กระบวนการแก้ปัญหา โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล


ส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นหลักการของ PDCA (Plan/ Do / Check / Action)

 

เมื่อวันที่ 15-16 และ 22 กรกฎาคม 2552 ที่ผ่านมา ผมได้เข้ารับฝึกอบรมเรื่อง กระบวนการแก้ปัญหา โดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล ที่ สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี(ไทย-ญี่ปุ่น) โดย อาจารย์ ลักษณะ  มานิตขจรกิจ อาจารย์พิเศษ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ในการอบรมดังกล่าวมีเรื่องที่ผมประทับใจและไม่ประทับใจหลายเรื่อง จึงนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันครับ

 

เนื้อหาการอบรมใน 3 วันนี้ จะประกอบไปด้วยแนวคิดหลักการทั่วไปในการแก้ปัญหาและการใช้เครื่องมือทางสถิติมาช่วยในการแก้ปัญหา ซึ่งผมคิดว่า สิ่งที่ผมได้จากการฝึกอบรมครั้งนี้อย่างชัดเจนที่สุดคือแนวคิดหลักการพื้นฐานในการแก้ปัญหา ซึ่งจะสามารถนำไปใช้กับงานจริง ชีวิตจริงได้ต่อไป

 

เริ่มต้นการฝึกอบรมอาจารย์จะแนะนำให้รู้จักแนวคิดของกูรูต่างๆในการแก้ปัญหาไม่ว่าจะเป็น เรื่อง หลักการทั่วไปของการบริหารคุณภาพ การแก้ปัญหาด้วย 7 Step of QC Story ของ Dr. H. Kume หลักการของ Joiner 7 Step โดย Joiner Associates inc. การแก้ปัญหาด้วย QC 7 Step Problem Solving Formula Mr. Hozotani  การแก้ปัญหาด้วย QC Story  และขั้นตอนของ Procedure for Task-Achieving  โดย Dr. Kano หลักการแก้ปัญหาด้วย 8D , Six Sigma และ_DISC โดย Juran แม้กระทั่งการแก้ปัญหาด้วยอริยสัจ 4 ของพระพุทธองค์ (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค)  เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งปวงส่วนใหญ่จะหนีไม่พ้นหลักการของ PDCA (Plan/ Do / Check / Action)

 

ในฐานะที่อาจารย์ได้คร่ำหวอด คลุกคลีอยู่กับวงการคุณภาพ วิศวกรรมอุตสาหการ มานาน ท่านจึงได้รวบรวมจุดเด่น ข้อดีของท่านผู้รู้อื่นๆ ตั้งเป็นทฤษฎีการแก้ปัญหาของท่านเองที่ผมคิดว่าเหมาะและตรงกับความเป็นไทยอย่างยิ่ง ท่านเรียกวิธีการแก้ปัญหานี้ว่า วิธีคิดการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ ด้วย จตุรพิซึ่งเป็นการบูรณาการแนวคิดของท่านผู้รู้ต่างๆ สรุปรวบยอดเป็นแนวคิดแบบไทยที่ชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง

 

วิธีคิดการแก้ปัญหาแบบวิทยาศาสตร์ ด้วย จตุรพิแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนใหญ่ๆ ดังนี้

1.      พินิจ

2.      พิเคราะห์

3.      พิจารณา

4.      พิสูจน์

 

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก่อนการแก้ปัญหาต้องมีการเลือก จำกัดขอบเขต ดูความเสถียรและจัดลำดับของปัญหาให้ดีเสียก่อน แล้วจึงนำมาแก้ด้วย จตุรพิดังกล่าว

 

การแก้ปัญหาด้วยขั้นตอน จตุรพินี้ ทำให้ผมได้มีความเข้าใจลึกซึ้งด้านภาษาไทยมากยิ่งขึ้น ซึ่งพบว่าเราใช้คำกับความหมายได้อย่างไม่ถูกต้องครบถ้วน เช่น คำว่า พินิจพิจารณา พิ (วิเคราะห์วิจารณ์) พินิจพิเคราะห์ เป็นต้น รายละเอียดวิธีการต่างๆ ผมจะได้เล่าให้ฟังในบันทึกหน้าครับ

 

ระยะเวลาการอบรมทั้ง 3 วันนี้ ผมคิดว่าผมได้รับความรู้ในเรื่องแนวคิดหลักการของการแก้ปัญหาได้มากพอสมควร แต่ในส่วนของการนำเครื่องทางด้านสถิติมาช่วยในการแก้ปัญหาผมคิดว่า ผมยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในทัศนะของผมพิจารณาแล้วน่าจะเป็นสาเหตุมาจากพื้นฐานความรู้ของผู้เข้าฝึกอบรมเอง ระยะเวลาการอบรมที่น้อยเกินไป และเทคนิควิธีการถ่ายทอดความรู้ของวิทยากรที่เน้นการบรรยายเชิงวิชาการมากเกินไป ไม่ค่อยมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เข้าอบรมมากนัก น่าจะมีการถามคำถาม`Feedback เพื่อสอบถามความรู้ความเข้าใจกับผู้เข้าอบรมบ้าง

หมายเลขบันทึก: 280645เขียนเมื่อ 27 กรกฎาคม 2009 10:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท