ผู้นำกับการเปลี่ยนแปลง


 Michael  Hammer กล่าวว่า “Success in the past  has no implication for success in the future” ความสำเร็จด้วยวิธีการเดิมไม่ยืนยันว่าจะสำเร็จในบริบทใหม่ หรือสถานการณ์ใหม่ ๆ 

           ในขณะที่ Darwin กล่าวว่า การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับความฉลาดหรือความแข็งแกร่ง แต่เป็นเรื่องของความสามารถในการปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

 

Change  Management  เป็นการปรับเปลี่ยนองค์กรเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ปัจจัยแห่งความสำเร็จของธุรกิจส่วนใหญ่ คือการจ้างคนที่ฉลาดกว่ามาเป็นลูกจ้างของคุณ  เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในองค์กร บางคนอาจคิดว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยากลำบากเพราะจะนำมาซึ่งการสูญเสียอำนาจ สูญเสียการควบคุม และเกิดความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ในขณะที่บางคนรู้สึกว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้และสนุกสนาน คนส่วนใหญ่มักจะถามคำถามต่างๆ อาทิ ทำไมต้องเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงมีความหมายอย่างไรกับเขาบ้าง เขาต้องทำอะไรบ้างในการเปลี่ยนแปลงครั้งนั้น ๆ และทำไมเขาจึงต้องเปลี่ยนแปลงเช่นนั้น การจัดการการเปลี่ยนแปลง ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยทุกคน โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูง ต้องเห็นความสำคัญและทุกคนในองค์กรต้องให้ความร่วมมือต้องมีการสื่อสารในองค์กรเพื่อให้ทุกคนคิดเหมือนกัน ร่วมกันสร้างความสำเร็จ  ผู้นำจึงเป็นบุคคลที่มีความสำคัญต่อความอยู่รอดและความก้าวหน้าขององค์กร  ผู้นำที่ดีจะต้องมีความสามารถในการกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมาย กลยุทธ์ รวมทั้งกระตุ้นและบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาให้ทำงานร่วมกัน เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน จนสามารถสร้างผลงานตามเป้าหมายได้  ถ้าเปรียบองค์กรเป็นเสมือนเรือ ผู้นำก็เปรียบเสมือนนายท้ายที่คอยควบคุมหางเสือให้เรือแล่นไปในทิศทางที่ต้องการ ดังนั้น ใครๆ จึงมุ่งความสนใจไปที่ตัวของผู้นำว่าควรมีความสามารถในเรื่องอะไรบ้าง ควรพัฒนาปรับปรุงตนเองอย่างไร จึงจะสวมบทบาทผู้นำได้อย่างมีประสิทธิภาพและอย่างเต็มภาคภูมิ

ในการสร้างภาวะผู้นำนั้นจะต้องทำให้ผู้นำมีความคิ ริเริ่มสร้างสรรค์ คิดอยากจะเปลี่ยนแปลงก่อนที่จะโดนบังคับให้เปลี่ยนแปลง ผู้นำจำเป็นต้องเข้าใจสัจจธรรมข้อหนึ่งที่ว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบแต่คุณจำเป็นต้องมีการวางแผนการดำเนินการอย่างรอบคอบเสมอ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากคนเพียงคนเดียว  ต้องมีคนร่วมมือด้วย อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้ามามีส่วนร่วม จะเปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางที่เราต้องการได้ทั้งหมด ผู้นำที่ดีจำเป็นต้องบริหารจัดการงานในแต่ละวันให้ลุล่วงด้วยดี ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการทบทวนและปรับปรุงพัฒนางานอย่างต่อเนื่องด้วย

ด้วยเหตุนี้ในโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง ผู้นำจึงต้องมีวิสัยทัศน์ที่สามารถมองทะลุเข้าไปในอนาคตเพื่อความอยู่รอดขององค์กร ต้องสามารถคาดการได้ว่างานที่รับผิดชอบอยู่นั้นจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไร มีอะไรใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นบ้างและจะจัดการกับการเปลี่ยนแปลงนั้นอย่างไร นั่นคือต้องสามารถบริหารจัดการได้ทั้งเชิงรุกและเชิงรับ  เพราะถ้าผู้นำมัวแต่รอคอยที่จะเคลื่อนหรือเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกเขาจะกลายเป็นผู้นำที่ล้าหลังทันที ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงต้องพยายามที่จะสร้างวิสัยทัศน์ให้เห็นอนาคตว่าองค์กรของตนควรเป็นอย่างไร และสื่อความคิดดังกล่าวแก่ผู้ตามให้เห็นไปในทิศทางเดี่ยวกัน ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจึงต้องเก่งด้านการสื่อสารมีทักษะในการสื่อสารที่ช่วยสื่อความหมายให้คนอื่นเข้าใจได้ดี  มีทักษะด้านการพูด โดยเฉพาะการพูดเพื่อโน้มน้าวใจผู้ตามให้คล้อยตาม  อาจต้องใช้สัญลักษณ์หรือการยกตัวอย่างเชิงอุปมาอุปมัยเพื่อประกอบการอธิบายให้ตามมองเห็นวิสัยทัศน์ของผู้นำได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น

           

นอกจากนี้ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะต้องมีความสามารถในการครองงานของตนเพื่อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ผู้ตาม ผู้นำจะปฏิบัติงานด้วยความรู้สึกตระหนักและมีความภาคภูมิใจต่องานที่ทำ สามารถทำให้ผู้อื่นเห็นว่าการกระทำของตนเป็นสิ่งที่ดีงามควรแก่การเอาเยี่ยงอย่างและเป็นสิ่งที่ตนถือปฏิบัติอย่างคงเส้นคงวาเป็นประจำ ด้วยเหตุนี้ผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพจึงสามารถเป็นแบบอย่าง (Role modeling) ที่ดีแก่ผู้อื่น และสิ่งที่ผู้นำขาดไม่ได้ก็คือ ความสามารถด้านเทคนิคในงานที่ทำและทักษะด้านการบริหารจัดการในฐานะการเป็นผู้บริหารที่ดี (Good manager)

ผู้นำการเปลี่ยนแปลงจะใช้ความเป็นกันเองในการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับผู้อื่น โดยพยายามพัฒนาระดับความสามารถและศักยภาพของเพื่อนร่วมงานให้สูงยิ่งขึ้น ผู้นำที่ดีต้องมีความอดทนและมีความสามารถด้านการฟังที่ดี คุณสมบัติดังกล่าวเรียกว่าการมุ่งความสัมพันธ์เป็นรายคน (Individualized consideration) ซึ่งเชื่อว่าจะนำไปสู่ความมีประสิทธิผลขององค์การและการเพิ่มผลผลิต ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมองค์กร (Corporate culture) ที่เข้มแข็งได้ ผู้นำจะสามารถจูงใจให้ผู้ตามมองไกลไปกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวไปที่เพื่อประโยชน์ขององค์การหรือเพื่อส่วนรวมแทน ซึ่งถือว่าเป็นการยกระดับคุณธรรมของผู้ตามให้สูงขึ้น ด้วยเหตุนี้ผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพจึงถูกเรียกว่าเป็น ภาวะผู้นำเชิงคุณธรรม (Ethical leadership)” อีกแง่มุมหนึ่งด้วย

…………………

คนึงนิจ อนุโรจน์

 

 

คำสำคัญ (Tags): #hrd
หมายเลขบันทึก: 280725เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท