การบริหารความเครียดของผู้นำ


การบริหารความเครียดของผู้นำ

บทความโดย น.พ.สมชัย ตั้งพร้อมพันธ์

...ในเวลานี้ถ้าเราจะพูดความเครียด ดิฉันเชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องตกอยู่ในสภาวะเครียดที่ไม่ค่อยแตกต่างกันมากนัก  ลองมานั่งไตร่ตรองในฐานะที่เราเป็นผู้ปฏิบัติยังเกิดสภาวะที่เครียด  ดังนั้นผู้บริหารหรือผู้นำคนใดถ้าไม่เคยสัมผัสคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้แน่นอน พอดีได้มีโอกาสได้อ่านบทความการบริหารความเครียดของผู้นำของ น.พ.สมชัย ตั้งพร้อมพันธ์ ที่มีคำแนะนำดี ๆ ในการบริหารความเครียดของผู้นำ  เลยหยิฐมาถ่ายทอดให้ฟัง  เผื่อใครที่ตกอยู่ในความเครียดและไม่สามารถจัดการกับความเครียดของตนได้  ลองเข้ามาศึกษาดูนะคะ  น่าอ่านทีเดียว...  

 

 

 

ความเครียด ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายไปเสียทีเดียว หากความเครียดที่มีในระดับที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้เกิดพลังในการสร้างสรรค์งาน เกิดความมุมานะพยายามทำงานให้สำเร็จ..ในทางตรงกันข้าม หากความเครียดเลยขีดที่พอดีจะกลับกลายเป็นพลังทำลาย โกรธแค้น ลังเล ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง อยากทำร้ายตนเองและผู้อื่น เช่น พฤติกรรมเกรี้ยวกราดต่อคนรอบข้าง ใช้คำพูดที่ขาดสติยับยั้ง จนถูกมองว่าบ้าอำนาจ หรือไม่ก็น้อยใจลาออกไปเองเห็นได้ทั่วไปจากผู้นำระดับสูงในบ้านเมือง ปฏิกิริยาตอบสนองต่อความเครียดจะออกมารูปไหนขึ้นกับภูมิหลังที่มาของผู้นำและระดับ

ความรุนแรงของความเครียด

 

 

 

จากกราฟ แสดงความสัมพันธ์ของระดับความเครียดกับผลงาน จะเห็นว่า การที่คนเรามี ความเครียด ในระดับที่เหมาะสม จะช่วยกระตุ้นให้เกิดแรงขับในการสร้างผลงานได้ดี หากมีมากเกินไป จะส่งผล ให้ผลงานแย่ลง อาจแบ่ง ความเครียดเป็น 2 ประเภท
        1 ประเภทแรก เรียกว่า แรงเครียดบวก (Creative tension) เช่น ความรู้สึกต้องรับผิดชอบ มากขึ้น (แต่มีความภูมิใจลึกๆ) งานมีมาก(แต่ผลสำเร็จสูง) เหนื่อยมาก (แต่รายได้ดี) เป็นต้น แรงเครียดประเภทนี้มี ตัวพยุง (Buffer) ความรู้สึกเครียดอยู่ภายใน ไม่ให้เป็นแรงทำลายได้แก่ ฉันทะคือความพอใจอยากได้อยากเป็น เมื่อเกิดความพอใจแล้วก็จะเกิด วิริยะ คือความพยายาม ตามมา ทำให้เกิด จิตะ คือมีจิตใจจดจ่อแน่วแน่ตั้งมั่นเป็นสมาธิส่งผลให้จะทำอะไรก็จะใคร่ครวญ ได้รอบคอบ ไม่วู่วาม คือมีวิมังสา 
         2. ประเภทที่สอง เรียก แรงเครียดลบ(Destructive tension) เช่น ความรู้สึกว่าต้องรับผิดชอบ มากขึ้น งานมีมาก (แต่รู้สึกว่าถูก
เอาเปรียบ ไม่ยุติธรรม) เหนื่อยมาก (ไม่รู้ว่าจะทำไปทำไม ทำไป ก็เท่านั้น)ความรู้สึกเช่นนี้เกิดจากมีแรงเสริมให้ความเครียดแสดงอาการมากขึ้นจนอาจควบคุมไม่ได้ กลายเป็นแรงทำลายไป ความรู้สึกมาส่งเสริมความเครียดนี้ให้รุนแรง ทางพุทธธรรมเรียกว่า ตัณหาได้แก่ ความโลภ อยากได้มากจนเกินศักยภาพและความพอดีในเหตุและผล ความโกรธ เมื่อไม่ได้ ก็เกรี้ยวกราด ก้าวร้าว ทำร้ายตนเองและผู้อื่น ความหลง คือความไม่เข้าใจในโลกที่เป็นจริงที่ว่า เหตุปัจจัยอะไรทำให้เกิดผลคืออะไร การทำดีย่อมได้ดีทำไม่ดีย่อมไม่ได้ดีตามกรรมที่ทำ มอง ตนเองไม่ออกไม่รู้ความสามารถและข้อจำกัดของตน ไม่รู้จักความพอประมาณไม่เกินเลย ไม่รู้จัก กาลเวลาที่เหมาะสมไม่รู้จักและเข้าใจในคนอื่นรอบตัวเพื่อการคบหา ไม่รู้จักสังคมที่ตนดำรงอยู่ ตามหลักของ สัปปุริสธรรม 7 ซึ่งเป็นธรรมะของสัตบุรุษ(คนดี)ที่พึงเข้าใจปฏิบัติเพื่อการอยู่ใน สังคมอย่างมั่นคงและเป็นสุขได้

การบริหารความเครียด (Stress management)

ไม่มีใครในโลกสักคนที่ปราศจากความเครียด แม้แต่สัตว์เดียรฉาน ยิ่งเป็นผู้นำด้วยแล้ว สิ่งต่างๆ ถาโถมเข้ามามากมายให้ต้องคิด ต้องฟัง ต้องรับผิดชอบ ต้องแก้ปัญหา หากประคองตนไม่อยู่ ก็จะเกิดภาวะ ”สติแตก”แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมออกมาให้เป็นที่ครหาของผู้คนรอบข้าง เกิดความเสียหาย ขาด ความนับถือและเครารพของลูกน้องได้ การจัดการความเครียดของผู้นำ ไม่ได้มุ่งที่จะให้หมดไปได้ หากแต่จะทำให้เบาบางลงได้อย่างไร แนวทางมีดังนี้

1. ยอมรับความเครียดของผู้นำเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อตัดสินใจมาเป็นผู้นำ ภารกิจย่อมก่อความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เป็นเรื่องธรรมดา ควรมองให้มันเป็นเรื่องปกติวิสัย เฉกเช่นการจะเป็นไต้ก๋งเรือ ย่อมมองเห็นกระแสน้ำ พายุคลื่น ลมแรงเป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเผชิญและฝ่าฟันให้ผ่านพ้นไปให้ได้ มันเป็นสภาวะธรรมชาติ ของทุกสิ่งที่มีเหตุปัจจัยให้เกิดไม่อาจเลี่ยงได้ เพียงแต่เราต้องมีสติเพียงพอ และรู้จักการปล่อย วางบ้าง

2. ตั้งสติให้ได้เมื่อมีปัญหา

- ทำใจให้สงบเพื่อตั้งสติเมื่อมีปัญหา ไม่วู่วาม ด่วนตัดสินใจหรือใช้คำพูดแสดง พฤติกรรมออก มาโดยขาดความยับยั้งชั่งใจ เปิดใจรับฟังปัญหา คิดเสียว่าปัญหาจะหนักหนาแค่ไหนก็ต้องจบลง ได้ เพียงแต่ว่าจะใช้วิธีไหน ถ้าขาดสติก็จะคิดไม่ออก น้ำที่ถูกสาดออกไปในอากาศ ย่อมไม่อาจ ลอยอยู่ได้ ต้องตกถึงพื้นและไหลไปสู่จุดต่ำสุดฉันไดทุกปัญหาย่อมมีทางออกที่ดีที่สุดของมัน ตามสภาวการณ์ฉันนั้น เพียงแต่ว่าเราจะใช้วิธีการจัดการเข้ามาช่วยซึ่งต้องมีสติปัญญาเป็นปัจจัย หรือ ปล่อยให้มันจบลงตามธรรมชาติเท่านั้นเอง คิดได้
ใจก็จะสงบ

- กล้าเผชิญกับปัญหา ไม่มีวิธีการแก้ปัญหาได้โดยไม่รับรู้เข้าใจในปัญหา หลายคนพยายาม ระงับไม่พยายามพูดถึงปัญหาเพราะ
ความเกรงใจหรือเกรงกลัว หากเป็นเช่นนี้ ย่อมไม่อาจแก้ ปัญหาได้

- แบ่งปัญหาตามความสำคัญก่อนหลัง หากมีปัญหาประดังเข้ามามาก ควรเรียงลำดับความสำคัญ ของปัญหาเพื่อเอามาพิจารณา ไม่ควรเผชิญกับปัญหาทั้งหมดพร้อมๆกัน เพราะจะสูญเสียพลังในการ แก้ปัญหาไปมาก เริ่มไปทีละเรื่องเดี๋ยวก็หมดเอง

- ใคร่ครวญวิเคราะห์ปัญหาด้วยใจเป็นกลาง บนพื้นฐานความเป็นจริง ให้มองปัญหาจากข้อมูล ที่เป็นจริง แล้วค่อยๆไตร่ตรองใคร่ครวญอย่างรอบคอบ หากมองปัญหาผิด การแก้ปัญหาก็ล้มเหลว

- เลือกทางออกที่ดีที่สุด บางครั้งคนเราไม่อาจบอกสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้นว่าอันไหนดีที่สุด แต่ผู้นำ ก็ต้องถึงจุดที่ต้องตัดสินใจเลือกทางออกที่ดีที่สุด บนพื้นฐานที่เป็นไปได้มากที่สุด หากผู้นำไม่ตัดสินใจ ลอยตัวเหนือปัญหา เท่ากับการก่อปัญหาใหม่ขึ้นมาไม่สิ้นสุด

- ไม่เสียใจ กับความผิดพลาดเมื่อคิดดีแล้ว สี่ขายังรูพลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง ไม่มีอะไร บนโลก ที่แน่นอนที่สุด เมื่อตัดสินใจอย่างรอบคอบแล้ว ณ เวลานั้น ถือว่าดีที่สุด ต้องยอมรับ ตนเอง และ พร้อมที่จะแก้ไข ถ้าผิดพลาด

3. ให้เวลากับปัญหาถ้าถึงทางตัน

บางครั้งปัญหาหรืองานประดังเข้ามาดังห่าฝน หรือการแก้ปัญหาถึงทางตันที่ยังมองหาทางออกไม่ได้ ไม่มีอะไรดีไปกว่าการให้เวลากับมันฝืนดันทุรังไปรังแต่จะมึน สติแตกสร้างความเครียดให้ตนเอง ทรมานเปล่าๆ ให้ปล่อยใจ ออกจากเหตุการณ์ปัญหาสักระยะ พอเราว่างจากมันและปล่อยวางได้ สติก็จะกลับคืนมาและปัญญาในการแก้ปัญหาก็จะเกิด คิดเสียว่า ยังไงก็ต้องแก้ได้ไม่ช้าก็เร็ว อาจใช้ วิธีปรึกษาหารือกับผู้อื่นที่เราคิดว่าเขาพอช่วยเราได้

4. มองอดีตในเรื่องดีๆที่ผ่านมา

การคิดถึงความสุข ความสำเร็จในอดีตบ้างในยามที่ท้อแท้ หรือมองเห็นชีวิตคนอื่นที่แย่กว่าเราอาจ ช่วย ให้เรามองเห็นคุณค่าของตนเองและมีกำลังใจในการแก้ปัญหา หรือมุ่งทำสิ่งดีๆ เป็นการลดความ เครียดลงไป

5. มองว่าวันนี้ยังไงก็ต้องผ่านไป

วันเวลาไม่เคยหยุดนิ่ง วันนี้จะกลายเป็นอดีตในวันพรุ่งนี้ ความสุขและความทุกข์ของคนเรา เมื่อมี เกิดขึ้น ย่อมมีวันดับไปสลับกันเช่นนี้ไปชั่วชีวิตตราบที่มีลมหายใจอยู่

6. มองวันข้างหน้าว่าต้องมาถึง

ดวงอาทิตย์ มีขึ้นแล้วมีลับจากไปเป็นมาอย่างนี้ไม่มีวันสิ้นสุด หากวันนี้มีความทุกข์มากมาย ให้คิดว่า พรุ่งนี้ยังมีวันใหม่เสมอ เพียงแต่ขอให้เรามีความหวัง มีลมหายใจและความพยายาม ความกล้าพร้อม ที่จะเผชิญกับมันในวันรุ่งขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โอกาสย่อมเป็นของเรา

7. หาใครสักคนที่ฟังเราได้ ไม่ควรอยู่คนเดียว

ผู้นำควรมีคู่คิดไว้เพื่อปรึกษาและระบายความกดดันที่มีอยู่ เพราะบางครั้งผู้นำไม่อาจแสดงอาการ ออกได้อย่างเสรีต่อหน้าผู้คน ความที่ต้องอดทนอดกลั้นอาจกลายเป็นความกดดันให้เราต้องพบ กับความเครียด ผู้ที่สามารถฟังเราได้อาจเป็นสามีหรือภรรยาลูกน้องคนสนิทที่รู้ใจและเข้าใจ บทบาทของตนเองไม่แสดงอาการเหิมเกริมเพราะใกล้ชิดผู้นำ(Power of reference)เพราะเขาอาจนำความลำบากใจมาสู่ผู้นำได้

8. ออกกำลังกาย ผ่อนคลายสมอง

การออกกำลังกายเป็นการช่วยให้ร่างกายหลั่งสารแห่งความสุข (Endorphin) อีกทั้งเป็นการปลด ปล่อยความเครียดออกมา ลดความฟุ้งซ่านได้นอกจากช่วยสุขภาพแข็งแรง

9. ศึกษาธรรมะเพื่อชำระความเครียด

หลักของพุทธธรรมจะกล่าวถึง ความทุกข์ สาเหตุแห่งทุกข์ หนทางที่จำดับทุกข์และแนวทางปฏิบัติ เพื่อการดับทุกข์ ช่วยให้ผู้นำมองเห็นกฎแห่งความเป็นจริงว่าด้วย ความไม่เที่ยงของทุกสิ่ง เมื่อมี เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป ไม่สามารถยึดถือให้สิ่งที่รักหรือชัง ทุกข์หรือสุขให้ดำรงอยู่ได้ตลอดกาล ทุกอย่าง เกิดขึ้นล้วนมีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิด ความไม่รู้ถึงสภาวะธรรมชาติของโลกทำให้เกิดการรับรู้และปรุงแต่งไม่สิ้นสุดตามตัณหากิเลสของบุคคล การยึดความสุขในทาง รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เอาความอยากเป็น ความไม่อยากเป็นมาไว้มากเกินพอดีทำให้เกิดความทุกข์ ผู้นำตราบที่ยังต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่ ขอเพียงเข้า ใจสภาวธรรมที่เป็นจริงตามธรรมชาติของตนเอง ผู้อื่นและเหตุการณ์ และมีโยนิโสมนสิการ คือรู้จักการ ใคร่ครวญไตร่ตรองในเหตุการณ์ต่างๆอย่างรอบคอบ ปฏิบัติตนอยู่ในศีลธรรม มีความรักเมตตาต่อผู้อื่น ช่วยเหลือผู้อื่น และรู้จักวางเฉยกับเหตุการณ์ที่เราไม่อาจแก้ไขได้ แค่นี้ก็สุขได้เกินพอ สุขแบบโลกๆ

 จากบทความข้างต้นจะเห็นได้ว่าหลักพุทธธรรมสามารถพาให้เราฝ่าฟันความเครียดไปได้  ดังนั้นจึงอยากฝากข้อคิดผู้นำกับความเครียดไว้ดังนี้นะคะ

1. การระงับความเครียดด้วยยา เหล้า กิเลสราคะ เปรียบเหมือนการเก็บขยะไว้ใต้พรม เป็นเพียงการระงับความเครียดไว้ชั่วขณะ พอรู้ตัวความทุกข์ก็ยังมีอยู่และจะรุนแรงมากขึ้นอีก

2. การแก้ความเครียดต้องมีความกล้าที่จะเผชิญกับมันด้วยสติและปัญญา ไม่หลอกตนเองและผู้อื่น

3. ผู้นำแตกต่างจากพระอรหันต์คือผู้นำยังอยู่ในโลกีย์ภูมิ ส่วนพระอรหันต์อยู่ในโลกุตระภูมิ ดังนั้น ความสุขของผู้นำคือสุขที่เกิดจากการยึดหลักความพอดีและพอเพียง สุขของพระอรหันต์คือสุุขที่เกิดจากการหลุดพ้นสามารถดับอวิชชาได้

ดังนั้นเมื่อเจอความเครียด ก็ให้รู้ว่านี่คือ..ความเครียด.. นิ่ง นั่งทบทวน ไตร่ตรอง  ปัญหาคืออะไร  อยู่ตรงไหน แล้วหาทางแก้ไข อย่าพึ่งไปหวั่นไหวกับความเครียด  สติ..และปัญญา  จะพาให้เราก้าวพ้นจากสภาวะแห่งความเครียดไปได้  เมื่อก้าวผ่านความเครียดไปได้อย่าลืมขอบคุณความเครียดด้วยนะคะ ที่ทำให้เราสามารถผ่านสนามสอบแห่งชีวิตไปอีกสนามหนึ่ง  ---ขอบคุณความเครียด---ที่ทำให้เราได้ทางเดิน ดี ดี อีกเส้นทาง  

 

 

 

 

   

หมายเลขบันทึก: 277709เขียนเมื่อ 18 กรกฎาคม 2009 13:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เทคนิคนี้ใช้ได้ทุกคนไม่ใช่ผู้บริหารก็ใช้ได้

ไม่ใช่ผู้บริหาร ผุ้นำ อะไรกับเค้าเหมือนกันค่ะ แต่ก็มีเรื่องเครียดเหมือนกันเนอะ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีๆ มีสาระประโยชน์ ^_^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท