การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ถึงวันต้องเคาะสนิม


การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

 


การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ถึงวันต้อง "เคาะสนิม"



ถ้าเป็นนวัตกรรมแบบวัตถุที่จับต้องได้ การจัดกระบวนการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ ก็เป็นนวัตกรรมที่ "ขึ้นสนิม" ไปนานแล้ว

เพราะเป็นเรื่องที่พูดกันมาหลายสิบปีก่อนพูดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาเสียด้วยซ้ำ แต่จนถึงทุกวันนี้ "รูปแบบ" และ "วิธีการ" ของการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญกลับไปไม่ถึงไหน ภาพสะท้อนที่ชัดเจนที่สุด ก็คือ วิกฤตคุณภาพของนักเรียนไทย ดูง่ายๆ จากคะแนนเฉลี่ยผลการทดสอบโอเน็ต เมื่อปี 2551 นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนต่ำกว่าร้อยละ 50 ทุกรายวิชา ส่วนของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทั้งการทดสอบโอเน็ตและเอเน็ตก็มีลักษณะเดียวกัน คือ ต่ำกว่าร้อยละ 50 เกือบทุกรายวิชา

วิกฤตคุณภาพการศึกษา เป็นวาทกรรมทางสังคมและการเมืองมาหลายยุคหลายสมัย จนกลายเป็นวาระของชาติไปอย่างสมบูรณ์ ปัจจัยหลัก ปัจจัยเสริมและปัจจัยแวดล้อมมากมายได้ถูกหยิบยกขึ้นเป็นหัวข้อในการวิจัย วิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์มาโดยตลอด หากก็ยังไม่อาจ "ปลดล็อค" ทางคุณภาพได้ แต่จะโทษปัจจัยใดก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ก็คือคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของครู ซึ่งมีอยู่ถึง "สามนัยยะ" ที่ซ้อนทับกัน ในด้านหนึ่งหมายความว่า ครูไม่มีคุณภาพในตัว "เนื้อหาวิชา" เช่น ไม่มีความรู้ที่แท้จริง หรือรู้แบบงูๆ ปลาๆ และ ผิดๆ ถูกๆ ฯลฯ อีกด้านหนึ่งหมายถึง ครูไม่มีคุณภาพในด้าน "กระบวนการ" คือ จัดการเรียนรู้ไม่ได้ ถ่ายทอดไม่เป็น ส่วนอีกด้านหนึ่ง คือการที่ครูยึดตนเองเป็นสำคัญ

ถ้าจะเปิดใจให้กว้าง และกล้าที่จะยอมรับ ก็จะพบว่า มีครูอีกเป็นจำนวนมากที่ยังคงจัดการเรียนการสอนแบบเดิมโดยยึดตามความสะดวก ความง่าย และความเคยชินของตนเอง การเรียนการสอนและการจัดกระบวนการเรียนรู้จึงไม่ได้ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่แท้จริง หรือการเรียนรู้นั้นไม่ได้ตอบสนองต่อความสนใจและความแตกต่างระหว่างบุคคล พวกเขาจึงเรียนไปวันๆ เรียนอย่างไม่มีความหมาย ไม่มีความสุข ไม่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ และไม่มีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และรายวิชาที่เรียน ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจึงตกต่ำกันทั้งประเทศ

สาเหตุสำคัญที่ครูยังคงจัดการเรียนการสอนแบบเดิมนั้น คงไม่ใช่เพราะว่าไม่เข้าใจหรือไม่รู้ความหมายและวิธีการของการจัดการเรียนรู้แบบเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะโดยภาพรวมของการพัฒนาครูนั้นไม่เคยเว้นช่วงหรือขาดตอนเลย แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าครูส่วนใหญ่เข้าใจไม่ถูกต้อง และมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบนี้ บางคนเห็นว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยาก บ้างว่าเกินความสามารถและบ้างก็ว่าไม่อยู่ในวิสัยหรือเงื่อนไขที่ทำได้

โจทย์นี้จึงต้องตอบให้ได้ว่า แล้วเราจะเสริมความรู้เรื่องกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญให้ครู "เข้าใจ" อย่างถูกต้องได้อย่างไร หากก็ไม่ใช่แค่ "เข้าใจ" แต่ต้องทำให้เรื่องนี้ "เข้าไปอยู่ในใจ" ให้ได้ด้วย นั่นก็คือ ต้องปรับแก้ทัศนคติและสร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองของครู

ด้วยประสบการณ์การวิจัยเพื่อการพัฒนาครูมาอย่างยาวนาน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ได้จัด "โมเดล" การพัฒนาครูประจำการแบบใหม่ขึ้น จุดมุ่งหมาย อยู่ที่การมุ่งเน้นให้ครูสามารถนำการวิจัยมาใช้ในการพัฒนาการเรียนรู้และสามารถออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียน ความสำคัญของโมเดลนี้อยู่ที่ปรัชญา กระบวนการ ขั้นตอนและวิธีการของการจัดอบรม บนพื้นฐานสำคัญที่ว่า ครูจะต้องไม่ "ทิ้ง" นักเรียนและห้องเรียนเพื่อไปพัฒนาตนเอง หรืออีกนัยหนึ่งนักเรียนและรายวิชาที่เรียนในชั้นเรียนนั่นแหละคือ "ตัวตั้ง" ของการอบรม

การอบรมเชิงปฏิบัติการตามโมเดลนี้ แบ่งออกเป็น 5 ระยะ ระยะที่หนึ่ง เป็นการปูพื้นความเข้าใจเรื่องการวิจัยเพื่อการเรียนรู้และการออกแบบนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาผู้เรียน ระยะที่สอง เป็นระยะที่ครูจะต้องกลับมาพัฒนานวัตกรรมการจัดการเรียนรู้ ระยะที่สาม เป็นการฝึกอบรมเพื่อนำเสนอ แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และออกแบบนวัตกรรมให้พร้อมแก่การนำไปใช้ ระยะที่สี่ เป็นขั้นที่ครูจะต้องลงมือปฏิบัติจริงในชั้นเรียน และมีการเก็บข้อมูลและเขียนรายงานผลการพัฒนาผู้เรียน ส่วนระยะสุดท้าย เป็นขั้นที่ครูจะต้องนำเสนอผลงานการพัฒนาผู้เรียนสู่เวทีสาธารณะ โดยจะมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและช่วยกันถอดบทเรียนจากการปฏิบัติงาน

ลักษณะที่สำคัญของการจัดอบรม คือการที่ครูจะต้องศึกษาด้วยตนเองจากเอกสาร จากกระบวนการกลุ่ม จากการฟังการบรรยาย การศึกษาจากกรณีศึกษา การฝึกปฏิบัติ การสาธิตและการทดลองทำ โดยในระหว่างการฝึกปฏิบัติมีกระบวนการนิเทศและติดตามผลโดยคณะวิทยากรอย่างใกล้ชิด
จากความคิดของข้าพเจ้า  การเคาะสนิมการเรียนรู้เพื่อการศึกษา ต้องศึกษาตัวแปร คือ ผู้เรียน เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม เพื่อให้ผู้เรียนได้มีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ และทราบขั้นตอนการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง เมื่อเกิดปัญหาผู้เรียนสามารถแก้ไขได้ตรงประเด็นมากที่สุด



วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ปีที่ 32 ฉบับที่ 11460 มติชนรายวัน

 

 

หมายเลขบันทึก: 280429เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2009 20:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

นวัตกรรมจะมีความหมายเมื่อนำมาใช้กับผู้เรียน

เหล็กดี เปรียบเสมือนครูดี ทำยังไงก็ไม่ขึ้นสนิม

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท