ยกระดับการรักษาด้วย"ใจ"มาตรฐานใหม่รพ.


มิติด้านจิตวิญญาณ’ ของการรักษาพยาบาล เป็นอีกแนวทางที่ตัวแทนสถานพยาบาลผู้เข้าร่วมโครงการ’สร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน

นอกจากสร้างกระบวนการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาลให้ครอบคลุมตามมาตรฐานแล้ว การเน้นย้ำถึง มิติด้านจิตวิญญาณของการรักษาพยาบาล เป็นอีกแนวทางที่ตัวแทนสถานพยาบาลผู้เข้าร่วมโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านกระบวนการคุณภาพเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนให้ความสำคัญตลอดช่วงเวลาของการพูดคุยในเวทีแลกเปลี่ยนที่จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ณ จ.เชียงใหม่

เชื่อว่าการให้บริการแก่ผู้รับการรักษาด้วยจิตวิญญาณของคนทำงานด้านสุขภาพ พร้อมจะเข้าใจในทุกเรื่องของผู้ป่วยโดยไม่คิดว่าเป็นแค่งานหรือรักษาเพียงให้อาการป่วยหายไป มีอยู่แล้วในตัวของคนทำงานทุกคน การพบกันในครั้งนี้เสมือนการตอกย้ำให้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นธรรมชาติ

ผ่านการถ่ายทอดบทเรียน และให้กำลังใจที่มีให้ต่อกันนพ.อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล (ผอ.สรพ.)

บอกถึงที่มาของการลงพื้นที่อีกครั้งหนึ่ง

เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่า หากช่องว่างอันเกิดจากความไม่เข้าใจกันระหว่างผู้ให้และผู้รับการรักษา ได้ขยายเพิ่มมากขึ้น ย่อมนำมาซึ่งความไร้ประสิทธิภาพในระบบสุขภาพของประชาชนอย่างแน่นอน ดังนั้นเมื่อสบโอกาส การถ่ายทอดบทเรียนตลอดจนประสบการณ์ระหว่าง คนทำงานด้วยกัน จึงชวนฟังและน่านำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่

พญ.พรพรรณ์ วรรณฤทธิ์ (หมอกุ้ง) กุมารแพทย์ โรงพยาบาลลำพูน จ.ลำพูน กล่าวเริ่มต้นถึงมุมมองที่มีต่อเรื่องนี้ว่า หากอยากเห็นประชาชนมีสุขภาพดี มาตรฐานทางการแพทย์อย่างเดียวคงไม่เพียงพอ หากแต่ระหว่างผู้รับ-ผู้ให้ จำเป็นต้องเข้าใจความรู้สึกระหว่างกันด้วย

เริ่มจากปรับความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่กับผู้รักษา เราต้องให้ความสำคัญกับคนไข้เทียบเท่ากับญาติในครอบครัวเดียวกัน เอาใจใส่ในทุกๆเรื่องตั้งแต่อาการป่วย ความรู้สึกทางจิตใจ ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ที่อีกฝ่ายพยายามจะสื่อสาร

ความสมบูรณ์ทางจิตใจย่อมมีความหมายและคุณค่ามากกว่าความปกติทางกายภาพเพียงอย่างเดียว ด้วยเหตุนี้แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลลำพูนที่หมอกุ้งมีส่วนรับผิดชอบจึงมากไปด้วยเรื่องเล่าที่บ่งบอกถึงความเชื่อในแนวคิดที่ว่านี้

อย่างเช่น ที่โรงพยาบาลเคยมีกรณีเด็กเข้ารักษาจากอาการไม่หายใจขณะนอนหลับ หรือที่บางคนเรียกว่าหลับไม่ลงทำให้ต้องใช้เครื่องหายใจตลอด เด็กคนนี้อยู่โรงพยาบาลกว่า2ปี หากมองเพียงการรักษาโรคนี้รักษาไม่หาย เราแก้ปัญหาโดยใช้เครื่องช่วยหายใจเมื่อถึงเวลานอนเท่านี้จบ แต่เมื่อเราคิดว่าเด็กคนนี้คือลูกหลาน เราจะปล่อยให้เด็กโตและต้องคลุกคลีอยู่กับโรงพยาบาลตลอดไปไม่ได้ มันจะทำให้เด็กไม่มีสังคม เมื่อเป็นดังนั้นพวกเราจึงเริ่มกระบวนการเพื่อคืนเขาให้กับสังคม

เริ่มจากให้ความรู้แก่ผู้ปกครอง สอนพ่อและแม่เด็กว่าต้องดูแลอย่างไร ให้เข้าใจถึงการช่วยเหลือเสมือนเป็นพยาบาลประจำอยู่ที่บ้าน แม้กระทั่งเครื่องหายใจเราต้องให้เขาไปใช้ที่บ้านได้เลย

พญ.พรพรรณ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า เมื่อได้คลุกคลีรู้สึกว่าจะปล่อยเด็กคนนี้ไม่ได้ ทีมงานและเด็กต่างรู้สึกผูกพันกันไปแล้ว ทำให้นอกจากเรื่องของการแพทย์ ต้องเชื่อมโยงส่วนอื่นๆให้กับเขาด้วย ทั้งโรงเรียน ครู ชุมชน โดยมีเป้าหมายที่ทำอย่างจะรักษาชีวิตนี้ไว้ให้ได้พร้อมไปกับการให้เขาอยู่อย่างมีความสุขเฉกเช่นคนปกติ

คล้ายกับประสบการณ์จากพี่น้อยชลธิดา สิมะวงศ์ พยาบาลวิชาชีพโรงพยาบาลสวนปรุง จ.เชียงใหม่ ที่เล่าถึงแนวทางการทำงานของตัวเองในแบบเดียวกันนี้ว่า เมื่อได้มองกระบวนการใช้จิตใจในการทำงาน จะทำให้ทัศนคติในการทำงานเปลี่ยนไปเลย

เคยมีผู้ป่วยทางจิตเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเพราะมีพฤติกรรมชอบทำร้ายร่างกายแม่ตัวเอง เมื่อเราทราบอาการและรู้ว่ามีสถานที่รักษาที่พร้อมกว่าจึงส่งตัวต่อให้โรงพยาบาลอื่นดูแลแทน แต่ใครจะเชื่อว่า เขาหลบหนีจากโรงพยาบาลแห่งนั้นและเดินกลับบ้านด้วยเท้าเปล่าในระยะทางเป็นร้อยๆกิโลเมตร

ประสบการณ์ที่ว่านี้ทำให้พี่น้อยรู้ว่า ผู้ป่วยทุกคนต้องการอยู่ในที่ที่ตัวเองรู้สึกว่าปลอดภัย อยู่แล้วมีความสุข ซึ่งในที่นี้คงเป็นอะไรอื่นไม่ได้นอกกากบ้านและชุมชนที่ผูกพัน

ในเมื่อผู้ป่วยไม่อยากไปไหน ทำไมเราไม่ลองทำอะไรให้คนไข้คนนี้สามารถอยู่ในที่ที่เขาอยากอยู่ได้ เราจึงสร้างกระบวนการทำความเข้าใจกับครอบครัว กับชุมชนให้เข้าใจว่าหากคนไข้ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเขาจะเหมือนคนปกติ ไม่ทำร้ายใคร

เราสอนให้คนที่บ้านเขารู้ว่าต้องให้กินยาอะไร เวลาไหนบ้าง เจอเหตุการณ์เช่นนี้ควรทำอย่างไร ขณะเดียวกับต้องบอกคนในหมู่บ้านไม่ให้ไปล้อเลียน อย่าทำให้เขารู้สึกว่าเป็นคนแปลกแยกพี่น้อยเล่าถึงประสบการณ์ที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่าการรักษาที่ดีไม่จำเป็นต้องถูกผูกติดกับวิธีวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยเท่านั้น

ด้านอาจารย์ดวงสมร บุญผดุง รองผู้อำนวยการฯในฐานะผู้จัดการโครงการฯ กล่าวสรุปถึงการลงพื้นที่ในแต่ละภูมิภาคซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) ว่า แต่ละแห่งมีจุดเด่นแตกต่างกันไปตามบริบทต่างๆในสังคม อาทิ โรงพยาบาลบางแห่งมีผู้นำองค์กรที่พร้อม บางแห่งชุมชนเข้มแข็งหรือกับบางที่มีทีมงานที่มีประสิทธิภาพและเต็มใจที่จะร่วมในแนวทางดังกล่าวอย่างเต็มความสามารถ

เราจึงสรุปบทเรียนในแต่ละพื้นที่ว่า จะทำอย่างไรให้จุดเด่นในแต่ละแห่งนั้นเป็นตัวชูที่จะขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาสถานพยาบาลให้มีความยั่งยืนที่สุด

ทั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละภาคส่วนต้องให้ความร่วมมือในฐานะที่แต่ละคนต่างเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ผลักดันให้ความรู้สึกเช่นนี้โลดแล่นอยู่ในวงจรระบบสุขภาพของประเทศ

บางทีการสัมผัสและใช้ความรู้สึกที่ดีกับคนไข้ด้วยความจริงใจเพียงน้อยนิด อาจสร้างแรงใจได้มหาศาลบทสรุปของวงเสวนามีประเด็นร่วมกันดังนี้

เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าจะมีแต่หัวใจด้วยกันเท่านั้น ที่เข้าใจกันได้ดีที่สุด

ขอขอบคุณ ข้อมูลจากคุณภูมิ นักข่าวคนเก่ง จาก สสส.

 

 

คำสำคัญ (Tags): #sha
หมายเลขบันทึก: 275219เขียนเมื่อ 10 กรกฎาคม 2009 19:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เพราะทุกคนต่างรู้ดีว่าจะมีแต่‘หัวใจ’ด้วยกันเท่านั้น ที่เข้าใจกันได้ดีที่สุด

ถูกต้องแล้วขอรับหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง..

ใช่ค่ะ  การมาขอรับบริการของผู้เจ็บป่วยก็มาด้วย "ใจ"แม้กายจะเจ็บ  ถ้าได้รับการตอบสนองด้วย "ใจ" เช่นกันก็เป็นอันว่าสมบูรณ์ที่สุด

แค่คิดว่าถ้าเป็นเรา ญาติเรา คนที่เรารัก แล้วบริการด้วยใจมันจะมาโดยอัตโนมัติ คิดดูคนที่ปกติดีใครจะอยากมาโรงพยาบาล ไม่ใจก็กายนั่นแหละ ที่ป่วยเขาจึงมา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท