2548-03-19-การพิสูจน์สถานะบุคคลของมอแกน : อะไรคือความแตกต่างไปจากสิ่งที่เคยเป็นความผิดพลาดในอดีต ?


อันเนื่องจาก อ.แหววเตือนว่า ควร back up งานเขียนในอดีต จึง copy มันมาแปะไว้ ณ blog นี้..การพิสูจน์สถานะบุคคลของมอแกน : อะไรคือความแตกต่างไปจากสิ่งที่เคยเป็นความผิดพลาดในอดีต ? วันเสาร์ที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๘

ขณะที่ใครหลายคนยังมีข้อสงสัยเจือความกังวลว่า ยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะบุคคลและสิทธิบุคคล จะสามารถแก้ไขปัญหาการไม่ได้รับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยของชนพื้นเมืองดั้งเดิม หรือที่หน่วยงานรัฐเรียกคนกลุ่มนี้ว่า ชาวเขาหรือ บุคคลบนพื้นที่สูงได้จริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กระบวนการต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ก็ได้เริ่มเดินหน้าไปแล้ว หลังจากที่ตัวยุทธศาสตร์ฯ ได้รับความเห็นชอบโดยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ความสงสัยเจือความกังวลของฉันและเพื่อนบางคนจึงเริ่มขยายโฟกัสไปที่กระบวนการ/ขั้นตอนต่างๆ ที่จะนำไปสู่การออกเอกสารพิสูจน์พิสูจน์ทราบตัวบุคคลพื้นฐานหรือที่สภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เรียกว่า Proper Document

 

เพราะปัญหาที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะบุคคล นักวิชาการ สภาทนายความ องค์กรอิสระพบ และที่สำคัญเป็นปัญหาใหญ่ของตัวผู้ถือเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลเอง ก็คือ เอกสารฯ ที่คนบางกลุ่มถืออยู่นั้นมีปัญหาว่าข้อมูลส่วนบุคคลที่ระบุในเอกสารฯ เช่น แบบพิมพ์ประวัติ หรือบัตรประจำตัว นั้นไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เช่น ตัวสะกดของชื่อบุคคล (พ่อ แม่ พี่น้อง), เกิดในไทยแต่ในเอกสารฯ กลับระบุว่าเกิดพม่า, ข้อมูลสมาชิกในครอบครัวไม่ครบ, การระบุว่าบุคคลนั้นๆ เป็นคนสัญชาติพม่า กะเหรี่ยง หรืออื่นๆ ทั้งๆ ที่ยังไม่ปรากฎข้อยุติ ฯลฯ

 

การที่ข้อมูลที่ปรากฎในเอกสารกับข้อเท็จจริงไม่ตรงกันนี้ ในแง่บุคคลที่ถือเอกสารฯ แล้ว นำมาซึ่งปัญหาในการพิสูจน์ตน เพราะมันจะเป็นตัวชี้ว่า บุคคลจะได้รับการรับรองว่าเป็นผู้มีสัญชาติไทยหรือไม่ และสำหรับคนทำงานด้านสถานะบุคคลแล้ว ความไม่ต้องตรงกันของข้อมูลนำมาซึ่งการตั้งคำถามต่อประสิทธิภาพในการแสวงหาข้อมูลส่วนบุคคล และต่อเนื่องไปเป็นข้อถกเถียงต่อความน่าเชื่อถือของพยานเอกสารที่ดำเนินการโดยหน่วยงานภาครัฐ

 

ลงพื้นที่สำรวจสภาพข้อเท็จจริงเบื้องต้นของกลุ่มมอแกนที่อ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉันมีโอกาสได้คุยกับปาน-เจ้าหน้าที่ของสมช. ที่ลงพื้นที่พร้อมกัน ถึงข้อกังวลนี้ ปานบอกว่าตัวเขาเองหรือสมช. ก็มีความกังวลในประเด็นนี้อยู่บ้าง แต่เขาเห็นว่าครั้งนี้-การทำงานภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ-จะสร้างความแตกต่างไปจากสิ่งที่เคยเป็นความผิดพลาดในอดีต คำพูด คำอธิบายของปาน ไม่ต่างไปจากผู้ใหญ่ในสมช. หรือในกรมการปกครองที่ฉันมีโอกาสได้คุยแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้ และทุกครั้งฉันก็ได้พูดออกไปด้วยเช่นกันว่า เราคงต้องรอดูกันต่อไป

 

แล้วการพิสูจน์ว่าความแตกต่างนั้นมีจริงหรือไม่ ก็มาถึง

 

การสำรวจประชากรมอแกนและการจัดทำแบบพิมพ์ประวัติโดยหน่วยงานภาครัฐ

๑๕-๑๖ มีนาคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ภายใต้การรับรู้ของสมช. กรมการปกครองส่วนกลางได้ส่งเจ้าหน้าที่ชุดหนึ่งลงไปปฏิบัติงานร่วมกับอำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ในการเก็บข้อมูลประชากรมอแกน ที่อ่าวบอนใหญ่ หมู่เกาะสุรินทร์ และจัดทำแบบพิมพ์ประวัติของชาวมอแกนแต่ละคน พื้นที่นี้ได้ถูกคาดหวังอย่างไม่เป็นลายลักษณ์อักษรว่าเป็น พื้นที่นำร่องของกระบวนการแสวงหาและจัดทำข้อมูลเพื่อนำไปสู่การออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล

 

ฉันติดรถตู้ และเรือ speed boat ของเจ้าหน้าที่กรมการปกครองส่วนกลางไปยังอ่าวบอนใหญ่ เกาะสุรินทร์ใต้ เพื่อตามไปสมทบกับทีมงานของกระจกเงา (โจ้ ชาติ เลาะ และนุช) และทีมงานของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เน็ตและนิ่น) ที่ลงพื้นที่ไปตั้งแต่เมื่อ ๘ วันก่อน เพื่อสังเกตการณ์กระบวนการแสวงหาและจัดทำข้อมูลเพื่อไปสู่การออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลของทีมงาน ๒ กลุ่ม คือ ระหว่างทีมงานของเอ็นจีโอและนักวิชาการ กับทีมงานของภาครัฐคือกรมการปกครองส่วนกลางและอำเภอคุระบุรี

 

ฉันและทีมงานของภาครัฐไปถึงอ่าวบอนใหญ่ประมาณบ่ายโมง (สวนกับทีมของกระจกเงาและสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ที่เพิ่งออกเรือไปได้สัก ๒ ชั่วโมง และตามมาสมทบประมาณบ่ายสองโมงเศษๆ) เมื่อไปถึงแบบฟอร์ม และเครื่องมือ อุปกรณ์ทุกอย่างถูกจัดเรียงขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วฉันก็ได้เห็นแบบฟอร์มที่ฉันและเพื่อนรวมถึงที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์อย่างรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ สายสุนทร เฝ้าถามมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาถึงหน้าตาของมัน มันประกอบไปด้วย แบบฟอร์ม ๒ ชุด คือ (๑) แบบสำรวจบัญชีรายชื่อชาวเล (มอร์แกน) ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ หมู่ที่…. ชื่อบ้าน…. ตำบล…… อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา และ (๒) แบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง (กระดาษแข็งสีเหลือง) ที่ถูกเขียนด้วยลายมือเพิ่มเติมที่มุมด้านขวา ว่า ชาวเล[2][2]

 

ขั้นตอนแรกก็คือ เจ้าหน้าที่จะถ่ายรูปหมู่ และรายบุคคลของแต่ละครอบครัว โดยบันทึกภาพด้วยกล้องดิจิตอล หลังจากนั้นครอบครัวดังกล่าวจะถูกส่งไปให้เจ้าหน้าที่ซักถามประวัติตาม แบบสำรวจบัญชีรายชื่อชาวเล (มอร์แกน) ว่าเป็นครอบครัวที่เท่าไร มีสมาชิกในบ้านกี่คน แยกเป็นเพศชาย/หญิงกี่คน และลงรายละเอียดว่า ชื่อ-สกุลอะไร เพศอะไร วันเดือนปีเกิด อายุ สถานที่เกิด ชื่อบิดา ชื่อมารดา และช่องสุดท้ายคือหมายเหตุ ต่อจากนั้นคือการคัดลอกข้อมูลลงแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูง โดยเพิ่มเติมข้อมูลเรื่องตำหนิรูปพรรณ และส่งไปพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นขั้นตอนสุดท้าย

 

รวมระยะเวลาประมาณวันเศษๆ การสำรวจข้อมูลประชากรมอแกนและจัดทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลบนพื้นที่สูงของทีมหน่วยงานภาครัฐก็เสร็จสิ้น

 

การแสวงหาข้อเท็จจริงของแต่ละบุคคลเพื่อนำไปสู่การออกเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลสำหรับกลุ่มมอแกนโดยภาคประชาชน

 

จำเป็นต้องกล่าวไว้ ณ ที่นี้ว่า การทำงานของหน่วยงานภาครัฐจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ และได้ข้อมูลที่ใกล้เคียงกับข้อเท็จจริงน้อยกว่านี้ ถ้าไม่มี โจ้และเน็ต เข้ามาร่วมในฐานะผู้สังเกตการณ์ ผู้สนับสนุนข้อมูล รวมถึงการยืนยันอย่างหนักแน่นถึงข้อมูลของบุคคลและครอบครัวมอแกนบางครอบครัว ฯลฯ

 

โจ้และเน็ตนำเอาแบบบันทึกประวัติชุดที่พวกเขาลงมือทำตั้งแต่เมื่อ ๘ วันก่อน มาประกอบการชี้แจงข้อมูลหลายประเด็นที่ทีมงานภาครัฐ ไม่เข้าใจและ เข้าใจผิด

 

จำเป็นต้องกล่าวอีกเช่นกันว่า ไม่เกินเลยไปจากความจริงสักนิดเดียวเลยที่ว่า ทันทีที่ทุกคนได้เห็น ผลงานที่ทีมกระจกเงาร่วมกับทีมงานของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาลงกรณ์ทำ ต่างก็นิ่งกันไปพักใหญ่ แน่นอนว่า ไม่มีใครจะรู้ได้แน่ชัดว่าความรู้สึกหรือความเห็นของเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีต่อ ผลงานของทีมกระจกเงาและทีมสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ หรือการจัดทำพยานเอกสารภาคประชาชนนั้นเป็นอย่างไร

 

แต่สำหรับฉัน ในฐานะคนนอกของทั้ง ๒ ทีม ต้องบอกว่าแต่ละปึกที่บรรจุข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิกในแต่ละครอบครัวนั้น ลงรายละเอียดอย่างแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับแบบฟอร์มของหน่วยงานภาครัฐ เริ่มจากหน้าแรกที่เป็น (๑) ข้อมูลสมาชิกในครอบครัว พร้อมรูปหมู่ครอบครัว หน้าถัดๆ ไป เป็น (๒) ข้อมูลส่วนบุคคลของสมาชิกในครอบครัว พร้อมรูปถ่ายหน้าตรงของแต่ละคน ถัดไปเป็น (๓) ต้นไม้เครือญาติ (family tree) ที่เล่าถึงลำดับของสมาชิกครอบครัวรวม ๓ เจเนอเรชัน คือ ตั้งแต่ปู่ย่า/ตายาย พ่อแม่ และรุ่นลูก ท้ายสุดเป็น (๔) ลายพิมพ์ลายนิ้วมือของสมาชิกในครอบครัว

 

ยิ่งได้มาเห็น ลังอุปกรณ์ของทีมงาน-ที่ประกอบไปด้วย เครื่องชั่งน้ำหนัก แผ่นป้ายสำหรับวัดส่วนสูง โนตบุ๊ค พรินท์เตอร์ส์-สำหรับพรินท์ภาพถ่าย อุปกรณ์สำหรับพิมพ์ลายนิ้วมือ รวมถึงกล่องแบตเตอรี่ที่แสนจะหนัก-แล้ว ต้องบอกว่าแม้ความยาวนานของประวัติศาสตร์ของกระจกเงาจะเทียบไม่ได้กับความยาวนานของประวัติศาสตร์ ส่วนการทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง แต่ในแง่ความเป็นมืออาชีพในการทำงานข้อมูลแล้ว กระจกเงาสู้ได้สบาย

 

การทำงานภายใต้รูปแบบเดิมๆ และทัศนคติเดิมๆ อาจนำมาซึ่งปัญหาเดิมๆ

ต้องยอมรับว่า ฉันไม่เคยรู้เห็นการจัดทำแบบพิมพ์ประวัติบุคคลโดยหน่วยงานภาครัฐมาก่อน และนั่นคือเหตุผลที่อาจารย์แหวว ผลักดันและกระตุ้นให้ฉันมาถึงที่นี่ ในช่วงเวลาแบบนี้ แต่ปรากฎการณ์ที่ฉันพบเห็นนั้น ช่างคล้ายคลึงหรือแทบจะไม่แตกต่างไปจากคำบอกเล่า-ของผู้ถือบัตรสีที่มีปัญหาเรื่องการพิสูจน์สถานะบุคคลฯ เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนหลายคน รวมถึงนักวิชาการที่ติดตามประเด็นสถานะบุคคล-ถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

 

-การซักถามเพียงว่า พ่อแม่เป็นใคร เกิดที่ไหน ย่อมไม่เพียงพอต่อการแสวงหาข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลและครอบครัวหนึ่งๆ

 

-การไม่พยายามสะกดชื่อให้ใกล้เคียงการออกเสียงของคนมอแกน ย่อมสร้างปัญหาในการพิสูจน์สถานะในอนาคต

 

ฉันได้คุยกับทีมงานของกระจกเงาคนหนึ่งถึงประเด็นนี้ เขาพูดเจือเสียงหัวเราะแปร่งๆ ในประโยคที่ว่า เจ้าหน้าที่รัฐชอบพูดแบบนี้แหละ ไม่มีปัญหาอะไรหรอก เขียนๆ ไปก่อน เดี๋ยวยังไงก็ต้องไปพิสูจน์สถานะกันอีกที แล้วถึงเวลานั้นนั่นแหละ จะมีปัญหาเขายกตัวอย่างว่า ชนเผ่าหลายคนที่เขาช่วยทำคำร้องเพื่อขอลงรายการสัญชาติไทย ก็เจอกับปัญหาลักษณะนี้ คือ ชื่อบุคคลที่ไม่ตรงกันนั้น สร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับเจ้าหน้าที่ในชั้นกระบวนการพิจารณาสถานะ โดยเจ้าหน้าที่มักเชื่อว่า ไม่ใช่บุคคลคนเดียวกันมากกว่า จะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รัฐกรอกข้อมูลผิด หรือไม่ใส่ใจในการกรอกข้อมูลให้ถูกต้อง

 

-การไม่ซักประวัติครอบครัวให้ละเอียด โดยคำนึงถึงลักษณะความเป็นอยู่ของชาวมอแกน อาทิ มีหลายครอบครัวที่เมื่อแยกบ้านออกไปแล้ว เนื่องจากที่มีลูกหลายคน จึงยกให้ปู่ย่าหรือตายายเลี้ยงแทน โจ้ชี้ให้ฉันดูเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่จับมือ เกาะปู่แจ โจ้บอกว่าถ้าใครลองไปแยก ๒ คนนี้ออกจากกัน เด็กจะร้องไห้ไม่หยุดเลย และผลก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐถามแค่ว่า ปู่ชื่ออะไร พ่อแม่เด็กชื่ออะไร เด็กชื่ออะไร โจ้ต้องเข้าไปช่วยอธิบายว่าพ่อแม่ของเด็กอยู่อีกบ้านหนึ่ง ประเด็นก็คือ การยกลูกให้ญาติเลี้ยงเป็นเรื่องปกติของมอแกน แล้วโจ้คงไม่สามารถอธิบายให้เจ้าหน้าที่รัฐฟังได้ทุกกรณีหรอก คงมีบ้างที่หลุดหูหลุดตาโจ้ไป แล้วคำถามก็คือ เจ้าหน้าที่รัฐจะกรอกข้อมูลเด็กไว้ที่บัญชีรายชื่อฉบับไหน ถ้ากรอกไว้ที่บ้านปู่ โดยระบุชื่อพ่อแม่เด็ก แล้วชื่อพ่อแม่เด็กจะเป็นชื่อเดียวกับบัญชิรายชื่อฉบับครอบครัวพ่อแม่เด็กไหม แล้วถ้าชื่อสะกดไม่ตรงกัน จะเกิดอะไรขึ้น

 

-ที่สำคัญเจ้าหน้าที่รัฐไม่มีความรู้ ความเข้าใจถึงวิถีและวัฒนธรรมของชาวมอแกน ว่าเป็นกลุ่มชนพื้นเมืองที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมการโยกย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลแม้กระทั่งถึงปัจจุบัน

 

-มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ฉันเอ่ยแย้งเบาๆ ในประเด็นหนึ่งที่ว่า ไม่ควรสรุปว่าคนๆ หนึ่งเป็นพม่าเพียงเพราะคนนั้นเกิดที่เกาะจาเดี๊ยก (หรือเกาะย่านเชือก ในรัฐพม่า) เพราะยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดว่าคนดังกล่าวไม่ได้สัญชาติไทยตามพ่อแม่ รวมถึงปู่ย่าตายยายตามหลักสายโลหิต หรือไม่สามารถสรุปได้ว่าใครมีสัญชาติไทยหรือมีสัญชาติพม่าเพียงเพราะสถานที่เกิดเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่รัฐก็ยังยืนอยู่ดีว่าเกิดจาเดี๊ยกก็ไม่เป็นไทยแน่ๆ แล้ว

 

-เจ้าหน้าที่รัฐยืนยันว่า ข้อมูลที่น่าเชื่อถือที่สุด คือข้อมูลที่จัดทำโดยอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ เนื่องจากเป็นหน่วยงานรัฐ และให้ความสำคัญกับข้อมูลทีมกระจกเงาและสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ น้อยมาก-จนถึงไม่สนใจ อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า มีการเลือกใช้ข้อมูลที่จัดทำโดยทีมกระจกเงาและสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ อยู่บ้าง เช่น การอ้างอิงบ้านเลขที่ ชื่อของสมาชิกในครอบครัว

 

อย่างไรก็ดี ประเด็นนี้ ฉันก็ยังมีความเห็นว่า หน่วยงานรัฐยังคงสามารถมีอิสระในการทำงานในการแสวงหาข้อมูล

 

-นอกจากนี้ก็เป็นบางแง่มุมของทัศนคติแบบเดิมๆ เช่น การใช้สรรพนามบางคำของเจ้าหน้าที่ภาครัฐบางคนที่ขัดหูคนฟังภาษาไทยออกหลายคน ตั้งแต่เรียกมอแกนว่า มัน-อย่างนั้น” “มัน-อย่างนี้รวมถึงบางประโยคของเจ้าหน้าที่รัฐบางคนที่จงใจแสดงว่าการประกอบภารกิจครั้งนี้เป็นความเมตตาที่หยิบยื่นให้ หรือเป็นบุญเป็นคุณระหว่างมอแกนกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ (ฉันบอกกับโจ้ว่า ที่จริง น่าจะอัดวิดีโอเทปตอนที่เจ้าหน้าที่รัฐทำงานเนอะ!)

 

-กรณีที่บุคคลนั้นเกิดพม่าแล้วเดินทางเข้ามาในรัฐไทย โดยอาศัยอยู่ที่หมู่เกาะสุรินทร์เป็นเวลานานแล้ว เมื่อไม่มีคำถามว่าเข้ามาตั้งแต่เมื่อใดนั้น จะนำไปสู่ประเด็นอะไรในเวลาการพิสูจน์สถานะบุคคลฯ

 

คำตอบนั้นเราตอบกันเองแบบตลกๆ แต่ไม่ขำว่า ก็แสดงว่า เพิ่งเข้าเมืองมา น่ะสิ!

 

-มีกรณีหนึ่งที่ฉันมัวแต่ฟังโจ้กับเน็ตหารือกัน เลยถ่ายรูปเก็บไว้ไม่ทัน คือ ระหว่างที่ปลัดอำเภอถ่ายรูปครอบครัวนั้น มีอยู่กรณีหนึ่งที่มีเด็กตัวเล็กๆ คนเดียวถือกระดาษระบุว่า ครอบครัวที่….” เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กไม่อยู่ ขึ้นฝั่งไปแล้ว เป็นกรณีที่น่าติดตามว่าข้อมูลส่วนบุคคลของเด็กและครอบครัวเด็กนี้จะถูกระบุว่าอย่างไร

 

-ฯลฯ ยังมีอีกหลายประเด็นที่น่าสนใจ ที่ฉันต้องหาโอกาสคุยกับโจ้และเน็ตอีกรอบเพื่อเก็บข้อมูลเพิ่มเติม

 

-นอกจากนี้ ฉันมีภารกิจที่ถูก อ.แหวว ผู้เป็น advisor มอบหมายคือ การสำรวจเด็กมอแกนเพื่อทำ ท.ร.๑/๑ (ขอบคุณ เลาะ ที่ช่วยหาบ้านเด็กที่เพิ่งเกิด เลาะ ใช้เวลาน้อยมากในการหาแต่ละบ้าน ทีมงานกระจกเงาบอกว่า ถ้าไม่นับเน็ตซึ่งอยู่กับมอแกนมาร่วม ๘ เดือน เพื่อเก็บข้อมูลเขียน "โลกของมอแกน"-วิทยานิพนธ์ของเขา แล้ว ในช่วง ๘ วันมานี้ เลาะ เป็นคนที่รู้จักคนในชุมชนนี้มากที่สุดแล้ว) มีประเด็นที่อยากจะเล่าตอนนี้ก็คือ หนึ่ง-ปลัดอำเภอคุระบุรี ไม่มีความเข้าใจใน ท.ร.๑/๑ และบอกว่าปลัดอำเภอบอกว่า ต้องให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นคนทำเรื่องและออก ท.ร.๑/๑ โดยพ่อแม่เด็กต้องขึ้นไปหาผู้ใหญ่บ้านซึ่งอยู่บนฝั่ง เนื่องจากชุมชนมอแกนนี้ไม่มีผู้ใหญ่บ้าน, สอง-เจ้าหน้าที่กรมการปกครองส่วนกลางหลายคน ไม่มีความเข้าใจเรื่อง ท.ร.๑/๑,  สาม-ฉันถามปลัดอำเภอว่าจะให้สาลามะ ซึ่งชาวมอแกนยอมรับให้เป็นผู้นำชุมชนเป็นเป็นผู้ยื่นคำร้อง และเป็นพยานบุคคลได้ไหม ปลัดอำเภอและเจ้าหน้าที่กรมการปกครองจากส่วนกลาง บอกว่า ไม่น่าจะได้เพราะสาลามะ ไม่ใช่คนไทย แต่พอชี้แจงว่า สาลามะได้บัตรไทยแล้ว เจ้าหน้าที่ก็พูดเพียงแต่ว่า น่าเชื่อถือหรือเปล่า และปลัดอำเภอสรุปว่าอาจต้องให้ผู้ใหญ่บ้านมาสอบปากคำอีกที ฯลฯ

 

ความพยายามต่อไปที่จะสร้างความแตกต่างจากสิ่งที่เคยผิดพลาดในอดีต

วันกลับ ฉันและทีมงานกระจกเงาและทีมของสถาบันวิจัยสังคมจุฬาฯ ต้องข้ามไปฝั่งที่ทำการอุทยานฯ เพื่อรอทีมงานภาครัฐ เนื่องจากเราขออาศัยเรือ speed boat เขากลับ  ระหว่างนั้นฉันและนิ่นไปเดินเล่นรอบๆ เกาะ และมีโอกาสได้พบกับผู้ช่วยหัวหน้าอุทยานฯ เขาถามด้วยท่าทีกระตือรือร้นถึงผลการทำงานในวันเศษๆ ที่ผ่านมา ฉันก็เล่าให้เขาฟังคร่าวๆ เขาทำท่าหนักใจเมื่อฉันพูดว่า หน่วยงานรัฐยึดถือข้อมูลของอุทยานฯ เป็นหลัก เขาบอกว่า ข้อมูลที่อุทยานฯ ทำนั้น เป็นข้อมูลคร่าวๆ แต่ถ้าข้อมูลในเชิงลึก และมีรายละเอียด แล้วน่าจะเป็นข้อมูลของชุดสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก UNESCO เพราะเป็นการเก็บข้อมูลตามหลักการทำงานวิจัยและวิชาการ

 

ฉัน-ในวันที่กลับถึงกรุงเทพฯ รู้สึกว่ามีหลายอย่างค้างคาในใจ ยิ่งนึกถึงเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนลงพื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ครั้งที่ ๒ ที่ฉันมีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับเจ้าหน้าที่ของสมัชชาเกษตกรภาคเหนือ (สกน.) และตัวแทนจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านสถานะบุคคลของชนเผ่าต่างๆ ในประเด็นความกังวลที่มีต่อกระบวนการพิสูจน์สถานะบุคคล ฉัน-ในเวลานั้นได้แลกเปลี่ยนข้อมูลที่รับรู้มาว่า กระบวนการพิสูจน์ฯ จะมีการปรับปรุงไปในทางที่ดีขึ้นจากข้อผิดพลาดในอดีต โดยขณะนี้ หน่วยงานภาครัฐกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ และจะใช้พื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ที่ชาวมอแกนอาศัยอยู่เป็นพื้นที่นำร่อง และจะมีการจัดทำ<

คำสำคัญ (Tags): #มอแกน
หมายเลขบันทึก: 278894เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 22:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท