การค้าไทยจีน แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ


ที่ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนนั้นมีนายแบงค์ใหญ่ กล่าวว่า “บางคนรู้เรื่องจีน แบบรู้หนึ่ง ก็นึกว่ารู้สิบ”

 

คุยกันพาเพลิน


เชียงใหม่ในช่วงวันหยุดยาว 4 - 9 กรกฎาคม 2552 นี้ต่างชุ่มช่ำไปด้วยสายฝน

ครั้งนี้ sunday weekly ขอนำเอาบทความซึ่งได้ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์อ่างแก้ว นำมาเสนอผ่านโลก Online ในที่นี้แตกต่างจากในหนังสือพิมพ์สักเล็กน้อย เพราะเรื่องของพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ค่อนข้างจำกัดเลยเอาลงไม่ได้หมดแต่ก็มิขาดหายในเรื่องใจความหลัก 


ที่เขียนเรื่องนี้ก็เพราะว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนเป็นเรื่องที่เราท่านทั้งหลายต่างให้ความสนใจ ในฐานะสื่อมวลชนคนหนึ่งคงจะหลีกหนีไม่เอาประเด็นดังกล่าวมาพูดถึงก็คงจะดูน่าเกลียดไปเพราะสื่อเองต้องทำให้ที่เป็นแสงสว่างให้กับสังคม ถึงกระนั้นมุมมองในบทความนี้อาจเป็นมุมมองของผู้เขียนแต่ก็ใช่ว่าท่านผู้อ่านจะไม่สามารถมีส่วนร่วมในการแก้ไขเพิ่มเติมข้อมูลดังกล่าว เมื่อบทความนี้ปรากฏบนโลก Online ท่านผู้อ่านย่อมมีสิทธิแสดงความคิดเห็นต่อผู้เขียนได้ 


ท่านผู้อ่านท่านใดสนใจอยากรับหนังสือพิมพ์อ่างแก้วอันเป็นหนังสือพิมพ์ฝึกปฏิบัติการของนักศึกษาแขนงหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สามารถติดต่อได้ที่ อรรถวุฒิ ศิริปัญญา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 แขนงหนังสือพิมพ์ฯ คณะการสื่อสารมวลชน โทร 085-031-2248 


หนังสือพิมพ์อ่างแก้วออกจำหน่ายดังนี้ 1กรกฎาคม , 20 กรฎาคม และ 10 สิงหาคม 


ครั้งนี้พูดกันเสียยาวหน่อย 

 


 

 

การค้าระหว่างไทยกับจีน ระวัง “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ไม่นานก็ตาย”



不管白猫黑猫,会抓老鼠就是好猫

  ปู้ก่วนไป๋เมาเฮยเมา, ฮุ่ยจัวเหลาสู่จิ้วซื่อห่าวเมา   “ ไม่ว่าแมวขาวหรือแมวดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี ”

 

สิ้นเสียงวาจาของ “เติ้งเสี่ยวผิง” ชายร่างเล็กผู้ทรงอิทธิพลแห่งแดนมังกร จีนก็ผงาดเข้าสู่ยุคทองของการค้า ทั้งตอบรับการลงทุนจากต่างชาติ และ โลดแล่นสู่สนามการค้าการลงทุนในชาติอื่น

จีน เป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก แต่มีประชากรมากที่สุดในโลกคือ ประมาณ ๑,๒๐๐ ล้านคน มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ Gross Domestic Product (GDP) ๑๔๑๖.๑ พันล้านดอลลาร์  การเจริญเติบโตของประเทศจีนที่ผ่านมาเป็นผลจาก ‘ทฤษฎีเติ้งเสี่ยวผิง’ โดยแนวคิดดังกล่าวมุ่งกระตุ้นความต้องการในภาคประชาชน คือ เน้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ส่วนภาคธุรกิจกระตุ้นให้เกิดการลงทุน ความสำเร็จของทฤฏีดังกล่าวข้างต้นได้กลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศจีนมากขึ้น และหนึ่งในนั้นก็มีประเทศไทย 

เมื่อประเทศจีนเปิดประเทศมากขึ้นเรื่อย ๆ ประเทศไทยก็เข้าไปลงทุนในประเทศจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งการลงทุนในประเทศจีนรัฐบาลไทยเห็นว่าเป็นโอกาสดีในการเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนให้สูงขึ้น จากข้อมูลของกรมเจรจาการค้ากระทรวงพาณิชย์ จีนนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๑.๙๕ ถึงกระนั้นแม้ว่ามูลค่าการค้าจะเพิ่มขึ้นแต่ประเทศไทยยังขาดดุลการค้ากับจีน 

และที่ประเทศไทยขาดดุลการค้ากับจีนนั้นมีนายแบงค์ใหญ่ กล่าวว่า “บางคนรู้เรื่องจีน แบบรู้หนึ่ง ก็นึกว่ารู้สิบ” 

ก็คงเป็นเช่นนั้นเพราะประเทศไทยตื่นเต้นกับการเปิดประเทศของจีนจึงแห่แหนเข้าไปลงทุนกันมากมายและพี่ไทยเล่นรู้จักจีนเพียงภาพรวมเท่านั้นก็ล่อเข้าไปลงทุนแบบแมลงเม่าบินเข้ากองไฟ ผลก็คือหน้าหงายทุนหดหมดหน้าตักมาแล้วหลายต่อหลายคน ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยจะเข้าไปลงทุน ค้าขาย หรือทำธุรกิจ ควรศึกษาประเทศจีนให้รอบคอบ 

การจะดำเนินธุรกิจในประเทศจีนให้ประสบความสำเร็จนั้นควรเข้าไปทำตลาดทีละมณฑลโดยศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน รองศาสตราจารย์ บุญสวาท พฤกษิกานท์ คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หนึ่งในคณะผู้ร่วมทำวิจัยเรื่อง “The Study on trade situation between southeast China and Northern Thailand”  กล่าวว่าประเทศจีนแต่ละมณฑลนั้นมีความแต่งต่างกันมาก ทั้งในแง่ของกฎหมายทั่วไปและกฎหมายการค้า หรือจะเป็นด้านภาษา ซึ่งด้านภาษาจะมีส่วนช่วยให้การค้าประสบความสำเร็จเพราะถ้าทำการค้าขายแล้วพูดภาษาบ้านเมืองเขาไม่ได้จะขายได้อย่างไร ประการที่สำคัญการเข้าใจในวิถีการค้าของจีนเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งเทคนิคการค้าของแต่ละชาติย่อมต่างกัน ถ้าไปค้าขายไปลงทุนในฝั่งอเมริกาก็อาจมีเทคนิคอย่างหนึ่ง แต่จะค้าขายกับจีนก็ย่อมเป็นอีกเทคหนึ่ง  ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องศึกษาให้ดี

สำหรับโอกาสการทางธุรกิจในประเทศจีนนั้นยังมีอีกเยอะ อดีตผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเคยเล่าให้ผู้เขียนฟังเรื่องการค้าขายกับประเทศจีนว่า วันนี้หากประเทศไทยส่งลำใยไปขายที่ประเทศจีนส่งไปจนหมดประเทศประชากรจีนยังได้กินเพียงคนละลูกเท่านั้น แต่เดี่ยวนี้คงทำไม่ได้แล้วเพราะจีนเขาก็ผลิตเองได้แล้ว สำหรับประเทศไทยวันนี้โอกาสยังมีอยู่ สินค้าหลายตัวสามารถเข้าไปทำตลาดในประเทศจีน เช่น ลิ้นจี่  มังคุด หรือ ยางพารา ซึ่งสินค้าดังกล่าวสามรถทำตลาดได้และมีราคาสูง หรือจะเป็นข้าวเกรียบ อันนี้คนจีนในมณฑลยูนานไม่รู้จัก ตรงนี้แสดงให้ว่าความต้องการและโอกาสยังมีอยู่

จะว่าไปแล้วหากจะค้าขายกับประเทศจีนจริง ๆก็ควรมองว่า  ๑ มณฑลก็คือ ๑ ประเทศก็ว่าได้ 

เพราะอัตราส่วนประชากร รายได้ หรือ อัตราการเจริญเติบโตบางมณฑลเมื่อเทียบกับประเทศไทยมีอัตราที่ใกล้เคียงกัน ตัวอย่างเช่น มณฑลซานตาง เจียงซู กว่างตง และเจ้อเจียงเป็นต้น หากจะพิจารณาประเทศจีนในรายมณฑลแล้ว จีนทางตะวันตกเฉียงใต้หรือเรียกว่า “ซีหนาน” (Xinan) ซึ่งมีอยู่ ๔ มณฑล คือ มณฑลเสฉวน มหานครฉงชิ่ง มณฑลยูนนาน และเขตปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี หรือเรียกย่อ ๆว่า กวางสี เป็นกลุ่มมณฑลที่น่าสนใจเพราะรัฐบาลจีนมีแนวนโยบายที่จะพัฒนาฝั่งตะวันตกให้ทัดเทียมกับฝั่งตะวันออก

ที่กล่าวแนะนำมณฑลทางฝั่งตะวันตกก็คงเป็นเพราะว่า ในอนาคตมณฑลเหล่านั้นกำลังจะเจริญเติบโตการเข้าไปในระยะแรกการแสวงหาโอกาสย่อมมีมากกว่า หรือจะมองด้านความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมมณฑลทางฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ก็ใกล้เคียงกับวัฒนธรรมทางภาคเหืนอของประเทศไทยอีกทั้งยังมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน  

หากจำเป็นต้องเลือกเพียงแค่มณฑลใดมณฑลหนึ่งที่จะเข้าไปทำตลาด จากข้อมูลผู้เขียนก็ขอแนะนำว่าควรเป็นมณฑลยูนนานหรือไม่ก็เขตปกครองตนเองชนชาติกวางสี ซึ่ง ๒ มณฑลดังกล่าวต่างก็แข่งขันการเป็น “ประตู” ของจีนในการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้วมีอัตราการเจริญเติบโตที่พอ ๆ กัน ส่วนการจะเป็นประตูสู่ภาคใต้ของจีนนั้นยูนนานดำเนินการมาก่อน ส่วนกวางสีเพิ่งเริ่มต้นในปี ๒๕๔๗ แต่ในเรื่องของเส้นทางคมนาคมยูนนานจะเสียเปรียบกวางสีในแง่ภูมิศาสตร์ เพราะแม้ว่ายูนนานจะมีพรมแดนติดต่อกับเพื่อนบ้านในอาเซียนถึง 3 ประเทศ คือ พม่า ลาว และเวียดนาม แต่กวางสีกลับสามารถเชื่อมโยงเส้นทางเครือข่ายเชื่อมอาเซี่ยนได้หลากหลายทางมากกว่าแม้ว่าจะมีพรหมแดนติดต่อกับอาเซียนได้เพียงประเทศเดียวเท่านั้น แต่หากมองในแง่ของวัฒนธรรมแล้วความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับมณฑลยูนนานนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีและยาวนานกว่ากวางสี จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นผู้ประกอบการหรือใครที่อยากจะไปลงทุนในจีนก็คงต้องติดสินใจและเปรียบเทียบให้ดีว่ามณลไหนเหมาะสมกับธุรกิจหรือการลงทุนของตนเอง

เพราะแมลงเม่าบินเข้ากองไฟมันถึงตาย ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยไม่อยากเป็นเหมือนแมลงเม่าก็ควรศึกษาประเทศจีนให้ดี ดูแต่ละมณฑลและดูว่ามณฑลไหนที่เรามีศักยภาพพอที่จะเข้าไปทำตลาดได้ มิใช่เห็นว่าจีกำลังโตก็กระโดเข้าไปทั้งประเทศอันนี้ม้วนเสื่อกลับบ้านมาแล้วหลายราย สุดท้ายผู้เขียนเชื่อว่าโอกาสในประเทศจีนยังมีอยู่สูงแต่ใช่ว่าทุกคนจะคว้าโอกาสนั้นมาได้เสมอไป ก่อนจะก้าวเท้าดูหนทางและทางเดินเสียก่อน...เดี่ยวจะพลาดพลั่งไป 

ผู้เขียน อรรถวุฒิ ศิริปัญญา 

คอลัมน์  จีนปริทรรศน์ 

เอกสารอ้างอิง

1. งานวิจัยเรื่อง “The Study on trade situation between southeast China and Northern Thailand” คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

2. หนังสือเรื่อง “หนึ่งมณฑล หนึ่งประเทศเศรษฐกิจจีน 11 มณฑลที่สำคัญต่อไทย” สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ( สกว.)

3. หนังสือเรื่อง “มองจีน มองไทย” อักษรศรี พานิชสาส์น กรุงเทพธุรกิจบิซบุ๊ค

 

 

วันนี้้คงพอเท่านี้ก่อน พบกันใหม่อาทิตย์หน้า 

 

 

หมายเลขบันทึก: 274007เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2009 15:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท