สวนสาธารณะ กับวิธีการประเมินโครงการ


สิ่งใดที่เป็นหลักการ ความรู้ ถ้าหากผู้นำมาใช้รู้จริง จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์

เมื่อวันพุธที่ 22 ก.ค. 2552 (แน่นอนวันสุริยคราส) ข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปนั่งในห้องเรียนของนิสิตปริญญาเอกสาขาวิจัยและประเมินผล ของคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิชาที่นิสิตเรียนกันในวันนี้คือ วิชาวิธีประเมินโครงการ ซึ่งวันนี้เป็นวันที่มีแขกรับเชิญมาสอนคือ Prof.Dr.Susan Jungck จาก Chicago

สิ่งที่ข้าพเจ้าจะเล่าต่อไปนี้ไม่ใช่วิชาประเมินโครงการ แต่เป็นวิธีการสอน (Teaching Techiques) ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็น Trainer มือใหม่ (มาก) หัดขับ จึงเข้าไปขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์วิธีการนำเสนอ ขอกล่าวนิดหน่อยว่า วิชาวิธีประเมินโครงการนั้นเป็นวิชาที่เต็มไปด้วยเทคนิคชั้นสูงและเป็นศาสตร์แขนงหนึ่ง ซึ่งผู้ที่ผ่านวิชาอื่นๆ มาจนมาถึงวิชานี้ถือว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิเลยทีเดียว ถ้าหากมองจากมุมของข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าคงไม่สามารถเข้าใจวิชานี้ได้เพียงแค่มานั่งฟังในครั้งเดียวนี้ แต่ที่น่าสนใจคือวิธีการสอนของ Dr.Susan เป็นการสอนที่เข้าใจง่าย ด้วยการเปรียบเทียบสิ่งที่ยากกับสิ่งที่ง่ายกว่าหรือใกล้ตัวกว่า หรือบางคนอาจจะคิดว่ายากกว่าก็เป็นได้

Dr.Susan ให้นิสิตลองจินตนาการถึงสวนดอกไม้ สวนสมุนไพร สวนสาธารณะ และ/หรือสวนต่างๆ ที่เคยเห็น แล้ว Dr.Susan ก็เล่าเรื่องการเรียนการสอนโรงเรียนชั้นประถมปลายของประเทศโปรตุเกสที่เมืองปอร์ตู้ว่า Sorralves Foundation ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านศิลปะร่วมมือกับโรงเรียนในเมืองปอร์ตู้ 81 โรง เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้ถึงสวน รูปแบบและประเภท เพื่อให้เกิดการสร้างจิตสำนึกในการรักธรรมชาติ โดยที่ผนวกวิชาที่เกี่ยวข้องกับการทำสวน เช่น Landscape, Water Engineering, Biologist, ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้/ดอกไม้, ผู้เชี่ยวชายด้านแมลง และศิลปินผู้ออกแบบสวนสวยต่างๆ เป็นจุดที่ศาสตร์และศิลป์มาพบกันได้อย่างลงตัว นักเรียนจะได้เยี่ยมชมสวนหลายประเภทและพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่อยู่ในเครือ รวมทั้งเรียนเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการสร้างสวนสวย โครงการนี้ใช้เวลา 1 ปี เมื่อเสร็จสิ้นโครงการแล้ว นักเรียนทุกคนจะต้องสร้างสวนในกล่อง 1 ใบ Dr.Susan ให้โจทย์ว่า ให้นิสิตคิดว่าจะประเมินโครงการนี้อย่างไร สมมติว่า Dr.Susan เป็น Sponsor ที่จ่ายเงินเพื่อโครงการนี้และอยากจะรู้ว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จหรือไม่

นั่นคือสิ่งที่ Dr.Susan สอนและให้นิสิตคิด ข้าพเจ้าจะไม่กล่าวถึงรายละเอียด แต่สิ่งที่น่าสนใจคือการเปรียบเทียบว่าสวนโดยทั่วไปคือโครงการ ลองนึกดูว่าสวนที่สร้างออกมาจนสวยงามขนาดนั้นแล้ว คงต้องมีวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของการสร้างและตกแต่งสวนเป็นอย่างแน่แท้ มีการวางแผนในการจัดสวนและมีการลงมือทำจนเสร็จด้วยความร่วมมือจากผู้ร่วมงานที่เชี่ยวชาญด้านต่างๆ แต่สวนจะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ต้นไม้เติบโต ต้นไม้เหี่ยวตาย ดอกไม้งอกใหม่ ก้อนหินไม่สวยแล้ว เป็นต้น ผู้ดูแลสวนก็คือผู้ประเมิน ต้องประเมินสวนตลอดเวลาว่าจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสิ่งใด เพื่อให้สวนนั้นคงสภาพอยู่เสมอ นอกจากนั้น ผู้ประเมินยังต้องมีความรู้เรื่องสวนเป็นอย่างดี การประเมินก็เปรียบเสมือนการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสวน

ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ว่า สิ่งใดที่เป็นหลักการ ความรู้ ถ้าหากผู้นำมาใช้รู้จริง จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกสถานการณ์ และการประเมินโครงการแท้จริงแล้ว เป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ เพราะมนุษย์จะเปรียบเทียบหรือตรวจสอบเพื่อปรับปรุงสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ แตกต่างเพียงแต่การอ้างอิงถึงรูปแบบหรือทฤษฎีที่ได้รับการยอมรับแล้ว หรือทำไปโดยต้องการความก้าวหน้า

 

หมายเลขบันทึก: 279463เขียนเมื่อ 23 กรกฎาคม 2009 17:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 17:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ภาวิณี ศรีสุขวัฒนานันท์

Dr.Susan ในฐานะเจ้าของเงินที่สนับสนุนการประเมินโครงการ ให้โอกาสผู้สนใจเสนอโครงการประเมินโครงการเป้าหมายที่กำหนด แต่คนที่จะได้รับงานนี้ไป ต้องสำแดงขอเสนอที่จะหาคำตอบที่ตอบคำถามที่ Dr. Susan ต้องการ

แน่นอน Dr. Susan ต้องการความจริงของโครงการที่ลงทุนไป และแนวทางการพัฒนา เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ต่อสังคม

ผู้ประเมินที่ด่วนเสนอรูปแบบ CIPP เปรียบเสมือนผู้ที่ด่วนกระโจนลงเรือที่กำลังจะแล่นไปเกาะตาลูเตา คงมีความสุขบนเกาะนั้น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท