นิติกรรม


           มาตรา 149 บัญญัติว่า นิติกรรม หมายความว่า การใด ๆ อันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล เพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอนสงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

นิติกรรม มิใช่กรรมทางกฎหมาย นิติกรรม เป็นการกระทำของบุคคลอันชอบด้วยกฎหมาย และมุ่งประสงค์จะให้เกิดผลในทางกฎหมายขึ้นที่จะผูกพันกันโดยการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิเรียกรวมๆ ว่าเป็นการเคลื่อนไหวในสิทธิหรือการเคลื่อนไหวแห่งสิทธิ

ผลของนิติกรรม ทำให้เกิดหนี้ อันเป็นการก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องแก่บุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าเจ้าหนี้และก่อให้เกิดหน้าที่แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าลูกหนี้ดังนั้น นิติกรรมจึงเป็นบ่อเกิดแห่งหนี้อย่างหนึ่ง

จากบทบัญญัติแห่งมาตรา 149 สามารถแยกองค์ประกอบของนิติกรรมออกได้เป็น 5 ประการ ดังต่อไปนี้ คือ

1.      เป็นการกระทำของบุคคลโดยการแสดงเจตนา

2.      เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย

3.      เป็นการกระทำด้วยใจสมัครหรือกระทำด้วยความสมัครใจ

4.      เป็นการกระทำโดยมุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล

5.   เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง คือการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ

1.  เป็นการกระทำของบุคคลโดยการแสดงเจตนา การกระทำใดๆ ของบุคคล สิ่งที่จะต้องพิจารณาประการแรกของนิติกรรมคือ จะมีการกระทำของบุคคลแต่ถ้าเป็นการกระทำที่ไม่ใช่บุคคล เช่น การกระทำของสัตว์จะเกิดเป็นนิติกรรมไม่ได้ การกระทำจะเป็นการแสดงเจตนาของบุคคลนั้นว่าต้องการให้การกระทำของตนมีผลในกฎหมายอย่างไร การแสดงเจตนาอาจเป็นการกระทำในรูปเขียนลงในกระดาษเป็นลายลักษณ์อักษร หรือวัตถุอื่นใด หรือด้วยการพูดจาต่อกัน หรือด้วยอากัปกิริยาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ ซึ่งสามารถทำให้บุคคลภายนอกที่เห็นอาการนั้นเกิดการเข้าใจว่า ผู้แสดงกิริยาอาการนั้นมีความประสงค์อย่างไร ก็ถือได้ว่าเป็นการแสดงเจตนาของบุคคลแล้ว

2. เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมาย กระทำลงโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายยอมรับนับถือการแสดงเจตนาของบุคคลตามทฤษฎีที่ว่า ความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาของบุคคล กล่าวคือ บุคคลแสดงเจตนาจะให้เกิดผลในกฎหมายอย่างไร เมื่อกฎหมายยอมรับรู้เจตนาของบุคคลนั้นแล้ว ย่อมใช้บังคับกันได้ถ้าการกระทำนั้น หรือการแสดงเจตนานั้นชอบด้วยกฎหมาย เช่น การซื้อขาย การจ้าง การทำพินัยกรรม การเช่าทรัพย์ การเช่าซื้อ เป็นต้น ส่วนการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมีหลายประการ เช่น การละเมิดสิทธิของผู้อื่น (มาตรา 420) ฯลฯ การกระทำหรือการแสดงเจตนานั้นย่อมไม่เป็นนิติกรรม

คำพิพากษาฎีกาตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 1052/2538 โจทก์ลงลายมือชื่อในหนังสือมอบอำนาจโดยยังไม่กรอกข้อความจำเลยที่ 1 นำหนังสือมอบอำนาจนั้นไปกรอกข้อความว่า โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจยื่นคำขอจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยโจทก์ไม่รู้เห็นด้วย นิติกรรมการโอนเกิดขึ้นจากการทุจริต จึงตกเป็นโมฆะ ถือเสมือนว่ามิได้มีนิติกรรมการโอนเกิดขึ้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทยังคงเป็นของโจทก์ ฉะนั้น การที่จำเลยที่ 2 รับจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทไว้จากจำเลยที่ 1 จึงไม่เกิดผลให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิตามนิติกรรมจำนองโจทก์จึงมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ได้

ถ้าลักษณะแห่งการกระทำหรือแสดงเจตนานั้นเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และต้องด้วยองค์ประกอบอื่นๆของนิติกรรม การกระทำหรือการแสดงเจตนานั้นย่อมเป็นนิติกรรม แต่ถ้าการกระทำหรือการแสดงเจตนานั้นที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือ ศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ(มาตรา 250)

            3.  เป็นการกระทำด้วยใจสมัครกระทำด้วยใจสมัคร การกระทำหรือการแสดงเจตนาอันจะก่อให้เกิดนิติกรรม ต้องเป็นการกระทำหรือการแสดงเจตนาที่บุคคลนั้นกระทำหรือแสดงเจตนาด้วยความสมัครใจที่จะกระทำการนั้นโดยไม่มีใครมาบังคับ มาหลอกลวง หรือขู่เข็ญให้หลงผิด หรือปราศจากความรับผิดชอบชั่วดี ไม่รู้ตัวหรือขาดสติ เช่น แสดงเจตนาเพราะสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์สิน จะตกเป็นโมฆียะหรือแสดงเจตนาเพราะถูกข่มขู่จะตกเป็นโมฆียะ เป็นต้น ฉะนั้น ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมต้องแสดงเจตนาทำนิติกรรมด้วยใจสมัคร มีความเป็นอิสระมีจิตสำนึกรู้สึกผิดชอบในขณะกระทำนิติกรรมนั้น

คำพิพากษาฎีกาตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 5188/2545 โจทก์นำแบบพิมพ์สัญญาซึ่งยังมิได้กรอกข้อความมาให้จำเลยลงลายมือชื่อโดยอ้างว่าเป็นใบสมัครงาน จำเลยหลงเชื่อจึงลงลายมือชื่อในเอกสารไปโดยจำเลยยัง ไม่ได้ตกลงกับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญาการที่โจทก์นำสัญญาไปกรอก ข้อความในภายหลัง แม้จะมีลายมือชื่อจำเลยเป็นคู่สัญญาก็จะถือว่าจำเลยได้แสดงเจตนาเข้าทำสัญญากับโจทก์ตามข้อความที่ปรากฏในสัญญายังไม่ได้ จึงยังไม่มีผลผูกพันจำเลย โจทก์จะนำสัญญามาฟ้องบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามหรือเรียกค่าเสียหาย จากจำเลยฐานผิดสัญญาหาได้ไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 6379/2544 จำเลยนำแบบฟอร์มหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์เพียงลงลายมือชื่อไว้ไปกรอกข้อความว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทของโจทก์ให้แก่จำเลย โดยโจทก์มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยหนังสือมอบอำนาจจึงเป็นเอกสารปลอม นิติกรรมการโอนขายที่ดินพิพาทมิได้เกิดจากการแสดงเจตนาของโจทก์ที่ประสงค์จะทำนิติกรรมนั้น นิติกรรมการจดทะเบียนโอนขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์มาเป็นของจำเลยดังกล่าวได้

4.  เป็นการกระทำโดยมุ่งจะผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล คำว่า ผูกนิติสัมพันธ์ หมายถึง มีความผูกพันกันในกฎหมายระหว่างบุคคลก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ระหว่างบุคคล เพราะการกระทำของบุคคลบางครั้งทำลงไปไม่ได้มุ่งผูกพันหรือก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างกันเลย เช่น ลูกร้องไห้ แม่บอกลูกว่าอย่าร้อง เดี๋ยวแม่จะซื้อตุ๊กตาให้ เช่นนี้ใจจริงของแม่ต้องการให้ลูกหยุดร้องไห้ ไม่ต้องการซื้อตุ๊กตาให้แต่อย่างใด และการผูกสัมพันธ์ต้องเป็นการผูกพันระหว่างบุคคลกับบุคคล อาจเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลก็ได้ ฉะนั้นการแสดงเจตนากับสัตว์เลี้ยง หรือสิ่งที่มีชีวิตอย่างอื่น อันมิใช่บุคคลย่อมไม่ก่อให้เกิดผลในกฎหมาย จึงไม่ใช่นิติกรรม อนึ่ง คำว่า บุคคล นั้น ไม่จำเป็นต้องมีบุคคลสองฝ่าย มีบุคคลฝ่ายเดียวก็เป็น นิติกรรมได้ เช่น นิติกรรมฝ่ายเดียว ได้แก่ การทำพินัยกรรม การให้คำมั่นจะให้รางวัล หรือ นิติกรรมระหว่างบุคคลสองฝ่าย ได้แก่ สัญญาซื้อขาย หรือนิติกรรมระหว่างบุคคลจำนวนมาก เช่น รัฐบาลขายพันธบัตรให้ประชาชน เป็นต้น

คำพิพากษาฎีกาตัวอย่าง

คำพิพากษาฎีกาที่ 939/2537 แม้สัญญารับทุนจะใช้แบบตามที่กระทรวงการคลังกำหนดให้ใช้ กับข้าราชการผู้รับทุนโดยที่จำเลยที่ 1 มิได้เป็นข้าราชการหรือได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างชั่วคราวแล้วก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 สมัครใจทำสัญญาที่มีข้อความตามแบบดังกล่าวอันเป็นการมุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เพื่อจะก่อให้เกิดสิทธิตามข้อความในสัญญาซึ่งชอบด้วยกฎหมาย และไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้ว สัญญาดังกล่าวย่อมผูกพันจำเลยที่ 1 จึงผูกพันจำเลยที่ 2 ที่ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ด้วย

5.  เป็นการกระทำที่มีวัตถุประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวในสิทธิอย่างใดอย่างหนึ่ง คือการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ กระทำเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับสิทธิ การกระทำดังกล่าวนี้ เรียกรวมๆ ว่า ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ สิทธิในกฎหมายแยกออกได้เป็นสองประเภท คือ

บุคคลสิทธิ  (Jus in Personam) เป็นสิทธิเหนือบุคคล ได้แก่ สิทธิเรียกร้องให้คู่กรณีกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการอันใดอันหนึ่งตามแต่คู่กรณีจะตกลงกัน เช่น สัญญาจะซื้อขาย สัญญากู้ยืม หากคู่กรณีฝ่ายใดไม่ปฏิบัติคู่กรณีอีกฝ่ายมีอำนาจให้สิทธิฟ้องร้องต่อศาลบังคับให้คู่กรณีปฏิบัติตามสิทธิที่ตนมีอยู่เหนือคู่กรณีนั้นได้

ส่วน ทรัพยสิทธิ (Jus in rem) เป็นสิทธิเหนือทรัพย์สิน ซึ่งมีขอบเขตอำนาจมากกว่าบุคคลสิทธิ ทรัพยสิทธิมีอยู่สามารถใช้ยัน บุคคลได้ทั่วไปไม่แต่เฉพาะคู่กรณีเท่านั้น เช่น กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทุกชนิด สิทธิครอบครอง ภาระจำยอม สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิอาศัย สิทธิเก็บกิน สิทธิจำนอง ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร สิทธิในเครื่องหมายการค้า เป็นต้น ทรัพยสิทธิมีอานุภาพมาก กฎหมายจึงกำหนดไว้ว่า ทรัพยสิทธิทั้งหลายจะก่อตั้งขึ้นได้แต่ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่นจะคิดขึ้นเองหรือตั้งขึ้นเองไม่ได้

ก.   ก่อสิทธิ (to create rights) เช่น หนึ่งทำสัญญากู้เงินสอง 500,000 บาท เป็นนิติกรรมก่อให้เกิดสิทธิขึ้นระหว่างบุคคล คือ หนึ่งและสองตามสัญญากู้นั้น โดยหนึ่งอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ ส่วนสองอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ ย่อมก่อสิทธิเรียกร้องแก่สองที่จะบังคับให้หนึ่งชำระเงินคืน

ข.   เปลี่ยนแปลงสิทธิ (to modify rights) เช่น หนึ่งและสอง คู่สัญญาเดิมตกลงกันว่า เงินที่กู้ไป 500,000บาท นั้น หนึ่งจะชำระเป็นแหวนเพชร จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งเป็นนิติกรรมที่เปลี่ยนแปลงสิทธิของสอง ที่จะได้รับเงิน 500,000บาท เป็นแหวนเพชร (มาตรา 349)

ค.   โอนสิทธิ (to transfer rights) เช่น หนึ่งและสอง คู่สัญญาเดิม สองได้ทำหนังสือโอนหนี้เงินดังกล่าวให้แก่ สาม และได้บอกกล่าวการโอนไปยัง หนึ่ง ลูกหนี้แล้ว เรียกได้ว่า สองโอนสิทธิเรียกร้องการเป็นเจ้าหนี้ของตนมาให้แก่ สาม เป็นเจ้าหนี้แทน (มาตรา 303) หรือการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน (มาตรา 1336)

ง.   สงวนสิทธิ (to preserve rights) เช่น หนึ่งและสองคู่สัญญาเดิม สองได้     ตกลงทำสัญญารับสาม เข้าเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ จำนวน 500,000บาท  เพื่อสงวนสิทธิของสอง ซึ่งถ้า หนึ่ง ไม่ชำระหนี้ ต่อ สอง ก็จะได้สิทธิที่จะเรียกจาก สาม ผู้ค้ำประกันได้

จ.   ระงับสิทธิ (to extinguish rights) เช่น หนึ่งและสอง คู่สัญญาเดิม สอง เจ้าหนี้ได้แสดงเจตนาปลดหนี้ โดยยกหนี้ให้แก่ หนึ่ง (มาตรา 340) หรือ หนึ่ง ลูกหนี้นำเงิน 500,000 บาท ไปชำระหนี้ให้แก่ สอง เจ้าหนี้ (มาตรา 314) ดังนี้ สัญญากู้เงินเป็นอันระงับไป ไม่เกิดสิทธิต่อกันอีก หรือเช่นการแสดงเจตนาหักกลบลบหนี้ (มาตรา 314)  การบอกล้างโมฆียกรรม (มาตรา 176) การเลิกสัญญา (มาตรา 386)

หมายเลขบันทึก: 276412เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2009 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 21:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อาจารย์ครับผมจะทำวิจัยเรื่องหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอนอาจารย์ช่วยแนะนำหนังสือให้ผมหน่อยสิครับ ผมหาแทบพลิกแผ่นดินแล้ว

หลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน ("บุคคลย่อมไม่อาจให้ในสิ่งที่ตนไม่มี") บางครั้งเรียกว่า Nemo dat rule เป็นภาษิตภาษาละตินทางกฏหมาย ที่สามารถใช้เป็นหลักในการตัดสินคดีความในกระบวนการยุติธรรม สุภาษิตนี้มีความหมายว่า การซื้อกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินจากผู้ซึ่งไม่ได้มีสิทธิครอบครองทรัพย์สินนั้นทำไม่ได้ และหากมีผู้ที่ซื้อไปก็ไม่ได้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอันนั้นเช่นกัน กฎตรงนี้ทำให้ผู้ที่จะซื้อไม่สามารถทราบได้ว่า ผู้ที่จะขายมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นโดยสุจริต (bona fide) หรือไม่ ลองค้นหาในหนังสืออธิบายกฎหมายว่าด้วยทรัพย์ดูครับ

สวัสดีวันศุกร์ค่ะอาจารย์ทนายฯ

มาทายทักแบบสบายๆ ก่อน นะคะ

ส่วนเรื่องกฎหมายนี่ไม่ค่อยเข้าหัวนานมาแล้วค่ะ

ยากๆ สมัยเรียนปูคิดมาตราใหม่เองตลอด อิ อิ;)

มีความสุขกับการงานวันนี้ดี ๆ วันนี้ค่ะ

 

สวัสดีครับ poo

ส่วนเรื่องกฎหมายนี่ไม่ค่อยเข้าหัวนานมาแล้วค่ะ

เรียนจบคณะนิติศาสตร์ มาหรือเปล่าครับ กฎหมายเป็นเรื่องของความเข้าใจครับ มีความสุขเช่นเดียวกัน

สวัสดีครับอาจารย์ กระผมไคร่อยากถามปัญหาอย่างหนึ่ง

คือพ่อเป็นที่ถูกเรียกว่าผู้ไม่มีความสามารถ  (ป่วย)

มีผู้ปกครอง   สามารถทำนิติกรรมได้หรือไม่

และนิติกรรมนั้นจะสมบูรณ์หรือไม่ถ้าผู้ปกครองไม่รับทราบ

จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านอาจารย์ช่วยเหลือ

ขอบพระคุณอย่างสูง

ถูกรถชนได้รับบาดเจ็บและรถเสียหาย มีทนายมาติดต่อซื้อคดีให้เิงนมาจำนวนหนึ่ง จึงขายให้ทนาย แล้วทนายไปเรียกร้องกับทางบริษัทประกันภัย กรณีนี้บริษัทประกันภัยจะอ้างว่าไม่สามารถซื้อขายสิทธิในมูลละเมิดได้เพราะขัดต่อความสงบ เพื่อไม่ยินยอมจ่ายค่าเสียหายที่ทนายเอาไปเรียกร้องได้หรือไม่ มีคำพิพากษาใดกล่าวถึงเรื่องนีั้บ้างครับ

ประโยนช์ของนิติกรรมเเละสัญญามีอะไรบ้างหรอค่่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท