ความสำคัญของคน


การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (2)

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศญี่ปุ่นตกเป็นผู้พ่ายแพ้ในสงคราม เศรษฐกิจเสียหายยับเยิน ประชาชนมีความทุกข์ยากลำบากแสนเข็ญ คำถามสำคัญในเวลานั้น คือ ญี่ปุ่นจะอยู่ได้อย่างไร กาลเวลาต่อมาได้ให้คำตอบอย่างชัดเจน ว่า ญี่ปุ่นอยู่ได้และยังเป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบันอีกด้วย เพราะอะไร? ก็เพราะประเทศญี่ปุ่นมีคนญี่ปุ่นอยู่ คนญี่ปุ่นที่มีความสามารถ ในช่วงเวลานั้นญี่ปุ่นได้อาศัยผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญจากประเทศสหรัฐอเมริกามาให้คำแนะนำและช่วยเหลือ ในระบบการผลิตและอุตสาหกรรม คือ Prof. Deming ซึ่งได้นำระบบคุณภาพ (Quality Control) มาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมรถยนต์และในระยะเวลาเพียงไม่กี่ปี วงการอุตสาหกรรมรถยนต์ของอเมริกาก็ต้องตื่นตกใจกับวงการอุตสาหกรรมรถยนต์ของญี่ปุ่นที่สามารถพัฒนาคุณภาพ และมีราคาที่สนองตอบต่อความต้องการของผู้ใช้ได้เป็นอย่างดี แตกต่างจากรถยนต์ของอเมริกาที่มีขนาดใหญ่ และสิ้นเปลืองน้ำมัน ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้น ประเทศญี่ปุ่นยังพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันจนก้าวมาเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ และยังคงเป็นผู้นำมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้อเมริกาต้องปรับระบบและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันครั้งใหญ่

ประเทศสิงคโปร์ เป็นอีกประเทศที่คนถามถึงกันอยู่บ่อย ๆ ว่า ประเทศนี้มีอะไรดีหรือ ? จึงสามารถสร้างประเทศให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน และด้านอื่นๆ ได้สามารถพัฒนาประเทศให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันบนเวทีโลก ตลอดจนมีการบริหารงานที่มีความโปร่งใสสูง ทั้งๆ ที่เป็นประเทศเล็ก ซึ่งเพิ่งแยกตัวจากประเทศมาเลเซียไม่นานนัก พื้นที่ และทรัพยากรก็มีอยู่อย่างจำกัด แม้แต่น้ำยังต้องซื้อจากประเทศมาเลเซีย คำตอบที่ถูกต้องคือ ประเทศสิงคโปร์มีคนสิงคโปร์อยู่นั่นเอง อีกทั้งยังมีผู้นำที่มองการณ์ไกลอย่างประธานาธิบดีลี กวน ยู ที่ได้เชิญ Prof. Deming มาให้คำแนะนำ และวางระบบคุณภาพให้ประเทศสิงคโปร์นั่นเอง

หรือแม้แต่ประเทศเวียดนามที่มีผู้กล่าวว่า อาจจะมีการพัฒนาที่แซงหน้าประเทศไทยในเร็ววันนี้ ทั้งที่เพิ่งเสร็จศึกสงคราม และเริ่มก่อร่างสร้างตัว หลายท่านที่เคยเดินทางไปประเทศเวียดนามแล้ว คงสังเกตเห็นสิ่งหนึ่งได้อย่างชัดเจน นั่นคือ คนเวียดนามเป็นคนที่ขยัน และเอาจริงเอาจังมาก เราแทบจะไม่พบเห็นคนเวียดนามที่อยู่นิ่งเฉยหรือไม่ทำงานเลย และถ้าได้มีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัยสิ่งที่เราจะพบเช่นเดียวกันก็คือ ภาพของนักเรียนและนักศึกษาที่มีความขยันขันแข็ง มุ่งมั่น และตั้งใจเรียนอย่างยิ่ง แม้แต่หลังเลิกเรียนเด็กนักเรียน นักศึกษาก็จะพากันขี่รถจักรยานหรือมอเตอร์ไซค์ไปเรียนภาษาอังกฤษเพิ่มเติม โดยจุดมุ่งหมายของพวกเขาคือ การได้ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเพื่อกลับมาทำงานให้กับบ้านเกิด

ประเทศอิสราเอล ก็เป็นอีกตัวอย่างของประเทศที่มีคนเก่ง สามารถคิดค้นนวัตกรรมสำคัญซึ่งเป็นองค์ประกอบของผลิตภัณฑ์ชนิดต่างๆ มากมาย จนสามารถเป็นผู้นำทางด้านนี้อยู่ตลอดเวลา ทำให้ประเทศอิสราเอลกลายเป็นประเทศที่มีความมั่งคั่งได้ในเวลาไม่นานนัก ทั้งๆ ที่อยู่ท่ามกลางพื้นที่ที่มีปัญหา และข้อจำกัดต่างๆ มากมาย   

นี่คือสิ่งที่ยืนยันได้ประการหนึ่งว่า “คน” เป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขององค์กรในทุกระดับไม่ว่าจะในระดับประเทศ ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ และชุมชนทั่วไป ดังนั้นหากองค์กรต่างๆ จะดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายในสิ่งที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ หรือแผนในระดับต่างๆ ซึ่งต้องอาศัยคนเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญแล้ว จำเป็นที่ต้องบริหารจัดการเกี่ยวกับคน ซึ่งเรียกว่า ทรัพยากรมนุษย์ หรือ ทุนมนุษย์ ให้ดี ให้มีประสิทธิภาพก่อนจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่พึงประสงค์ได้

สำหรับประเทศไทยที่ได้ขึ้นชื่อว่า เป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว ตั้งอยู่บนภูมิประเทศที่เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ที่ดีเยี่ยม ท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่มีความหลากหลาย การบริหารจัดการประเทศที่ผ่านมาอาจกล่าวได้ว่า เศรษฐกิจอาจจะดีแต่สังคมมีปัญหา การพัฒนาไม่ยั่งยืน การพัฒนาประเทศต้องแลกด้วยการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดปัญหาสังคมต่างๆ ตามมามากมาย คำถามสำคัญเช่นเดียวกัน คือ คนไทยมีความรู้ความสามารถด้อยกว่าชาติอื่นๆ ตรงไหน ประเทศไทยมีนักเรียน  นักศึกษา  อาจารย์ นักวิชาการ  ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในการแข่งขันจากเวทีต่างๆ ในระดับนานาชาติ  เช่น การแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ หรือการค้นคว้าวิจัยทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในวงการแพทย์และสาธารณสุข แพทย์ไทยและบุคลากรด้านสาธารณสุข ก็มีผู้มีความรู้ความสามารถและมีผลงานเชิงประจักษ์จำนวนมาก ในวงการกีฬา นักกีฬาจากประเทศไทยสามารถได้รับเหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ แม้กระทั่งเหรียญทองโอลิมปิกมาครองเสมอ ในวงการแฟชั่น บันเทิง ศิลปวัฒนธรรม คนไทยก็ได้แสดงฝีมือให้โลกได้ประจักษ์ถึงความสามารถที่โดดเด่น และอื่นๆ อีกมากมาย เห็นได้ว่าคนไทยก็มีความสามารถไม่ด้อยไปกว่าชาติใด ประเด็นที่ต้องพิจารณา คือ ทำอย่างไรจึงจะสามารถดึง และใช้ศักยภาพของคนไทยมาขับเคลื่อนประเทศให้มีความเข้มแข็ง และมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ โจทย์นี้จึงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้บริหารในทุกระดับ

แต่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า มนุษย์เป็นทรัพยากรที่เรียกว่า ทุนมนุษย์ ที่มีความแตกต่างจากทุนประเภทอื่นๆ เพราะมนุษย์มีชีวิตและจิตใจที่แตกต่างหลากหลาย อีกทั้ง จิตมนุษย์นั้นไซร้ยากแท้หยั่งถึง การบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์จึงเป็นศาสตร์ที่ลึกซึ้ง และเกี่ยวข้องกับปัจจัยต่าง ๆ อีกมากมาย การนำไปปฏิบัติให้ได้ผลจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความแตกต่าง และพิจารณาในบริบทของแต่ละองค์กรอีกด้วย ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าการบริหารทรัพยากรมนุษย์เป็นเรื่องที่ยาก และท้าทายความสามารถของผู้บริหารอย่างแท้จริง

การบริหารจัดการองค์กรและการจัดการความรู้ (รวมบท) คนกับยุทธศาสตร์การแข่งขัน  คนกับแผนยุทธศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 272175เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2009 10:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท