-          พิจารณาสิ่งผิดปกติ

-          ใช้ปัญญาและองค์ความรู้ให้ถูกต้อง รอบด้าน

-          หาสาเหตุด้วยสติ อย่างเป็นกลาง ด้วยคำถาม ทำไมอย่างต่อเนื่อง (5 Why)

 

พิสูจน์

คำว่า พิสูจน์หมายถึง การนำข้อมูลที่ได้รับวิเคราะห์และพิจารณาหาสาเหตุเสร็จเรียบร้อย มาทำให้เห็นจริงว่าสิ่งที่ได้ผ่านกระบวนทั้ง 3 พิ มาแล้วนี้เป็นจริง นั่นคือเราต้องใช้หลักของ ตรรกะ เข้ามาพิสูจน์ ก่อนที่จะพิสูจน์เราจะเห็นว่าสิ่งที่ได้ผ่านกระบวนทั้ง 3 พิมาแล้วนี้ ยังเป็นเพียงสมมติฐานเท่านั้น ดังนั้นเราต้องทำให้สมมุติฐานนี้เป็นจริง โดยสามารถใช้วิธีการต่างๆ ดังนี้

-          ใช้ความคิดกลุ่ม

-          ใช้ตรรกะ

-          ใช้หลักสถิติ เช่น Scatter, Hypothesis , Regression เป็นต้น

ทั้งนี้การพิสูจน์ต้องอยู่บนพื้นฐานแนวคิดและหลักการดังนี้

แนวคิด :

            หากข้อมูล 2 กลุ่มมีความสัมพันธ์ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับข้อมูลกลุ่มหนึ่ง จะมีผลต่อข้อมูลอีกกลุ่มหนึ่งเสมอ

หลักการ :

            หากต้องพิจารณาว่าข้อมูล 2 กลุ่มใดๆ สัมพันธ์กันหรือไม่ เราสามารถแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูล 2 กลุ่ม ได้ด้วยการบันทึกข้อมูลเป็นคู่ลำดับแต่ละคู่ลงในกราฟแล้ว พิจารณาว่าคู่อันดับมีการเกาะตัวกันในรูปแบบใด จะพิจารณาได้ว่าข้อมูล 2 กลุ่มสัมพันธ์กันหรือไม่

หมายเลขบันทึก: 280996เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2009 15:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

มารับความรู้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ คุณ berger0123 P ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนครับ ผมเพิ่งได้กลับมาเข้า GTK ได้ เมื่อ 2-3 วันมานี้เอง หลังจากที่หายหน้าหายตามไปเกือบเดือน

  • แวะมารับความรู้ค่ะ
  • ได้มาเที่ยวเลยบ้างไหมคะ
  • เอารูกลูกสาวกะสามีคนบ้านนาอ้อมาฝากค่ะ

เดือนที่ผ่านมาผมไปเยี่ยมแม่เกือบทุกอาทิตย์เลยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท