การเยี่ยมบ้านนักเรียน


ปีการศึกษา 2552 ปีแห่งการดูแลช่วยเหลือนักเรียน สัปดาห์ สพฐ.เยี่ยมบ้านนักเรียน ระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน 2552 ถึงวันที่ 19 กรกฎาคม 2552

                   ถ้าจะเริ่มต้นระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน คงจะต้องบอกว่า ระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน เป็นการทำงานที่มีขั้นตอน เพื่อให้ผู้เรียน ครู ผู้ปกครองและผู้ที่เกี่ยวข้องร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือ พัฒนา ส่งเสริมนักเรียนอย่างต่อเนื่อง  โดยยึดสายใยความผูกพันระหว่างครูและศิษย์     เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตนักเรียนให้มีทักษะ ดำรงชีวิตอยู่รอดปลอดภัยในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างมีความสุข 1ซึ่งภารกิจสำคัญประการหนึ่งของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน ก็คือ การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล  แล้วการเยี่ยมบ้านนักเรียน  มีความสำคัญอย่างไร? ทำไมจึงต้องมีการเยี่ยมบ้านนักเรียน   ก็ครูรู้จักนักเรียนในห้องทุกคนหมดแล้ว ไปทำไมกันล่ะครับ?

 ถ้าจะถามว่า ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนทำไม

                 อยากจะเรียนอย่างนี้ว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ไปงาน ประชุมทางวิชาการ  symposium โรงเรียนแกนนำจัดการเรียนร่วม ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุพรรณบุรี เขต 1  ผอ.สมจิง  เชิงบันลือศักดิ์  โรงเรียนวัดโนนสภาราม(นารถวาจาวุทธอุปถัมภ์)  รายงานเกี่ยวกับการเยี่ยมบ้านนักเรียนทันที ที่รองอรพรรณ  วรรณกุล รอง ผอ.สพท.สระบุรี เขต 1 ว่า เป็นเรื่องที่จะต้องเชื่อว่า นักเรียนที่แต่งกายเรียบร้อย เป็นเด็กดี แต่เมื่อไปเยี่ยมถึงบ้านได้เห็นสภาพครอบครัวที่มีฐานะยากจน ต่างกับสภาพการแต่งกายที่ปรากฏให้เห็นที่โรงเรียน เด็กชายคนนี้ย้ายมาใหม่  ชั้น ม. 2 พ่อ แม่ อาชีพรับจ้าง  หาเช้ากินค่ำ อยู่กัน 6 คน ในห้องเก่าแคบ  ๆ ติดเขาอำเภอวิหารแดง  ในโรงเรียนคุณครูคิดว่าเด็กคนนี้ไม่น่าจะมีความเป้นอยู่ถึงขนาดนี้    เพราะฉะนั้นจึง  อย่าเชื่อหรือคิดเองในสิ่งที่เห็น  ต้องสัมผัสให้เห็นด้วยตนเอง   การเยี่ยมบ้านนักเรียนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการรู้จักเด็กเป็นรายบุคคล เพื่อให้เห็นสภาพจริงของเด็ก เพื่อคุณครูจะได้คัดกรองเด็กให้ถูกต้อง  เมื่อจัดกลุ่มได้แล้วคุณครูจะได้ให้การช่วยเหลือป้องกันแก้ไขหรือจะส่งเสริมสนับสนุนกันต่อไป

                                      เยี่ยมบ้านนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองใหญ่            

                 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้ติดตาม ผอ.ปัญญา แก้วเหล็ก ผอ.สพท.สระบุรี เขต 1 ไปเยี่ยมบ้านนักเรียนโรงเรียนบ้านหนองใหญ่ อำเภอพระพุทธบาท เมื่อถึงโรงเรียนถึงกับต้องประหลาดใจ   เนื่องจาก เมื่อ 6 ปีที่แล้ว ผมเคยมาประเมินผู้บริหารโรงเรียนคนก่อนครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่ง ณ วันนี้ มีความแตกต่างกันมาก อาคารสะอาด บริเวณโรงเรียนร่มรื่น สนามเด็กเล่น สนามบาสเกตบอล เปตอง ทางเข้าโรงเรียนเทคอนกรีต ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ผอ. พรชัย ด้วงทองสุข (ว่าที่ ดร.ในอนาคต) เล่าให้ฟังว่า เมื่อผมมาเข้ารับการดำรงตำแหน่ง ผมมาเห็นโรงเรียนครั้งแรก บอกกับตัวเองว่า โรงเรียนอย่างนี้ ในจังหวัดสระบุรี ยังมีอยู่หรือ และนับตั้งแต่วันนั้น ผมทำงานโดยไม่มีวันเสาร์ –อาทิตย์ จากเด็ก 11 คน เป็น 40 คน สิ่งต่าง ๆ ที่เห็นอยู่นี้ ได้ขอจากผู้มีจิตศรัทธา อบต. และจากผู้ปกครอง ตลอดจนกระทั่ง แรงงานจากชาวบ้าน ช่วยกันทั้งสิ้น นับว่าเป็นผลสำเร็จในระดับหนึ่ง เท่านั้น แต่เท่าที่ผมสังเกตด้วยตนเองเห็นว่า นี่คือนักบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก ที่มีหัวก้าวหน้า นักพัฒนาที่แท้จริง คงต้องเสนอไว้พอสังเขป ท่านใดต้องการเห็นสภาพที่แท้จริงของโรงเรียนขนาดเล็กที่กำลังพัฒนาต้องแวะเยี่ยมชมโรงเรียนด้วยตนเอง

 

                  คงต้องเข้าเรื่องกันเลยว่า ได้ทักทายกับ ผอ.พรชัย เล็กน้อย และถามว่า ผอ.เตรียมการเยี่ยมบ้านนักเรียนไว้อย่างไร ผอ.พรชัย ตอบว่า เรียบร้อย แล้วเชิญ ผอ.ปัญญา และคณะเดินทางโดยเท้า ผ่านศาลาหลังใหม่ของวัดหนองใหญ่ สู่ทางเดินเล็ก ที่มีหลุมบ่อ สักครู่ ก็ถึงบ้านนักเรียน ที่ปลูกอยู่ในที่วัด เป็นเพิงไม้ชั้นเดียวหลังเล็ก ฝาบ้าน ปุปะด้วยสังกะสีเก่าและเศษไม้แผ่นเล็ก ๆ มีรูโหว่ รอบบ้าน ยายนานั่งอยู่ในบ้านทักทายคณะที่เดินทางมาเยี่ยมบ้าน ผอ.พรชัย ชี้แจงให้ฟังว่า ยายนาต้องเลี้ยงหลาน 3 คน คนแรกพ่อแม่เลิกกัน กำลังเรียน ป.6 เมื่อลูกเกิดมา ลูกสาวก็เอามาให้เลี้ยง จากนั้นลูกสาวก็ไปทำงานกรุงเทพฯ ได้สามีใหม่ มีลูกอีก 2 คน หลานสาว ป.4 และหลานชาย ป.2 ก็เอามาให้เลี้ยงอีก คนโตแต่เดิมไม่มีใบเกิด ผมก็ดำเนินการให้ ขณะนี้เรียบร้อยแล้ว ส่วนคนที่ 2 ไม่มีใบเกิดอีก ขณะนี้ได้แจ้งอำเภอเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย คนที่ 3 ไม่มีปัญหา แต่ปัญหาใหญ่อยู่ที่ แม่นักเรียน ไม่เคยมาเอาใจใส่ ดูแล ลูก ทั้งสามเลย ปล่อยให้ยายนา หาเลื้ยงอยู่คนเดียว อาชีพรับจ้าง หาเช้ากินค่ำ ผอ.ปัญญา ถาม ผอ.พรชัย ว่า โรงเรียนให้การดูแลเด็กคนนี้อย่างไร ผอ.พรชัยตอบว่า เด็กทั้ง 3 โรงเรียนให้การดูแลเป็นพิเศษ ทั้งแบบเรียน เครื่องเขียน อาหารกลางวัน เครื่องนุ่งห่ม และให้กำลังใจยายนาอยู่เสมอ

                 เด็กจะมีปัญหาอย่างไร โรงเรียนให้การดูแลช่วยเหลือ เมื่อก้าวเข้าสู่โรงเรียนแล้ว ต้องให้ความรักเอาใจใส่ประดุจดังลูกของเราเอง

หมายเลขบันทึก: 273213เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2009 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 14:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เยี่ยมมากเลยครับ แล้วจะแวะมาติดตามต่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท