ชุมชนมีส่วนร่วมหรือมีส่วนร่วมกับชุมชน


แก้ปัญหาความยากจนบนพื้นฐานความพอเพียง

ชุมชนจัดการสุขภาพแบบพอเพียง
บทเรียน จากวันวานชุมชนวิกฤติเศรษฐกิจ ถึงวันนี้ที่พลิกสู่สถาบันการเงินมั่นคง
สู่เป้าหมายของวันพรุ่งนี้ที่เป็นสังคมเข้มแข็ง ยั่งยืน บ้านบุกลาง อำเภอน้ำยืน จังหวัดอุบลราชธานี
วันวานที่พร้อมพรั่งแล้วเลือนหาย

     บ้านบุกลาง ชุมชนที่เต็มไปด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ ป่าไม้ และแหล่งน้ำธรรมชาติ ที่หล่อเลี้ยงชีวิตคนในชุมชนตลอดปี จึงกลายเป็นแหล่งเพาะปลูกพืชผัก ผลไม้เลี้ยงผู้คนในชุมชน และส่งออกสู่ตลาดนอกชุมชน โดยชาวบ้านได้ทำการถางป่าเพื่อทำการเกษตร ทำให้ป่าไม้ลดลงอย่างรวดเร็ว ดินที่เคยอุดมสมบูรณ์เสื่อมคุณภาพ ประกอบกับความต้องการผลผลิตที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด เปิดช่องทางให้ปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช ทะลักเข้าสู่ชุมชน การสนับสนุนของหน่วยงานภาครัฐและนายทุน เพื่อส่งเสริมการเพาะปลูกพืชพันธุ์ ที่เป็นที่ต้องการของตลาด มีการให้กู้ยืมเงินทุนทั้งจาก ธกส. และจากนายทุนผู้ประกอบการในชุมชน มีการจัดตั้งกลุ่มที่หลากหลาย แต่หละหลวม ขาดการติดตาม ขาดการเอื้ออาทรและจริงใจต่อกัน ไม่มีการเชื่อมโยง และรอรับความช่วยเหลือจากภาครัฐตลอดเวลา ขณะที่ความฟุ้งเฟ้อได้บังเกิดขึ้นตามมาโดยไม่รู้ตัว จึงทำให้ประชาชนเริ่มมีหนี้สิน และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2540 ที่กระทบถึงชุมชนที่เป็นชุมชนเปิด และเชื่อมโยงกับตลาดระดับประเทศ จึงทำให้ความต้องการของตลาดลดลง ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตรล้นตลาด ขณะที่ปัจจัยการผลิตมีราคาสูงขึ้น ในสภาพที่กำลังมีหนี้สิน และความสามารถในการชำระลดลง ยิ่งทำให้บั่นทอนสุขภาพทั้งกาย จิตใจ สังคมของคนในชุมชน มีผู้คนเจ็บป่วยด้วยปัญหาสุขภาพกาย จิตใจ ติดสุรา บุหรี่ สังคมวุ่นวาย

ริเริ่มสู่จุดเปลี่ยนที่งดงาม
     ในจำนวนผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับการส่งเสริม “มันเทศ” เป็นพืชที่ได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก เมื่อเกิดปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้ไม่มีพ่อค้ารับซื้อ จนเน่าเสียเต็มหมู่บ้าน หนี้สินเกิดพอกพูนขึ้นทุกวัน ส่งผลให้กลุ่มแม่บ้าน หันมาพูดคุยตั้งวงสนทนาหาทางออก โดยได้เห็นแบบอย่างการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรจากชุมชนอื่น นำมาทดลองทำ “ข้าวเกรียบมันเทศ” ผ่านการลองผิดลองถูกอยู่ระยะหนึ่ง จนที่สุดนำมาสู่สินค้า OTOP ที่ส่งขายทั่วประเทศ “ขายดีจนไม่พอส่งขาย” จากจุดนี้จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มอื่นๆ ในชุมชนได้หันมาพูดคุยร่วมกัน เพื่อพัฒนาชุมชนอย่างจริงจัง โดยเกิดการรวมกลุ่มของแกนนำชุมชน มาร่วมคิดร่วมทำ ร่วมวิเคราะห์ร่วมประชาคมเวทีชาวบ้าน ด้วยการนำของผู้ใหญ่บ้านหญิงเหล็ก มากความสามารถ ประกอบกับมีพื้นฐานชีวิตครอบครัวที่ล้มเหลวจากการเป็นพ่อค้าคนกลางที่เคยร่ำรวย จนร่วงโรยกับวิกฤติเศรษฐกิจ จึงเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำพาชุมชนให้ผ่านพ้นวิกฤต และเสริมสร้างความเป็นอยู่ของพ่อแม่พี่น้องในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มองเห็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง คือทางออกที่จะนำพาลูกบ้านและชุมชน ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี และชุมชนมีความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนต่อไป


จุดเปลี่ยนของชุมชนสู่การดำเนินตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
     ความต้องการหลุดพ้นจากวิกฤติ ฉุดให้ผู้คนในชุมชนแสวงหาทางรอด ในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเวทีประชาคม การศึกษาเรียนรู้แบบอย่างจากชุมชนอื่น การอบรมและการได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชน ทำให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
     1) ปลุกจิตสำนึกชุมชน สร้างจิตสำนึกและความรู้ความเข้าใจให้กับคนในชุมชน โดยจัดเวทีประชาคมวิเคราะห์ปัญหา สาเหตุและแนวทางแก้ไขปัญหา รวมทั้งวิเคราะห์ศักยภาพของตนเอง ส่งผลให้คนในชุมชนรู้จักตนเองและเข้าใจผู้อื่น เข้าใจในปัญหา ก่อให้เกิดความคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยตนเอง แก้ไขปัญหาด้วยชุมชนแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และแสวงหาผู้ที่มีความสามารถที่จะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกินขีดสมรรถนะของชุมชน การค้นพบที่สำคัญ คือ “ความยากจน มีเหตุมาจากการบริโภคที่เน้นวัตถุนิยม การใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย” 


     2) ฝึกฝนปฏิบัติร่วมกัน เมื่อเข้าถึง เข้าใจ ก็นำไปปฏิบัติได้อย่างเหมาะสม เริ่มจากการจัดทำบัญชีรายจ่ายในครัวเรือน เพื่อเป็นข้อมูลในการวางแผนการใช้จ่ายครัวเรือน จนทำให้มีการปรับตัวของสมาชิกในครัวเรือน ด้วยการลดอบายมุข ไม่เล่นการพนัน ลดการใช้มือถือ ลดรายจ่ายโดยปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อบริโภค ทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ และนำเงินที่เหลือจากการลดรายจ่าย และรายได้จากอาชีพเสริม ไปฝากกับสถาบันการเงินในหมู่บ้าน ความสำเร็จที่สำคัญ ได้แก่ เกิดกลุ่มอาชีพแปรรูปผลผลิตการเกษตร ซึ่งนำเงินเข้าสู่ชุมชนมากกว่า 800,000 บาทต่อปี และจากการแลกเรียนรู้และถ่ายทอดประสบการณ์ของคนในชุมชน ทำให้เกิดกลุ่มอาชีพอื่นๆ ตามมา เช่น กลุ่มอาชีพปลูกไม้ผล กลุ่มอาชีพเลี้ยงโค กลุ่มอาชีพปลูกพืชผักสวนครัว และกลุ่มเยาวชนซ่อมสร้างเครื่องยนต์ เป็นต้น และมีกิจกรรมกระตุ้นการลดค่าใช้จ่ายด้วยการประกวดการประหยัดพลังงานในครัวเรือน ส่งเสริมครอบครัวตัวอย่างการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งทำการเกษตรโดยการใช้ปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตเองในครัวเรือน ทำให้เกิดการหมุนเวียนทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ตลอดจนเป็นการรักษาสภาพแวดล้อมที่ดีแก่คนในชุมชน

   

     3) สู่ฝันแสงสว่างแห่งปัญญา ตลอดเส้นทางของการเปลี่ยนวิถีชุมชน ที่ทุกคนได้รับโอกาสในการคิด ตัดสินใจ เรียนรู้ แลกเปลี่ยน ด้วยความเอื้ออาทร ด้วยไมตรีน้องพี่ เต็มที่ เต็มใจช่วยเหลือกัน กลุ่มที่เข้มแข็งดูแลกลุ่มที่อ่อนแอหรือกลุ่มตั้งใหม่ ความคิดแบบจิตอาสา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ที่เป็นแก่นแท้ของคนอีสาน จึงฟื้นคืนกลับมาวนเวียนหล่อเลี้ยงกายใจ ดุจกระแสเลือด ยิ่งทำยิ่งให้ ยิ่งทำยิ่งเป็นสุข จึงไม่เพียงมีกลุ่มอาชีพในชุมชนเท่านั้น เกิดกลุ่มสวัสดิการ กองทุนสงเคราะห์ ฌาปนกิจสงเคราะห์ การให้ทุนการศึกษาแก่เด็กในหมู่บ้าน ช่วยเหลือเด็กผู้ด้อยโอกาส ซึ่งนับเป็นปัญญาอันบริสุทธิ์ ที่มองเห็นว่า การช่วยเหลือสนับสนุนแก่ผู้ด้อยโอกาส เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของคนทุกคนในหมู่บ้าน ทั้งนี้การกลุ่มพลังต่างๆ เกิดภายใต้ร่มใหญ่ที่เข้มแข็งของสถาบันการเงินชุมชน ที่เป็นผลจากแนวคิดการรวมกองทุนทุกประเภทในชุมชน ให้เป็นหนึ่งเดียว เข้มแข็ง และจัดระบบบริหารใหม่ นำเงินก้อนใหญ่ ดอกเบี้ยต่ำไปปลดหนี้ ให้กับสมาชิกจากกองทุนอื่นที่ดอกเบี้ยสูง จนสามารถปลดหนี้ให้คนในชุมชนกลับมาลืมตาอ้าปาก และยิ้มอย่างเป็นสุข ปัจจุบันมีเงินทุนมากกว่า 24 ล้านบาท เงินหมุนเวียนเฉลี่ยวันละ 200,000 บาท และยังเป็นแหล่งจ้างงานของเยาวชนในชุมชนอีกทางด้วย ซึ่งในด้านการผลิตแต่ละกลุ่ม จะดำเนินภายใต้แนวคิดที่ว่า“ตลาดคือ ปากท้องของคนในหมู่บ้าน”  มิใช่มุ่งสู่ตลอดภายนอก เพื่อแลกเงินมาซื้อสินค้าอื่นเข้ามาในชุมชน จนกลายเป็นหนี้สิน เหมือนดังที่เคยเป็นมา
     4) พัฒนาเครือข่ายขยายสู่ชุมชนอื่น เมื่อน้องพี่สามัคคี รวมความคิดเกิดปัญญาที่นำพาสู่ความสำเร็จ จึงได้รับความสนใจจากชุมชนอื่น ส่วนหนึ่งมาจากการที่หน่วยงานภาครัฐ ได้ช่วยหนุนเสริมประชาสัมพันธ์ และยกระดับให้กลายเป็นต้นแบบ จนเกิดเป็นความภาคภูมิใจของชุมชน ช่วยกันเสริม ช่วยกันสร้าง จัดทำแปลงทดลอง/สาธิต ถอดบทเรียน และถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี ความสำเร็จสู่ชุมชนข้างเคียง จากการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาปฏิบัติ ทำให้ชุมชนมีความเข้มแข็งขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจกันของสมาชิก ที่ต้องการพลิกฟื้นวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส ดินที่เสื่อมโทรมจากการฝีมือคนและสารเคมี กลับมามีสภาพดีขึ้นอีกครั้ง เกิดความภูมิใจที่ “ทำน้อยได้มาก” ต่างจากในอดีตที่ “ต้องทำมากจึงจะได้มาก” แม้ว่าจะต้องใช้เวลานานในการการลองผิดลองถูก สิ่งสำคัญ “การรวมกลุ่มทำให้รู้จักตนเอง ยอมรับตนเอง ได้วิเคราะห์ปัญหาเพื่อหาทางแก้ปัญหา เกิดการเรียนรู้ร่วมกัน เกิดการขยายแนวคิดไปสู่เรื่องอื่นๆ เช่น ตลาดกลาง” เกิดกระแสการ “ออม” ในสถาบันการเงินในชุมชน ที่พร้อมด้วยมิตรภาพ ความสะดวกสบาย ความมั่นคง ปลอดภัย มีหลักประกันในชีวิต มีกินมีใช้มากขึ้น แต่ไม่ละทิ้งความเสียสละเอื้ออาทร เปลี่ยนวิธีคิดจากเดิมที่ว่า “ทำอย่างไรจึงจะรวย” มาเป็น “ทำอย่างไรจึงจะทำให้คนอื่นได้” และ เริ่มหันกลับมามองว่า “ทำอย่างไรครอบครัวจึงจะมีความสุข” กลายเป็นรูปธรรมของความพอเพียงแต่แต่ระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม ที่พร้อมจะเผื่อแผ่ให้กับคนอื่นได้เสมอ ด้วยความเต็มใจ


มุมมองของอนาคตบ้านบุกลาง
     ความสำเร็จที่ผ่านการเยียวยารอยร้าว ความเจ็บปวดในอดีต อาจสร้างความสุขให้กับสังคมได้มากมายในปัจจุบัน แต่ชุมชนแห่งนี้ มองเห็นอนาคตที่จะมาถึงรุ่นลูกหลาน ที่เกิดจากสังคมแห่งความเสื่อม ความขัดแย้ง จึงพยายามสร้างภูมิคุ้มกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนสามารถพึ่งตนเองได้ในการก้าวไปข้างหน้า“แก้ปัญหาความยากจนบนพื้นฐานความพอเพียง สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง สังคมยั่งยืน พัฒนาผู้นำ กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน รวมพลังสิ่งแวดล้อม ฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อคงความสุขที่พอเพียงให้นานเท่านั่น และนี่ คือต้นแบบของชุมชนแห่งการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมที่แท้จริง ของจริง ที่ไม่ต้องอ้างอิงตำรา

 

หมายเลขบันทึก: 280813เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

บทเรียนที่ต้องเรียนรู้ ให้เป็นผู้ที่รู้เรียนตลอดชีวิต อยากไปเรียนรู้และถอดบทเรียนกับคนในชุมชนจัง เท่าที่ฟังต๊อกนำเรื่องเล่ามาเล่าเรื่องก็น่าสนใจหากได้เข้าไปเรียนรู้ใจชุมชนจริงก็น่าจะมีเรื่องราวอีกมากมายให้ค้นหา

สวัสดีจ้า

แล้วเมื่อไรจะพาถอดบบทเรียนจ๊ะ

ผมว่า การเรียนรู้ในห้องเรียน เป็นสิ่งที่ดีครับ และหากเราได้มีโอกาสเรียนรู้จากของจริง ย่อม จะทำให้เห็นชัดเจน เข้าใจและเข้าถึง นำกลับมาใช้ได้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท