ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน
นาย ทรงวุฒิ พัฒแก้ว ศูนย์ข่าวพลเมือง ฅนคอน พัฒแก้ว

อุตสาหกรรมกับการทำให้คนตกงานฉบับถาวร: บทเรียนที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน


ลองนึกจินตนาการดูว่า หากคนเหล่านี้ไม่สูญเสียฐานทรัพยากร ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติการจ้างงานอย่างไร เขายังมีที่พึ่งกลับมาสู่การพัฒนาบนฐานของตัวเองได้ อย่างน้อยก็ไม่อดตายและมีโอกาสพลิกฟื้นกลับมาได้ และที่สำคัญการมีผืนดินอยู่อาศัยจะช่วยป้องกันการแตกสลายของชุมชนซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติทางสังคม และจะแก้ไขอยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจเป็นร้อยเท่า

 

อุตสาหกรรมกับการทำให้คนตกงานฉบับถาวร: บทเรียนที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน

โดย ใบไผ่ลู่ลม

ที่มา จดมหายข่าวเรื่องเล่าจากเขาถึงเล  สื่อสารคดีสร้างสรรค์เพื่อทิศทางการพัฒนาเมืองนคร

ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๒ ฉบับ  ก่อเกิดเครือข่ายผลกระทบนโยบายสาธารณะ

 

18 ประเทศใน HIA ที่เชียงใหม่

การประชุมเรื่องการประเมินผลกระทบสุขภาพระดับนานาชาติที่เชียงใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับกระบวนการความรู้เพื่อการขับเคลื่อนสังคม ทั้งนี้กระบวนการประชุมที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22-24 เมษายนที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงว่าการประเมินผลกระทบทางด้านสุขภาพเป็นเรื่องที่หลายประเทศในโลกให้ความสำคัญ (จะเขียนถึงในฉบับต่อไปครับ)  กระบวนการประชุมประกอบด้วยการนำเสนอบทเรียนจากกรณีต่างๆ

การลงดูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา และการสนทนากลุ่มในประเด็นที่แต่ละคนสนใจ ซึ่งแต่ละส่วนมีข้อควรเรียนรู้ที่น่าสนใจยิ่ง แต่สิ่งที่จะเขียนถึงในฉบับนี้คือบทเรียนจากการลงพื้นที่การสร้างอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งน่าจะเป็นบทเรียนในบางแง่มุมที่สำคัญสำหรับการเรียนรู้ระหว่างกัน

 

บทเรียนซ้ำๆๆกับการพัฒนาอุตสาหกรรมจากงาน HIA ที่เชียงใหม่

 

จากการลงพื้นที่ชุมชนพบว่าปัญหาที่ชุมชนประสบนั้นเป็นเพลงบทเก่าที่เราได้ยินกันมานานแล้ว ไม่ว่าที่ไหนก็เกิดขึ้นเหมือนกัน เป็นบทเรียนของการพัฒนาสองแบบ คิดกันคนละฝั่ง และจริยธรรมความรับผิดชอบไม่เท่ากัน หากทว่าสังคมนี้ก็ไม่ยุติธรรมเพราะให้ค่ากับอุตสาหกรรมมากกว่าเกษตรกรรม ส่งผลให้อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรม สังคมไทยโดยเฉพาะรัฐและทุนสามารถหลับตาข้างหนึ่งได้เสมอ 

ชุมชนรอบๆอุตสาหกรรมลำพูนจึงประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับพื้นที่อื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจึงเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีว่าสังคมไทยยังไปไม่ถึง สังคมแห่งความรับผิดชอบ การต่อสู้ของภาคประชาชนจึงเป็นบทเพลงขั้นต่อไปที่เราได้ยิน เพราะเมื่อรัฐอ่อนแอ เขาก็ต้องลุกขึ้นสู้

 

แง่มุมใหม่อุตสาหกรรมทำให้คนตกงานถาวร

เรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญที่ต้องถกแถลงกันอย่างจริงจังเนื่องจากว่าเป็นการสลายมายาคติของอุตสาหกรรมที่ประกาศว่า อุตสาหกรรมทำให้คนมีงานทำ ผู้นำชุมชนที่นั่นบอกให้ฟังว่า ตอนนี้คนแถวนี้ตกงานกันมาก เป็นปัญหาอย่างยิ่งเพราะ ไม่รู้จะไปไหน พิษเศรษฐกิจทำให้คนงานจำนวนมากตกงานโดยไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นจะไปไหน เอาเข้าจริงแล้วเรื่องการตกงานที่อุตสาหกรรมลำพูนมีความซับซ้อนกว่านั้นที่น่าจะคลี่ออกมาให้เห็นร่วมกัน

อุตสาหกรรมทำให้คนตกงานถาวรเพราะอะไร....  เหตุผลก็คือการสร้างนิคมอุตสาหกรรมต้องยอมรับว่า การพัฒนานั้นต้องแลกมาด้วยการทำลายฐานทรัพยากรของชุมชน นี่คือสิ่งแลกเปลี่ยนที่คนจนต้องเสียสละทุกครั้งเมื่อเกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม เมื่อฐานทรัพยากรถูกทำลายคนในชุมชนจึงกลายเป็นแรงงานอิสระ เพราะไม่มีฐานทรัพยากรให้ครอบครองอีกต่อไป การครอบครองฐานทรัพยากรนั้นหมายถึง โอกาสที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มจากฐานทรัพยากรให้เกิดขึ้นแก่ตัวเอง อย่างไม่สิ้นสุด ยังไม่นับรวมว่าฐานทรัพยากรคือปัจจัยของความมั่นคง ความสัมพันธ์ และจิตวิญญาณของบุคคลและชุมชน

ย้อนกลับมาสำหรับการพัฒนาอุตสาหรรมมีผลโดยตรงต่อการทำให้คนหลุดลอยจากฐานทรัพยากร รายได้ผูกขาดอยู่กับการใช้แรงงาน ซึ่งหมายถึงต้องมีคนอื่นมาจ้างจึงจะสามารถก่อให้เกิดรายได้ขึ้นกับตนเอง..ถ้าไม่มีคนอื่นมาจ้างก็หมายความว่าจะไม่มีรายได้ครั้นจะย้อนกลับมาหาทรัพยากรซึ่งเป็นฐานเดิมกลับพบว่าถูกทำลายหมดแล้ว...คนเหล่านี้จึงกลายเป็นแรงงาน ล่องลอย กลายเป็นการตกงานอย่างถาวร

ลองนึกจินตนาการดูว่า  หากคนเหล่านี้ไม่สูญเสียฐานทรัพยากร ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติการจ้างงานอย่างไร เขายังมีที่พึ่งกลับมาสู่การพัฒนาบนฐานของตัวเองได้ อย่างน้อยก็ไม่อดตายและมีโอกาสพลิกฟื้นกลับมาได้ และที่สำคัญการมีผืนดินอยู่อาศัยจะช่วยป้องกันการแตกสลายของชุมชนซึ่งจะกลายเป็นวิกฤติทางสังคม และจะแก้ไขอยากกว่าวิกฤติเศรษฐกิจเป็นร้อยเท่า

 

จะอยู่กันอย่างไรระหว่างเกษตรกับอุตสาหกรรม

                คำตอบแรกคือการพัฒนาอุตสาหกรรมต้องไม่ทำลายฐานทรัพยากรและการก่อเกิดมลพิษ ซึ่งถ้าเป็นไปไม่ได้สังคมเราต้อง กลับด้านความคิด คือต้องเลือกการพัฒนาการเกษตรเป็นตัวตั้งและขั้นต่อมาคือพัฒนาให้เกิดการเพิ่มมูลค่าจากการเกษตร ซึ่งหมายถึงการพัฒนาในรูปแบบต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว อุตสาหกรรมการเกษตรที่สามารถคุมมลพิษและไม่ทำลายทรัพยากร ที่สำคัญที่สุดเป็นการพัฒนาภายใต้การเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกร หากไม่เป็นไปในแนวทางนี้ชุมชนมีสิทธิที่จะคัดค้านการพัฒนาแบบอุตสาหกรรมเพราะนั่นหมายถึงการทำลายชีวิตของพวกเขา...หากคนเมืองหรือนายทุนต้องการสร้างอุตสาหกรรมก็ให้ไปสร้างในที่ของตัวเอง แถวๆ ถนนสีลม ลาดพร้าว พลโยธิน เพราะที่นั่นเป็นที่ที่นายทุนอยู่เป็นการไมทำลายทรัพยากรของชุมชน...ซึ่งคิดว่าคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว...เรื่องนี้จึงจะเป็นปัญหาอีกนานตราบเท่าที่เราไม่เปลี่ยนแปลงทิศทางการพัฒนา

 

....บทเพลงนี้กำลังร้องขึ้นอีกครั้งที่นิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นครศรีธรรมราช....

....เป็นบทเพลงที่บังคับร้อง...แม้ว่าจะรู้ท่วงทำนองหมดแล้ว...

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 273403เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2009 10:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 07:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท