หนังใหญ่วัดขนอน...มรดกชาติติดอันดับเอเชีย


แมกกาซีนแปลก วันที่ 3 กรกฎาคม 2552

                                         หนังใหญ่วัดขนอน...มรดกชาติติดอันดับเอเชีย

หนังใหญ่ เป็นมรสพที่มีมาตั้งแต่ พ.ศ. 2001 ตามหลักฐานที่กล่าวไว้ ในกฎมลเทียรบาลสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ในเรื่องสมุทรโฆษชาดคำฉันท์ และในวรรณคดีไทยหลายเรื่อง รวมทั้งภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามหลายแห่ง เช่น จิตรกรรมฝาผนังใต้บานหน้าต่างวิหารพระพุทธไสยาส วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม เรื่องที่แสดงส่วนมากนิยมเล่นเรื่องรามเกียรติ์ เพราะเป็นเรื่องที่สนุกสนานมีทั้งรัก โศก เสียสละ และการรบทัพจับศึก ตัวเอกในเรื่องมีทั้งพระ นาง ยักษ์ และลิง ซึ่งแต่ละตัวเป็นที่รู้จักกันเป็นอย่างดีในหมู่คนไทย หนังใหญ่มีการเล่นตลอดมา จนสิ้นสุดสมัยอยุธยา ในพ.ศ. 2301 จึงยุติการเล่นหนังใหญ่ไปโดยปริยาย  แต่เมื่อกรุงธนบุรีขึ้นมามีศักดิ์เป็นราชธานีใหม่ โดยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช การเล่นหนังใหญ่จึงฟื้นคืนชีพใหม่อีกครั้ง ซึ่งยังคงยืนยาวต่อมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์  ดังนั้น มหรสพใดๆ ก็ไม่อาจเทียบหนังใหญ่ได้ เพราะเป็นมหรสพที่ค่อนข้างมโหฬาร คล้ายภาพยนตร์จอยักษ์ในสมัยปัจจุบัน
            หนังใหญ่มีขนาดโตกว่าหนังตะลุงเกือบ ๕ เท่า การทำหนังใหญ่นั้น ใช้แผ่นหนังวัวหรือหนังควายดิบ แต่ส่วนมากที่ใช้จะเป็นหนังวัว เพราะหนังวัวจะบาง สะดวกในการขูดและฉลุฉลัก ผิดกับหนังควายที่หนาและหยาบ การทำตัวหนังใหญ่นั้น เมื่อได้หนังมาแล้วก็จะนำหนังไปทำการตากแห้งโดยวิธีขึงลงในกรอบให้ตึง แล้วเขียนภาพลงบนแผ่นหนัง จากนั้นจึงฉลุด้วยเครื่องมือ ตอกฉลุให้เป็นช่องหลุดขาดออกไป จะใช้เครื่องมืออย่างเดียวกับหนังตะลุงก็ได้ หนังวัวนั้นเมื่อทำเป็นตัวหนังเสร็จแล้ว จะมีความโปร่งแสงในตัว เรียกว่า หนังแก้ว เวลาเชิดให้แผ่นหนังต้องแสงไฟจะแลดูสวยงามมาก

ในส่วนของขั้นตอนการทำหนังนี้ต้องอาศัยความชำนาญและมีเทคนิคเฉพาะ เริ่มตั้งแต่การนำแผ่นหนังวัวไปแช่ปูนขาวหรือน้ำเกลือหมักไว้จนหนังวัวอ่อนนิ่ม จากนั้นจึงนำไปตากแดดให้แห้ง พอเกือบแห้งก็ใช้กะลามะพร้าว มีดและสิ่ว ขูดพังผืดและขนจนหนังบางเรียบสะอาด แล้วนำไปตากอีกครั้งหนึ่ง ใช้ลูกน้ำเต้า หรือใบฟักข้าวถูหนังวัวจนเรียบเป็นมัน แล้วเอาถ่านกาบมะพร้าว หรือใบลำโพง ตำละลายน้ำข้าวทาให้ทั่วแผ่นหนังทั้งสองด้าน แผ่นหนังจะเป็นสีดำมัน ช่างเขียนจะนำหนังวัวนี้ไปเขียนลวดลายเป็นภาพตัวหนังในเรื่องรามเกียรติ์ด้วยดินสอขาว เสร็จแล้วจึงลงมือสลักไปตามลวดลาย ถ้าเป็นเวลากลางวันจะใช้ตัวหนังที่มีสีสันสวยงาม มีลักษณะคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องรามเกียรติ์ในวัดพระศรีรัตนศาสดารามนั่นเอง ส่วนตัวหนังใหญ่ที่เป็นภาพเดี่ยวทำท่าเดิน หรือทำท่าเหาะนั้น จะแกะสลักให้ยืนเหยียบอยู่บนตัวพญานาคเพื่อความสวยงาม และตัวหนังจะคงทนไม่ขาดง่ายเพราะมีที่ยึดเมื่อทำตัวหนังเสร็จแล้วจึงใช้ไม้ตับหรือไม้ดามตัวหนัง เพื่อให้ผู้เชิดจับไม้ตับนำตัวหนังออกเชิด ตัวหนังใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อใช้แสดงแบ่งเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 3 ประเภท คือ หนังเดี่ยว ตัวหนังจะเป็นภาพเดี่ยว มีลวดลายประกอบ ได้แก่ หนังคเนจร หนังเฝ้า หนังแผลง และหนังง่า หนังจับ ตัวหนังจะมีภาพมากกว่า 1 ตัวในแผ่นเดียวกัน เช่น กำลังต่อสู้กัน และหนังพิเศษ ซึ่งประกอบด้วย หนังเมือง มีลักษณะเหมือนพัด หรือใบลาน ภายในประกอบด้วยรูปปราสาทราชวัง หรือพลับพลา มีภาพตัวแสดงในเรื่องนั่งอยู่ หนังปราสาท มีลักษณะคล้ายหนังเมืองต่างกันอยู่ตรงที่มีภาพตัวแสดงมากกว่า 1 ตัว และหนังเบ็ดเตล็ด ซึ่งเป็นภาพตัวประกอบ ตัวตลก ต้นไม้ สัตว์ และภูเขา นอกจากนี้ยังตัวหนังที่น่าสนใจ 3 ตัว ที่เรียกว่าหนังเจ้า คือ หนังครู หรือฤาษี พระอิศวรและพระนารายณ์ ตัวหนังพระฤาษีจะสร้างเป็นรูปฤาษีถือไม้เท้า พระอิศวรกับพระนารายณ์สลักเป็นรูปตัวพระทำท่าแผลงศร เรียกว่า หนังแผลง หนังพระฤาษีจะใช้หนังเสือหรือหนังหมีแกะสลัก ส่วนหนังพระอิศวรและพระนารายณ์จะใช้หนังวัวที่ถูกเสือกัดตาย ออกลูกตาย หรือถูกฟ้าผ่าตาย ซึ่งเรียกกันว่า โคตายพราย ซึ่งในปัจจุบันการทำตัวหนังใหญ่อาจน้อยลงหรือเกือบไม่มีใครทำกันแล้ว เพราะไม่ได้ทำขาย แต่ทำเพื่อใช้แสดงเท่านั้น ไม่เหมือนหนังตะลุง และพบว่าปัจจุบันการแสดงหนังใหญ่เหลือเพียงสามคณะเท่านั้นที่ยังคงสืบสานการเชิดหนังใหญ่เอาไว้ คือ หนังใหญ่วัดสว่างอารมณ์ จังหวัดสิงห์บุรี หนังใหญ่วัดบ้านดอน จังหวัดระยอง และหนังใหญ่วัดขนอน จังหวัดราชบุรี

เมื่อพูดถึงหนังใหญ่ที่มีชื่อเสียงที่สุดในขณะนี้ก็คงต้องยกให้ “หนังใหญ่วัดขนอน”      เพราะถ้าเอ่ยถึงชื่อนี้คงไม่มีคนไทยคนไหนที่ไม่รู้จัก และเมื่อปีพ.ศ.2550 หนังใหญ่วัดขนอนได้กลายเป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติ จากการที่ชุมชนวัดขนอนได้รับรางวัลชุมชนที่มีผลงานดีเด่นในการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมเชิงนามธรรม จาก ศูนย์วัฒนธรรมภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ (ACCU) ติดหนึ่งใน 6 ชุมชน โดยอีก 5 ชุมชนเป็นของประเทศญี่ปุ่นทั้งหมด

            หลายคนอาจยังไม่ทราบว่ากว่าที่หนังใหญ่วัดขนอนจะมีชื่อเสียงได้ถึงขนาดนี้ เกิดจากความทุ่มเทและเสียสละตนเองเพื่อการอนุรักษ์หนังใหญ่ของพระรูปหนึ่ง คือ พระพระครูพิทักษ์ศิลปาคม ตั้งแต่สมัยที่ท่านยังเป็นลูกวัด

พระครูได้เล่าถึงความเป็นมาของหนังใหญ่วัดขนอนว่าหนังใหญ่วัดขนอนมีประวัติความเป็นมานานกว่า 200 ปี เริ่มตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 5 อดีตเจ้าอาวาสคือ ท่านพระครูศรัทธาสุนทร (หลวงปู่กล่อม ใน พ.ศ.2390-2485) ท่านได้ชักชวนครูอั๋ง ช่างจาด ช่างจ๊ะ และช่างพ่วง มาร่วมกันสร้างตัวหนัง หนังชุดแรกที่สร้างคือ ชุดหนุมานถวายแหวน (ประมาณ พ.ศ.2420-2430) ต่อมาได้สร้างเพิ่มอีกรวม 9 ชุด มีตัวหนังรวม 313 ตัว เป็นคณะหนังใหญ่ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้นเนื่องจากมีตัวหนังและคณะหนังใหญ่ที่ครบสมบูรณ์ นับเป็นสมบัติของวัดที่ได้ร่วมกันรักษาสืบทอดมา แต่เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ศิลปะทุกแขนงหยุดชะงัก รวมทั้งหนังใหญ่ด้วย ซึ่งภายหลังสิ้นสงคราม หนังใหญ่ได้สูญหายไป ไม่มีคนสนใจเพราะไม่สนุกเหมือนศิลปะอื่นๆ

จนมาถึงปี 2530 พระครูพิทักษ์ศิลปาคมได้มาบวชที่นี่และได้รู้ประวัติความเป็นมาดังกล่าว จึงเกิดความคิดที่อยากจะรื้อฟื้นศิลปะหนังใหญ่วัดขนอนให้กลับมามีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง พระครูได้ติดต่อกับกลุ่มที่ทำงานด้านอนุรักษ์ศิลปะเพื่อช่วยกันหาทุนมาทำงานอนุรักษ์ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะติดในเรื่องที่ว่าไม่มีคนดู ไม่มีใครรู้จักและสนใจหนังใหญ่ แต่พระครูก็ไม่ย่อท้อ พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้หนังใหญ่กลับมา จนวันหนึ่งพระครูได้มีโอกาสพบกับเลขาสมเด็จพระเทพฯ เลขาได้แนะนำให้พระครูถวายหนังใหญ่แก่ท่าน ในปี 2532 พระครูจึงได้เข้าเฝ้าพระเทพฯในวันพระราชสมภพ และในวันนั้นเองทำให้หนังใหญ่วัดขนอนได้เข้าเป็นโครงการในพระราชดำริ

แต่ก็มีปัญหาเกิดขึ้นเพราะในตอนแรกนั้น ทางวัดไม่มีทั้งตัวหนังและไม่มีครูผู้สอน พระครูจึงต้องเชิญนายหนังสุชาติ ซึ่งเป็นนายหนังตะลุงที่มีชื่อเสียงในจังหวัดนครศรีธรรมราช มาเป็นผู้สอนกรรมวิธีการแกะตัวหนังใหญ่ โดยสอนให้กับนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรที่รับสนองโครงการ และยังได้นำตัวหนังเก่าสมัยรัชกาลที่ 5 ที่หลงเหลืออยู่ภายในวัดมาคัดลอกลายแล้วเขียนสลักใหม่โดยใช้ฝีมือนักศึกษา ส่วนในเรื่องท่าทางการเชิดหนังและการบรรเลงดนตรี พระครูก็ได้รวบรวมกลุ่มชาวบ้านรุ่นเก่าที่มีความรู้มาช่วยสอน โดยเปิดสอนให้กับเด็กๆในชุมชน ตามดำริของพระเทพฯที่อยากให้สอนเยาวชนเพราะเยาวชนหัวไว สอนได้เร็ว และง่ายในการควบคุม

นับจากจุดเริ่มต้นจนมาถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 20 ปีแล้ว ที่พระครูได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ เพื่อหนังใหญ่วัดขนอน พระครูได้กลายเป็นผู้ฝึกหัดการเชิดหนังให้กับเด็กๆอย่างเต็มตัว เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กในชุมชน อายุ 5 -11 ขวบ ซึ่งเข้ามาเรียนรู้การเชิดหนัง และออกเดินสายเชิดหนังกับทางวัด โดยเด็กที่มาพระครูมีค่าขนมเล็กๆน้อยๆให้ แต่ค่าขนมไม่สำคัญเพราะสิ่งที่เด็กๆได้คือความภาคภูมิใจที่ครั้งหนึ่งตนได้เคยร่วมเชิดหนังใหญ่ สมบัติทางวัฒนธรรมล้ำค่าของชุมชน

แต่ก็ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะฝึกได้ เด็กที่มาเรียนที่นี่บางครั้งมีมากถึง 30-40 คน แต่ท้ายที่สุดอาจจะเหลือที่ฝึกเสร็จสามารถทำการแสดงได้จริงๆบางรุ่นไม่ถึง 10 คน เพราะการเชิดหนังดูจะเป็นภาระที่ยิ่งใหญ่ ต้องหมั่นซ้อม ต้องอดทน บางครั้งเมื่อเด็กเจอครูจับดัดตัวทำท่าให้สวยงามก็ร้องโอ้ดโอย เจ็บ ไม่มาอีกแล้วก็มี และเมื่อเด็กเรียนจบเชิดหนังเป็นก็ออกแสดงตามงานได้ไม่นาน เพราะเด็กอยู่ในช่วงกำลังโต เมื่ออายุมากขึ้นพวกเขาก็ไม่สนใจเพราะมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ต้องเรียน ต้องทำงาน เปลี่ยนไปตามวัย พระครูจึงต้องสอนเด็กรุ่นใหม่ขึ้นมาแทน รุ่นแล้วรุ่นเล่า ไม่มีวันสิ้นสุด

            พิพิธภัณฑ์หนังใหญ่วัดขนอน โครงการตามพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี อยู่ห่างจากตัวอำเภอโพธารามประมาณ 10 กิโลเมตร ลักษณะเป็นเรือนไทยเก็บรักษาตัวหนังใหญ่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นการละเล่นชั้นสูงจำนวน 313 ตัวในสภาพสมบูรณ์ นับเป็นวัดเดียวในประเทศไทยที่ยังมีหนังใหญ่เหลือให้ชมได้อย่างครบชุดเช่นนี้ และยังคงมีการจัดการแสดงหนังใหญ่สืบทอดต่อกันมา นอกจากนี้ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการประวัติความเป็นมาของหนังใหญ่ และกรรมวิธีการแกะสลักตัวหนังใหญ่ ทางวัดได้จัดแสดงเชิดหนังใหญ่ทุกวันเสาร์เวลา 10.00 – 11.00 น. เพียงรอบเดียวโดยนักเรียนจากโรงเรียนวัดขนอน สำหรับวันธรรมดาโปรดติดต่อล่วงหน้า ส่วนผู้ที่สนใจอยากเรียนการเชิดหนังใหญ่พระครูก็ได้เปิดให้ผู้สนใจสามารถมาเรียนการเชิดหนังใหญ่ได้ไม่จำกัดจำนวน แต่ต้องดูที่ความตั้งใจเป็นหลัก สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เจ้าอาวาสวัดขนอน โทร. 032 - 354272

 

 

หมายเลขบันทึก: 280046เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2009 14:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:08 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท