การจัดการความรู้ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอน 2


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (15)

ในระดับคณะหน่วยงาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น มิได้บังคับให้ใช้เรื่อง การจัดการความรู้เป็นตัวชี้วัด แต่ใช้วิธีการเผยแพร่ ความรู้ความเข้าใจ และฝึกปฏิบัติ ให้แก่ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในระดับต่างๆ ในวงกว้าง โดยใช้วิทยากรหลักที่สำคัญ คือ รศ.นพ.จิตเจริญ  ไชยาคำ เท่าที่ติดตามดูพบว่า มีการดำเนินงานที่แตกต่างหลากหลายกัน ซึ่งเป็นธรรมชาติของชาวมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว บางหน่วยงานใช้การจัดการความรู้อยู่แล้ว โดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นสิ่งดีขณะที่บางหน่วยงานให้ความสนใจ และดำเนินงานอย่างจริงจัง เช่น คณะแพทยศาสตร์ เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถเป็นจำนวนมาก  มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้ชำนาญทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับการยกย่องชมเชยโดยทั่วไป  บุคลากรเป็นผู้มีจรรยาบรรณและวิชาชีพอันเกิดจากความรู้ในตำราและจากการฝึกฝนปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง  กระบวนการปฏิบัติงานของบุคลากรดังกล่าวเป็นการใช้หลักการการจัดการความรู้มานานแล้ว เพียงแต่ยังมิได้ใช้ศัพท์ว่าเป็นการจัดการความรู้เท่านั้น  จึงง่ายต่อการใช้การจัดการความรู้  และสามารถขยายผลได้อย่างรวดเร็ว  เกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  เกิดชุมชนนักปฏิบัติภายในกลุ่มวิชาชีพและข้ามกลุ่มสายงานวิชาชีพ  เช่น กลุ่มพยาบาล  กลุ่มแพทย์และพยาบาลต่างๆ โดยใช้เทคนิคหลาย ๆ วิธี  เช่น  ชักชวนกันเอง  รวมผู้คนที่มีความสนใจร่วมกัน  เพื่อศึกษาหรือเลือกประเด็นที่ต้องการแก้ไขและปรับปรุงปัญหาจากหน้าที่การงานหรือจากองค์ความรู้ที่เปลี่ยนไปหรือเกิดจากผู้ที่มีความรู้แต่ลาออกจากราชการ ทำให้ต้องการความรู้เพิ่ม  ขณะเดียวกันหากค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเองก็จะเสียเวลามากกว่า  กระบวนการที่ใช้ได้แก่การเล่าเรื่องประสบการณ์  การวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็ง โอกาสและอุปสรรค  การปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง  ใช้ช่องทางการสื่อสารหลายรูปแบบ  เช่น  เว็บไซต์ บล็อก  และการประชุมปรึกษาหารือแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการอย่างต่อเนื่อง  สิ่งที่เห็นผลได้ชัดคือมีทีมงานที่ดีมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น  เกิดนวัตกรรมจากการทำงาน  ปัญหาได้รับการแก้ไข  ผู้ปฏิบัติงานมีความสุขที่เห็นความสำเร็จและได้รับความยกย่องชมเชย   กิจกรรมหนึ่งที่คณะแพทยศาสตร์ จัดเป็นประจำ คือ กิจกรรมวันคุณภาพ  ซึ่งเป็นการแสดงผลงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคณะแพทยศาสตร์  กิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมที่แสดงความรู้จากภายในและความรู้จากภายนอก  ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนหมุนเวียนเกิดวงจรแห่งการพัฒนาได้เป็นอย่างดี  ปัจจัยความสำเร็จของคณะแพทยศาสตร์เกิดจากคณบดีและคณะผู้บริหารให้การสนับสนุน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รศ.นพ.สุรพล วีระศิริ รองคณบดีผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดการความรู้ จัดหน่วยและทีมงานผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงผสมผสานกับพื้นฐานเดิมของบุคลากรเหล่านี้เหมาะแก่การจัดการความรู้หรือใช้การจัดการความรู้เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทำให้เกิดความสำเร็จอย่างรวดเร็ว

ภาพบรรยากาศกิจกรรมการจัดการความรู้สำหรับกลุ่มศูนย์เฉพาะทางของมหาวิทยาลัยขอนแก่น

กิจกรรมที่ดำเนินการสนับสนุนเพิ่มเติม คือ จัดให้มีเว็บไซต์การจัดการความรู้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อใช้เป็นเวทีเสมือนในการแลกเปลี่ยนข่าวสาร ด้านการจัดการความรู้ จัดอบรมเรื่องการทำบล็อก เป็นรุ่นๆ ปัจจุบันลดในเรื่องนี้ลง เพราะสามารถเรียนรู้เองได้ เกิดนักเขียนบล็อก หรือ Blogger จำนวนพอสมควร แต่ยังเพิ่มได้ไม่มากนัก และที่เป็นเรื่องใหม่ คือ การจัดงาน KKU Show & Share ขึ้น เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2550 ความคิดเกิด ปิ๊งแว๊บ มาเพราะเหตุว่า เห็นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติทำงานหนัก-มาก-เหนื่อย หากจัดกลไกให้มาแสดงความสามารถจากผลงานของตนที่ภูมิใจ น่าจะก่อให้เกิดกำลังใจได้ ปีนี้จะจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3  กิจกรรมภายนอกที่ให้ความสำคัญสูง คือ เครือข่ายการจัดการความรู้ระหว่างมหาวิทยาลัย ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเป็นสมาชิกอยู่ ตั้งแต่การประชุมครั้งแรก จนกระทั่งถึงครั้งล่าสุด คือ ครั้งที่ 14 บทบาทในฐานะ คุณเอื้อ คือ พยายามคัดเลือก คุณกิจ ที่ตรงประเด็นกับหัวข้อที่กำหนดในการประชุมแต่ละครั้ง ให้ร่วมเดินทางไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับเพื่อนต่างมหาวิทยาลัย และหากต้องเป็นเจ้าภาพเมื่อเวียนมาถึงก็ต้องจัดงานที่มีลักษณะพิเศษนี้ให้ดีที่สุด ซึ่งมหาวิทยาลัยขอนแก่นในฐานะเจ้าภาพสามารถจัดได้ดีทีเดียว สังเกตได้จากคำชมของเพื่อนจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ความสำเร็จเรื่อง การจัดการความรู้ ในมหาวิทยาลัยนั้น ปกติเป็นหน้าที่ของ คุณเอื้อ ซึ่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เบื้องหลัง คุณเอื้อ คือ คุณอธิการบดี ที่รองอธิการบดีต้องรายงานให้อธิการบดีทราบเป็นระยะ มหาวิทยาลัยขอนแก่นโชคดีที่อธิการบดีให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ เกาะติด และไปไหนไปด้วย เรียกว่า ให้ทั้ง ช้าง ม้า รถ และทศพล ครบ คุณเอื้อ ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น จึงทำงานได้อย่างเต็มที่

ปัจจุบัน  การจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่นยังดำเนินต่อไป ตามระบบราชการและตามธรรมชาติ ด้วยสาเหตุหลายประการได้แก่ ประการแรก เป็นตัวชี้วัดภาคบังคับในเรื่อง การพัฒนาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 หมวด 4 การวัดการวิเคราะห์ และการจัดการความรู้ รหัส IT7 ที่ต้องจัดทำแผนการจัดการความรู้ และนำแผนไปปฏิบัติ ด้วยการ 1) แสดงแผนการจัดการความรู้อย่างน้อย 3 องค์ความรู้ ตามแนวทางที่กำหนดและได้รับความเห็นชอบแล้ว และ 2) รายงานผลการดำเนินงานตามแผน โดยดำเนิน กิจกรรมตามแผนการจัดการความรู้ ได้สำเร็จครบถ้วนทุกกิจกรรม และสามารถดำเนินการที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ในทุกกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ระบุไว้ ซึ่งถือเป็นการจัดการความรู้ตามแบบฟอร์ม ประการที่ 2 เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ ที่เป็นกิจกรรมต่อเนื่องถือเป็นการจัดการความรู้ตามธรรมชาติ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเห็นความสำคัญก็ตาม และจะบูรณาการทั้ง 2 ประการนี้ให้สอดคล้อง ส่งเสริม สนับสนุนกัน สำหรับคณะและหน่วยงานต่างๆ มหาวิทยาลัยไม่บังคับให้ดำเนินการ แต่พยายามสอดแทรกและเผยแพร่การจัดการความรู้ในฐานะเครื่องมือที่ช่วยในการพัฒนาคน  พัฒนางาน  และพัฒนาองค์กร  ด้วยเป้าหมายงานเห็นผล คนเป็นสุข   โดยสื่อสารว่าให้ใช้การจัดการความรู้ที่เนียนอยู่ในเนื้องานประจำ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้ปฏิบัติ  โดยไม่จำเป็นต้องตั้งหน่วยงานรองรับ  เพื่อไม่ให้รู้สึกว่าเป็นภาระและใช้งบประมาณมาก  สุดท้ายผู้ที่ดำเนินงานเรื่องการจัดการความรู้  ต้องเป็นผู้รับผิดและรับชอบฝ่ายเดียว  ทั้งที่การจัดการความรู้ควรเป็นเรื่องของทั้งองค์กร  ที่ผู้บริหารเห็นประโยชน์และนำมาใช้  สนับสนุนเป็นเครื่องมือสำคัญ  ในการขับเคลื่อนการทำงาน  ใช้งบประมาณไม่มาก  ในระยะยาวจะช่วยลดและประหยัดเวลาในการทำงานด้วย

แม้ว่ายังกล่าวได้ไม่เต็มที่นักว่ามหาวิทยาลัยขอนแก่นประสบความสำเร็จในการใช้การจัดการความรู้มาเพื่อพัฒนาตน พัฒนางาน และพัฒนามหาวิทยาลัยในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์  แต่พอ มีแวว เห็นหนทางแห่งความสำเร็จว่าการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือที่สำคัญประการหนึ่ง  ในการพัฒนาคนให้มีความรู้ความสามารถ  ความเข้าใจ และทัศนคติในการพัฒนางานของตัวเอง  ทั้งในงานประจำ และงานเชิงยุทธศาสตร์  ประโยชน์สุดท้ายจะเกิดแก่งานและองค์กรในภาพรวม  ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

กิจกรรมการจัดการความรู้ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

กิจกรรมการจัดการความรู้และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท)

การจัดการความรู้ ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

ตอน 1  ตอน 2

KKU Show & Share

หมายเลขบันทึก: 276777เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2009 16:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

แวะมาเยี่ยมและเรียนรู้เพิ่มเติม ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท