ธรรมะกับความรัก


 

ความรักกับธรรมะ ความรักกับความทุกข์และกิเลส บุพเพสันนิวาส

 

ความรักกับธรรมะMee

ความรักในที่นี้หมายถึงความรักแบบหญิงชาย รักแบบหวังครองคู่ร่วมทุกข์ร่วมสุข
ความรักนั้นที่จริงไม่ได้ขัดแย้งหรือไปกันไม่ได้กับธรรมะเลย
นอกไปจากนั้น หากสังคมใดหรือครอบครัวใดอยู่ด้วยกัน หญิงชายใดครองรักกัน
โดยมีพื้นฐานความรัก พื้นฐานของครองครัว อยู่ในธรรมแล้ว
ครอบครัวนั้นก็จะเป็นครอบครัวที่สงบร่มเย็น อบอุ่น
เกื้อกูลกันไปในทางที่ดียิ่งๆ อย่างแน่นอน

ความรักเป็นกิเลสหรือไม่ จะรักอย่างรู้เท่าทันได้อย่างไร

ถาม

ความรักเวลาที่เกิดแล้วมักชักนำกิเลสทั้งปวงคือ โลภ โกรธ หลง ตามมาเป็นขบวน แม้เหมือนรู้เท่าทันแล้ว บางครั้งหรือมักแทบทุกครั้ง ก็ยังตัดไม่ได้

...

ตอบMee1

ครูบาอาจารย์สอนว่า กิเลสนั้นเค้าร้ายนัก เค้าแน่กว่าที่เราคิดนัก ยิ่งเราอยู่ในบรรยากาศแบบโลกๆ อยู่ในสังคม ต้องเจอผู้คน มีสิ่งล่อใจมากมาย ยากเหลือเกิน

เรื่องความรักนี่ เราคงต้องวางเกณฑ์ในการพูดไว้ ๒ ระดับ

แบบแรกคือ เราจะจัดการกับความรักได้อย่างไร แค่ไหน ถ้าหากว่าเราไม่มุ่งอยู่ในโลกแล้ว อยากเร่งหลุดเร่งพ้นจากทุกข์ แล้ว

แบบที่สองคือ ถ้าเรายังเลือกอยู่แบบโลกๆ แบบคฤหัสถ์หรือ ฆราวาสทั่วๆ ไป

พูดในแบบที่สองเป็นหลักในการสนทนาของเราแล้วกัน นะคะเพราะถ้าใครไปในแบบแรกหรือทางแรกแล้ว จะจัดการ กับกิเลส อวิชชา ได้คล่องตัวกว่า ง่ายดายกว่า เรียกว่า "รู้ทาง" แล้ว ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไหร่แล้ว

...

ที่จริง ถ้าใครสามารถมองให้เห็นได้ว่าที่แท้สรรพสิ่งล้วนเป็นมายา คนสวยหนึ่งคน ลูกแมวหนึ่งตัว ปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำ นกบนท้องฟ้า ไม่ว่าอะไรในสากลโลก ที่แท้ก็คือก้อนธาตุมาประชุมกัน มาทำหน้าที่ ของตน รวมกันจนกลายเป็นก้อนสิ่งมีชีวิตที่เราไปบัญญัติ เรียกว่า "คน" ว่า "ผู้หญิง" "นก" "ปลา" เท่านี้ ก็จะลดความ ผูกจิตใจ ความวูบไหวไหลหลงในสิ่งทั้งปวง ลงได้มาก ตั้งแต่เริ่มทีเดียว ใครมองเห็นความเป็นจริงทะลุเข้าไปได้ อย่างนี้ สบายไปหลายอย่างทีเดียวค่ะ

...

ถ้ายังเลือกอยู่แบบโลกๆ เป็นคฤหัสถ์ ถ้าห้ามไม่ไหวเรื่องความรัก ก็รักไปเถิดค่ะ (พระอริยบุคคลขั้นแรกๆ ท่านก็ยังมีความรัก ยัง มีครอบครัวได้ ยังมีลูกหลายๆ คนได้อยู่) แต่รักแบบให้มีสติ รักแบบรู้ว่าทุกอย่าง ทั้งรูปธรรมทั้งนามธรรมทั้งหลาย ล้วนเกิดขึ้น-ตั้งอยู่แล้วก็-ดับไป เป็นธรรมดา ใครจะฝืนจะค้าน จะไม่ยอม จะดื้อดึงกับธรรมชาติอันนี้ ไม่ได้เลย

เมื่อรัก ก็ให้รู้ไปพร้อมๆ กันด้วยว่า วันนี้ได้มา วันหนึ่งก็ต้องเสียไป (ถ้าทำใจไว้ตั้งแต่แรกรักได้ก็ยิ่งวิเศษใหญ่) ไม่เร็วก็ช้า อาจจะจาก เป็นหรือจากตาย พยายามมีสติรู้ตัว เตรียมตัวเตรียมใจไว้ให้ อยู่กับความเป็นจริงของสรรพสิ่ง คือ ความไม่เที่ยง

ครูบาอาจารย์สอนมาว่า ... หายใจเข้าคราวนี้ ถ้าไม่หายใจออก ก็ตาย หายใจออกคราวนี้ ถ้าไม่หายใจเข้า ก็ตาย

มีความรัก มีชีวิตแบบคฤหัสถ์ที่อยู่ในศีลในธรรม หมั่นทำบุญ ทำทาน รักษาศีลเจริญวิปัสสนาภาวนา เจริญสติ (สติปัฏฐานสี่) ครูบาอาจารย์สอนดิฉันว่า ถือแค่ศีล ๕ ก็ไปพระนิพพานได้ (แต่ต้องถือจริงจัง ศีลมั่นเป็นนิจศีลนะคะ ไม่ใช่พร่องๆ กะพร่องกะแพร่ง)

...

เมื่อมีสติรู้ตัวแล้ว อะไรๆ ก็จะเบาบางลงไป เช่นเมื่อความรัก จากไป ก็ทุรนทุรายแต่เพียงน้อย เพราะบอกตัวเองไว้แล้ว แต่แรก ทำความเข้าใจไว้แต่แรกแล้ว ทั้งเวลาที่เสียไปก็มีสติ รู้ตัวว่ารักได้จากไปแล้ว ก็จะไม่ฟูมฟายจนเกินเหตุ

ส่วนอารมณ์ที่พันผูกต่อเนื่องหรือเป็นผลต่างๆ จากความรัก ทั้งโลภ โกรธ หลง นั้นน่าจะเป็นเพราะความรักคือการยึด การผูกเอาสิ่งของหรือสัตว์บุคคลหรือแม้แต่นามธรรมต่างๆ เข้ามาเป็น "ของเรา" อย่างแน่นแฟ้นเหลือเกิน

ดังนั้น ถ้ายิ่งยึดหนาแน่นเท่าไหร่ ยึดรุนแรงเท่าไหร่ ยึดแบบ ขาดสติเท่าไหร่ อารมณ์ 'โลภ โกรธ หลง' ที่ตามมา ก็ย่อม หนักหนาสาหัส รุนแรงเท่าทวีคูณไปด้วยตามนั้น

...

ดูๆ แล้ว ก็คือขอให้ "มีสติ" ในการกระทำสิ่งต่างๆ สตินี้เป็น ยาวิเศษจริงๆ ที่พระพุทธองค์ทรงมอบไว้ให้ แก้ได้สารพัดโรค จริงๆ ทั้งโรคทางโลกทั้งโรคทางธรรม (พาไปถึงพระนิพพาน ได้ด้วยและเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะพาไปสู่พระนิพพานได้)

เพราะเมื่อใดที่มีสติอยู่นั้น อวิชชาก็เกิดไม่ได้ จิตจึงประกอบ ด้วยปัญญา จะรักก็รักอย่างมีสติ รักแบบมีปัญญา พยายามเข้าใจ ให้มาก ไม่ตกเป็นทาสอารมณ์จนขาดสติ ใช้สติเข้ามากำกับเสมอ พยายามรู้เท่าทันอยู่เสมอ เท่านี้ก็เยี่ยมแล้วค่ะ

...

เมื่อเรามีสติรู้เท่าทัน รักก็รักได้เบาลง รักด้วยปัญญา เมื่อใช้ ปัญญานำ จะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ ดีหรือไม่ดี สุขหรือทุกข์ ไม่ว่าจะเป็นอาการโลภโกรธหรือหลง พระสติ พระปัญญา ก็จะมาช่วยเราไว้ รั้งสติอารมณ์อันรุนแรง ของเราไว้ ไม่ให้ดีใจ เสียใจ สุข ทุกข์ โลภ หรือโกรธ หรือหลง อย่างเตลิดเปิดเปิง

...

"วิธีทำให้เบาคลาย"

วิธีลด - ละ - เลิก หรือปลดตัวออกจากการเป็นทาสอารมณ์ ต่างๆ เช่น ความรัก นี้ ถ้าเป็นฆราวาสแบบเราๆ ใช้สติกำหนด ขนาดนี้ไปเรื่อยๆ ให้มากๆ บ่อยๆ เนืองๆ ปัญญาที่เกิดบ่อยๆ เรื่อยๆ เนืองๆ จะค่อยๆ เข้าไป ลด - ละ โลภะ โทสะ โมหะ และอวิชชา ในจิต เป็นการสั่งสมปัญญาและบุญญาบารมีสู่การ สามารถ "เลิก" หรือ "ตัด" หรือออกจาก "ทุกข์" เหล่านี้ ได้เช่นกัน แม้จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป

"ทำอย่างไรให้มีสติ"

สำคัญที่สุด ถ้าอยากให้ "มีสติ" อยู่กับตัวเสมอ ซึ่งมีคุณประโยชน์ เหลือคณานับทั้งในการอยู่กับโลกและทั้งในการเดินทางออกไป สู่ความพ้นทุกข์ คือ กำหนดหรือฝึกสติปัฏฐาน ๔ ให้เนืองๆ เอาสติมาอยู่กับกายนี้ใจนี้ ไม่ต้องส่งออกไปข้างนอก ไม่ต้องส่งออกไปที่กายอื่นใจอื่น คนอื่น สิ่งอื่นใดข้างนอกกายใจเรา ทั้งสิ้น (คือให้ออกไปน้อยที่สุดค่ะ) เอาสติมารู้กาย เวทนา จิต ธรรม ในกายนี้ใจนี้ของเรา ณ ปัจจุบันขณะ อย่าส่งออกนอก คือนอกกายนี้นอกใจนี้
(วิธีฝึกสติปัฏฐานสี่)

เช่น เมื่อมองเห็นหญิงสาวสวยหรือหนุ่มหล่อๆ ก็ต้องมีสติว่า เห็นหนอ (ที่ตา) ไม่ใช่ สวยจังหรือหล่อจัง อันนี้ ส่งใจออกนอก แล้ว พอเรา "เห็นหนอ" ที่ตา สติทำงาน ปัญญาก็เกิด ทำให้ จะไม่ปรุงแต่งต่อ (ว่า ชอบจัง ตามไปดูหน่อย อือชุดที่ใส่ก็สวย ถูกรสนิยมเรา อย่างนี้เป็นต้น) อย่างมากกำหนด "เห็นหนอ" แล้วก็ "สวยหนอ" หรือ "หล่อหนอ" อีกคำก็อยู่แล้ว แต่ถ้าเห็นปุ๊บ ใจและความคิดก็เตลิดว่า สวยจัง...เสื้อผ้าก็ ดูดี ผมดำสลวย อยากจีบ! นั่นคือเผลอสติ ตามใจอารมณ์ และปรุงแต่งต่อเนื่องอีกมากมายแล้ว เมื่ออารมณ์โลภ โกรธ หรือหลงก็ตาม เกิดขึ้นเช่นนี้ สติและปัญญาก็เกิดไม่ได้

...

"สรุป"

ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับการเลือกของแต่ละคน ว่าต้องการเร่งร้อน ออกจากสังสารวัฏแค่ไหน ถ้ายิ่งเร่ง ก็ต้องยิ่งปฏิบัติจิตใจ ให้เข้มข้น ถี่ยิบ กำหนดสติให้มาก (ผู้พูดเองก็ทำไม่ค่อยได้เลยค่ะ หลุดตลอด เผลอตลอดเหมือนกันเวลาอยู่ในโลกทั่วไปแบบนี้) หลบๆ เลี่ยงๆ จากสิ่งยั่วยุให้กิเลสเกิดทั้งปวง ฝึกสติให้รู้ เท่าทันให้มาก

แต่ถ้ายังเลือกแบบค่อยเป็นค่อยไป ยังสนุกกับการเวียนว่าย ตายเกิด ก็เป็นอีกเรื่องค่ะ ถ้าเป็นอย่างนี้ ก็ค่อยๆ ทำค่อยๆ ไป ตั้งใจฝึกบ่อยๆ ไปเรื่อยๆ สติปัญญาก็จะค่อยๆ สั่งสมเพิ่มพูน ไปเอง

บุพเพสันนิวาส

เรื่องเนื้อคู่ บุพเพสันนิวาส เป็นเรื่องเป็นไปได้ในทางคติพุทธ
เพราะเหตุว่าธรรมะพูดถึงเรื่องกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด
เราทั้งหลายล้วนเวียนว่ายตายเกิดกันมานับชาติไม่ถ้วน
เจอะเจอกันมาแล้วไม่รู้เท่าไหร่

หากใครพึงใจที่จะได้เจอกันอีกเรื่อยๆ ก็เพียรหมั่นสร้างบุญกุศล ดีๆ ร่วมกันให้มาก ลองพิจารณาคำกล่าวของพระพุทธองค์ข้างล่างนี้ ดูนะคะ

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรคฤหบดีและคฤหปตานี ถ้าภรรยาและสามีทั้งสอง
หวังจะพบกันและกันทั้งในปัจจุบันทั้งในสัมปรายภพไซร้
ทั้งสองเทียวพึงเป็นผู้มีศรัทธาเสมอกัน มีศีลเสมอกัน
มีจาคะเสมอกัน มีปัญญาเสมอกัน ภรรยาและสามี
ทั้งสองนั้น ย่อมได้พบกันและกันทั้งในปัจจุบัน
ทั้งในสัมปรายภพ ฯ

ภรรยาและสามีทั้งสองเป็นผู้มีศรัทธา รู้ความประสงค์ของ
ผู้ขอ มีความสำรวม เป็นอยู่โดยธรรม เจรจาคำที่น่ารักแก่
กันและกัน ย่อมมีความเจริญรุ่งเรืองมาก มีความผาสุก
ทั้งสองฝ่ายมีศีลเสมอกัน รักใคร่กันมาก ไม่มีใจร้ายต่อกัน
ประพฤติธรรมในโลกนี้แล้ว ทั้งสองเป็นผู้มีศีลและวัตร
เสมอกัน ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์* เพลิดเพลินบันเทิงใจ
อยู่ในเทวโลก ฯ


(* กามารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่าใคร่ น่าปรารถนา
หมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง รส สัมผัส ได้แก่ กามคุณ ๕
ไม่ใช่หมายถึงความรู้สึกทางกามอย่างในภาษาไทย
ปัจจุบันที่เราใช้ๆ กันอยู่)

คำสำคัญ (Tags): #ธรรมะ
หมายเลขบันทึก: 275844เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2009 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สาธุขอรับคุณครู..

ทุกคนล้วนมีความรักมาแต่เกิด..

เราทุกคนเป็นผลิตผลของความรัก

ความรักถ้าเป็น แบบ true love จะมีแต่สุขขอรับ

แต่เราจะรักแบบไหนละ..นี่สิน่าคิด..

ให้ตามรู้เท่าทันทุกขณะลมหายใจเข้าออกอย่างนิ่มนวล

แล้วจะพบความรักที่ยั่งยืนขอรับคุณครู

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท