ทำความรู้จักคณะ“เอกทันต์” โดยเสรีชัย


ทำความรู้จักคณะ“เอกทันต์”

 

ทำความรู้จักคณะ“เอกทันต์” กลองยาวชนะเลิศระดับชาติ

สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ส่งกลองยาวชนะเลิศ “เอกทันต์” สร้างสีสันให้งานไทยนิวเยียร์

 

น.ส.กิตติพร ใจบุญ นักวิชาการวัฒนธรรม สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) ให้รายละเอียดกับผู้สื่อข่าวว่า เจ้าหน้าที่ สวช.ที่มาร่วมงานไทยนิวเยียร์ปีนี้ คือ คุณนพพร มุกดามณี รองเลขาธิการ คณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ คุณกุลยา เรืองทองดี ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์วัฒนธรรม คุณมนต์จิต เทียมสิงห์โสภา หัวหน้ากลุ่มวิเทศสัมพันธ์ ได้เดินทางมากับคณะของท่านรัฐมนตรี ธีระ สลักเพชร  

นอกจากนี้ทาง สวช.ได้นำ คณะเอกทันต์ประกอบด้วย ว่าที่ ร.ต.พรรัตนะ ขันทอง หัวหน้าคณะ ว่าที่ ร.ต.จตุพร ภักดี เลขานุการ ว่าที่ ร.ต.ธินวัฒน์ ไทยแท้ นายคณศักดิ์ คชเสนีย์ นายอนุชา ศรีฟัก นายธนากร รัตนเลิศ มาแสดงในวันงานสงกรานต์ด้วย

คุณกิตติพรกล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม เปิดรับสมัครคณะกลองยาวจากทั่วประเทศ เพียงแต่ว่าการแสดงกลองยาวจะเล่นกันแพร่หลายในภาคกลาง เยาวชนที่สนใจสมัครเข้ามาจากทุกจังหวัด ผลปรากฏว่า คณะเอกทันต์ ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดดนตรีและศิลปะการแสดงพื้นบ้าน พ.ศ. 2552 รับโล่พระราชทานของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี  

ทุกคนในคณะเป็นศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบันของวิทยาลัยนาฏศิลป์ พวกน้องๆ ได้รวมตัวกันออกมารักษาศิลปวัฒนธรรม ทางคณะกรรมการมีความคิดเห็นว่า ยังคงแบบแผนจารีตของการเล่นกลองยาว และมีส่วนที่เขาประยุกต์ขึ้นมาโดยไม่ขัดกับแบบเดิม ใช้ท่าโบราณแต่ประยุกต์ให้สวยงามยิ่งขึ้น การตีกลองยาวแน่น มือดี จังหวะดี พร้อมเพรียงและเสียงกลองแน่นละเอียดมากกว่าวงอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด

ว่าที่ร.ต.พรรัตนะ ขันทอง หัวหน้า กล่าวแสดงความรู้สึกว่า ดีใจที่คณะเอกทันต์ได้รับคัดเลือกมาในครั้งนี้ คำว่า เอกทันต์ เป็นชื่อหนึ่งของพระพิฆเณศ หมายถึงผู้ที่มีงาเดียว ตั้งชื่อเพื่อเป็นศิริมงคลแก่คณะ ที่ชนะการประกวดกลองยาว คิดว่าได้ตรงความมีแบบแผนในการเล่น มีการโหมโรง รำ ประยุกต์ขึ้นมาใหม่ แต่ยังรักษาของเดิมเอาไว้ คือเอากลองยาวแบบดั้งเดิมมาประยุกต์ แต่ยังอยู่ในกรอบของการละเล่นแบบเดิมอยู่     

ว่าที่ร.ต.จตุพร ภักดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนดีใจที่ได้ก้าวเข้ามาอเมริกาเป็นครั้งแรก พอมาถึงไทยทาวน์ได้เห็นคนไทยที่อยู่ในอเมริกากลุ่มใหญ่รักกัน มีความสามัคคีในหมู่คณะ และยังไม่ทิ้งศิลปวัฒนธรรมประเพณีของไทย แม้ว่ามาอยู่ในประเทศนี้ก็ยังสืบทอดประเพณีสงกรานต์ของเราไว้ ซึ่งเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้ชาวโลกและประเทศอื่นๆ ได้รู้จักเทศกาลของไทยอีกด้วย    

คุณกิตติพรกล่าวว่า ตนมาอเมริกาเป็นครั้งแรก รู้สึกอบอุ่นเช่นเดียวกับน้องๆ ดีใจที่เห็นคนไทยรักกัน และยังคงสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทย ตนอยากให้มีทุกประเพณีเพราะว่าความเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยเห็นได้ชัดจากทางวัฒนธรรม ถ้ามีการสืบทอดประเพณีในเรื่องของภาษา การแต่งกาย มารยาทไทย การรำ การละเล่นพื้นบ้าน จะทำให้เราคงความเป็นคนไทยเอาไว้ ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน.

                                                                           ขอขอบพระคุณ  หนังสือพิมพ์เสรีชัย

                                                                                                   http://www.sereechai.com/demo/news.php?no=4811

                                                                           

                                                                           โดย ว่าที่ร้อยตรี จตุพร  ภักดี  ผู้ดูแล

                                                                      

หมายเลขบันทึก: 274184เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2009 13:28 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท