2548-02-06-ความ (ไม่) คืบหน้ากรณีนายจอบิ (ไม่มีนามสกุล) และอีกวิธีหนึ่งที่จะได้เห็นความคืบหน้าจากอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี


อันเนื่องจาก อ.แหววเตือนว่า ควร back up งานเขียนในอดีต จึง copy มันมาแปะไว้ ณ blog นี้.. ความ (ไม่) คืบหน้ากรณีนายจอบิ (ไม่มีนามสกุล) และอีกวิธีหนึ่งที่จะได้เห็นความคืบหน้าจากอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘

ย้อนความ

เนื่องจากนายจอบิ ไม่มีพยานเอกสารใดๆ ที่จะพิสูจน์ได้ว่า นายจอบิเป็น บุคคลผู้มีสัญชาติไทยนายจอบิ จึงอ้างตนเอง และพยานบุคคลจำนวน ๘ คน (รวมถึงชุมชนบ้านป่าเด็ง บ้านห้วยสัตว์ใหญ่ , บ้านบางกลอย, บ้านห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี) เพื่อยืนยันว่านายจอบิเป็นคนไทยที่ตกหล่นระบบการทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง และขอให้นายนิรันด์ พงษ์เทพ เพื่อนตั้งแต่สมัยเด็กของนายจอบิ ยื่นคำร้องต่ออำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เพื่อขอให้อำเภอแก่งกระจานเพิ่มชื่อนายจอบิเข้าสู่ทะเบียนราษฎรประเภทท.ร.๑๔ ที่นายนิรันด์ เป็นเจ้าบ้าน ตามข้อ ๙๗ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗

 

สาเหตุที่นายจอบิเป็นคนไร้เอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคล (Undocumented Person) นั้น นายจอบิให้ข้อมูลว่า เป็นเพราะความไม่รู้กฎหมายของบิดามารดาตน คือ พะวอและนางกิคุ และด้วยระยะทางที่ห่างไกลจากการดำเนินงานทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง เนื่องจากบริเวณที่ครอบครัวนายจอบิอยู่อาศัยหรือภูมิลำเนาเกิดของนายจอบินั้น คือบางกลอยต้น หรือที่ชาวบ้านแถบนั้นเรียกว่า ใจแผ่นดิน นั้น เป็นพื้นที่ป่าสมบูรณ์ อยู่ระหว่างชายแดนรัฐไทย-พม่า (ปัจจุบันถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน)

 

บางกลอยต้นหรือใจแผ่นดินก็เหมือนกับพื้นที่ชายขอบบริเวณอื่นๆ การไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลที่ทางราชการไทยออกให้ (เช่น สูติบัตร บัตรประจำตัวประชาชน ทะเบียนราษฎรประเภท ๑๔) ไม่เคยสร้างอุปสรรคหรือปัญหาต่อวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่ห่างไกลจากอิทธิพลของโครงสร้างรัฐชาติ แต่วันใดที่รัฐชาติขยับขยายอาณาเขตออกไป หรือวันใดที่สมาชิกชุมชนที่เคยอยู่ห่างไกลขยับเข้าใกล้อาณาบริเวณของรัฐชาติ บัตรสักใบที่ทางราชการออกให้ จะกลายเป็นสิ่งสำคัญจำเป็นอย่างที่คิดไม่ถึง

 

ในปีหนึ่งๆ คนๆ หนึ่งอาจเดินทางไปทำงานในพื้นที่อื่น (เพราะมีญาติอยู่ หรือมีงานเงินดีให้ทำ) และกลับมายังภูมิลำเนาบ้านเกิดนั้นเป็นเรื่องปกติสามัญ ปี ๒๕๔๓ ก็เป็นเพียงอีกปีหนึ่งที่นายจอบิ ดำเนินชีวิตอย่างปกติธรรมดา โดยเดินทางไปยังตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี เพื่อหางานทำ และมีบ้านพักอยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง เพียงแต่ว่าในปีนั้นนายจอบิได้พานางพอวาซึ่งเป็นภรรยาและลูกสาว ๒ คน และลูกชายอีกคนไปด้วย และปี ๒๕๔๔ ครอบครัวนายจอบิได้มีสมาชิกใหม่คือลูกชายคนสุดท้อง

 

ภาวะความเป็น Un-Doc ของนายจอบิและครอบครัวน่าจะถูกทบทวนอย่างหนักในระหว่างที่นายจอบิถูกควบคุมตัวและรักษาตัว เพราะระหว่างนี้ นายจอบิเริ่มขอความช่วยเหลือ สอบถามถึงความเป็นไปได้ในการมีพยานหลักฐานที่จะยืนยันว่านายจอบิและครอบครัวเป็นคนไทย ภายใต้การประสานงานของอาจารย์วุฒิ บุญเลิศแห่งประชาคมอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี และการทำงานของคณะทำงานกรณีให้ความช่วยเหลือสถานะบุคคลตามกฎหมายของนายจอบิ ในอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ แรงงานข้ามชาติ ผู้ไร้สัญชาติและผู้พลัดถิ่น จึงนำไปสู่การยื่นคำร้องขอเพิ่มชื่อนายจอบิเข้าในทะเบียนบ้านของนายนิรันด์ เมื่อวันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๔๗

 

ประมาณเดือนกันยายน พ.ศ. 2547 เมื่อนายจอบิ ออกจากโรงพยาบาลศิริราช ก็ได้นำภรรยาและลูกทั้ง 4 กลับมายังตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดกาญจนบุรี โดยอาศัยอยู่กับนายนิรันด์ พงษ์เทพ ผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นญาตินายจอบิ ขณะเดียวกันนายจอบิก็ดำเนินการปลูกบ้านของตนเอง โดยใช้เงินที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชินินาถเป็นเงินทุน

 

วันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๔๗ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีมีหนังสือไม่อนุญาตให้เพิ่มชื่อนายจอบิ เข้าในทะเบียนบ้านของนายนิรันด์ โดยให้เหตุผลว่า การขอเพิ่มชื่อ นายจอบิ ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักทะเบียนอำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หากนายจอบิ ประสงค์ที่จะขอเพิ่มชื่อตนเองเข้าในทะเบียนบ้าน ต้องดำเนินการต่อสำนักทะเบียนที่ตนเองมีภูมิลำเนาอยู่ในปัจจุบัน (หนังสือจากอำเภอแก่งกระจาน ที่ พบ.0817/5571 ลงวันที่ 27 กันยายน 2547)

 

หรือการชี้แจงโดยวาจาก็คือ นายจอบิจะต้องไปยื่นคำร้อง ณ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี

 

--------------------

ประเด็นข้อโต้แย้งคำสั่งอำเภอแก่งกระจาน

--------------------

วันที่ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๗ ทางนายจอบิและนายนิรันด์ ได้ทำหนังสือคัดค้านคำสั่งของอำเภอแก่งกระจาน กล่าวคือ

 

ตามข้อเท็จจริง ตามบันทึกสอบปากคำนายจอบิและพยานบุคคล และตามหนังสืออำเภอแก่งกระจาน ที่ พบ. ๐๘๑๗/๕๕๗๑ ลงวันที่ ๒๗ กันยายน พ.. ๒๕๔๗ ปรากฎข้อเท็จจริงที่ต้องตรงกันว่า นายจอบิ เกิดเมื่อปี พ.. ๒๕๑๐ ณ บ้านใจแผ่นดิน เขตบ้านบางกลอย หมู่ที่ ๑ ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี และเติบโตในภูมิลำเนาดังกล่าวเรื่อยมาจนย้ายไปทำงานที่จังหวัดราชบุรี ดังนั้น ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีจึงเป็นภูมิลำเนาแห่งหนึ่งของนายจอบิด้วย

 

แม้ว่า นายจอบิ จะมีบ้านอยู่ ณ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีจริง แต่นายจอบิก็มิได้มีเจตนาที่จะเปลี่ยนภูมิลำเนาตน บ้านที่อาศัยอยู่ที่อำเภอสวนผึ้งเป็นเพียงบ้านที่ก่อสร้างขึ้นชั่วคราว โดยสาเหตุที่นายจอบิเดินทางไปจังหวัดราชบุรีก็เพราะต้องการทำงานเก็บเงิน เพื่อกลับมาอยู่ที่อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรีดังเดิม

 

อีกทั้งระยะเวลาที่นายจอบิ อยู่ที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ก็เป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือ ประมาณ ๒ ปี (ระหว่างปี พ.. ๒๕๔๔-๒๕๔๕) ส่วนช่วงเวลาระหว่างปี พ..๒๕๔๕-จนถึงประมาณเดือนสิงหาคม พ..๒๕๔๗ เป็นช่วงเวลาที่นายจอบิถูกควบคุมตัวในเรือนจำ, เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลพหลพลพยุหเสนา จังหวัดกาญจนบุรี และโรงพยาบาลศิริราช ตามลำดับ โดยระหว่างที่นายจอบิรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ภรรยา และลูกทั้ง 4 คนพำนักอยู่ที่เรือนพักผู้ป่วย สวนจิตรลดารโหฐาน

 

ประมาณเดือนกันยายน พ.ศ.๒๕๔๗ เมื่อนายจอบิ ออกจากโรงพยาบาลศิริราช ก็ได้นำภรรยาและลูกทั้ง ๔ กลับมายังตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดกาญจนบุรี โดยอาศัยอยู่กับนายนิรันด์ พงษ์เทพ ผู้ยื่นคำร้อง ซึ่งเป็นญาตินายจอบิ จนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ นายจอบิ ยังได้อยู่ระหว่างดำเนินการปลูกบ้านของตนเอง โดยใช้เงินที่ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระราชินินาถเป็นเงินทุน

 

ดังนั้น ตำบลห้วยแม่เพรียง อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ที่นายจอบิเกิด และเติบโตมาจึงเป็นภูมิลำเนาปัจจุบันของนายจอบิ ทั้งในทางข้อเท็จจริงและทางข้อกฎหมายแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หากทางอำเภอแก่งกระจานมีความเห็นว่าตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีเป็นภูมิลำเนาของนายจอบิ ก็ควรพิจารณาด้วยเช่นกันว่า ภูมิลำเนา ณ ตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีนั้นเป็นเพียงภูมิลำเนาเฉพาะการ คือ เพื่อการประกอบอาชีพชั่วคราวเพื่อหารายได้เท่านั้น

 

--------------------

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ส่วนที่ ๓ ภูมิลำเนา

--------------------

มาตรา ๓๗          ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ

มาตรา  ๔๒         ถ้าบุคคลใดได้เลือกเอาถิ่นใด โดยมีเจตนาปรากฎชัดแจ้งว่าจะให้เป็นภูมิลำเนาเฉพาะการเพื่อทำการใด ให้ถือว่าถิ่นนั้นเป็นภูมิลำเนาเฉพาะการสำหรับการนั้น

มาตรา ๔๑          ภูมิลำเนาย่อมเปลี่ยนไปด้วยการย้ายถิ่นที่อยู่ พร้อมด้วยเจตนาปรากฎชัดแจ้งว่าจะเปลี่ยนภูมิลำเนา

 

--------------------

ความ (ไม่) คืบหน้ากรณีนายจอบิ (ไม่มีนามสกุล)

--------------------

อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ได้รับคำคัดค้านในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ๒๕๔๗ และจนถึงบัดนี้ ด้านนายจอบิ และนายนิรันด์ ยังไม่ได้รับคำชี้แจงใดๆ ต่อหนังสือคัดค้านฉบับดังกล่าว

 

และการติดตามความคืบหน้าล่าสุดโดยคณะทำงานให้ความช่วยเหลือสถานะบุคคลกรณีนายจอบิ ในอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ แรงงามข้ามชาติ ผู้ไร้สัญชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ เมื่อวันที่ ๑๒-๑๓ มกราคม ๒๕๔๘ ที่ผ่านมา ทางอำเภอแก่งกระจานชี้แจงด้วยวาจา ว่า จะดำเนินการให้มีการสอบนายจอบิ และพยานบุคคลใหม่ โดยจะให้มีการสอบโดยละเอียด โดยไม่กำหนดระยะเวลา

 

--------------------

อีกวิธีที่จะได้เห็นความคืบหน้าจากอำเภอแก่งกระจาน

--------------------

คำชี้แจงดังกล่าวมีข้อน่าสังเกตอยู่ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของอำเภอแก่งกระจานนั้น เข้าข่าย การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร หรือไม่

 

ท่าน อำพน เจริญชีวินทร์ ตุลาการศาลปกครอง ได้อธิบายถึง การปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร ไว้ว่า หมายถึง กฎหมายกำหนดหน้าที่ให้หน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปฏิบัติและหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ลงมือปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ใช้เวลาในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวจนพ้นกำหนดระยะเวลาที่กฎหมายได้กำหนดไว้ หรือใช้เวลาในการปฏิบัติหน้าที่นั้นนานกว่าปกติวิสัยที่จะพึงใช้กัน (อำพน เจริญชีวินทร์,ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการฟ้องและการดำเนินคดีในศาลปกครอง, สำนักพิมพ์นิติธรรม, หน้า ๗๔)

 

สำหรับกรณีที่กฎหมายมิได้กำหนดไว้ (ในที่นี้คือระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๕) นั้น ต้องใช้หลักทั่วไปของวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ซึ่งเป็นไปตามมาตรา ๔๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.๒๕๓๙ ที่ว่าเจ้าหน้าที่จะต้องพิจารณาคำอุทธรณ์และแจ้งผู้อุทธรณ์โดยไม่ชักช้า แต่ต้องไม่เกิน ๓๐ วันนับแต่วันที่ได้รับอุทธรณ์ (ดร.บุญอนันต์ วรรณพานิชย์ ตุลาการศาลปกครอง, หลักกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง, สวัสดิการสำนักงานศาลปกครอง)

 

และหากว่าเกินระยะเวลา ๓๐ วันดังกล่าว ตำราฉบับเดียวกันได้อธิบายว่า ถือว่ามีเหตุแห่งการฟ้องเป็นคดีปกครองแล้ว (มาตรา ๔๙ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒) และจะต้องฟ้องภายใน ๙๐ วัน

 

ซึ่งหากนับระยะเวลาแล้ว ๙๐ วันข้างต้น จะครบกำหนดในวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘ นี้

 

วิธีการนี้ กำลังอยู่ระหว่างการศึกษา/พิจารณาว่าอาจเป็นหนทางหนึ่งที่จะได้เห็นความคืบหน้าจากอำเภอแก่งกระจาน ในกรณีของนายจอบิ (ไม่มีนามสกุล)

-------------------------------------------------------------

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=113&d_id=113

หมายเลขบันทึก: 278893เขียนเมื่อ 21 กรกฎาคม 2009 22:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท