การแกะสลักไม้


แกะสลัก

งานแกะสลักไม้

ผลงานการแกะสลักไม้

รูปภาพ ผลงานการแกะสลักไม้ ของแผนกการแกะสลักไม้

การแกะสลัก สมัยโบราณเป็นงานคนละประเภท แยกออกจากัน งานแกะ ได้แก่ แกะลาย แกะตรา และแกะภาพ งานสลัก ได้แก่ สลักกระดาษ และสลักของอ่อน ที่เรียกว่า เครื่องสด เช่น สลักหยวก ที่ใช้ในการแต่งเมรุ ความจริงควรจะใช้คำว่า ฉลัก เพราะ คำว่าสลัก มีความหมายในทางอื่นด้วย เช่น สลักกลอนประตู เป็นต้น ปัจจุบันนำมารวมกัน เรียกว่า แกะสลัก

การแกะสลักไม้ มีอยู่สองลักษณะ อย่างหนึ่ง คือ แกะเป็นภาพนูนบนเนื้อไม้ เช่น หน้าบันบานประตู หน้าต่างโบสถ์วิหารของวัด อีกลักษณะหนึ่ง คือ การแกะลอยตัว เช่น พระพุทธรูป ตัวละคร สัตว์ต่างๆ เป็นต้น นิยมใช้ไม้สักเป็นวัสดุ ในการแกะสลัก เพราะมีความอ่อน และเหนียวพอสมควร สามารถแกะสลักได้ลายคมชัด ตามต้องการ มีลวดลายสวยงามในเนื้อ และมีคุณสมบัติในการดูดซับสี หรือรักเป็นอย่างดี

เครื่องมือ ที่ใช้ในการแกะ ประกอบด้วยสิ่วหน้าต่างๆ ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ซึ่งมักจะทำขึ้นเอง เพื่อให้ใช้ได้ถนัดมือช่างผู้ทำงาน และเหมาะกับงานประเภทใด ประเภทหนึ่ง สิ่วแต่ละขนาดใช้ในลักษณะต่างๆ กันเช่น ใช้ตอกลงในเนื้อไม้ เพื่อเติมเส้นลาย และขุดพื้นให้ลึกลง ใช้เจียนปาดตัดลายตั้งเหลี่ยม เป็นชั้นเชิง เพื่อคัดตัวลายให้เด่นชัดขึ้น การแกะครั้งแรกเรียกว่า โกลน เป็นสิ่งสำคัญมาก ต้องโกลนให้ดีก่อน จึงจะแกะลาย แกะรูปต่อได้สัดส่วนถูกต้องสวยงาม เมื่อเสร็จขั้นตอนการแกะแล้ว จึงจะลงรักปิดทอง หรือลงสี ลงน้ำมันตามต้องการ

งานแกะสลักไม้ ที่ได้รับการยอย่องว่า เป็นงานชิ้นเยี่ยมแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คือ งานแกะสลักบานประตูวิหาร วัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นฝีพระหัตถ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย

ศิลปะการแกะสลักไม้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ที่ตกทอดสืบต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีพระราชประสงค์ จะอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมชิ้นนี้ให้ทรงคุณค่า มีความประณีตงดงามอย่างเช่นฝีมือช่างครั้งโบราณ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หาครูมาสอนวิชานี้ แก่สมาชิกศิลปาชีพ โดยทรงเน้นให้ใช้ไม้ อย่างคุ้มค่าและเหมาะสมที่สุด

นายมนู ฟักบาง และนายมงคล เหมศรี

แผนกแกะสลักไม้ ที่โรงฝึกศิลปาชีพ ในบริเวณสวนจิตรลดา มีนายมนู ฟักบาง และนายมงคล เหมศรี เป็นผู้สอน ท่านทั้งสอง จะสอนการแกะภาพลอยตัว เช่น ภาพตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ สอนการแกะลาย และฉลุลาย การทำเครื่องมือในการแกะสลัก คือสิ่วขนาดต่างๆ ใช้เองให้ถนัดมือของแต่ละคน

นายมนู ฟักบาง เป็นชาวสุโขทัย อายุ ๓๓ ปี บิดาเป็นช่างไม้ ทำงานทุกประเภท ตั้งแต่เฟอร์นิเจอร์ไปจนถึงสร้างบ้าน นายมนู จึงมีโอกาสสัมผัส กับงานช่างของชาวสุโขทัยมาตั้งแต่เด็ก และยังจบการศึกษาขั้นสูงสุด ในด้านศิลปะการแกะสลักไม้ จากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่างอีกด้วย ส่วนนายมงคล เหมศรี เป็นช่างจากกองหัตถศิลป์ กรมศิลปากร ทั้งสองท่าน ได้ถ่ายทอดวิชานี้แก่นักเรียนศิลปาชีพ ให้สามารถสืบทอดศิลปะแขนงนี้ ไว้ได้หลายคนแล้ว เช่น นายไวพจน์ เตจ๊ะแยง นักเรียนศิลปาชีพชาวเชียงใหม่ ซึ่งกล่าวว่าจะศึกษาหาความ ชำนาญในงานแกะสลักไม้ให้ถึงที่สุด

คำสำคัญ (Tags): #วิธีการแกะสลัก
หมายเลขบันทึก: 278079เขียนเมื่อ 19 กรกฎาคม 2009 14:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 18:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท