การศึกษาที่ขึ้นอยู่กับ "สภาวะเศรษฐกิจ..."


การศึกษาของบ้านเรานั้นจะเป็นไปในทิศทางใดล้วนแล้วแต่ขึ้นอยู่กับ “สภาวะเศรษฐกิจ...”

สภาวะเศรษฐกิจในที่นี้นั้นหมายความรวมถึงสภาวะเศรษฐกิจภายนอก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “สภาวะเศรษฐกิจภายใน”

สภาวะเศรษฐกิจภายนอกนั้นก็ได้แก่การเป็นมา เป็นไป ของสภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ

สภาวะเศรษฐกิจภายในนั้นคือ สถานะทางการเงิน รายได้ และความมั่นคงของสถาบันการศึกษาต่าง ๆ ทั้งในระบบ นอกระบบ สถาบันการศึกษาของรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถาบันการศึกษาของเอกชน...

สภาวะเศรษฐกิจภายในเป็นตัวกำหนด “หลักสูตร
ส่วนสภาวะเศรษฐกิจภายนอกนั้นเป็นตัวกำหนด “เนื้อหาของหลักสูตร”

หากสถาบันการศึกษามีสภาวะเศรษฐกิจภายในดีเหมือนเมื่อก่อน คือ มีเงินสนับสนุนจากภาครัฐพออยู่ พอใช้ หลักสูตรที่ออกมาจะเป็นหลักสูตรที่คำนึงถึงสภาพความเป็นไปภายใต้หลักของความเป็นจริงในสังคม
แต่ถ้าหากสภาวะเศรษฐกิจภายในที่ง่อนแง่น คลอนแคลนเช่นนี้ คือ ได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐน้อยลง ต้องหาอยู่ หากินเองมากขึ้น หลักสูตรต่าง ๆ ก็ต้องผลิตออกมาเพื่อ “หาอยู่ หากิน” กันเอง
จะเล่นตัว จัดหลักสูตร ผลิตบัณฑิตสาขาขาดแคลนตามที่สังคมต้องการมากนักก็ไม่ได้ เพราะตัวเองก็จะ “อดตาย”


หลักสูตรต่าง ๆ จึงต้องจัดออกมาเพื่อ “เอาใจลูกค้า” ในที่นี้คือ นักศึกษาซึ่งเป็นอนาคตของชาติ
หลักสูตรใดมีอุปสงค์ (Demand) ของผู้เรียนเยอะ แต่ตลาดต้องการน้อย ก็จัดหลักสูตรนั้นเพราะมีผู้ที่สามารถ “จ่าย” ได้เยอะ จัดได้ว่าเข้าหลักการ “ลูกค้าคือพระเจ้า (Customer is Gods)”

หลักสูตรใดมีอุปสงค์ (Demand) ของนักเรียนน้อย ถึงแม้นว่าตลาดขาดแคลน ต้องการมาก ก็ไม่จัด ไม่เปิดหลักสูตรน้อย เพราะจัดไปก็ไม่มีผู้เรียน ขาดทุน ก็จัดได้ว่าเข้าหลักการ “รู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดี”
“เศรษฐกิจภายใน” สถาบันการศึกษานี้เอง จัดได้ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของสภาวะการตกงานของบัณฑิตทั้งหลาย...

ส่วนเศรษฐกิจภายนอกนั้น ถือว่าเป็นเหตุ เป็นปัจจัยในการกำหนดเนื้อหาของหลักสูตร
ในทุกวันนี้ที่ระบบเศรษฐกิจแข่งขันกันอย่างรุนแรง
การศึกษา การเล่าเรียนทั้งหลาย ถึงแม้นจะจัดว่าอยู่ในสายวิชาชีพที่มี “จรรยาบรรณ” แต่นั่นก็ถูกเปลี่ยนถูกแปลงหลักสูตรในการผลิตบัณฑิตโดยมุ่งเป้าหมายเพื่อสร้างความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจของตนเอง

ในที่นี่กล่าวอย่างง่าย ๆ คือ
หลักสูตรใดที่มีไว้เพื่อบริการสังคม แต่เมื่อสังคมนั้นมี “เงิน” เป็นที่ตั้ง หลักสูตรที่มีชื่อเพื่อบริการสังคมนั้นก็ผลิตบัณฑิตเพื่อมุ่งหา “เงิน” เป็นสำคัญ
เนื้อหาวิชาใดที่มีไว้ในการสร้างจรรยาบรรณ จริยธรรม ถูกถอด ถูกวาง หรือจัดไว้อยู่ในระดับต่ำอย่างมาตรฐาน ให้พอรู้ว่ายังมี
เนื้อหาวิชาใดที่จะเอาไปประกอบอาชีพที่ใช้ชื่อว่าบริการสังคมแล้วหาผลกำไรได้ด้วย เนื้อหาวิชานั้นก็ถูกเพิ่ม ถูกเติม เพื่อนำ “วิชาชีพ” ไปหาเงิน หาทองกัน

จิตใจของนักเรียน นักศึกษาในวันนี้ จึงมี “เงิน” เป็นที่จุดเริ่มต้น ท่ามกลาง รวมทั้งเบื้องปลาย


เบื้องต้นคือ เป็นโจทย์หลักในการเลือก “เรียน” หรือ “ไม่เรียน” ในสาขาใด
สาขาใดเรียนแล้ว จบได้ แล้วเงินมากก็จักเรียนในสาขาและวิชานั้น

ท่ามกลาง คือ ในระหว่างเรียน
เนื้อหา วิชาใด เรียนแล้ว ปฏิบัติแล้ว มีความรู้ ความสามารถที่จะมุ่งไปประกอบอาชีพได้ ก็จะเรียน จะรู้ในสาขาวิชานั้น

เบื้องปลาย ได้แก่
เมื่อเรียนแล้ว จบแล้ว หมดทุนแล้ว ใช้หนี้ทุนเสร็จแล้ว ก็ “เสร็จกัน”
งานใด อาชีพใด หน่วยงานใด ได้ผลตอบแทนสูง รายได้งาม ก็จักเลือก จักไป จักอยู่ในหน่วยงาน และองค์กรนั้น

ระบบเศรษฐกิจภายนอกนั้นเอง เป็นตัวกระตุ้น เร่งเร้า เขา (บัณฑิต) ทั้งหลาย ให้เปลี่ยนความคิด เปลี่ยนใจ ไร้จรรยาบรรณ แล้วหันหน้านี้นั้นไปพึ่ง “เงิน”

ระบบเศรษฐกิจที่กระตุ้นกิเลสอยู่ทั้งวัน ทั้งคืน ตลอดเวลาในยามตื่น หรือแม้กระทั่งช่วงเวลาในการหลับ
เขาทั้งหลายผู้มีสติและสัมปชัญญะน้อย ก็ต้องพลอยเดินตาม “ระบบเศรษฐกิจ” ที่ฉุดรั้งหัวใจเขาให้เดินห่างไปและไกลจากคำว่า “จรรยาบรรณ”

ยิ่งเศรษฐกิจโลกแย่ การแข่งขันในระบบธุรกิจก็ยิ่งรุนแรงมากขึ้น
เขาทั้งหลายผู้มีสติอ่อน ก็จักต้องวิ่งวุ่น หาเงิน หาเงิน เพื่อมากองไว้สำหรับใช้จ่าย

อนาคตการศึกษาไทยในวันนี้จึงผลิตบัณฑิตออกมาเพื่อ “หาเงิน” หนึ่ง และเพื่อ “หาเงิน” อีกหนึ่ง

หลักสูตรใดหาเงินได้มากจักเลือกเรียนในหลักสูตรนั้น
หลักสูตรใดสามารถหาเงินได้มาก ๆ ก็จักเลือกเรียนในหลักสูตรนั้น
วิชาชีพและจรรยาบรรณจึงเป็นความฝันของ “เด็กไทย...”

หมายเลขบันทึก: 274785เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2009 18:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท