การสร้างอาชีพให้นักศึกษาพิการ


ถ้ามีจิตใจอยากช่วยเหลือทุกอย่างก็น่าจะไม่ยากเกินความพยายาม

หลังจากได้ย้ายมาเป็นครู กศน. อำเภอ ก็ได้มีโอกาสเรียนรู้งาน กศน. ที่มีมากมายหลายด้าน หนึ่งในงานกศน. ที่น่าสนใจอีกงานก็คือ การจัดการศึกษานอกระบบให้แก่นักศึกษาพิการ ซึ่งทาง กศน. ได้จัดเตรียมบุคลากรที่ผ่านการอบรมในที่นี้เรียกว่าครูการศึกษาพิเศษ (ครู กศพ.) ลงพื้นที่ให้บริการแก่ประชาชนที่มีความพิการหรือบกพร่องทางร่างกายและสมอง เมื่อกระผมทราบจากท่านผอ. พิศิษฐ์ วศินภัทรโภคิน กระผมก็รู้สึกว่างานนี้เป็นงานที่ค่อนข้างท้าทายมากๆ เพราะเราไม่ได้จบมาทางด้านนี้โดยตรง แต่กระผมคิดว่าถ้ามีจิตใจอยากช่วยเหลือทุกอย่างก็น่าจะไม่ยากเกินความพยายาม เมื่อได้ลองพูดคุยกับครู กศพ. ก็เริ่มที่จะรู้ถึงความลำบากในการสื่อสารหรือถ่ายทอดความรู้ให้กับนักศึกษาที่บกพร่องทางสมอง แต่บางคนก็มีพัฒนาการมากขึ้นจากการได้ฝึกหัด แต่เมื่อเวลาผ่านไปเขาก็ลืม ทำให้ต้องเริ่มต้นใหม่ อันนี้ก็คงเป็นธรรมชาติของคนที่มีความบกพร่องทางสมอง แล้วจะทำอย่างไรเพื่อให้เขาเกิดกระบวนการเรียนรู้ อันนี้กระผมก็เลยเริ่มกระตุ้นให้ครู กศพ. เก็บข้อมูลเบื้องต้นเพื่อใช้เป็นฐานข้อมูล อาจจะเป็นการทำวิจัยเล็กๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษาให้แก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสมองในอนาคตต่อไป (เป็นเพียงความคาดหวังนะครับ) เมื่อการเรียนรู้ด้านการเขียนอ่านอาจมีปัญหา ต่อมาก็เริ่มมีการใช้ศิลปะและของเล่น เพื่อพัฒนากล้ามเนื้อและทักษะด้านอื่นๆมากขึ้น  ผนวกกับแนวคิดท่านผอ. พิศิษฐ์ วศินภัทรโภคิน ที่ต้องการให้กลุ่มครอบครัวนักศึกษาพิการมีรายได้เพิ่มมากขึ้นเพื่อช่วยลดปัญหาค่าครองชีพจึงได้ริเริ่มโครงการเลี้ยงนกกระทาไข่ ซึ่งเป็นความต้องการของครอบครัวนักศึกษาพิการกลุ่มหนึ่งที่เป็นเกษตรกร และมีตัวอย่างในพื้นที่ใกล้เคียงให้ได้ศึกษาดูงาน จึงเห็นว่าโครงการนี้น่าจะเป็นไปได้และน่าจะเกิดประโยชน์ต่อกลุ่มคนพิการในอนาคตต่อไป จึงให้ครู กศพ. ที่รับผิดชอบ นัดประชุมเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการจัดตั้งกลุ่มอาชีพสำหรับนักศึกษาพิการ บรรยายกาศในเวทีชาวบ้านนี้เป็นลักษณะที่มีผู้นำซึ่งค่อนข้างจัดได้ว่าเป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าคือมีความกล้าที่จะทำ แม้ว่าในที่ประชุมกระผมก็พยายามชี้ประเด็นที่เป็นอุปสรรค แต่หลายคนก็คิดว่าไม่เป็นปัญหา ในวันนั้นการประชุมจบลงด้วยข้อสรุปว่าสมาชิกจะมีการลงหุ้นกันดำเนินโครงการโดยจัดทำโรงเรือนและกรง แล้วให้ กศน. สนับสนุนพันธุ์นกกระทาและอาหารนกเป็นเวลา 10 วัน ต่อจากนั้นจะเป็นการจัดการของกลุ่มซึ่ง จากการศึกษาดูงานทราบว่าหลังจาก 10 วันนกจะให้ไข่และเริ่มมีรายได้ที่พอจะเลี้ยงตัวเองได้บ้าง ในช่วง 1 เดือนแรกสมาชิกจะไม่คิดค่าจ้าง แต่หลังจากนั้นจะมาประชุมกันอีกครั้งว่าจะจัดการกับรายได้-รายจ่ายอย่างไร จากนั้นก็ได้พากันไปดูสถานที่ที่จะทำโรงเรือน เมื่อกระผมเห็นกระผมก็คิดว่าปรับปรุงบางส่วนเล็กน้อยก็สามารถวางกรงสำหรับใช้เลี้ยงนกกระทาได้  แต่สมาชิกในกลุ่มมีความคิดเห็นว่าจะทำหลายอย่าง กระผมก็เลยคิดว่าเขาอยากทำให้ดีเราก็ปล่อยให้เขาทำให้เต็มความตั้งใจของเขาก็ยิ่งดีใช่หรือเปล่าครับ  เวลาผ่านไปประมาณ 1 เดือน จึงได้นัดประชุมกันอีกครั้ง คราวนี้เริ่มมีประเด็นปัญหาบ้างเล็กน้อยครับ  เมื่อได้พบกับกลุ่มแกนนำก็ได้พูดคุยกันเล็กน้อยแต่ดูแล้วน่าจะเป็นข้อมูลที่พอจะมีอยู่บ้างแล้ว จึงตัดสินใจเปลี่ยนรูปแบบการประชุมจากการนั่งพูดคุยมาเป็นรูปแบบชวนกันลงมือทำเนื่องจากมีไม้ที่จัดเตรียมสำหรับทำกรงอยู่ไม่ไกลจากโรงเรือนเท่าไหร่ กระผมก็ไปหยิบมา  2 อัน แล้วก็เริ่มวัดกับโรงเรือนว่าจะวางกรงแนวไหนดี พี่ๆก็เริ่มแสดงความคิดเห็น กระผมก็เลยได้โอกาสรุกมากขึ้น ด้วยการบอกว่าไหนๆก็มาประชุมกันแล้วกี่คนก็ไม่สำคัญ วันนี้น่าจะทำโครงสร้างกรงให้พอเป็นรูปเป็นร่างก่อน ขาดเหลืออะไรก็ค่อยมาหาวิธีกันต่อ ใช้วัสดุที่เราพอจะหาได้หรือใช้ภูมิปัญญากับแรงมากหน่อย บางคนก็ไปนำอุปกรณ์ ตัด/ ตอก ไม้มา บางคนก็ไปซื้อตะปูมา ค่อยคุ้มค่าเวลาที่มาประชุมหน่อย จากนั้นทั้งครู กศพ. และสมาชิกก็ช่วยกันทำช่วยกันดูว่าใครถนัดทำอะไรตรงไหนได้ก็ช่วยกันคนละไม้คนละมือ เมื่อท่านผอ. เห็นว่าใกล้เวลาที่จะต้องไปติดต่อประสานงานที่จังหวัดจึงได้ชวนกระผมเดินทางต่อไปยังจังหวัด แล้วพบกันใหม่ในตอน 2 เพื่อดูความคืบหน้าของโครงการกันนะครับ.

หมายเลขบันทึก: 278439เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 17:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โดดเด่น แตกต่าง ไร้คู่แข่ง แจก BENZ แถม FERRARI

www.agelworld-office.com

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท