brochill
วราวรรณ จันทรนุวงศ์(ศิริอุเทน)

Knowledge and Perception


Knowledge and Perception

ความรู้ (Knowledge) กับการรับรู้ (Perception) หมายความอย่างไร และแตกต่างกัน

อย่างไร

                ความรู้ (Knowledge) หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น จากความคิด ความเชื่อ ความจริงของบุคคลนั้น ตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของตน เนื่องจากการจำได้ ระลึกได้ ถึงเรื่องนั้นๆ ปรากฏการณ์นั้นๆ โดยแต่ละเรื่องเป็นอิสระจากกัน จากเรื่องง่ายๆ ไปถึงเรื่องที่ยุ่งยาก ซับซ้อน และสัมพันธ์กัน จนก่อให้เกิดความเข้าใจ (comprehension) ในเรื่องนั้นๆ จากการใช้ความสามารถ และทักษะการคิดที่สูงขึ้น ทำให้เกิดการครุ่นคิดพิจารณาในสิ่งนั้น ซึ่งความรู้นั้นประกอบด้วยเรื่องของธรรมชาติที่เป็นความจริง และเรื่องของสังคมว่าด้วยเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง มีการศึกษาและทำความเข้าใจในเรื่องของความรู้ จนทำให้เกิดวิชาที่ว่าด้วยตัวความรู้ คือ ภววิทยา (Ontology) และการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ คือ ญาณวิทยา (Epistemology) และถ้าจะเข้าถึงหลักแห่งความรู้ หรือหลักแห่งความจริงนั้น ก็ต้องมีความรักและความปรารถนาที่จะเข้าถึงความรู้ความจริงนั้น เรียกว่า ปรัชญา (Philosophy) ผู้ที่เข้าใจหลักปรัชญา จะสามารถประยุกต์ใช้ทุกๆ เรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับชีวิตตน

การรับรู้ (Perception) เป็นความรู้สึกที่เกิดจากระบบประสาทได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า  หรือสภาพแวดล้อม ทำให้ประสาทตื่นตัว แล้วไปสัมผัสกับประสาทสัมผัสทั้ง 5 ส่งต่อไปยังระบบประสาทส่วนกลาง เกิดการแปลความหมายขึ้นโดยอาศัยความรู้เดิม ความต้องการ และเจตคติ การรับรู้จึงประกอบด้วยกระบวนการรับสัมผัสจากสิ่งเร้า กระบวนการแปลความหมายสิ่งเร้า และกระบวนการทางอารมณ์ของผู้รับสิ่งเร้านั้น และเมื่อมีการสรุปรวบยอดออกมา  มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้า  เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จึงทำให้เกิดการเรียนรู้ ดังนั้นการรับรู้จึงเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ของบุคคล

ความแตกต่างระหว่างความรู้ (Knowledge) กับการรับรู้ (Perception) คือ ความรู้ (Knowledge) เป็นสิ่งที่บุคคลสร้างขึ้นเองภายในจิตใจ จากการระลึกได้ จำได้ มีตัวความรู้ เป็นความจริง (reality) ที่เกิดขึ้นจริง ณ เวลานั้น เรื่องราวนั้น บริบทนั้น สำหรับบุคคลนั้น มีความจำเพาะเจาะจง จึงมีลักษณะ หน้าที่ ประเภท และความสมเหตุสมผลของความรู้ ตามความเข้าใจ ความสนใจ ทรรศนะ ความเชื่อ และประสบการณ์ ของแต่ละบุคคล ส่วนการรับรู้ (Perception) คือความรู้สึกที่ได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า แล้วตีความแปลความโดยอาศัยประสบการณ์เดิม ตามความสนใจ ความต้องการ และอารมณ์ ณ เวลาขณะนั้น

 

คำสำคัญ (Tags): #knowledge and perception
หมายเลขบันทึก: 278243เขียนเมื่อ 20 กรกฎาคม 2009 00:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 08:04 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท