ทำข้าวไม่หอมให้เป็นข้าวหอมได้อย่างไร


ยีนความหอม Os2AP ในข้าวหอมเป็นยีนที่ไม่ทำงาน เพราะฉะนั้นในการที่จะทำให้ข้าวไม่หอมให้กลายเป็นข้าวหอมก็ต้องเลียนแบบธรรมชาติ โดยหาวิธีไปกดการทำงานของยีน Os2AP นั่นเอง

กลับมาพบกันตามสัญญาครับ ใครได้ติดตามข่าวก็คงทราบนะครับว่าตอนนี้เรื่องเกี่ยวกับยีนความหอม และสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับยีนความหอมนี่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่บ้างพอสมควร แต่จะไม่ขอกล่าวถึงในที่นี่นะครับ ขอให้เป็นหน้าที่ของฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ชี้แจงกันเองก็แล้วกันนะครับ

สำหรับครั้งนี้ก็จะมาว่ากันต่อไปจากตอนที่แล้วที่ผมได้ติดไว้ว่า เราจะสามารถทำให้ข้าวไม่หอมกลายเป็นข้าวหอมได้อย่างไรโดยอาศัยเทคโนโลยีชีวภาพ

ความรู้จากตอนที่แล้วเราทราบแล้วว่ายีนความหอม Os2AP ในข้าวหอมเป็นยีนที่ไม่ทำงาน เพราะฉะนั้นในการที่จะทำให้ข้าวไม่หอมให้กลายเป็นข้าวหอมก็ต้องเลียนแบบธรรมชาติ โดยหาวิธีไปกดการทำงานของยีน Os2AP นั่นเองครับ

เทคโนโลยีที่สามารถนำไปใช้ในการกดการทำงานของยีนให้ได้ผลอย่างชะงัดก็ต้องยกให้เทคโนโลยีที่เรียกว่า RNAi (RNA interference) หรือกระบวนการรบกวน RNA นั่นเองครับ

RNA ที่ว่านี้หมายถึง RNA ชนิด mRNA ที่จำลองออกมาจาก DNA ณ ตำแหน่งที่เป็นระบุว่าเป็นยีนใน DNA นั่นเอง (ซึ่ง mRNA จะทำงานร่วมกับ RNA อีกสองชนิดคือ rRNA (ribosome) และ tRNA ในการสร้างโปรตีนออกมา)

เอาละครับต่อไปก็มาดูว่าเราจะไปรบกวนเจ้า mRNA ของยีนความหอม Os2AP ได้ยังไง

ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจก่อนว่า ในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชั้นสูงทั้งพืชและสัตว์นั้น จะมีกลไกอยู่ชนิดหนึ่ง ไว้สำหรับตรวจสอบความผิดปกติของ mRNA ถ้าเจอ mRNA ตัวไหนไม่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์หรือพิกลพิการ เซลล์ก็จะส่งหน่วยพิฆาตมากำจัดทิ้งไปทันที ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ mRNA ที่ไม่สมประกอบพวกนั้น สร้างโปรตีนที่เพี้ยนๆ ออกมานะซีครับ

และเทคโนโลยี RNAi ก็ถือกำเนิดขึ้นมาจากตรงนี้แหละครับ นั่นก็คือ การทำให้ mRNA ที่สมบูรณ์เป็นปกติอยู่นั้น ให้กลายเป็น mRNA ผิดปกติขึ้นมา เพื่อที่จะได้ถูกกำจัดออกไป

ในงานวิจัยทำข้าวไม่หอมให้เป็นข้าวหอมที่ได้กระทำมาแล้วนั้น (ตามสิทธิบัตรของ สวทช) กระทำโดยการใส่ชิ้นส่วนยีน Os2AP เข้าไปในเซลล์ (โดยวิธีการถ่ายยีน) โดยชิ้นส่วนที่ใส่ไปนี้เป็นชิ้นส่วนที่อยู่ในลักษณะเวเฟอร์ (หรือ RNA เส้นคู่ - dsRNA) ซึ่งจะทำให้เกิดมีชิ้นส่วนที่อยู่ในลักษณะกลับทิศทางกันกับ mRNA ของยีน Os2AP ที่ข้าวสร้างขึ้นมา ชิ้นส่วนที่เราใส่เข้าไปนี้เมื่อเข้าไปในเซลล์จะถูกย่อยเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วชิ้นเล็กๆ เหล่านี้จะมีชิ้นที่สามารถไปจับคู่กับ mRNA ของยีน Os2AP ได้ ทำให้ mRNA ที่แต่เดิมพร้อมจะส่งไปสร้างโปรตีนนั้น ตอนนี้กลายสภาพเป็น mRNA ที่ผิดปกติไปซะแล้ว (เพราะมีชิ้นส่วนซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมมาเกาะ) เมื่อหน่วยพิฆาตตรวจพบก็จะออกมาทำลายทิ้งไปจนหมด

เมื่อโดนทำลายไปจนหมดหรือเกือบหมด mRNA ของยีน Os2AP ก็ไม่สามารถที่จะสร้างเอ็นไซม์ได้ หรือสร้างได้ก็ไม่พอเพียงที่จะไปทำงาน ซึ่งก็มีสถานะไม่ต่างอะไรกับยีน Os2AP ในข้าวหอมที่ไม่ทำงาน เพราะถึงแม้จะทำงาน แต่ก็โดนกำจัดหมดด้วยผลจาก RNAi ดังกล่าว เมื่อไม่มีเอนไซม์ที่เป็นผลผลิตของยีน Os2AP ข้าวต้นนั้นที่แต่เดิมไม่หอม จึงสามารถสร้างสารหอมขึ้นมาได้ เหมือนในข้าวหอมทุกประการ

ตอนนี้ก็ทราบแล้วใช่มั้ยครับว่ามันไม่ยากเลยที่จะทำให้ข้าวไม่หอมกลายเป็นข้าวหอมขึ้นมาได้ แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นวิธีนี้เป็นวิธีที่รวมอยู่ในพวกการดัดแปรพันธุกรรมครับ ถึงแม้เราจะนำวิธีนี้ไปใช้ทำให้ข้าวหอมขึ้นมา แต่ก็มีผลว่ามันเป็นพืช GMO ซึ่งเมืองไทยและหลายๆ ส่วนของโลกยังไม่ยอมรับ

เราลองมาคิดกันต่อนะครับว่า ถ้าสมมติว่าตลาดข้าว GMO เป็นที่ยอมรับ แล้วมีประเทศคู่แข่งค้าข้าวของไทยเช่นประเทศจีน ซึ่งผลิตข้าวลูกผสมได้ผลผลิตสูงมากแต่ไม่หอม แล้วเขาได้ดัดแปลงพันธุกรรมข้าวของเขาให้มีความหอมขึ้นมาโดยวิธีที่ผมเรียนไปข้างต้น เมื่อถึงตอนนั้นตลาดข้าวหอมคงจะปั่นปวนดีนะ ขอรับ

แล้วกลับมาพบกันใหม่คราวหน้าครับ ส่วนจะเป็นเรื่องเกี่ยวอะไรนั้นไว้คอยติดตามก็แล้วกันนะครับ ใครมีปัญหาสงสัยเกี่ยวกับข้าวหอมและยีนความหอม ทิ้งคอมเมนต์ไว้ได้เลยนะครับ ถ้าผมตอบได้ก็ยินดีที่จะตอบให้ทราบครับ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ

หมายเลขบันทึก: 273795เขียนเมื่อ 5 กรกฎาคม 2009 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

มาตาม เรื่องข้าวต่อค่ะ แต่ขอมาอ่านใหม่นะคะ

มาทักทายก่อนค่ะ

มีคำถามเล็กน้อยค่ะ สงสัยว่า Enz ที่ไม่ทำงานแล้วทำให้ข้าวหอม

โดยการที่ไม่ทำให้อัลดีไฮด์สะสมเปลี่ยนสภาพนั้น

เช่นนั้นแล้ว ข้าวหอมก็มีอัลดีไฮด์สะสมแย่สิคะ

ตอบ #2 ครับ

จริงๆ อัลดีไฮด์นั้นเปลี่ยนสภาพครับ เปลี่ยนไปเป็นสารหอมยังไงละครับ

แต่จะใช้กลไกแบบไหนนั้น ขณะนี้ยังไม่มีใครค้นพบครับ

อาจารย์ครับ

ของที่ถูกทำขึ้น กับ ข้าวหอม ธรรมชาติ

สามารถแยกความแตกต่างได้ไหมครับ

หรือมันเหมือน จนข้าวหอมแท้ จะพาลตาย ครับ

ตอบคุณ คนใต้โดยภรรยา ครับ

อาจจะแยกความแตกต่างได้ หรืออาจจะไม่ได้ เป็นได้ทั้งสองอย่างครับ

ที่ว่าแยกความแตกต่างได้ เพราะว่าในกลิ่นหอมในข้าวไม่ได้เกิดจากสาร 2AP เพียงชนิดเดียวครับ แต่มีสารอีกเกือบสองร้อยชนิดที่มาปรุงประกอบกันเข้าในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดเป็นกลิ่นหอมที่เป็นลักษณะเฉพาะตัวของข้าวหอมแต่ละพันธุ์ ซึ่งถ้าใครมีประสาทสัมผัสทางกลิ่นดีจะบอกได้ชัดเจน การทำให้ข้าวไม่หอมกลายเป็นข้าวหอมนั้น จะได้มาแค่กลิ่นเดียวคือกลิ่นของสาร 2AP (กลิ่นคล้ายใบเตย) แต่ขาดกลิ่นปรุงประกอบอื่นๆ อีกหลายชนิด

ที่ว่าอาจจะแยกความแตกต่างไม่ได้นั้น เพราะว่ากลิ่นของสาร 2AP ถึงแม้จะผสมอยู่กับกลิ่นอื่นๆ แต่ก็สามารถโดดเด่นออกมาได้ดีกว่า ซึ่งถ้าใครประสาทสัมผัสด้านการดมกลิ่นไม่ดี จะบอกได้แค่กลิ่นเดียวคือมีกลิ่น 2AP เหมือนกันหมดครับ

ส่วนจะทำให้ข้าวหอมแท้ๆ ตายไปได้หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาคุณสมบัติอื่นๆ ประกอบด้วยครับ เช่นข้าวหอมมะลิ (ขาวดอกมะลิ 105) ซึ่งเป็นที่นิยมกันนั้น ไม่ได้นิยมที่กลิ่นอย่างเดียว แต่ที่นิยมเพราะทั้งหอม ทั้งนุ่ม ขาว เมล็ดยาวสวย ดูน่ารับประทาน

ถ้าหากว่าใครสามารถทำให้ข้าวหอมได้ แต่เมล็ดไม่สวย หุงแล้ว แข็ง ร่วน หรือไม่ก็แฉะเกินไป ก็อาจจะไม่เป็นที่นิยมเท่าข้าวหอมพันธุ์แท้ๆ ก็ได้ครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่ตอบค่ะ ตอนนี้มีคำถามอีกแล้ว

 

สิทธิบัตรนั้น ทำกับข้าวหอม=เป็นGMO

และตอนนี้ เรากำลังเดินหน้ากับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองด้วยใช่ไหมคะอาจารย์

 

ปล. ไม่เห็นอาจารย์เขียนเว็บบล็อกที่โอเคเนชั่นเลยค่ะ

 

งานยุ่งหรือคะ

0h! สวัสดีครับ Prof. Rice man

ทำไมไม่แสดงในกลุ่มเกษตรด้วยครับ ถ้าผมไม่ซุกซนผมไม่เจอ Prof. แน่ๆ

ผมพึ่งกลับจากเมียนม่าร์ มาผมเจอคนไทยที่ไปใช้ชีวิตในพม่านานมาก จนพูดไทยไม่ชัด แต่เขาได้สัมปทานจากรัฐบาล

ให้ทำนา ปลูกถั่ว อุตสาหกรรมป่าไม้ แต่ประเด็นมันอยู่ที่การทำนา ผมทำนายเลยอีกไม่นานพม่าแซงด้านเกษตรเราไปไกลสุดกู่

ด้วยเหตุและผลที่เขาอธิบายผม ดังนี้ 1.สายสัมพันธ์กับ IRRI ไทยเราแย่มาก แต่พม่าเขามี Prof.ที่จบจากญี่ปุ่นเขาอิง IRRI เป็นหลัก ของไทยเรามีนักวิจัยมากและหวงเมล็ดพันธุ์ทั้งนำเข้าและส่งออก ทำให้ IRRI ที่มีเมล็ดพันธุ์แต่ไทยไม่คิดนำมาใช้ ผมไปเห็นพันธุ์ Yadana toe ของเขารวงยาวและเม็ดใหญ่มาก เสียดายได้มาแค่ 88 เม็ด

2.เขาข้ามมาเรียนฝั่งไทย แต่ไทยเราส่งเสริมนาโยน เขากลับไปพม่าเขาสั่งซื้อรถดำนาจากไทย(คูโบต้า)และญี่ปุ่น(มิตซู)ทันที 3 คัน ผมได้รับเชิญไปสอนการใช้รถดำ เพราะผมซื้อรถดำนาใช้ที่ไทยเราเหมือนกันเขามาดูงานที่ผมคงติดใจผมเลยได้ชิมข้าวพม่า

3.วันที่ผมไป รัฐบาลบูรไนติดต่อกับรัฐบาลเมียนมาร์ ส่งคนมาดูงานทำนาด้วยเทคโนโลยีที่พม่าและเขาเลือกสถานที่ๆผมไปด้วย บินข้ามบ้านของ The rice man(ท่านน่าจะเป็นชาวใต้นะครับ)และประเทศไทยของผม งง..และซึมครับ ผมถามเขาว่าทำไมไม่ไปศึกษาที่เมืองไทย คำตอบที่ได้เช่นกันครับเขาพาไปดูนาหว่านและนาโยน ซึมอีกรอบ :-( x2 เขาบอกว่าที่บูรไนมีรถรับจ้างจากไทยไปดำด้วย :-) ผมได้ทีถามกลับแล้วที่มาเลฯก็มีทำไมไม่จ้าง ผมได้คำตอบที่โดนมากๆคือ " ผมบรูไน" และ คนไทยมีทักษะที่เก่ง :-)

4.กลับมาเมืองไทย อ่านหนังสือเกี่ยวกับเกษตร เจออธิบดีกรมการข้าวและหลายๆท่าน ไปดูงานการทำนาที่เวียดนาม Oh! ภาษีของผม ไม่ไปญี่ปุ่นก็ไปจีนก็ได้เขาใช้เทคโนโลยีกันแล้ว พาราชู๊...เซตามอลดีกว่า

คุณ อ้ายต๋อง ใจ๊หัวออกแฮง #7 ครับ

ตอนนี้ทราบมาว่าเรากำลังจะฟื้นฟูความสัมพันธ์กับ IRRI ขึ้นมาให้มากขึ้นกว่าแต่ก่อนแล้วครับ

เรื่องของการหวงเมล็ดพันธุ์นี่ก็น่าคิดครับ เพราะมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลดีคือถ้าเรามีของดีก็เก็บไว้กินคนเดียวได้ครับไม่ต้องกลัวใครมาแย่ง แต่ผลเสียคือบางทีคนอื่นก็มีของดีเหมือนกับเราหรืออาจจะดีกว่าแต่เราไม่มีหน้าจะไปขอเอาของเขามาใช้ได้เพราะเราขี้เหนียวของเราก่อนไงล่ะครับ

ชาวนา ขายข้าวกล้อง

อาจารย์ครับ ถ้ามีเมล็ดพันธุ์ข้าวหอม ที่เอามาสีแล้วไม่หอมเลย ต้องทำอย่างไร

เป็นข้าวนาปีครับ สีและนำมาหุงไม่หอมเลย

กราบขอคำแนะนำด้วยครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท