พรสวรรค์
นางสาว พรสวรรค์ แต้ว สุรพรสถิตกุล

โรงเรียนในฝัน


โรงเรียนในฝัน

โครงการแห่งความ (เพ้อ) ฝันที่น่าจับตามอง

พินิจ พันธ์ชื่น

     เชื่อว่าทุกท่านที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการศึกษาของชาติ ไม่ว่าจากฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำ และบุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งจากภาครัฐและเอกชน คงไม่มีใครปฏิเสธว่ามีความเคลื่อนไหว เปลี่ยนแปลงมากเหลือเกินในระยะนี้ มีนโยบายด้านการศึกษาหลายอย่างถูกผลักดันเพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม แน่นอนว่าทุกเรื่องจะมี หลักการ เหตุผลและความจำเป็นที่อ่านแล้วอาจเคลิ้มเอาได้ง่ายๆ เหมือนอ่านนวนิยายแล้วจินตนาการตามไปก็ทำให้เกิดอารมณ์คล้อยตาม เบิกบาน ยิ้ม หัวเราะ ด้วยความสุขที่ปรุงแต่งขึ้นในใจได้ไม่ยาก อ่านจบ เหลียวดูตัวเองตามสภาพที่เป็นจริงก็คงพบอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป เรียกว่าความคิดที่เลื่อนไหลไปในโลกแห่งจินตนาการนั้น ไม่อาจมีสิ่งใดมาขวางกั้น อะไรๆก็ดูจะง่ายไปหมด ก็ความฝันนี่ครับ ย่อมไม่มีปัญหา

     บนเส้นทางของการปฏิรูปการศึกษาของชาติ ได้มีการนำเสนอแนวคิดและทฤษฎีหลายอย่าง ให้สถานศึกษา และครูอาจารย์นำไปปฏิบัติ การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอน ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ การจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา การวิจัยในชั้นเรียน การสร้างสรรค์สื่อการเรียนรู้ การเพิ่มพูนทักษะด้านการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ การประกันคุณภาพการศึกษา ฯลฯ แต่ละเรื่องได้รับการเผยแพร่ ปลุกเร้า กระตุ้นเตือนให้รีบทำ และเกิดการแข่งขันกันทำ ออกอาการว่าใครจะได้มาก ได้เร็วกว่ากันก็มีอยู่ สิ้นเปลืองงบประมาณ และเวลาไปแล้วแค่ไหน เกิดความทุกข์ทรมานจนคนดี คนเก่งผันชีวิตตนเองออกจากเส้นทางอาชีพที่เคยศรัทธาและมุ่งมั่น ไปแล้วเท่าไร กล่าวโดยภาพรวม ความผิดพลาดสำคัญที่ผ่านมาและควรได้ใช้เป็นบทเรียน คือการมองงานด้านการศึกษาเสมือนหนึ่งว่าไม่แตกต่างจากกระบวนการผลิตสินค้าในระบบอุตสาหกรรม ทั้งๆที่มีธรรมชาติของงาน และความประณีต ละเอียดอ่อน ความสลับซับซ้อนของปัจจัยอันเป็นส่วนประกอบของระบบ แตกต่างกันมากเหลือเกิน สิ่งที่เป็นความสำเร็จของคนในสังคมหนึ่งที่มีคุณลักษณะพื้นฐาน และสภาพแวดล้อมต่างจากเรามาก หากคิดจะนำวิธีการเหล่านั้นมาใช้บ้าง โดยหวังผลอย่างเดียวกัน ถ้าไม่คิดให้รอบคอบถึงทุนเดิมที่แท้จริงที่เรามีอยู่ ย่อมมีความเสี่ยงเสมอ ได้แค่รูปแบบของเขามา มองผิวเผินที่เปลือกนอก ก็ดูจะคล้ายๆกัน แต่มักจะปราศจากแก่นสารที่แท้จริงภายในโรงเรียนในฝัน เป็นอีกโครงการหนึ่งที่ น่าสนใจติดตาม รับรองว่าใครได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับโครงการนี้แล้ว ต้องชอบ ชื่นชม และ ยกนิ้วให้กับความคิดอันเลอเลิศของโครงการนี้เป็นแน่ ลองอ่านรายละเอียดต่อไปนี้ดูแล้วจะพบว่าน่าสนใจติดตามเพียงใด

มติคณะรัฐมนตรี

     คณะรัฐมนตรีได้ลงมติเห็นชอบในหลักการโครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน (Lab School) เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๔๖ และมอบหมายให้กระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการพัฒนาแนวคิดและหลักการโดยมีความเชื่อที่ว่าการศึกษาสามารถพัฒนาบุคคลให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ สามารถลดช่องว่างของบุคคลในสังคมลงได้ ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนชาวไทยสามารถหลุดพ้นจากวงจรความยากจน ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นที่สำคัญของรัฐบาล ดังนั้น โครงการ ๑ อำเภอ ๑ โรงเรียนในฝัน จึงเป็นกระบวนการพัฒนาโรงเรียนให้เป็น โรงเรียนในฝันของคนในสังคมที่ต้องการให้เด็กและเยาวชนได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพ และในขณะ เดียวกันโครงการนี้ก็จะช่วยทำให้ความฝันของคนในสังคมเป็นจริงได้

รายละเอียดของโครงการสรุปได้ดังนี้

     ๑. การคัดเลือกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการในแต่ละอำเภอ ควรเป็นไปตามเจตนารมณ์ และความต้องการ ของประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่

     ๒. การพัฒนาปรับปรุงโรงเรียนในฝันในด้านต่างๆ นอกจากใช้งบประมาณแผ่นดินแล้วควรประสานกับ ภาคเอกชนและรัฐวิสาหกิจที่มีศักยภาพเพื่อเป็นเจ้าภาพหลักที่จะให้การสนับสนุนโรงเรียนแต่ละแห่งอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่อง โดยให้ประสานกับกระทรวงการคลังเพื่อหามาตรการทางภาษีที่เหมาะสม และสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมและสนับสนุนการดำเนินการของโรงเรียนในโครงการนี้ต่อไป

     ๓. ควรระดมความร่วมมือจากสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันราชภัฏในพื้นที่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนการสอนและเพิ่มพูนทักษะการปฏิบัติจริงแก่นิสิตนักศึกษาเสมือนเป็นโรงเรียนสาธิตของสถาบันนั้น ๆ

แนวคิดโครงการ

     พื้นฐานแนวคิดโครงการหลอมรวมจากความฝันอันสูงสุดของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนพ่อแม่ ผู้ปกครองและชุมชนในท้องถิ่นที่ต้องการมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ดังนี้

     ๑. การกระจายโอกาสทางการศึกษา แก่เด็กและเยาวชนไทยให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพได้มาตรฐานเทียบเคียงกับโรงเรียนชั้นนำ เป็นที่ยอมรับและศรัทธาของนักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดังนี้

  • ระยะแรก เริ่มจากการพัฒนาโรงเรียนในระดับอำเภอทุกอำเภอ
  • ระยะที่สอง พัฒนาไปสู่ระดับตำบล
  • ระยะที่สาม ขยายเครือข่ายครอบคลุมไปทุกหมู่บ้าน

     ๒. การจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน โดยการปฏิรูปการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญสอดคล้องกับความต้องการของท้องถิ่น จัดบรรยากาศการเรียนรู้ที่เอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนบนพื้นฐานความเป็นไทยและความเป็นประชาธิปไตย เป็นต้นแบบและพี่เลี้ยงให้กับโรงเรียนอื่นได้

     ๓. การพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีที่ทันสมัยและมีจำนวนเพียงพอ เป็นระบบเครือข่ายและเอื้อต่อการเรียนรู้ร่วมกัน โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและภาษาอังกฤษเป็นเครื่องมือในการสืบค้นข้อมูล เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกในอนาคต

     ๔. การพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนไทย ให้เติบโตขึ้นเป็นคนที่มีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต รู้จักคิดวิเคราะห์ มีความเชื่อมั่นในตนเอง กล้าแสดงออก สามารถก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันได้ในระดับสากล

     ๕. การบริหารจัดการทั้งระบบโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ให้มีจำนวนผู้บริหาร ครูและบุคลากรมืออาชีพอย่างเพียงพอ มีอิสระในการทำงานอย่างคล่องตัว มีการพัฒนาด้านกายภาพอย่างเหมาะสมต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

     ๖. การเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ โดยเน้นการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องและชุมชนใน ท้องถิ่นให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยและเป็นโรงเรียนสาธิตการฝึกอบรมครูจากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในพื้นที่

     ๗. การวัดประเมินผล เน้นการประเมินเพื่อการพัฒนาตนเองภายในโรงเรียนและการรับรองคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษาชาติโดยการประเมินจากองค์กรทั้งภายในและภายนอก

     เพื่อให้เกิดผลจริงจังในการดำเนินงาน กระทรวงศึกษาธิการได้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน จากทุกกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องโดยกำหนดให้โครงการ ๑ อำเภอ ๑ โรงเรียนในฝัน เป็นโครงการที่ให้โอกาส ให้ความเสมอภาคและพัฒนาคุณภาพการศึกษาที่เกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตัดสินใจและชื่นชมผลงานร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพนักเรียน ครู ผู้บริหารและโรงเรียนให้สมบูรณ์แบบ กลายเป็นฝันที่เป็นจริงของทุกคนในยุคปฏิรูปการศึกษาให้เกิดขึ้นพร้อมกันในวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ นี้โดยมีกระบวนการขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง ตรงตามเป้าหมายของโครงการที่กำหนดไว้ ดังนี้

     ๑. การคัดเลือกโรงเรียน สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติและกรมสามัญศึกษาได้ร่วมกันกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกโรงเรียน เพื่อให้แต่ละอำเภอใช้เป็นแนวทางการคัดเลือกโรงเรียน ขนาดกลางที่มีความพร้อมทางด้านสาธารณูปโภค ทำเลที่ตั้งเหมาะสม ผู้บริหารและครูมีศักยภาพเพียงพอ และที่สำคัญที่สุดคือได้รับการคัดเลือกจากประชาชนในท้องถิ่น โดยจะประเมินสภาพจริงของแต่ละโรงเรียนก่อนการพัฒนา จำนวนรวมทั้งสิ้น ๙๒๑ โรงเรียนใน ๗๙๕ อำเภอ ๘๑ กิ่งอำเภอและ ๔๕ เขตในกรุงเทพมหานคร โดยจำแนกได้ดังนี้

  • ร้อยละ ๒๘ เป็นโรงเรียนประถมศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ (สปช.) ที่เปิดสอน ๒-๓ ระดับการศึกษา
  • ร้อยละ ๗๒ เป็นโรงเรียนมัธยมศึกษาในสังกัดกรมสามัญศึกษา (สศ.)

     ๒. การพัฒนาบุคลากร ประกอบด้วย

     ๒.๑ ผู้รับผิดชอบ คือคณาจารย์จากมหาวิทยาลัย สถาบันราชภัฏ สถาบันราชมงคลและโรงเรียนเอกชนที่ได้มาตรฐานในแต่ละพื้นที่เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

     ๒.๒ ผู้รับการพัฒนาได้แก่ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอน จำนวนทั้งสิ้นประมาณ ๒๕,๐๐๐ คน จาก ๙๒๑ โรงเรียน โดยมีกระบวนการพัฒนา ดังนี้

  • คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ดำเนินการพัฒนาให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องการกำหนดนโยบาย การวางแผนกลยุทธ์ การบริหารองค์กรทั้งระบบ และการบริหารในรูปแบบองค์คณะบุคคลที่เน้นการบริหารแบบมีส่วนร่วม
  • ผู้บริหารสถานศึกษา ดำเนินการพัฒนาให้เป็นบุคลากรมืออาชีพ มีวิสัยทัศน์ในการบริหาร มีรูปแบบการบริหารทางวิชาการเป็นหลัก มีความรู้และความเข้าใจกระบวนการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ มีความรู้ทางด้าน ICT สามารถบริหารจัดการได้ตามสถานการณ์และพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดการ
  • ครูผู้สอน ดำเนินการพัฒนาให้เป็นบุคลากรมืออาชีพที่มีประสิทธิภาพ มีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ที่เป็นไปตามแนวทางพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๔๕ และมีความรู้ในเรื่อง ICT เป็นอย่างดี

๒.๓ แนวทางการพัฒนาบุคลากรที่สำคัญ คือ การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ พัฒนาศักยภาพ การสนับสนุนที่เข้มแข็ง การประเมินผล และยกย่อง เชิดชูเกียรติ

  ๓. การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน ประกอบด้วย

  • มีมาตรฐานและสาระการเรียนรู้ที่หลากหลายมุ่งสู่ความเป็นเลิศตามศักยภาพผู้เรียน
  • นำระบบ ICT มาประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  • มีการใช้ e-Learning สื่อ เทคโนโลยีและแหล่งเรียนรู้ในการสืบค้นข้อมูล และการวัดประเมินผล
  • มีกระบวนการจัดทำหลักสูตรและบริหารหลักสูตรโดยอาศัยความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ ปกครอง ชุมชน และท้องถิ่น

   ๔. การจัดทำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการสื่อสาร (ICT) ประกอบด้ว

  • ระบบส่วนกลาง ทำหน้าที่เป็นศูนย์ข้อมูลสารสนเทศและส่วนให้บริการติดตามงานต่าง ๆ ของกระทรวง ศึกษาธิการ
  • การใช้ software กลางร่วมกันกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ICT) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • ทำระบบการทดสอบ ระบบ e-Collaboration ระบบ e-Learning ระบบ e-Book ระบบบริการเนื้อหา ระบบ digital / e-Library และระบบ Management Report
  • วางระบบเครือข่ายเชื่อมต่อ Internet แบบ leased line ให้กับโรงเรียน ๒๐,๐๐๐ โรง

   ๕. โครงสร้างและการบริหารโรงเรียน  

  • ปรับโครงสร้างการบริหารจัดการแบบ School-based Management และการพัฒนาโรงเรียน ทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง โดยใช้ระบบบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์
  • ระดมทรัพยากรโดยการมีส่วนร่วมของภาครัฐ ภาคเอกชนและชุมชนในท้องถิ่น
  • ปรับเปลี่ยนระบบการดำเนินงานให้เกิดความคล่องตัวเพื่อเตรียมเป็นองค์กรแบบนิติบุคคล
  • จัดระบบ e-Procurement / e-Bidding ให้ผู้บริหารโรงเรียนนำไปใช้ในการบริหารจัดการ

   ๖. การกำกับ ติดตามและประเมินผลโครงการ ประกอบด้วย

  • การประเมินตนเอง เป็นการประเมินผลตามสภาพจริงเพื่อแสวงหาจุดพัฒนาตนเองของแต่ละโรงเรียนและรายงานผลในแต่ละไตรมาส (Quarterly Report)
  • การประเมินคุณภาพสถานศึกษาโดยใช้ตัวชี้วัดตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ ซึ่งดำเนินงาน โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.)
  • การทดสอบผู้เรียนโดยสถาบันเขตพื้นที่การศึกษาและสถาบันทดสอบการศึกษาแห่งชาติ
  • การประเมินผลลัพธ์และผลกระทบโดยนักวิชาการหรือหน่วยงานอิสระ

   ๗. การประชาสัมพันธ์ ประกอบด้วย

  • การจัดประชุมสัมมนาตั้งแต่ระดับชาติถึงระดับท้องถิ่นให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
  • ประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสารมวลชนทุกแขนง รวมทั้งเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ
  • ทำแผ่นพับ โปสเตอร์ CD ส่งไปยังหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

   ๘. การสนับสนุนโครงการ ประกอบด้วย

  • การกำหนดมาตรการจูงใจในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในระดับพื้นที่
  • การขอการสนับสนุนช่วยเหลือจากภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ NGO รวมทั้งชุมชนทั้งในท้องถิ่น ในประเทศและต่างประเทศ

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

๑. เด็กและเยาวชนไทยมีโอกาสได้รับการศึกษาในโรงเรียนที่มีคุณภาพ ส่งผลให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพของประเทศในอนาคตต่อไป

๒. มีโรงเรียนที่มีคุณภาพ เป็นที่ยอมรับ เชื่อมั่น ของสังคม พร้อมทั้งได้มาตรฐานและมีความเท่าเทียมกันกระจายอยู่ทุกอำเภอทั่วประเทศไทย

     จะเห็นได้ว่า โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน มีความงดงาม อลังการมาก คิดดูแบบผิวเผินอาจเห็นรอยยิ้มของคนทั้งแผ่นดิน รอยยิ้มแห่งความเสมอภาค ความภาคภูมิใจที่ได้รับการเอาใจใส่ดูแลอย่างจริงใจจากรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผู้เขียนก็ได้แต่หวังว่าความฝันดังกล่าว ของโครงการโรงเรียนในฝัน จะเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้ มีผลในเชิงปฏิบัติ สร้างความเจริญงอกงามอย่างมั่นคงและยั่งยืนให้กับประชากรส่วนใหญ่ของชาติเป็นเรื่องจริงที่เกิดจากการร่วมคิด ร่วมทำด้วยสติปัญญา ด้วยพลังแห่งความใฝ่ฝันที่ไม่ใช่การเพ้อฝันของใครบางคน และไม่มีใครกลายเป็นเหยื่อของใคร รูปธรรมด้านวัตถุ สิ่งของ เช่น "ขยะทางเทคโนโลยี" หาดูได้ไม่ยาก ไม่ต้องเรียกร้องก็จะวิ่งเข้ามาเต็มโรงเรียน เต็มบ้านเต็มเมืองในไม่ช้า คงไม่มีใครปฏิเสธว่ามีผลประโยชน์มหาศาลในเรื่องดังกล่าว ทั้งในส่วนการจัดหา จัดซื้อ จัดจ้าง และที่สำคัญคือค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่จะต้องดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และที่ร้ายกว่านั้นคือ กลโกงที่เคลือบแฝงอยู่ในผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่แกล้งพัฒนาให้อยู่ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ เปลี่ยนแปลงบ่อยจนเกินจำเป็น และมีเงื่อนไขให้ผู้เดินตามซื้อตามบริโภคหมดตัวได้ง่ายๆ สิ่งต่างๆเหล่านี้คือเรื่องจริงที่เป็นอยู่ทั่วไปในโลกปัจจุบัน ลงทุนแค่ไหนและอย่างไรถึงจะพอเหมาะพอดี และกอปรด้วยสติปัญญา เป็นโจทย์ที่ต้องช่วยกันคิดหาคำตอบ และทำอย่างไรให้มีการใช้ทรัพยากรอายุสั้นเหล่านั้น อย่างคุ้มค่าและได้ผลในทางสร้างสรรค์ ไม่เผลอปล่อยให้สิ่งที่จัดซื้อจัดหามาด้วยเงินมหาศาล เป็นเครื่องสร้างความอ่อนแอ และเป็นของเล่นที่ผลาญเวลาของเยาวชน จนไม่มีโอกาสรู้จักตัวเอง หลงเพลินอยู่ในโลกฝัน บริโภคข้อมูลข่าวสาร ด้วยความเมามันจนเป็นอะไรบางอย่างที่ล่องลอยไปตามกระแสโลก ห่างไกลจากวิถีชีวิตที่เป็นธรรมชาติไปทุกที เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ และสอดส่องดูแล ด้วยความไม่ประมาท เพื่อให้โครงการหนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน ของรัฐบาลประสบความสำเร็จ เป็นโรงเรียนในฝันที่เกิดขึ้นจริงๆและขยายออกไปเต็มแผ่นดิน ให้จงได้ ไม่เป็นแค่โรงเรียนใน โลกแห่งความ ฝัน” อย่างที่ใครบางคนกล่าวสบประมาทเอาไว้.

...............................................................................

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและอ่านเพิ่มเติม

http://www.sarakadee.com/press-sk/teen_x/dream_school.htm

http://www.onec.go.th/move/news_43/dream_school.html

http://www.moe.go.th/1Amp1Sch/executive_summary.htm

http://www.moe.go.th/1Amp1Sch/

http://www.phrathai.net/news/edu46042601.php

http://www.komchadluek.com/komchadluek/special/scoop/2003/jul/open0201.php

http://www.siamturakij.com/442/fu44207x.html

http://www.thairath.co.th/thairath1/2546/educat/aug/02/edu1.asp

http://www.edutoday.in.th/newsdetail.php?nid=123

หมายเลขบันทึก: 274290เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2009 22:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท