การพัฒนาที่ยั่งยืน


ยั่งยืน

การพัฒนา คือ การเปลี่ยนแปลง (Development is Change) และเป็นการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น เช่น การพัฒนาเศรษฐกิจให้มีความ เจริญเติบโต มีความมั่นคงและมีเสถียรภาพ หรือการพัฒนาสังคมให้มีความ ร่มเย็น ผาสุก คนในสังคมมีความเอื้อาทรต่อกัน มีความรัก ความสามัคคี สมานฉันท์ มีจิตใจอันดีงาม มีคุณธรรม จริยธรรม ที่งดงาม ดังนั้น

นักพัฒนาสังคม จึงเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change agent) และถ้ามองภาพรวม เป้าหมายการพัฒนาประเทศ ทุก ๆ ประเทศ คือ ความผาสุข ความมั่นคงปลอดภัย ประชาชนมีคุณภาพชีวิต สภาพแวดล้อมที่ดี และสามารถ พึ่งตนเองได้ หากมองย้อนไปในอดีต การพัฒนาของประเทศไทยใช้แผน เป็นเครื่องมือในการพัฒนา นับตั้งแต่แผนพัฒนาฉบับที่ 1 พ.ศ.2504 จนถึงปัจจุบัน แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549) รวม 9 ฉบับ ซึ่งในช่วงแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1 - 7

มีการมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ดังนี้

 

แผนพัฒนาฉบับที่ 1 - 2 (พ.ศ. 2504 - 2514) เน้นความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ด้วยการลงทุน พัฒนาปัจจัยโครงสร้างพื้นฐาน (ถนน ไฟฟ้า ประปา ฯลฯ)

แผนพัฒนาฉบับที่ 3 (พ.ศ. 2515 - 2519)  ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสังคม ลดอัตราการเพิ่มของประชากร และการกระจายรายได้ควบคู่กับการพัฒนาเศรษฐกิจ

แผนพัฒนาฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2520 - 2524) เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ปัญหาวิกฤติการณ์น้ำมัน การว่างงาน การขาดดุลทางการค้า

แผนพัฒนาฉบับที่ 5 - 6 (พ.ศ. 2525 - 2534) มุ่งรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ การรักษาความยากจน

แผนพัฒนาฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2535 - 2539) ปรับแนวคิดการพัฒนาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งรักษา ระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม และรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การกระจายรายได้ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม

ปัญหาจากการพัฒนาที่ผ่านมา การพัฒนาทั้ง 7 แผน ทำให้ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยร้อยละ 7 ต่อปี รายได้เฉลี่ยต่อคน ต่อปี เพิ่มจาก 2,100 บาท ในปี 2504 เป็น 77,000 บาท ในปี 2539 คนไทยมีงานทำเพิ่มขึ้น มีบริการปัจจัย โครงสร้างพื้นฐาน และบริการทางสังคมมากขึ้น แต่ความเจริญเติบโต

ดังกล่าวยังอยู่บนพื้นฐานความไม่สมดุลของการพัฒนา และกลับก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่าง ๆ ตามมา คือ ความเหลื่อมล้ำของรายได้ ช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบท คนจนเพิ่มมากขึ้น คนรวยมีเฉพาะกลุ่ม หรือ "รวยกระจุกจนกระจาย" นอกจากนั้น ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา เช่น ครอบครัวแตกสลาย ขาดความอบอุ่น

ความเห็นแก่ตัว ปัญหายาเสพติด อาชญากรรม ความมั่นคงปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สิน คนขอทาน เด็กเร่ร่อน สตรี คนชรา คนพิการ คนด้อยโอกาส ผู้ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ รวมทั้งปัญหาทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ถูกนำมาใช้อย่างขาดจิตสำนึก ฟุ่มเฟือย เกิดความสิ้นเปลือง สูญเสียลดน้อยถอยลง และเสื่อมโทรมลงทุกขณะ

ดังนั้น จึงสรุปผลการพัฒนาที่ผ่านมา ได้ว่า "เศรษฐกิจดี สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน"

 

การพัฒนาที่ยั่งยืน จากบทเรียนของการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ได้ก่อให้เกิด มิติใหม่ของการพัฒนา โดยเห็นได้จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8

(พ.ศ. 2540 - 2544) และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 9 (พ.ศ. 2545 - 2549) ที่มุ่งการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ให้เกิดความสมดุล โดยยึดคนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา และใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งพัฒนาสู่สังคมที่เข้มแข็ง และมีดุลยภาพ คือ สังคมคุณภาพ  สังคม แห่งภูมิปัญญา และการเรียนรู้ และสังคมสมานฉันท์เอื้ออาทรต่อกัน เพื่อนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนา "เศรษฐกิจดี สังคมมีการพึ่งพา การพัฒนายั่งยืน วิสัยทัศน์ร่วม"

 

 

"การพัฒนาประเทศไทย จะยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ให้การพัฒนาอยู่บนพื้นฐานของความ สมดุลพอดีและความ พอประมาณอย่างมีเหตุผล นำไปสู่สังคมที่มีคุณภาพทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง สามารถพึ่งตนเอง มีภูมิคุ้มกัน และรู้เท่าทันโลก คนไทยส่วนใหญ่ มีการศึกษาและรู้จักเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต เป็นคนดี มีคุณธรรม และซื่อสัตย์สุจริต อยู่ในสังคมแห่งภูมิปัญญาและการเรียนรู้ สามารถรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับ การสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีที่ดีงาม ดำรงไว้ซึ่งคุณธรรมและคุณค่าของ สังคมไทยที่มีความสมานฉันท์ และเอื้อาทรต่อกัน อันจะเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศอย่างสมดุล มีคุณภาพ และยั่งยืน"

 

 

การพัฒนาที่ยั่งยืน หมายถึง การพัฒนาเพื่อตอบสนองความต้องการ พื้นฐานของคน ทั้งยุคปัจจุบัน และยุคต่อ ๆ ไป และสร้างความสมดุลระหว่าง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม มนุษย์และสิ่งแวดล้อม และในแผน ปฏิบัติการ 21 (Agenda 21) : การพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นข้อตกลง ระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ณ นครริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ว่า ในศตวรรษที่ 21 จะไม่เน้นให้มีการ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติ แต่เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม มนุษย์และสิ่งแวดล้อม วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงาน

 

แนวทางที่จะทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน

 

1. มิติทางเศรษฐกิจ ใช้หลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ประชาชนมีความมั่นคงปลอดภัย และสามารถพึ่งพาตนเองได้

2. มิติประชากร ชลอการขยายตัวของประชากร เพิ่มศักยภาพและคุณภาพของประชากร

3. มิติทางสังคม สร้างเงื่อนไขสังคมใหม่ ให้สังคมมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่การพัฒนาที่พึงปรารถนา ก่อให้เกิดความเอื้ออาทร ความรัก ความสามัคี สมานฉันท์ต่อกัน ชุมชนสังคมมีความเข้มแข็ง

4. มิติทางสภาพแวดล้อม มีการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนาเทคโนโลยีและการพลังงาน ที่สะอาด ปลอดภัย ปลอดมลภาวะ มีสภาพแวดล้อมที่ดี

5. มิติทางการเมืองการปกครอง ปฏิรูปการเมือง การปกครอง การบริหาร ให้มีการกระจายอำนาจภารกิจหน้าที่ให้แก่ท้องถิ่น ให้สามารถตัดสินใจแก้ไขปัญหา และพัฒนาท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง

  การมีส่วนร่วมของชุมชน

ผมได้กล่าวไว้แต่ต้นว่า การพัฒนาเป็นการเปลี่ยนแปลง (ในทิศทางที่ดีขึ้น) และการพัฒนาใด ๆ จะเริ่มต้นที่คน และสิ้นสุด ที่คนเสมอ การพัฒนาคนจะเริ่มตั้งแต่อยู่ในครรภ์ จนกระทั่งสิ้นชีวิต และมีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งว่า "หากขุดลึกลงไปถึงรากเหง้าของปัญหาใด ๆ ก็ตาม ท่านจะพบว่า คนอยู่ที่นั่นเสมอ" และธรรมชาติของคนย่อมอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นชุมชน เป็นสังคม ฯลฯ จึงก่อให้เกิดการพัฒนาชุมชน สังคม ให้มีความสงบสุข มั่นคง ปลอดภัย สามารถพึ่งพาตนเอง

 

การพัฒนาชุมชน ต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีหลักการ วิธีการ และเป้าหมายดังนี้

หลักการ สร้างพลังชุมชน ใช้พลังชุมชนในการพัฒนาชุมชน

วิธีการ กระตุ้นให้ชุมชนได้รวมกลุ่ม ร่วมกันคิด ปรึกษาหารือร่วมกัน ร่วมเรียนรู้ ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผนดำเนินกิจกรรม ร่วมติดตามตรวจสอบ ภายใต้ผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย

เป้าหมาย ชุมชนมีความเข้มแข็ง มีความผาสุข ปลอดภัย มีคุณภาพชีวิตและ สภาพแวดล้อมที่ดี พึ่งพาตนเองได้ และเป็นชุมชนที่มีความยั่งยืนลักษณะชุมชนเข้มแข็งและยั่งยืน

 

1. สมาชิกของชุมชนมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง และชุมชนที่จะแก้ไขปัญหาและพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ ของตนเอง

2. สมาชิกของชุมชนพร้อมที่จะร่วมกันจัดการกับปัญหา ของตนและชุมชน

3. มีกระบวนการของชุมชนที่มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง จนเป็นวิถีของชุมชน ภายใต้การกระตุ้นและสนับสนุนของทุกฝ่าย ในลักษณะเปิดโอกาสให้กับสมาชิกทั้งมวลเข้ามามีส่วนร่วม โปร่งใส และพร้อมที่จะให้ตรวจสอบ

4. สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการประเมินสถานการณ์ของชุมชน ร่วมคิด ตัดสินใจดำเนินงาน ติดตาม และประเมินผล การแก้ไขปัญหา และการพัฒนาของชุมชน

5. สมาชิกชุมชนเกิดการเรียนรู้ผ่านเวทีประชาคม และเข้าร่วม ในกระบวนการของชุมชน

6. มีแผนของชุมชนที่ประกอบด้วยการพัฒนาทุก ๆ ด้านของ ชุมชน ที่มุ่งการพึ่งตนเอง เอื้อประโยชน์ต่อสมาชิกชุมชนทุก ๆ คน และมุ่งหวังการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืน

7. การพึ่งความช่วยเหลือจากภายนอกเป็นการพึ่ง เพื่อให้ชุมชน สามารถพึ่งตนเองได้ในที่สุด ไม่ใช่การพึ่งพาตลอดไป

8. มีเครือข่ายความร่วมมือกับภาคีการพัฒนา อาจเป็นหมู่บ้าน ชุมชนอื่น ๆ ท้องถิ่น ภาคราชการ องค์กรเอกชน นักธุรกิจ นักวิชาการ และอื่น ๆ

  บทสรุป

การพัฒนาประเทศ จึงควรให้ความสำคัญ และเริ่มที่การพัฒนาฐานราก คือ คน ครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น โดยกระตุ้นให้เกิดจิตสำนึก ตระหนักในภารกิจ หน้าที่ของทุก ๆ คน ทุก ๆ ฝ่าย ที่จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบ ในการแก้ไขปัญหา พัฒนาสร้างสรรค์ชุมชนท้องถิ่นของตน และเมื่อชุมชน มีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้ จะส่งผลให้การพัฒนาประเทศมีความมั่นคง ยั่งยืนได้ในที่สุด

 

หมายเหตุ จากวารสารจดหมายข่าว สป.มท. ปีที่ 15 ฉบับที่138 เดือนมิถุนายน 2545 หน้า 25-27 

อ้างอิง ดร.นิรันดร์ จงวุฒิเวศย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร

หมายเลขบันทึก: 272566เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

การพัฒนาที่ยั่งยืน

ต้องพัฒนาที่ต้นไม้

นั่นคือ ครอบครัว

มีลำต้น มีกิ่งก้าน และใบ เต็มไปหมด

ขอบคุณน่ะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท