“การทำสิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่”


การทำสิ่งที่เล็กๆแต่ให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่

ช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา หลังจากผู้เขียนทำงานในวงการธุรกิจมาได้ระยะหนึ่ง (ประมาณ 7 ปี) ได้ลาออกมาเรียนต่อในสาขาจิตวิทยาซึ่งภายหลังได้มีโอกาสฝึกงานและทำงานกับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไรนานาชาติแห่งหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ลี้ภัยบนโลกนี้ ได้มีโอกาสทำงานโดยตรงแบบตัวต่อตัวกับผู้ลี้ภัยจากหลายชาติจากหลายทวีป ทั้ง อัฟริกา ตะวันออกกลาง และจากประเทศต่างๆ ในเอเชีย (เยอะที่สุดคือ ชาวพม่า) ซึ่งกลุ่มใหญ่คือผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ อีกกลุ่มหนึ่งคือผู้ลี้ภัยทางการเมือง

 

จากงานที่ได้เข้าไปสัมผัสกับชีวิตของผู้ลี้ภัยเหล่านี้โดยตรง ทำให้รับรู้ถึงหลายสิ่งหลายอย่างในมุมที่ไม่เคยรับรู้มาก่อนกับสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นบนโลกใบนี้ นอกเหนือจากข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

 

ที่สำคัญการที่ได้ทำหน้าที่พูดคุยกับพวกเขาเหล่านั้น รับรู้ถึงชีวิตที่ยากลำบากของพวกเขา ได้ส่งผลบางอย่างในการมองชีวิตของตนเอง  จากที่กล่าวข้างต้นถึงผู้ลี้ภัย 2 ประเภทหลักที่ได้ทำงานด้วย งานที่ได้สัมผัสกับสองกลุ่มค่อนข้างแตกต่างกันนิดหน่อย กลุ่มผู้ลี้ภัยจากการสู้รบ ผู้เขียนได้รับบทบาทเจ้าหน้าที่ผู้สัมภาษณ์เพื่อตรวจสอบซักประวัติที่มาที่ไปของผู้ลี้ภัยโดยเฉพาะกับเด็กๆที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูพวกเขาได้ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดๆ

ส่วนกลุ่มผู้ลี้ภัยทางการเมือง ซึ่งเป็นงานชิ้นแรกที่ได้รับมอบหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย ผู้เขียนได้รับบทบาทที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมาคือทำหน้าที่เป็นนักจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ซึ่งในภาษาอังกฤษ เรียกว่า Counseling Psychologist ดังนั้นจึงมีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ลี้ภัยแต่ละคนแบบตัวต่อรวมถึงการใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาต่างๆ เข้ามาช่วยในการประเมินสภาวะจิตใจและอาการทางจิตในรูปแบบต่างๆด้วย และที่นี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสถึงความรู้สึกที่แตกต่างอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในชีวิตการทำงานของผู้เขียน

 

นั่นคือ การทำสิ่งที่เล็กๆแต่ให้ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ ต้องบอกก่อนว่างานนี้ผู้เขียนทำงานในฐานะอาสาสมัครเพื่อเป็นส่วนหนึ่งซึ่งใช้ประกอบกับการเรียนทางด้านจิตวิทยาในขณะที่ผู้เขียนกำลังจะเรียนจบจากการศึกษาต่อ

 

เหตุผลที่ผู้เขียนใช้คำว่า การทำสิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ เป็นเพราะสิ่งที่ทำถ้ามองเผินๆ ก็คงไม่ต่างกับการนั่งพูดคุยทั่วๆไปกับ มนุษย์ร่วมโลกคนหนึ่ง หากเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว เวลาที่ผู้เขียนได้ใช้ในการนั่งพูดคุย อยู่กับผู้ลี้ภัยแต่ละคน มันมีความหมายต่อพวกเขาอย่างยิ่ง  ในเวลาปกติพวกเขาคือผู้ที่หนีออกจากประเทศของตนซึ่งไม่สามารถอยู่ในบ้านเกิดเมืองนอนของตนเอง ที่ที่มีครอบครัว ลูก พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่อน (เนื่องจากผู้ลี้ภัยประเภทนี้ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เฉพาะบางอย่าง) หรือ ถ้ามีก็อยู่กันอย่างพลัดพรากหรือได้ตายจากกันด้วยเหตุการณ์อันตราย หลายคนเคยถูกทรมานในรูปแบบต่างๆทั้งทางร่างกายและจิตใจ หลายคนเหมือนอยู่ตัวคนเดียวในดินแดนที่ไม่ใช่บ้าน และเขาก็ไม่มีสิทธิ ไม่สามารถเรียกร้องขอสวัสดิภาพอะไรได้มากมายเนื่องจากตนเองตกอยู่ในสถานภาพที่ต้องจำยอม ความปลอดภัยในชีวิตคือปัจจัยหลักอันดับหนึ่งที่พวกเขาต้องการ แต่ก็ไม่สามารถคาดหวังได้ในความเป็นจริง ทุกคนต้องอยู่อย่างหวาดกลัวโดยมีความหวังว่าวันหนึ่งพวกเขาจะได้รับความกรุณาจากประเทศที่สามให้พวกเขาได้ไปตั้งต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง

คนส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับความรู้สึกหวาดกลัวขั้นรุนแรงเป็นระยะเวลานาน จนหลายคนมีอาการทางจิตประสาท เห็นภาพหลอน รู้สึกถึงอาการทางร่างกายในรูปแบบต่างๆ โดยไม่มีอาการทางร่างกายเกิดขึ้นจริงเมื่อได้รับการตรวจจากแพทย์ อาการดังกล่าวในภาษาทางจิตวิทยา อาจเรียก จิตเภท หรือ Schizophrenia (ใกล้เคียงความผิดปกติของพระเอกเรื่อง The Beautiful Mind)

 

และสิ่งที่พวกเขาทำได้เพื่อตอบกลับการที่ผู้เขียนได้ใช้เวลาพูดคุยกับพวกเขา คือ คำขอบคุณ เช่นเดียวกัน คำขอบคุณที่ผู้เขียนได้รับ มันแตกต่างจากคำขอบคุณอื่นๆที่ได้รับมาในชีวิต ผู้เขียนได้รับความรู้สึกปลื้มปิติ รู้สึกยิ่งใหญ่และพองโตในหัวใจ ถึงแม้จะรู้ว่า มันเป็นการช่วยเหลือเพียงเล็กๆน้อยๆ หากแต่ว่ากลับเป็นเหมือนไม้ขีดไฟเล็กๆ ที่ทำให้ห้องเย็นและมืดในใจของพวกเขา ส่องสว่างและอบอุ่นในเสี้ยวเวลาเล็กๆ นั้น

 

วันนี้ผู้เขียนด้วยโชคชะตาทำให้ได้กลับมาทำงานในภาคธุรกิจอีกครั้ง แต่ความรู้สึกและมุมมองในการทำงานหรือทำสิ่งอื่นๆต่อไปในชีวิตมันได้เปลี่ยนไป  ประสบการณ์เหล่านี้ได้ทำให้ผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะทำอีกหลายสิ่งหลายอย่างในชีวิต มากกว่าที่กำลังทำอยู่และที่เคยได้ทำมา

 

นอกจากนั้นแล้ว ผุ้เขียนรู้สึกขอบคุณชะตาชีวิตที่ทำให้เกิดอยู่ในประเทศไทย ที่ทียังมีความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และอิสระที่จะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง รู้สึกขอบคุณที่มีประเทศ มีบ้านให้อยู่เป็นหลักแหล่งถาวร มีโอกาสได้รับการศึกษา มีสิทธิในความเป็นประชาชนของประเทศแม้ว่ามันจะไม่สมบูรณ์แบบ มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและเพื่อนฝูง อย่างไม่โดดเดี่ยวอ้างว้าง

 

ผู้คนที่กำลังต่อสู้แย่งชิงอำนาจ หรือเรียกร้องสิทธิต่างๆ อย่างไม่มีขอบเขต หากวันหนึ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปเพียงเพราะการแย่งชิงอำนาจที่ไม่มีซึ่งขอบเขต แล้วทำให้ ความปลอดภัย ความสะดวกสบาย และอิสระที่จะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง การมีประเทศมีบ้านให้อยู่เป็นหลักแหล่งถาวร มีโอกาสได้รับการศึกษา มีสิทธิในความเป็นประชาชนของประเทศ มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดกับครอบครัวและเพื่อนฝูง อย่างไม่โดดเดี่ยวอ้างว้าง มันหายไป เราจะไปเรียกร้องกลับคืนมาจากใคร แล้วลูกหลานของพวกเราจะอยู่กันอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 279054เขียนเมื่อ 22 กรกฎาคม 2009 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

ยินดี ที่รู้จัก จาก

Counselor คนหนึ่งเหมือนกัน

เป้นกำลังใจ ให้ทำดีต่อไำปครับ

พออ่านเสร็จรู้สึกเหมือนผึ้งว่านั้นแหละ

ดีใจที่ได้อยู่ในประเทศไทย

มีอาจารย์จากอิรักมาทำวิจัยที่คณะเทคนิค

พอมาที่ขอนแก่น อาจารย์ที่รู้จักพอไปรับรอง ทานข้าว

แล้วถามว่า อยากไปที่ไหนไหม

อาจารย์แกบอกว่าอยากไปซื้อผ้าตัดเสื้อ

เพราะอยู่ที่แบกแดดไม่ได้ซื้อผ้าเลย

วิ่งหลบระเบิดอย่างเดียว เช้าออกจากบ้าน เย็นกลับบ้าน

ห้อง lab ก็โดนระเบิดพังหมด - ฟังแล้วก็เศร้า

Many time people including me take many things for granted. Talking to you, listen you telling story or reading this article really remind me to thankful and happy with my life what I have or what I am today.

อืม..ดีจังที่อย่างน้อยที่สุดพี่รู้สึกว่ายังมีคนคนหนึ่งที่ยังคอยห่วงใยเพื่อนมนุษย์นะ พี่เห็นทุกวันนี้มีแต่คนอคยวิ่งหาความฝันของตน เพื่อตอบสนองแต่ความทะยานอยากแห่งตน

ดีใจที่ได้เจอน้องที่น่ารัก เข้าใจสังคม และแบ่งปันความเอื้ออาทรให้คนอื่น

คงจะเป็นต้นแบให้ใครอีกหลายคน

เคยศึกษาเกี่ยวกับชีวิตของผู้ลี้ภัยเหมือนกันเพราะอยากทำงานสังคมด้านนี้ แต่ไม่เคยลงไปสัมผัสใกล้ชิดเหมือนคุณน้ำผึ้ง แต่พอศึกษาแล้วมีความรู้สึกสงสารจนไม่อยากจะรับรู้อะไรอีก เพราะมันรู้สึกสะท้อนใจมากๆ และเราไม่มีทางช่วยเหลืออะไรเขาได้ แต่สิ่งที่คุณน้ำผึ้งทำนี้ ขอบอกว่าดีมากๆ ถ้ามีโอกาสก็ยังอยากจะทำเช่นคุณเหมือนกัน ตัวเองกำลังตัดสินใจอยู่ว่าจะเรียนต่อในสาขาจิตวิทยา เพราะว่าอยากทำงานเพื่อสังคมอยู่เหมือนกันแต่ยังไม่ได้คิดว่าจะทำด้านไหน เพราะต้องทำนอกเวลางาน(ปัจจุบันทำงานประจำ)ถ้าเป็นได้ก็อยากทำเหมือนคุณน้ำผึ้งนี่แหละค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท