การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม


ยิ่งท่านได้พยายามแก้ไขบิดาของท่านในมุมมองของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีกับผู้ป่วย ยิ่งทำให้สัมพันธภาพความเป็นพ่อลูกเหินห่างกันมากขึ้น

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

 

     จากการให้บริการผู้ป่วยนอกที่มารับบริการที่โรงพยาบาลชุมชนในแต่ละวัน  ผมสังเกตว่าโรคต่างๆที่ได้รับการวินิจฉัยน่าจะเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมด้านสุขภาพของผู้มารับบริการมากกว่า90%จะเกี่ยวข้องมากหรือน้อยอีกเรื่องหนึ่ง  โรคเบาหวาน,ความดันโลหิตสูง,หลอดลมอุดกันเรื้อรังและถุงลมโปร่งพอง,ไขมันในหลอดเลือดสูง,หลอดเลือดหัวใจตีบ  แม้กระทั่งโรคติดเชื้อต่างๆไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดจนกระทั่งโรคติดเชื้อที่รุนแรงต่างๆก็เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมสุขภาพทั้งนั้นรวมไปถึงอุบัติเหตุด้วยก็เช่นกัน

     ลักษณะการให้บริการที่ตึกผู้ป่วยนอกในปัจจุบันโอกาสที่ผู้ป่วยจะได้รับคำแนะนำที่ดีดูเหมือนจะเป็นไปได้ยากเนื่องจากจำนวนแพทย์ที่น้อยและผู้ป่วยที่มารับบริการมีแนวโน้มจะมากขึ้นเนื่องจากมีการคัดกรองผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆได้ดีขึ้น ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้น(ซึ่งเป็นเรื่องดีแต่ไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากร)  ผู้ป่วยจำนวนมากมาหาแพทย์เร็วขึ้นเช่นเป็นไข้หนึ่งวันหรือบางทีไม่ถึงวันก็มาตรวจและมีหลายครั้งถือโอกาสตรวจทั้งครอบครัวเลยเพราะว่าไหนๆก็มาแล้วและฟรีอีกด้วย  การให้คำแนะนำดูเหมือนเป็นการสื่อสารทางเดียวไม่รู้ว่าผู้ป่วยเข้าใจหรือไม่ หรือเข้าใจแต่ก็ไม่รู้จะนำไปปฏิบัติหรือไม่

     ครั้งนี้ผมไม่ได้จะมาเสนอแนวทางหรือวิธีแก้ปัญหาความขาดแคลนบุคลากรหรือจะมาเสนอแนวทางวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ป่วยที่มีจำนวนมาก  แต่อยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับท่านผู้อ่านจากเหตุการณ์ที่ได้ประสบมา

     เมื่อปลายปีที่แล้วได้มีการอบรมเกี่ยวกับผู้นำกับวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่  ในการอบรมได้ใช้เทคนิคสุนทรียสนทนาตลอดการฝึกอบรม  มีอยู่คืนหนึ่งได้มีการจัดสุนทรียสนทนาเป็นกลุ่มใหญ่โดยหัวข้อให้เล่าเรื่องที่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ต่างๆในการดูแลผู้ป่วยที่ประทับใจ  หลายคนได้เล่าประสบการณ์ที่อยากจะกลับไปแก้ไขใหม่เนื่องจากได้รับกระบวนทัศน์ใหม่ที่มีกับผู้ป่วยหลังจากที่ตนเองได้เรียนรู้กระบวนทัศน์ใหม่ก่อนหน้านี้ไปแล้ว 

     มีพยาบาลท่านหนึ่งซึ่งงานประจำของท่านเป็นผู้ดูแลรักษาผู้ติดสุราและยาเสพติด  ท่านได้เล่าว่า บิดาของตนเองได้ติดสุราเรื้อรังมานาน พยาบาลท่านนั้นซึ่งเป็นลูกได้พยายามแก้ไขพฤติกรรมติดสุราของบิดาตนเองตามความรู้ความสามารถที่ตนเองได้รับจากการทำหน้าที่เป็นผู้ดูแลรักษาผู้ติดสุราและยาเสพติด 

     พยาบาลท่านนั้นมีความคิดว่าท่านเองเป็นผู้ดูแลรักษาฯแต่บิดาท่านป่วยเสียเองยิ่งทำให้ต้องพยายามแก้ไข  ดูเหมือนว่า ยิ่งท่านได้พยายามแก้ไขบิดาของท่านในมุมมองของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีกับผู้ป่วย  ยิ่งทำให้สัมพันธภาพความเป็นพ่อลูกเหินห่างกันมากขึ้น  

     จนกระทั่งท่านได้โกรธบิดาท่านมากเนื่องจากความตั้งใจและพยายามอย่างมากที่จะให้บิดาท่านเลิกสุราให้ได้  แต่ไม่เป็นผลจนทำให้พ่อกับลูกไม่พูดจากันอยู่พักหนึ่ง  แต่ท่านก็คิดได้ว่าถึงอย่างไรก็เป็นบิดาท่านการโกรธและเหินห่างท่านเป็นสิ่งที่ไม่ดี  พยาบาลท่านนั้นได้กลับไปหาและดูแลบิดาของท่านอีกครั้งโดยครั้งนี้ไม่ได้พยายามให้บิดาของท่านได้เลิกสุราเลย ท่านได้ดูแลบิดาของท่านด้วยความรักเป็นความรักที่มีต่อบุพการี  ต่อมาบิดาท่านได้เลิกสุราเอง  ท่านได้ถามบิดาของท่านว่า ทำไมพ่อถึงได้เลิกสุรา  บิดาของท่านได้ตอบว่า ท่านรู้ว่าลูกรักท่าน พยาบาลท่านนั้นได้เล่าไปทั้งน้ำตาแห่งความสุขก็ไหลออกมาด้วย

      สิ่งที่ผมอยากจะถอดบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากเรื่องเล่าข้างต้นก็คือว่า  ในการดูแลผู้ป่วยเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนั้น  ผู้ป่วยยังมีความรู้สึกหรือมีมุมมองแบบผู้ให้และผู้รับบริการ  ผู้ให้บริการเองก็อาจจะให้คำแนะนำแบบวิชาการหรือให้เพราะเป็นหน้าที่  ผู้รับบริการไม่สามารถสัมผัสถึงความหวังดีของแพทย์หรือพยาบาลที่ดูแลเขาได้  และถ้าเมื่อไรที่ผู้รับบริการสัมผัสได้ถึงความรักความหวังดีที่แพทย์หรือพยาบาลได้มีให้กับเขา  เมื่อนั้นพฤติกรรมด้านสุขภาพที่ไม่ดีต่างๆคงจะปรับเปลี่ยนไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

       ที่สำคัญผู้ให้บริการต้องฝึกรักตัวเองบ้าง  เพื่อจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ดี  และเป็นตัวอย่างให้กับผู้มารับบริการ นะครับ

      

หมายเลขบันทึก: 272551เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2009 16:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:26 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท